แนวคิดการจัดตั้ง…วิทยาลัยวิชาชีพทนายความชั้นสูง แห่งเนติบัณฑิตยสภา

ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เนติบัณฑิตยสภาจะจัดให้มีการเลือกตั้ง “คณะกรรมการเนติบัณฑิตยสภา” ชุดใหม่แทนชุดเดิมที่จะครบวาระในเดือนกันยายน 2563 นี้ (เลือกโดยวิธีส่งบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์) ผู้เขียนในฐานะเป็นกรรมการเนติบัณฑิตยสภา (ประเภททนายความ) ชุดปัจจุบัน (2559-2563) ซึ่งได้รับเกียรติได้รับเลือกตั้งจากท่านทนายความ

การที่ได้มีโอกาสเข้ามาทำหน้าที่กรรมการเนติบัณฑิตยสภาระยะหนึ่งทำให้ทราบแนวทางหรือแนวคิดว่าเนติบัณฑิตยสภาแห่งนี้น่าจะยังประโยชน์ให้กับสมาชิกผู้ประกอบวิชาชีพทนายความได้เป็นอย่างดียิ่ง จึงขออนุญาตเสนอแนวคิดหรือวิธีการที่จะส่งเสริมทนายความคนไทยให้เป็น “ทนายความมืออาชีพ” เพื่อเป็นศักดิ์เป็นศรีแก่พวกเราที่ได้ชื่อว่าเป็น “ทนายความ” ทุกคน

เนติบัณฑิตยสภา เป็นองค์กรอิสระและเป็นองค์กรหลักของประเทศในการ “ส่งเสริมการศึกษานิติศาสตร์และการประกอบอาชีพทางกฎหมาย” เนติบัณฑิตยสภาของไทย มีรูปแบบสากลเช่นเดียวกับต่างประเทศทั่วโลก เป็นสถาบันกฎหมายชั้นสูงหรือชั้นสูงสุดของไทย ชื่อเสียงเป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาช้านาน

ขณะนี้ประเทศไทยเรามีทนายความ จำนวน 77,664 คน (ชาย 54,174 คน หญิง 23,490 คน) ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 35 (3) ในปัจจุบันกำหนดให้ผู้ผ่านการฝึกอบรมวิชาว่าความของสภาทนายความทุกคนต้องสมัครเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา มิฉะนั้นจะขอจดทะเบียนรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความว่าความมิได้ กล่าวคือต้องเป็นสมาชิกประเภทใดประเภทหนึ่งใน 2 ประเภทนี้คือ

Advertisement

(1) สามัญสมาชิก สำหรับผู้จบเนติบัณฑิต ธรรมศาสตร์บัณฑิตเดิม ฯลฯ ขณะนี้มีจำนวน 7,814 คน (ชำระค่าจดทะเบียนเป็นสามัญสมาชิกให้เนติบัณฑิตยสภา 3,000 บาท สามัญสมาชิกมีสิทธิเลือกตั้งกรรมการเนติบัณฑิตยสภา ประเภททนายความได้) หรือ

(2) สมาชิกวิสามัญ สำหรับผู้จบนิติศาสตรบัณฑิต มีจำนวน 69,850 คน (ชำระค่าจดทะเบียนเป็นสมาชิกวิสามัญให้เนติบัณฑิตยสภา 2,000 บาท สมาชิกประเภทนี้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งกรรมการเนติบัณฑิตยสภาแต่อย่างใด)

ปัจจุบันเนติบัณฑิตยสภา มีจำนวนสามัญสมาชิกผู้ซึ่งมีสิทธิเลือกตั้งกรรมการเนติบัณฑิตยสภา รวม 39,685 คน แยกเป็น ทนายความ 7,814 คน ตุลาการ 5,039 คน อัยการ 4,345 คน และบุคคลอื่น 22,487 คน

Advertisement

ขอให้ท่านพิจารณาดูกราฟวงกลม ซึ่งแสดงจำนวน (1) สามัญสมาชิก และ (2) สมาชิกวิสามัญ รวมทั้ง 2 ประเภทมีจำนวน (ประมาณ) 109,535 คน ส่วนที่เป็นทนายความมีมากที่สุด 77,664 คน คิดอัตราส่วน (ประมาณ) 71% ของจำนวนพลเมืองหรือประชากรของเนติบัณฑิตยสภา สมาชิกวิสามัญที่เป็นทนายความซึ่งมีจำนวนมากถึง 69,850 คน ท่านทนายความเหล่านี้ (รวมถึงท่านทนายความที่เป็นสามัญสมาชิกด้วย) ต่างก็ปฏิบัติหน้าที่ “ทนายความ” รับใช้ชาติประชาชนกระจายทั่วภูมิภาคของประเทศ

“ทนายความ” เป็นองค์กรหนึ่งที่สำคัญในกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ โดยผลของกฎหมายทนายความจะร่วมทำหน้าที่คานอำนาจ ถ่วงดุลอำนาจหรือตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนว่าถูกต้องชอบธรรมหรือไม่

ท นายความที่เป็นสมาชิกวิสามัญที่ประกอบวิชาชีพทนายความมานาน 5 ปี 10 ปี หรือบางคนมากกว่า 30-40 ปีก็มี ต่างก็มีความรู้ความสามารถหรือประสบการณ์มากพอสมควร เนติบัณฑิตยสภาน่าที่จะพิจารณาปรับให้เป็นสามัญสมาชิกเสียทั้งหมด (แก้ไข … ข้อบังคับ ไม่จำต้องแก้ไข พ.ร.บ.) เช่นเดียวกับการยกเลิกทนายความชั้นสอง (อนุญาตให้ว่าความทั่วราชอาณาจักร) นั่นก็คือไม่มีทนายความชั้นหนึ่งชั้นสองอีกต่อไป ทนายความทั้งประเทศอนุโมทนาสาธุ

ผู้เขียนขออนุญาตปรารภเรื่องหนึ่งดูแล้วอาจไม่น่าสนใจแต่ขอความกรุณาได้โปรดติดตาม กล่าวคือ หลายโอกาสหลายสถานที่ในวงเสวนาของบรรดาท่านทนายความบ่อยครั้ง เมื่อได้ทราบหรือเพิ่งทราบว่าผู้เขียนเป็นกรรมการเนติบัณฑิตยสภา (ประเภททนายความ) และเคยเป็นกรรมการสภาทนายความ (ผู้แทนเนติบัณฑิตยสภา) มาก่อนด้วย จึงถูกยิงคำถามมายังผู้เขียนว่า “ทนายความได้อะไรจากเนติบัณฑิตยสภาบ้าง?” หรือ “เนติบัณฑิตยสภาให้อะไรกับทนายความบ้าง?” และวิพากษ์วิจารณ์กันต่างๆ นานา ซึ่งผู้เขียนเองก็ยังหาคำตอบที่ “โดนใจ” ท่านทนายความเหล่านั้นไม่ได้ สำหรับการจัดตั้ง “วิทยาลัยวิชาชีพทนายความชั้นสูงแห่งเนติบัณฑิตยสภา” จะเป็นคำตอบหนึ่งได้หรือไม่ ขอให้ติดตามดูความคิดเห็นและแรงผลักดันของทั้งท่านและเรา ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของเนติบัณฑิตยสภากันต่อไป

การจัดตั้งวิทยาลัยวิชาชีพทนายความชั้นสูง โดยตั้งขึ้นและสังกัดเนติบัณฑิตยสภานั้น อาจมีผู้โต้แย้งหรือตั้งคำถามว่า การนี้มี “สำนักฝึกอบรมวิชาว่าความแห่งสภาทนายความ” ทำหน้าที่ฝึกสอนหรืออบรมวิชาว่าความโดยตรงอยู่แล้ว ผู้เขียนขอเรียนว่าการผลิตหมอคน (แพทย์) กับหมอความ (ทนายความ) ที่มีมาตรฐานสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ดีไม่ใช่เรื่องง่าย คณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศสามารถผลิตนักกฎหมายได้ระดับหนึ่ง สภาทนายความโดยสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความก็ผลิตนักกฎหมายหรือทนายความที่มีคุณภาพสูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง การจัดตั้งวิทยาลัยวิชาชีพทนายความชั้นสูงแห่งเนติบัณฑิตยสภา ที่มีระดับหรือมาตรฐานสูงยิ่งขึ้นก็คงจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีพและผดุงเกียรติของทนายความได้ไม่มากก็น้อย

ขออนุญาตยกตัวอย่างการจัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับสูงที่มีชื่อเสียงของบางหน่วยงานที่ประสบผลสำเร็จ เช่น

(1) วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) เป็นสถาบันการศึกษาและการวิจัยระดับสูง ขึ้นตรงกับสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย (มีมาแล้ว 63 รุ่น)
(2) วิทยาลัยการยุติธรรม สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ของสำนักงานศาลยุติธรรม จัดอบรมหลักสูตร เช่น “ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง” (บ.ย.ส.) (มีมาแล้ว 24 รุ่น)
(3) สถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง เช่น 1) การบริหารงานพัฒนาท้องถิ่น 2) การบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน (ประกาศนียบัตรสำหรับนักบริหารระดับสูง มีมาแล้ว 23 รุ่น)
(4) สถาบันพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ของสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม จัดอบรมหลักสูตร “การบริหารงานยุติธรรมระดับสูง” (ยธส.) (มีมาแล้ว 23 รุ่น) เป็นต้น

ยกตัวอย่างมา 4 สถาบัน รูปแบบไหนที่จะนำมาปรับใช้กับ “วิทยาลัยวิชาชีพทนายความชั้นสูงแห่งเนติบัณฑิตยสภา” (วทน.) ของเรา สำหรับรายละเอียดค่อยๆ พิจารณาในภายหลังเมื่อทุกอย่างลงตัว

ข ออนุญาตเน้นย้ำในช่วงนี้ไว้ก่อนว่า เนติบัณฑิตยสภาแห่งนี้ เรามีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอย่างพรักพร้อมที่จะจัดตั้งเป็นวิทยาลัยสำหรับนักกฎหมายทนายความระดับสูงของประเทศ โดยเน้นการให้การศึกษาภาคปฏิบัติเป็นหลักสำคัญ เพื่อผลิตบัณฑิตที่สำเร็จหลักสูตรหรือผู้ผ่านการศึกษาอบรมแล้วนำไปใช้ปฏิบัติงานในหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ อย่างที่นิยมติดปากเรียกขานกันว่า “นักกฎหมายมืออาชีพ” หรือ “ทนายความมืออาชีพ” ดังที่ได้กล่าวนำไว้ข้างต้นอย่างแน่นอน

ถึงตอนนี้เรามาช่วยกันพิจารณาต่อไปว่า องค์ประกอบในการจัดตั้งวิทยาลัยฯ อย่างน้อยต้องมีอะไรบ้าง
(1) บุคลากร เนติบัณฑิตมีทั้งผู้สอนและผู้เรียนซึ่งเป็นทนายความหรือหน่วยงานอื่นสมทบเรียนจำนวนมาก
(2) อาคารสถานที่ เนติบัณฑิตมีห้องบรรยายห้องประชุมอุปกรณ์ครบครันและทันสมัย
(3) งบประมาณ เนติบัณฑิตได้งบจาก 1) เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน 2) ค่าจดทะเบียน ค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นสำคัญ และทราบว่าปัจจุบันเนติบัณฑิตมีฐานะการเงินมั่นคงน่าที่จะดำเนินการเรื่องนี้ได้
(4) กฎหมาย จัดตั้งได้ โดยแก้ไขหรือออกข้อบังคับ เช่นเดียวกับการจัดตั้ง “สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา” ไม่จำต้องแก้ไขหรือตราเป็น พ.ร.บ. และสมมุติว่าเราจัดตั้งได้

อ าจมีผู้แสดงความเห็นต่อไปอีกว่า ถ้าจะตั้งชื่อเป็นอย่างอื่นโดยไม่ต้องใช้คำว่า “ทนายความ” ไม่ได้หรือ ชื่อนั้นสำคัญไฉน ผู้เขียนซึ่งอยู่ในวงการนี้มาช้านาน ได้เห็นวุฒิภาวะของผู้นำหรือตัวแทนองค์กรบางท่านมิได้มุ่งหมายที่จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะตัวแทนขององค์กรแต่อย่างใด มีหลายท่านเสนอตัวแสดงตนว่ามีตำแหน่งในองค์กร ประคับประคองตัวโดยวาดหวังว่าจะได้รับการสรรหาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง สนช., สปท., ส.ว. หรือตำแหน่งทางการเมืองอื่น หรือตำแหน่งในองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช., กกต. เป็นต้น ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จเฉพาะบางท่านเท่านั้น แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ผิดหวังทั้งๆ ที่ทำตัวเป็นเด็กดีก็มีให้เห็นๆ กันอยู่ อดีตอาจจะบอกอะไรในอนาคตได้ ที่กล่าวมานี้อาจสะท้อนให้เห็นภาพเบื้องหลังหรือหลังฉากผู้นำหรือตัวแทนบางคนขององค์กรเราเป็นข้อมูลเพื่อท่านทราบ

เมื่อความปรากฏเช่นนี้ จึงขออนุญาตเรียนหรือกราบเรียนท่านผู้อ่านที่สนใจวิถีชีวิตการก้าวเดินของผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ และขอ
กราบเรียนท่านทนายความชั้นผู้ใหญ่ ท่านทนายความอาวุโส ท่านสามัญสมาชิกสายทนายความและเพื่อนๆ หรือน้องๆ ทนายความทุกท่านทั่วประเทศว่า ท่านและเราคงอยากได้หรือต้องการผู้นำหรือตัวแทนซึ่งมีความคิดก้าวหน้า มีศักยภาพ มีความพร้อมและความคล่องตัวที่จะยืนหยัดรณรงค์ต่อสู้ร่วมกัน เพื่อพลิกฟื้นชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นให้แก่บรรดาท่านทนายความพี่น้องของเรา เราไม่ต้องการผู้นำที่มุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตน เขาเคยรับผิดชอบดูแลองค์กรเรามาแล้วห้าปีสิบปี สถานภาพหรือฐานะส่วนใหญ่ของทนายความเราไม่มีอะไรดีขึ้น

การปล่อยให้องค์กรของเราถูกครอบงำเบียดบังผลประโยชน์การทำมาหาได้ดังที่เป็นมาในอดีต และอาจจะเพิ่มมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้สถานภาพของทนายความเราแต่ละท่านหรือหมดทั้งองค์กร ทั้งระดับประเทศ ระดับภาคและระดับจังหวัด จะค่อยๆ ถดถอยโทรมทรุดไปอยู่ปลายแถวได้ในที่สุด ด้วยเหตุเกรงว่าถ้าการจัดตั้งวิทยาลัยฯสำเร็จการบริหารจะถูกครอบงำอีก

ฉะนั้นการตั้งชื่อวิทยาลัยฯจึงอยากที่จะให้คงคำว่า “วิชาชีพทนายความชั้นสูง” ไว้ และเพื่อเป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรีแก่ท่านทนายความทั้งประเทศจำนวน 77,664 คน ซึ่งเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ที่อยู่ในสังกัดเนติบัณฑิตยสภาของเราแห่งนี้ด้วย

นคร พจนวรพงษ์
หัวหน้าสำนักกฎหมาย “ตราสามดวง” กรรมการเนติบัณฑิตยสภา (ประเภททนายความ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image