สถานีคิดเลขที่ 12 : แล้วคุณล่ะ? : โดย นฤตย์ เสกธีระ

สถานีคิดเลขที่ 12 : แล้วคุณล่ะ? : โดย นฤตย์ เสกธีระ

สถานีคิดเลขที่ 12 : แล้วคุณล่ะ? : โดย นฤตย์ เสกธีระ

บทสัมภาษณ์พิเศษที่หนังสือพิมพ์มติชนสัมภาษณ์ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนาเมื่อวานนี้ ชวนคิดถึงการมองหาโอกาสในอนาคต

ผู้สื่อข่าวสอบถามนายสุวัจน์ถึงการผ่อนปรนเฟส 3 ในสถานการณ์โควิด-19 หลังจากที่เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ประเทศไทยผ่อนปรนในเฟส 2 ไปแล้ว

และมีกำหนดว่าภายใน 14 วันหากตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ในความควบคุม

Advertisement

การผ่อนปรนเฟส 3 ก็จะดำเนินต่อไป

การผ่อนปรนเฟส 3 เท่ากับว่ารัฐบาลยอมรีสตาร์ตธุรกิจให้ถึง 75 เปอร์เซ็นต์แล้ว

ดังนั้นสิ่งที่อยากรู้จากนายสุวัจน์ก็คือมุมมองเมื่อไทยเข้าสู่เฟส 3

Advertisement

คำตอบที่ได้รับคือ การบอกให้ประเทศไทยมองหา “โอกาส” ในสถานการณ์ที่เรียกว่า “วิกฤต”

นายสุวัจน์มองว่าไทยมีโอกาสดีๆ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 3 ประการ

ประการแรก คือ มองเห็นความสามารถในเชิงสาธารณสุขของไทย

การควบคุมโรค การป้องกัน การรักษาพยาบาล การปฏิบัติการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทำให้ทั่วโลกรับรู้ศักยภาพของสาธารณสุขไทย

เมืองไทยจึงน่าจะขยับไปเป็นเมืองสุขภาพ ซึ่งจะขยายไปเป็นฮับของสุขภาพ หรือจะต่อยอดอย่างไรต่อไปก็สุดแล้วแต่

ประการที่สอง คือ การท่องเที่ยว เพราะย้อนกลับไปก่อนโควิด-19 อาละวาด แม้โลกจะตกอยู่ท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน แต่การท่องเที่ยวของไทยก็ยังไปได้สวย

หลังจากโควิด-19 ผ่านพ้น ถ้าไทยเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัย

นอกจากจะปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน คือ ไร้โจรผู้ร้ายแล้ว ต้องเพิ่มความปลอดภัยในด้านสุขภาพ คือ ปลอดโรคระบาด

จะยิ่งเสริมความน่าสนใจให้การท่องเที่ยวไทย

เมื่อรวมกับผลพลอยได้จากการปิดการท่องเที่ยวเนื่องจากโควิด-19 ทำให้ธรรมชาติของไทยฟื้นตัวขึ้นมา

การพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นระดับ ไฮเอนด์ น่าจะเป็นไปได้

ประการที่สาม คือ อาหารของเรามีเหลือเฟือ ดูจากตู้ปันใจ หรือตู้แบ่งปัน ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศหลังจากมีข่าวคนอดอยาก

ปรากฏว่ามีคนนำเอาอาหารมาไว้ในตู้กันมาก แสดงว่าเมืองไทยยังอุดมสมบูรณ์

หลังจากโควิด-19 ประเทศทั่วโลกจะต้องการอาหาร จึงเป็นอีกโอกาสหนึ่งของไทยในการส่งออก

ฟังเนื้อความจากนายสุวัจน์แล้วอยากมากระตุ้นให้ภาครัฐ เอกชน และประชาชนกระโดดออกมาจาก “วิกฤต”

และช่วยกันมองหา “โอกาส”

โอกาสที่จะทำให้สามารถสอดแทรกตัวเองเข้าไปอยู่ใน “นิว นอร์มอล” หลังจากโควิด-19 ค่อยๆ ซาหายไป

การปรับตัวให้เข้ากับ “นิว นอร์มอล” เริ่มเป็นเพียงคุณสมบัติพื้นฐานที่ทุกภาคส่วนต้องมี

เพราะคุณสมบัติพิเศษที่ต้องเสริมคุณสมบัติพื้นฐานในสถานการณ์ในอนาคตก็คือ “โอกาส” ที่มองเห็น

เหมือนเช่นนายสุวัจน์มองเป็นตัวอย่างให้เห็น 3 ประการ

มองเห็น “โอกาส” ใน “วิกฤต”

แล้วคุณล่ะ

เหตุการณ์โควิด-19 ได้ช่วยให้มองเห็น “โอกาส” ในอนาคตมากน้อยเพียงใด

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image