ที่เห็นและเป็นไป : ส่อง‘จิตสำนึก’ผ่าน‘ตู้ปันสุข’ โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

ที่เห็นและเป็นไป : ส่อง‘จิตสำนึก’ผ่าน‘ตู้ปันสุข’ โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

ที่เห็นและเป็นไป : ส่อง‘จิตสำนึก’ผ่าน‘ตู้ปันสุข’ โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

“ตู้ปันสุข” คือพัฒนาการการแบ่งปันอาหารและของใช้จำเป็นในช่วงที่ชีวิตผู้คนต้องเผชิญวิกฤตการระบาดของ “โควิด-19” ร่วมกัน

รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินใช้อำนาจบังคับประชาชนด้วยความคิด “สุขภาพมาก่อนเสรีภาพ”

“สุขภาพ” มาก่อนโดยมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ที่ใช้กฎหมายบังคับเพื่อควบคุมการระบาดของโรค

Advertisement

ซึ่งทำให้ต้องทิ้ง “เสรีภาพ” อันรวมถึงอิสระในการทำมาหากินเพื่อหล่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัว

ในสภาพของประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่ “หาเช้ากินค่ำ หาค่ำกินเช้า” ต้องหยุดงานหมายถึง “ไม่มีอาหารที่จะกิน” หมายรวมถึง “ไม่มีรายได้ที่จะผ่อนชำระหนี้สิน” ซึ่งคนส่วนใหญ่มีชีวิตปกติอยู่แบบ “มนุษย์เงินผ่อน”

“เสรีภาพ” ที่ถูกจำกัดไปเพื่อ “สุขภาพ” จึงเป็นสภาวะที่เหลือกำลังรับของชีวิตผู้คนจำนวนมาก ความเดือดร้อนแผ่ไปทั่วทุกหัวระแหง ทุกหย่อมย่านมากมายด้วยคนหิว คนอด

Advertisement

และนั่นเป็นที่มาของ “คนที่พอมีเหลือ” สร้างกิจกรรมแบ่งปันให้เพื่อนรวมสังคม ตั้งโต๊ะแจกจ่ายอาหารและของใช้จำนวนหนึ่งให้ผู้ขาดแคลน

“คนใจดี” ออกมาช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั่วไป หลายคนเปิดรับบริจาคเพื่อจัดหา

ขณะที่มีคนกลุ่มหนึ่งมี “ไอเดีย” ซื้อตู้กับข้าวมาตั้งในจุดต่างๆ ตามที่สาธารณะ แล้วซื้อหาอาหารใส่ไว้ พร้อมทั้งเชิญชวนให้คนที่พอมีเหลือร่วมซื้อมาเติมใส่

“ใครขาดมาหยิบไปกินไปใช้เท่าที่พอ” คือแนวความคิด

“ตู้ปันสุข” เป็นแหล่งกลางของการแบ่งปันให้กันและกันของคนในสังคม

เริ่มต้นจากจิตใจที่ดีงาม

อย่างไรก็ตาม เป็นธรรมดาทุกเรื่องที่ไม่สมบูรณ์ไปตามที่คิด ย่อมมีขาดมีเกินอยู่บ้าง

“ตู้ปันสุข” ก็เช่นกัน บางคนมาร่วมสร้าง ร่วมแบ่งปัน แบบคาดหวังว่าคนมาเอาของจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หยิบแต่น้อยเท่าที่พอกิน และสำนึกในบุญคุณของคนให้ พอไม่ได้อย่างใจก็โวยวายเอาภาพของคนที่แย่งชิงของในตู้มาประจาน แสดงความโกรธแค้นด่าทอด้วยความคิดว่า “เพื่อนร่วมสังคมเต็มไปด้วยคนที่ไร้สำนึก ละโมบโลภมาก เห็นแก่ได้ไม่รู้จักพอ”

ขณะที่คนจำนวนหนึ่งที่เข้ามาหยิบเอา ก็ฉวยกันเต็มที่เหมือนเอาไปกักตุน หรือทำให้คิดว่าหยิบไปขายต่อ

คนที่เห็นภาพเหล่านี้เกิดอาการ “รับไม่ได้”

บ้าง “รับไม่ได้” กับการ “แบ่งปันแบบเอาหน้า”

บ้างรับไม่ได้กับการ “ความละโมบโลภมากที่เห็น”

บางคนรับไม่ได้เพราะเห็นตู้ปันสุขเป็นแค่ “ความดีงามฉาบฉวยที่ใช้สำหรับเลี้ยงไข้ความเหลือมล้ำในสังคมที่หากจะแก้ไขกันจริงๆ ต้องจัดการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นโครงสร้างอำนาจ”

การปฏิเสธเจตนาที่ดีของคนที่คิดเรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางด้วยมุมมองในด้านลบดังกล่าว

เป็นการตัดสินไปตาม “จิตสำนึก” ของแต่ละคนที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม มีคนอีกจำนวนมากที่มอง “ตู้ปันสุข” ด้วยความหวัง

ทั้งความหวังใน “ความดีงามระดับบุคคล” ทั้งหมายความว่าจะเป็นสัญลักษณ์ให้เห็น “ความเหลื่อมล้ำระดับโครงสร้าง”

ทำให้ “ตู้ปันสุข” เกิดมิติที่หลากหลาย

เรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ยิ่งหากมีใครสักคนรวบรวมเอาความเป็นไปของกระแส “ตู้ปันสุข” ไปทำงานวิชาการแบบวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นไป โดยมีเป้าหมายให้เป็นภาพสะท้อนของ “จิตสำนึกคนไทย” ว่าแนวโน้มเป็นอย่างไร

ภาพสะท้อนจิตสำนึกนี้จะเป็นประโยชน์ยิ่งกับการนำมาใช้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ

จิตสำนึกชี้นำความคิดสู่พฤติกรรมและการพูดจา

ซึ่งน่าจะเป็นข้อมูลที่ทรงคุณค่า หากคิดนำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image