สถานีคิดเลขที่ 12 : แอ๊บนอร์มัล โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

สถานีคิดเลขที่ 12 : แอ๊บนอร์มัล โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

สถานีคิดเลขที่ 12 : แอ๊บนอร์มัล โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

คําที่มาแรงแซงล็อกดาวน์ตอนนี้ต้องยกให้นิว นอร์มัล

ราชบัณฑิตยสภาเพิ่งบัญญัติศัพท์ New normal ว่าให้เขียนทับศัพท์ได้เลยว่า “นิว นอร์มัล” เพราะเป็นคำที่มีหลายบริบท ไม่ใช่เฉพาะในทางธุรกิจหรือวิถีชีวิตเท่านั้น ยากที่จะหาคำกลางๆ

แต่ถ้าจะให้คำจำกัดความภาษาไทย ก็คือความปกติใหม่ หรือฐานวิถีชีวิตใหม่ ส่วนคำว่า New norm. นิวนอร์ม ให้หมายถึงบรรทัดฐานใหม่

Advertisement

ด้านองค์กรแสนสุขและสื่อบางสำนักแปลคำนี้ว่า ชีวิตวิถีใหม่ เพื่อจะรณรงค์ให้ประชาชนปฏิบัติตัวตามแนวทางป้องกันเชื้อโรค โดยเฉพาะโรคโควิด-19 เมื่อหวนกลับสู่สังคม

แต่ไม่ว่าจะใช้คำไหน การใช้ชีวิตคนเราน่าจะต้องอาศัยเวลาอีกพักใหญ่ที่จะทำให้ปกติ

และที่พูดๆ กันว่าปกติใหม่นั้น จริงๆ ก็คือความไม่ปกตินั่นเอง เพียงแต่ว่าการทำตัวไม่ให้ปกตินั้นยังสำคัญสำหรับการควบคุมเชื้อโรคไม่ให้มาติดเรา หรือไม่ให้เราแพร่เชื้อไปติดคนอื่น

Advertisement

การปรับตัวอยู่กับความไม่ปกติ ต้องอาศัยความอดทน และต้องคิดแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา

ตัวอย่างชัดเจนที่เยอรมนี คือการเปิดแข่งขันฟุตบอลบุนเดสลีกาอีกครั้งเพื่อจะให้ฤดูกาล 2019/2020 จบแบบสมบูรณ์

ก่อนหน้านี้มีลีกต่างๆ ในยุโรปที่ตัดสินใจว่า เลิกไปเลยให้ฤดูกาลนี้เป็นโมฆะ เวลาเปิดบันทึกประวัติศาสตร์ดูจะได้นึกออกว่า ปี 2020 เป็นปีที่โรคโควิด-19 ระบาดจนต้องหยุดการแข่งขัน

บางลีกเลือกตัดจบ คือนับคะแนนที่มีอยู่แล้วมอบแชมป์ให้มีคะแนนสูงสุดไปเลย

แต่เยอรมนีเลือกจะเตะต่อให้จบอีก 9 นัดที่เหลือ เพราะคิดว่าจัดการได้กับนิวนอร์มัล

ปรากฏว่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แฟนบอลก็ได้ชมฟุตบอลแบบแปลกๆ คือได้ยินเสียงทีมสต๊าฟข้างสนาม ดังก้องๆ ออกมาท่ามกลางความเงียบ แทนที่เสียงกองเชียร์ เวลานักบอลทำประตูได้ ก็ยืนเต้นยิ้มๆ ขำๆ เพราะไม่มีเพื่อนกระโจนเข้าหา ใช้ข้อศอกชนกันบ้าง หรือใช้เท้าแตะกันบ้าง

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่เกมการแข่งขันกีฬาที่ปกติ ต่อให้เรียกว่านิวนอร์มัล แต่ก็ถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่คนเราต้องใช้ชีวิตแบบสังคมมนุษย์ต่อไป อย่างน้อยเพื่อเป้าหมายคือให้การแข่งขันจบฤดูกาล

บ้านเราก็มีนิวนอร์มัลแล้วเหมือนกันกับการเปิดห้าง เปิดตลาด เปิดร้านอาหาร และอื่นๆ เป้าหมายก็คือเดินเครื่องเศรษฐกิจอีกครั้ง ภายใต้ข้อจำกัดมากมาย

ส่วนนักเรียนต้องเจอกับนิวนอร์มัลที่เรียนผ่านหน้าจอ จอคอมพิวเตอร์บ้าง จอมือถือบ้าง ขลุกขลักกันไป พร้อมเผยภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางสังคมออกมาด้วย

ความเหลื่อมล้ำที่ว่านี้กลุ่มคนที่มีโอกาสสูงกว่าก็อาจจะเห็นว่าเป็นภาวะปกติอยู่แล้ว เพราะเกิดมาไม่ต้องดิ้นรนเหมือนกับครอบครัวที่ไม่มีมือถือ หรือคอมพิวเตอร์

แต่ความเหลื่อมล้ำที่สะท้อนมาตั้งแต่การดิ้นรนลงทะเบียนขอรับเงินช่วยเหลือจนมาถึงเด็กยากจนที่เรียนออนไลน์ไม่ได้ หรือมีอุปสรรค ไม่ใช่เรื่องปกติ

ตรงกันข้ามเป็นการสำแดง ความผิดปกติ หรือ abnormal ที่มีมานานแล้ว เพียงแต่มาแสดงให้เห็นชัดตอนนิวนอร์มัลนี่เอง

พอเห็นชัดๆ ขนาดนี้ ผู้มีอำนาจจัดสรรทรัพยากรน่าจะต้องแก้ไขจริงจังเสียที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image