จิตวิวัฒน์ : แทงโก้อาร์เจนตินา : การเต้นของสองกายที่รวมใจเป็นหนึ่งเดียว : โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน

จิตวิวัฒน์ : แทงโก้อาร์เจนตินา : การเต้นของสองกายที่รวมใจเป็นหนึ่งเดียว : โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน

จิตวิวัฒน์ : แทงโก้อาร์เจนตินา : การเต้นของสองกายที่รวมใจเป็นหนึ่งเดียว : โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการสอบสารนิพนธ์ระดับปริญญาโทสาขาจิตตปัญญาศึกษาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง การวิจัยและพัฒนากระบวนการเรียนรู้การเต้นแทงโก้อาร์เจนตินาตามแนวทางจิตตปัญญาศึกษา ของ นางสาวนันธนันท์ โพธิ์รักษาเจริญ บัณฑิตจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครูสอนศิลปะที่โรงเรียนกวดวิชาบ้านครูตู่ และครูสอนเต้นแทงโก้อาร์เจนตินา ที่โรงเรียนศิลปลีลารัมปูรี เมื่อสอบเสร็จ ผมบอกนักศึกษาว่าผมมีประเด็นที่ผมสนใจจะนำไปเขียนเป็นบทความเผยแพร่ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์ หนังสือพิมพ์มติชน และต่อไปนี้คือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้และอยากจะแบ่งปันกับทุกท่าน

อาร์เจนตินาแทงโก้ ต่างจากแทงโก้บอลรูมตรงจุดกำเนิด ที่มา และปรัชญาของการเต้น แทงโก้อาร์เจนตินาถือกำเนิดในประเทศอาร์เจนตินา เมื่อประมาณ 160 ปีก่อน โดยกลุ่มผู้อพยพชายชาวยุโรปที่หนีวิกฤตการณ์ทางด้านศาสนา การเมือง หรือเศรษฐกิจในบ้านเกิดของตนเอง เข้าไปทำงานในโรงงานฆ่าสัตว์ที่ติดกับแม่น้ำริโอเดลาปลาตา (Riio de la Plata) หรือแม่น้ำแห่งแร่เงิน ซึ่งเป็นแม่น้ำที่เกิดจากการรวมตัวกันของแม่น้ำอุรุกวัยและแม่น้ำปารานา ผู้อพยพเหล่านี้อาศัยอยู่อย่างแออัดร่วมกับพวกเกาโช่ (Gauchos) หรือพวกโคบาลที่ถูกขับไล่จากพื้นที่ทุ่งหญ้าทำกินในชนบท พวกทาสผิวดำที่ได้รับการปลอดปล่อยเป็นอิสระ และชาวสเปนยากไร้ที่ไม่สามารถเข้ากับสังคมอาร์เจนตินาในสมัยนั้น … (สนใจหาอ่านรายละเอียดได้ในสารนิพนธ์) เมื่อมีเวลาว่างพวกเขาจะออกมาหาเพื่อน หรือสูดอากาศบริสุทธิ์หน้าลานบ้านหรือบริเวณทางเดิน มีการนำวัฒนธรรมประเพณี และเครื่องดนตรีดั้งเดิมของตนเองมาร่วมเล่นแลกเปลี่ยนกัน และเนื่องจากขาดแคลนผู้หญิงทำให้พวกผู้ชายสร้างความเพลิดเพลินจากการเต้นด้วยกัน จนทำให้เกิดการเต้นรูปแบบใหม่ และเกิดรูปแบบเพลงใหม่ๆ จากการด้นดนตรีสด (Improvisation) ซึ่งเป็นที่มาของการเต้นและเพลงรูปแบบใหม่ที่เรียกว่าแทงโก้

ที่ผมสนใจเป็นพิเศษก็คือปรัชญาของการเต้นแทงโก้อาร์เจนตินา ซึ่งมีที่มาจากกลุ่มคนที่หลากหลาย ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม แต่อยากจะสื่อสารกันผ่านการเคลื่อนไหวไปตามเพลงที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นใหม่ โดยเฉพาะชายหนุ่มเลือกที่จะฝึกเต้นแทงโก้เพื่อหาโอกาสได้ใกล้ชิดหญิงสาว เพื่อทำให้เธอรู้สึกพึงพอใจ การเต้นแทงโก้อาร์เจนตินา จึงมิใช่แค่การเต้นรำ แต่มันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการตอบสนองต่อการเรียกร้องทางจิตวิญญาณใฝ่สัมพันธ์ของมนุษย์ (The hunger of the soul for contact with another soul) การให้ความสำคัญแบบไม่มีเงื่อนไขกับคู่เต้น ไม่ว่าจะมีบทบาทเป็นผู้นำ (Leader) หรือ ผู้ตาม (Follower) เป็นการสะท้อนการยอมรับ (เข้าใจ ให้เกียรติ ดูแลซึ่งกันและกัน) ระหว่างคู่เต้น ที่อาจจะไม่เคยรู้จักกัน (จึงไม่เคยเต้นด้วยกัน) มาก่อน แต่ต้องเต้นแบบด้นสดไปด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว ในลักษณะสองร่าง วิญญาณเดียว หรือสองกาย แต่ใจเดียว (Two bodies, one heart) เป็นการเต้นที่มิใช่การเต้นตามเทคนิคตามธรรมดาทั่วไป ส่วนบอลรูมแทงโก้เป็นการแตกขยายออกไปจากอาร์เจนตินาแทงโก้ ภายหลังจากที่อาร์เจนตินาแทงโก้เผยแพร่เข้าไปในยุโรป จึงมีการพัฒนาเป็นการเต้นรูปแบบใหม่

Advertisement

การเต้นแทงโก้อาร์เจนตินาโดยสรุป เป็นการเต้นภายใต้สภาวะที่มีความยืดหยุ่น คู่เต้นมีความรู้สึกปลอดภัย เป็น “คน” สำคัญที่สุด เสมือนเป็นดังศูนย์กลางของจักรวาล คู่เต้นมีอารมณ์ มีความรู้สึก ผิดพลาดได้ ไม่ใช่เครื่องจักร ผู้เต้นจึงต้องมีสติอยู่กับปัจจุบัน เรียนรู้ที่จะเชื่อมโยง และสื่อสารกับคู่เต้นอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอโดยไม่ใช้ภาษาพูด แต่ใช้ภาษาท่าทาง การใช้สายตา การสังเกตอย่างมีสติตื่นรู้ ตั้งแต่การกวาดสายตาหาคู่เต้น การจ้องมองไปยังคู่เต้นเป้าหมายโดยไม่ละสายตา การเชิญชวนด้วยการพยักหน้าเล็กน้อย (Cabeceo) … การโอบกอดระหว่างเต้นที่ให้ความอบอุ่น มั่นใจ และสร้างความปลอดภัยให้คู่เต้น

การสอน และการจัดกระบวนการสอนเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ และการเรียนรู้ที่แท้ตามปรัชญาของการเต้นแทงโก้อาร์เจนตินายิ่งต้องมีความละเอียดอ่อน ลุ่มลึก สลับซับซ้อนยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่การสอนเทคนิคและท่าทางการเต้น เพราะทั้งผู้สอน และผู้เรียน จะต้องเปลี่ยนบทบาทจากการสอน และการเรียนแบบเดิม มาเป็น “ผู้เรียนรู้” ไปพร้อมๆ กัน หรือเป็น “คู่เต้นแทงโก้อาร์เจนตินา” ไปด้วยกัน ดังนั้นการที่ผู้วิจัยนำแนวคิดและแนวปฏิบัติของจิตตปัญญาศึกษามาใช้ในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้การเต้นแทงโก้อาร์เจนตินาจึงเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง เพราะเป็นการเรียนรู้และพัฒนามิติภายนอก (เทคนิคและทักษะการเต้น) กับมิติภายใน (หลักการ ปรัชญา และจิตวิญญาณ ของการเต้น) ไปพร้อมๆ กัน

โดยส่วนตัว ผมสนใจการเต้นแทงโก้อาร์เจนตินามาก โดยเฉพาะปรัชญาของการเต้น คำกล่าวที่ว่า “It takes two to Tango” ต้องมีสองคนจึงจะเต้นแทงโก้ได้ มันมีความหมายที่ลุ่มลึกแอบแฝงอยู่ ที่จริงคนเดียวก็เต้นแทงโก้ได้ ตอนผมหัดเต้นบอลรูมแทงโก้ ผมก็ซ้อมเต้นคนเดียวเป็นประจำ ทำท่าทางเหมือนมีคู่เต้นอยู่ด้วย สองคนต่างเต้นแทงโก้แยกกัน ก็เต้นได้ แต่มันไม่งดงามเท่าเต้นคู่ สุนทรียภาพมันต่างกัน แม้โดยเทคนิคและวิธีเต้นของแต่ละคนที่ต่างคนต่างเต้นจะถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์แบบเท่าใด ก็ไม่ให้อารมณ์และสุนทรียภาพเท่ากับการเต้นคู่ที่เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแท้จริง “It takes two to Tango” มันหมายถึง “กาย” และ “ใจ” ของ “คน” สองคนร่วมและรวมกันจึงจะเต้นแทงโก้ได้อย่างสวยงาม ตามคำกล่าวที่ว่า “Tango is two bodies, four legs, and one heart” แทงโก้คือสองร่าง สี่ขา และใจเดียว …

Advertisement

ปรัชญาการเต้นแทงโก้อาร์เจนตินาตามที่ผมสรุปตามความเข้าใจของตนเอง และคำกล่าวทั้งสองคือ “It takes two to Tango” และ “Tango is two bodies, four legs, and one heart” ทำให้ผมนึกเชื่อมโยงไปถึงเรื่องของความเป็นองค์รวม (Holism) ที่เน้นว่าความเป็นองค์รวมมีความหมายมากกว่าการเอาสองสิ่งมารวมกัน เหมือน 1+1=2 ในทางคณิตศาสตร์ตามที่เราเคยเรียนมา เพราะการรวมกันมันทำให้เกิดสิ่งใหม่ที่มีอะไรมากกว่าสิ่งเก่ารวมกัน เช่น บ้าน ไม่เท่ากับการเอาวัสดุก่อสร้างบ้านทั้งหมดมากองรวมกัน เพราะมันเป็นแค่กองวัสดุ แต่เมื่อมันรวมตัวกันอย่างมีเป้าหมายมีทิศทาง ประกอบขึ้นมาเป็นบ้าน มันให้สิ่งอื่นมากกว่ากองวัสดุคือ ความรู้สึกมั่นคง อบอุ่น ปลอดภัย ความเป็นเจ้าของ … คือมันได้เปลี่ยนผ่าน (Transcend) จากกองวัสดุไปเป็นบ้าน โดยที่ยังมีองค์ประกอบ (วัสดุทั้งหมด) รวมอยู่ (Include) แต่ความหมายและคุณสมบัติมันเปลี่ยนไปเมื่อรวมเป็นหนึ่งเดียวกันที่เรียกว่า “บ้าน” ซึ่งคุณสมบัติที่สำคัญประการหนึ่งของความเป็นองค์รวมคือ Transcend but include ไม่ใช่แค่กองรวม ดังนั้น องค์รวมจึงไม่ใช่ และไม่เหมือนกองรวม แทงโก้อาร์เจนตินาตามที่ผมเข้าใจมีลักษณะของความเป็นองค์รวมตามที่กล่าวถึง

อีกเรื่องหนึ่งที่แทงโก้อาร์เจนตินาทำให้ผมคิดเชื่อมโยงไปถึงคือสิ่งที่ผมขอเรียกให้สอดคล้องกับบทความนี้คือ การเต้นรำของหลุมดำ (Black hole) สองหลุมดำที่อยู่ใกล้กันด้วยแรงดึงดูดระหว่างกัน หลุมดำที่ใหญ่กว่าจะดูดหลุมดำที่เล็กกว่าเข้าไปเป็นส่วนเดียวกันแต่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม การเปรียบเทียบเรื่องหลุมดำนี้ ผมแค่ต้องการให้เห็นภาพของปรากฏการณ์การหมุนวนของสองหลุมดำที่ดูประหนึ่งเป็นการเต้นแทงโก้ที่พลิ้วไหวไปตามเสียงเพลงของคนสองคนเท่านั้น ไม่ได้สื่อถึงความหมายที่เข้าใจกันในทางวิทยาศาสตร์

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจมากคือ ผู้ที่เป็นอาสาสมัครเป็นผู้เรียนรู้การเต้นแทงโก้อาร์เจนตินาตามแนวจิตตปัญญาศึกษาในการวิจัยครั้งนี้ รายงานผลกระทบทางบวกที่เกิดขึ้นกับตนเอง เช่น ใจเย็น มีสมาธิ และรับฟังผู้อื่นมากขึ้น โดยเฉพาะกับคนใกล้ชิด (สามี ภรรยา ลูก พ่อแม่) สังเกตและเรียนรู้ที่จะรับฟังการสื่อสารทางกายอย่างลึกซึ้งเพิ่มขึ้น ตัวผู้วิจัยเอง ในฐานะที่เป็นผู้สอนและกระบวนกรที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้การเต้นแทงโก้อาร์เจนตินาในการวิจัยครั้งนี้ ก็เรียนรู้ว่าการสอนเต้นแทงโก้อาร์เจนตินาตามแนวทางจิตตปัญญาศึกษาก่อให้เกิดผลกระทบทางบวกต่อการเรียนรู้การเต้นแทงโก้อาร์เจนตินาทั้งกับตนเองและผู้เรียนโดยเฉพาะการเต้นแทงโก้ที่เป็นไปตามปรัชญาและจิตวิญญาณ (มิติภายใน) ของแทงโก้อาร์เจนตินา ไม่ใช่แค่ท่าเต้น (มิติภายนอก) เฉยๆ

ใครสนใจที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับปรัชญาการเต้น หรือเรียนการเต้นแทงโก้อาร์เจนตินา เชิญติดต่อสอบถามได้โดยตรงจากคุณนันธนันท์ โพธิ์รักษาเจริญ นะครับ ผมแค่เคยเรียนและเคยเต้นบอลรูมแทงโก้เท่านั้นครับ

จุมพล พูลภัทรชีวิน
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image