บทนำ : ฟื้นฟู‘บินไทย’

บทนำ : ฟื้นฟู‘บินไทย’

บทนำ : ฟื้นฟู‘บินไทย’

คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ได้ลงมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร. ให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย และให้กระทรวงการคลังลดการถือหุ้นในการบินไทยจาก 51% เหลือ 48% เพื่อให้พ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะมีผลทางกฎหมายหลายประการ เป็นแนวทางที่ได้รับการตอบรับจากสังคมด้วยดี หลังจากที่มีข่าวว่ารัฐบาลจะทุ่มงบประมาณเข้าอุ้มเหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) แนวทางตามมติ ครม. น่าจะคิดมารอบคอบแล้ว และเป็นทางเลือกกึ่งกลาง ระหว่างรัฐบาลอุ้มต่อไป หรือปล่อยให้ล้มละลาย ทางออกให้ทำแผนฟื้นฟูโดยศาลเป็นผู้ดูแล จะหลีกการแทรกแซงจากการเมือง และสหภาพแรงงานได้บางส่วน เนื่องจากก่อนหน้านี้ เมื่อมีประเด็นเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูการบินไทยออกมา แล้วมีส่วนที่เกี่ยวข้องหรือกระทบกับสหภาพ ก็จะออกมาแสดงจุดยืนซึ่งมีพลังมากพอสมควร ทำให้การฟื้นฟูเป็นไปอย่างยากลำบาก แนวทางดังกล่าวข้อดีคือ คงไม่เกิดการความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้คืน เพราะกระทรวงการคลังยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ และในกระบวนการถัดไปจะมีการจัดทำแผนฟื้นฟูออกมา ซึ่งรายละเอียดของแผนการชำระเงิน และจัดหาแหล่งเงินทุนน่าจะมีอยู่ และเพียงพอในการรองรับความเสี่ยงเหล่านี้ได้ นายณัฐพลกล่าวด้วยว่าหากอ้างอิงจากทีพีไอโพลีน ที่ยื่นล้มละลายด้วยหนี้สินขนาดใหญ่ไม่แตกต่างจากการบินไทย และรัฐบาลเข้ามาสนับสนุนก่อนจะเปลี่ยนเป็นบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ใช้เวลาประมาณ 3 ปีก่อนจะกลับมาซื้อขายได้อีกครั้ง ประเมินว่าการบินไทยน่าจะใช้เวลาไม่นานในการฟื้นกลับมาได้

ตามไทม์ไลน์ของกระบวนการฟื้นฟู กรณีของการบินไทยจะจบกระบวนการในเดือน ก.ค.2565 รวมใช้เวลาประมาณ 2 ปีเศษ แต่ระหว่างนี้ ยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้สิ่งที่เกิดขึ้นกับการบินไทยถือว่าสุกงอม ถึงจุดที่จะต้องตัดสินใจแก้ปัญหาเด็ดขาด ประกอบกับการแพร่ระบาดไวรัสโควิดที่ทำลายธุรกิจการบิน จึงเป็นโอกาสเหมาะที่จะแก้ทุกปัญหาให้การบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติอย่างแท้จริง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image