ภาพเก่าเล่าตำนาน : โรงบุญ…โรงทาน… มีมานานโข โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ภาพจาก matichon.co.th

สังคมที่น่าอยู่ สุขสบาย คือสังคมที่เอื้ออาทร ดูแลกันเอง

ราว 2,500 ปีกว่ามาแล้ว ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้เป็นอริยะสาวกของพระพุทธเจ้า คือ ผู้ที่ทำทานอย่างสม่ำเสมอ ให้ความเมตตาทั้งคนยากไร้ และนักบวช

ท่านเป็นชาวสาวัตถี (แคว้นโกศล) ในสมัยพุทธกาล มีชีวิตอยู่ในห้วงเวลาเดียวกับพระพุทธเจ้า เดิมท่านมีนามว่า สุทัตตะเศรษฐี เกิดในตระกูลของสุมนะเศรษฐี ใจบุญ ชอบช่วยเหลือคนตกยาก ทำให้ท่านถูกเรียกจากชาวเมืองสาวัตถีว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐี แปลว่า เศรษฐีผู้เป็นที่พึ่งของคนยาก

ก่อนที่จะมอบศรัทธาแด่พระพุทธศาสนานั้น ท่านเคยนับถือนักบวชปริพาชกมาก่อน จนวันหนึ่ง…ท่านเดินทางไปพบสหายต่างเมือง พบว่าเหล่าบริวารของสหาย ต่างทำงานตระเตรียมอาหารสำหรับถวายพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ผู้ติดตาม

Advertisement

เกิดคำถามในใจว่า…พระพุทธเจ้าเป็นใคร ?

วันหนึ่ง…ท่านจึงตัดสินใจไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และมีโอกาสได้ฟังธรรมจากพระโอษฐ์ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี จึงเกิดดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็นพระโสดาบันในคืนนั้นเอง

เมื่อบิดามารดาของท่านล่วงลับไปแล้ว ท่านได้ดูแลกิจการของครอบครัว ให้ตั้ง “โรงทาน” ที่หน้าบ้านแจกอาหารแก่คนยากจนทุกวัน จนกระทั่งผู้คนทั่วไปเรียกท่านตามลักษณะนิสัย ว่า “อนาถบิณฑิกะ” ซึ่งหมายถึง “ผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา”

Advertisement

นี่เป็นเรื่องที่ปรากฏโดดเด่นในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เป็นการแสดงออกถึงความศรัทธา ความมีสติปัญญา และความเอาใจใส่ในการบำรุงพระพุทธศาสนา …เป็นเลิศในการเป็นผู้ให้ทาน

จากบันทึกหลายสำนักในอดีต ใครที่จะได้รับการยกย่องว่าเป็น “เศรษฐี” จะวัดกันด้วยจำนวนโรงทานที่ผู้นั้นอุปถัมภ์

ในโลกนี้ มีคนบริจาค แบ่งปันในทำนองนี้อีกมาก

อันที่จริง การตักบาตรพระสงฆ์ในพุทธศาสนา ก็เป็นวิถีปฏิบัติของชาวพุทธมาช้านาน ถ้าจะเทียบได้กับการแบ่งปัน สงเคราะห์ให้ข้าว ปลา อาหารต่อเพื่อนมนุษย์ก็คงได้

การตักบาตรเป็น “ความงดงาม” ของชาวพุทธปฏิบัติกันมาแต่สมัยพุทธกาล พระภิกษุจะถือบาตรออกบิณฑบาตเพื่อรับอาหารหรือทานอื่นๆ จาก “ผู้ให้” ในเวลาเช้า ผู้คนที่ออกมาตักบาตรจะนำของต่างๆ เช่น ข้าว ผลไม้ อาหาร มามอบให้พระสงฆ์

ชาวพุทธเชื่อกันว่าการสร้างกุศล แบ่งปัน และถือว่าเป็นการแผ่ส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย

พระภิกษุจะออกบิณฑบาตทุกวัน อันเนื่องมาจากกฎของพระภิกษุมีอยู่ว่า พระภิกษุไม่สามารถที่จะเก็บอาหารข้ามคืนได้

เวลาที่พระภิกษุออกบิณฑบาต พระภิกษุจะใช้ 2 มือประคองบาตรเอาไว้แล้วเดินในกิริยาสำรวม พระภิกษุจะไม่เอ่ยปากขออาหารจากผู้คน หรือแสดงกิริยาในการขอ โดยส่วนมากแล้วเวลาที่พระภิกษุออกบิณฑบาตคือ ตั้งแต่ช่วงเช้ามืด จนถึงก่อน 7 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาที่พระภิกษุฉันอาหารมื้อเช้า

ผู้เขียนก็เคยมีโอกาสได้บวชเป็นพระสงฆ์ที่วัดหลวงพ่อโสธร แปดริ้ว เคยออกบิณฑบาต ยังซาบซึ้งใจในจริยวัตรของชาวบ้านที่ใส่บาตรด้วยความเต็มใจ ตั้งใจจะมอบอาหารให้พระสงฆ์

หน้าตา กริยา อาการของ “ผู้ให้” …ทำให้เกิดความคิดในใจเสมอว่า ในดินแดนนี้จะไม่มีใครต้องอดอาหารตายแน่นอน…

ลองมามองหลักการของคริสต์ศาสนา…

คริสต์ศาสนิกชน นอกจากจะมีพระเยซูคริสต์ เป็นพระเจ้า มีหลักการให้ทานหรือบริจาคทำไปก็เพราะ เป็นคำสอนของพระเยซูคริสต์ พระองค์สอนให้รู้จักการแบ่งปัน การมีน้ำใจ การอภัย และการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

การให้ทานหรือบริจาค ก็คือการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในฐานะที่เป็นมนุษย์เหมือนกับเรา

ศาสนาคริสต์มีหลักธรรมที่หล่อหลอมให้คริสต์ศาสนิกชนมีจิตเมตตา มีความรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตัวเอง

ประวัติศาสตร์ที่ค้นคว้าหามาเล่าเรื่องของการแบ่งปันอาหาร สงเคราะห์เพื่อนมนุษย์…ที่เกิดขึ้นในยุโรปครับ

สถานสงเคราะห์ หรือโรงทาน ที่จัดไว้ดูแลผู้ตกทุกข์ได้ยาก ภาษาอังกฤษใช้คำว่า A lmshouse : อลัมส์เฮาส์ (หมายถึงอาคารที่พัก สำหรับคนยากจน ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุของ ผู้ยากไร้ แม่ม่าย เด็กนอกสมรส ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกโดย คริสตจักร โดยปกติแล้วองค์กรการกุศลเป็นผู้สนับสนุนเงิน)

ราวศตวรรษที่ 10 บนเกาะอังกฤษ มีบ้านพักเพื่อคนชราให้เข้ามาอยู่อาศัยเพื่อการกุศลหลายแห่ง พวกเขามักมุ่งเป้าไปที่คนจนในท้องที่ หรือแม่ม่าย (สามีไปทำสงครามเสียชีวิต)

เมื่อชาวอังกฤษอพยพไปตั้งถิ่นฐานในอเมริกา… ช่วงที่สร้างบ้านสร้างเมือง มีผู้ยากไร้ คนชรา เด็ก คนป่วยที่ถูกทอดทิ้งจำนวนมาก

นายวิลเลียม เพนน์ จึงนำแนวคิดนี้ไปจัดตั้งสถานสงเคราะห์ โดยมีเงินทุนเก็บจากภาษีที่ดินจากเจ้าของที่ดินในรัฐแมสซาชูเซตส์

หลักการนี้ สอดคล้องกับหลักศาสนาคริสต์ มีการดำเนินงานต่อเนื่องกันมายาวนานในสหรัฐอเมริกา มุ่งเน้นช่วยเหลือให้อาหาร ที่พัก เฉพาะผู้สูงอายุ ผู้พิการและเด็กๆ

สถานสงเคราะห์แห่งแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาก่อตั้งขึ้นในบอสตัน แมสซาชูเซตส์ในปี พ.ศ.2203 (ตรงกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์) ชื่อ บอสตันอลัมส์เฮาส์ ต่อมาในปี พ.ศ.2225 เกิดอัคคีภัย และถูกสร้างขึ้นใหม่ ต่อมามีผู้วิกลจริตถูกส่งเข้ามาในสถานที่แห่งนี้

ปัญหา ความยุ่งยากเกิดขึ้นมหาศาล ในเรื่องเงินทุนสนับสนุนและและความเกียจคร้านของผู้ได้รับการสงเคราะห์ ดำเนินการไป แก้ไขกันไป… ต่อมาพัฒนากลายเป็นโรงพยาบาล

เรื่องการบริจาคอาหาร ในเมืองไทย แต่ไหนแต่ไร เป็นเรื่องที่ผู้คนทั่วไปไม่รังเกียจ เกี่ยงงอน ในหลักของศาสนาพุทธ แบ่งโรงทานได้ 3 ประเภท คือ โรงทานถาวร โรงทานตามเหตุการณ์ และโรงทานของพระราชา

การให้ทานจะเกิดประโยชน์ 2 ประการ คือ เป็นการละกิเลสของผู้ให้ และเพื่อสงเคราะห์ผู้ได้รับ ซึ่ง 2 อย่างนี้ล้วนเป็นบุญด้วยกัน

โรงทานที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตั้งแต่อดีต เป็นอิทธิพลทางความคิดของพุทธศาสนา ถึงแม้จะดำเนินการโดย ศาลเจ้าพ่อ เจ้าแม่ มูลนิธิ ราชการ และเอกชน

โชคดีสำหรับแผ่นดินไทยที่ทุกเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ที่หลอมรวมกันอยู่ ต่างก็มีจิตใจสูงส่ง มีแนวทางการดำเนินชีวิตในลักษณะ “ผู้ให้” โดยเฉพาะชาวจีน ที่มีโรงเจ การทำบุญของชาวไทยเชื้อสายมอญ คริสต์ศาสนิกชน แขกซิกข์ ชาวเมืองเหนือ ชาวอีสาน ที่มีประเพณีทำบุญเผื่อแผ่เรื่องอาหารการกินในหลายโอกาส

ช่วงเวลาแห่งภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติร้ายแรงในประเทศไทย เรื่องของการบริจาคอาหาร เป็นเรื่องที่คนไทยไม่เคยบกพร่องในน้ำใจ

เหตุการณ์ 13 หมูป่า ที่เชียงราย เมื่อเดือนมิถุนายน 2561 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาฯ พระราชทานจัดตั้ง “โรงครัวพระราชทาน” เพื่อประกอบอาหารสำหรับแจกจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่ปฏิบัติหน้าที่ระหว่างการค้นหา บริเวณถ้ำหลวง

และสถานการณ์ในปัจจุบัน ก็มีโรงครัวพระราชทานหลายแห่ง

หลักการของพุทธศาสนากล่อมเกลา ปลูกฝังนิสัยให้โอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้ยากไร้ วรรณกรรม เรื่องเล่า คำสอนของชาวพุทธจะมุ่งไปที่ความซื่อตรง เผื่อแผ่ เมตตา

หนังสือที่คนไทย (ยุคหนึ่ง) ให้ความเชื่อถือ และกลายมาเป็นเรื่องเล่า บอกต่อกันมาคือ กฎแห่งกรรม นอกจากนั้น ไตรภูมิพระร่วงก็เป็นวรรณคดีที่บอกเล่าให้สร้างบุญกุศล

ผู้เขียน ไม่ขอไปไกลถึงเรื่องของ นรก สวรรค์ เปรต เทวดา นางฟ้า เพราะการเป็น “ผู้ให้ ผู้บริจาค” เป็นความรู้สึกอิ่มเอิบได้เฉพาะตัว ที่บอกเล่า สัมผัสกันได้ในชาตินี้

เรื่องของ “ตู้ปันสุข” ที่อุบัติขึ้นในสังคมไทยในช่วงโควิด-19 (ต่างประเทศ เรียกว่า Free Pantry หรือ Food Sharing หรือ Food Bank) ที่ถือได้ว่าเป็นความกล้าหาญ เป็นบททดสอบที่สอดคล้องกับเรื่องโรงทาน สะท้อน “น้ำใส ใจจริง” ของคนไทยจำนวนหนึ่งเป็นเรื่องที่ประเสริฐนัก ห้ามกันไม่ได้

ผู้เขียนไปค้นหารากฐานแนวคิดนี้จากซีกโลกตะวันตก เลยได้ทราบว่า การตั้งตู้อาหารทิ้งไว้แบบนี้ “เพื่อมิให้ใครต้องอับอาย”

เริ่มจาก 5 แห่งใน กทม. แต่ต่อมามีคนไทยใจดี ไปทำเพิ่มในหลายจังหวัด จนตอนนี้มีจำนวนมากกว่า 300 แห่งแล้ว และมีสโลแกนของกิจกรรมว่า “หยิบไปแต่พอดี ถ้าท่านมีใส่ตู้แบ่งปัน”

สังคมไทยส่วนใหญ่ตอบรับเป็นอย่างดี พร้อมช่วยกันนำของมาเติมใส่ตู้เพื่อแบ่งปันต่อๆ กันไป

เรื่องนี้โด่งดังไปนอกประเทศ เป็นที่สดุดีสรรเสริญ ที่ประเทศอื่นๆ อยากมี อยากทำแบบเมืองไทย โดยเฉพาะกรณีนำทุเรียนที่แกะแล้วไปใส่ตู้ แล้วเกลี้ยงภายใน 5 นาที

ผู้เขียนและคนไทยทั้งปวง ขอยกย่องการกระทำที่กล้าหาญชาญชัย ของเหล่าผู้ใจบุญ เพราะหลายรูปแบบ หลายโมเดลที่ประสบ “ความสำเร็จ” ในบางประเทศ กลับมาเป็น “หายนะ” ในสังคมไทยก็มีไม่น้อย

สื่อสังคมออนไลน์ ได้เผยแพร่ความปลาบปลื้ม ความตื้นตัน ที่คนไทยใจบุญนำตู้ “ปันสุข” ไปตั้งแล้วนำอาหาร น้ำดื่มไปใส่ไว้ให้ใครก็ได้มาหยิบไปใช้ประทังชีวิตในยามข้าวยากหมากแพง

ในบางคลิป ผู้ยากไร้จิตใจแสนประเสริฐ หยิบของเพียง 1-2 ชิ้น เพราะมีจิตใจเผื่อแผ่นึกถึงผู้อื่น บางรายเมื่อหยิบอาหารไปแล้ว หันรี หันขวาง กลับมายกมือไหว้ตู้อาหารเพื่อแสดงความขอบคุณ

ภาพที่ถูกนำมาเผยแพร่ที่บาดใจสังคมไทยที่สุด คือ การนำมอเตอร์ไซค์ไปจอดเทียบแล้ว พ่อ-ลูก “กวาด” อาหารในตู้ไปจนหมดเกลี้ยง หรือการแย่งชิงที่เรียกว่า “แร้งลง”

ที่ทุกข์ระทมขมขื่น ก็คือ มีผู้นำตู้อาหารไปตั้งหน้าบ้านเพื่อแจกจ่าย แล้วมีคนมาหยิบไปจนหมด คนมาที่หลังดันไปตะโกนด่าเจ้าของบ้านให้นำอาหารมาใส่ด้วยถ้อยคำหยาบคาย

ต้องยอมรับครับว่า มนุษย์พวกนี้มีตัวตนอยู่จริง ปะปนอยู่ในสังคมไทยสร้างความ “ท้อแท้-ผิดหวัง” ให้กับสังคมไทยที่พยายามจะโอบอุ้ม ดูแลกันเอง…คนพวกนี้ได้ขโมยความฝัน ความหวังดี ไปจนเกลี้ยงพร้อมกับอาหารที่ควรจะแบ่งให้ผู้อื่นบ้าง

ผู้เขียนเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ นำความดีงามและความละโมบ โสมม บรรจุไว้ในหนังสือเรียนเพื่อสังคมไทยจะน่าอยู่ขึ้น

ต้องทำใจ ต้องใจแข็ง อดทน…เมื่อบริจาคแล้วก็ต้องตัดใจ ไม่ขอกังวล ขอเป็นสุขจากการให้ สังคมไทยจะบ่มเพาะ ขัดเกลา และจัดการกันเอง….

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image