ภาพเก่าเล่าตำนาน : ใช้ภาษาอังกฤษ…ชีวิตมีทางเลือก โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

พ.ศ.2061 ย้อนไปราว 500 กว่าปี โปรตุเกสเป็นฝรั่งตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาถึงอยุธยา มีรูปแบบความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์กับราชสำนัก ถือว่า “มาดี” มีสัมมาคารวะ ขอแลกเปลี่ยนสินค้า เผยแผ่ศาสนาคริสต์ ดูแลคนเจ็บป่วย และสร้างสถานศึกษา

มีบันทึกว่า ราชสำนักและชาวอยุธยารวมถึงเด็กๆ ที่ไปเรียนหนังสือกับบาทหลวง สามารถพูด อ่าน เขียน ภาษาโปรตุเกสได้ และอยุธยาก็ใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาราชการติดต่อกับประเทศที่ตามเข้ามาทีหลัง

นี่คือเรื่องจริง เพราะในช่วงเวลานั้น โปรตุเกสคือ “มหาอำนาจเรือปืน” เก่ง กล้า สามารถในการเดินเรือ ส่งเรือพร้อมปืนไปยึดดินแดนหลายแห่งในโลก…แต่ไม่มีท่าทีจะคุกคามอยุธยา

ผู้เขียนมองเป็นบวกและชื่นชมชาวอยุธยา (วันนั้นเรายังไม่มีประเทศ ไม่มีอาณาเขตแน่นอน) ที่ปรับตัว รับเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์สุขมาใช้กับการดำรงอยู่ของหมู่เหล่า

Advertisement

มีชนชาติตะวันตกแล่นเรือเข้ามาอีกหลายชาติเพื่อค้าขาย

เมื่อฝรั่งเศสตามเข้ามาในอยุธยา นำโดยบาทหลวง ได้พบบุคคลสำคัญในราชสำนัก ได้เข้าเฝ้าฯ ก็ขออาสาทำงานหนัก ทุ่มเทพลังในแผ่นดินอยุธยาและอีกหลายพื้นที่เพื่อจะหล่อหลอม โน้มน้าวให้ชาวสยามเรียนรู้ศาสนาคริสต์ เรียนภาษาฝรั่งเศส ซึ่งก็ทำได้ดี มีผลงาน ฝรั่งเศสทำทุกวิถีทางที่จะให้กษัตริย์แห่งอยุธยาหันไป “นับถือคริสต์”

ชาวอยุธยาและเมืองใกล้เคียงสนิทสนมกลมกลืน ไม่รังเกียจรังงอนชาวเมืองน้ำหอม รับเอาสิ่งที่ดีงาม ภาษา ความรู้ทางวิชาการ คณิตศาสตร์การรักษาพยาบาล วัฒนธรรมของฝรั่งเศสแบบไม่เกี่ยงงอนอะไรทั้งนั้น

บาทหลวงฝรั่งเศสเคยรายงานกลับไปสำนักวาติกันว่า ชาวสยามให้ความร่วมมือดี รับทุกอย่าง ยิ้มแย้ม แต่แทบไม่มีใครเปลี่ยนมานับถือคริสต์….

บาทหลวงฝรั่งเศสได้รับพระบรมราชานุญาตให้ตั้งโรงเรียน 7 แห่งในแผ่นดินพระนารายณ์ฯ บุคคลชั้นสูงขอส่งลูกหลานไปเรียน เด็กๆ ลูกหลานชาวบ้านก็ได้เรียนภาษาฝรั่งเศสและภาษาละตินเพื่อการสวดมนต์

ชาวสยามเต็มใจ “รับ-ซึมซับ-ใช้” ภาษาฝรั่งเศส เพราะทำให้อ่านหนังสือ สื่อสาร เปิดโลกทัศน์ออกไปไกลสุดขอบฟ้า

เด็กจากสยาม 3 คนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับการสนับสนุนให้เป็น “นักเรียนนอก” ลงเรือสินค้าออกจากอยุธยามุ่งหน้าไปฝรั่งเศส หากแต่โชคไม่อำนวย คาดว่าเรือแตกเพราะโดนพายุ สูญหายตายไปหมด

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เมื่อราว 400 ปีที่แล้วโน่น

ที่ชักแม่น้ำมาทั้ง 5 สายก็เพื่อจะบอกว่า เรื่องของทักษะการใช้ภาษาที่ 2 ได้อย่างคล่องแคล่วเป็นเรื่องสำคัญมากต่อการสร้างตัวเองและสังคม เป็น “พลังอำนาจของชาติ” ที่มีตัวตนและมีค่ามหาศาล

นับร้อยปีที่ผ่านมาและจนบัดนี้ คนไทยดิ้นรน ขวนขวาย ส่งลูกหลานไปเรียนเมืองนอกกันทั้งนั้น รวมทั้งการสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวง ทุนของรัฐ เอกชน ทุนส่วนตัว หรือทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ส่วนมากใช้ภาษาอังกฤษ

หรือถ้าห่วงลูก ไม่อยากให้ไปอยู่ไกลก็จะต้องทุ่มเทเงินมหาศาลเพื่อให้ลูกได้เข้าโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยเพื่อให้ลูกพูดภาษาอังกฤษได้แบบธรรมชาติ ดูหนัง ดูการ์ตูน อ่านหนังสือภาษาอังกฤษได้ อ่านขำขันแล้วควรหัวเราะ โต้เถียง แสดงความคิดเห็นเป็นภาษาอังกฤษ…เพื่ออนาคตที่สดใส งดงาม และกว้างไกลของชีวิต

ข้อมูลแบบไม่เป็นทางการ จัดอันดับของการใช้ภาษาในโลกนี้ที่คนใช้มาก-น้อย สำรวจจากจำนวนประชากรที่ใช้ภาษา

อันดับที่ 1 ภาษาอังกฤษ (English) เป็นภาษาที่คนนิยมใช้มากที่สุดในโลก อันดับที่ 2 ภาษาจีนกลาง (Mandarin) เป็น 1 ใน 6 ภาษาราชการขององค์การสหประชาชาติ อันดับที่ 3 ภาษาฮินดี หรือภาษาฮินดู (Hindi/Urdu)

อันดับที่ 4 ภาษาสเปน (Spanish) อันดับที่ 5 ภาษารัสเซีย (Russian) อันดับที่ 6 ภาษาอาราบิค หรือภาษาอาหรับ (Arabic) อันดับที่ 7 ภาษาเบงกาลี (Bengali)

อันดับที่ 8 ภาษาโปรตุเกส (Portuguese) อันดับที่ 9 ภาษาญี่ปุ่น (Japanese) และอันดับที่ 10 คือภาษาปัญจาบ

“ภาษาอังกฤษ” คือแก้วสารพัดนึก ส่วนเจ้าของภาษาเองก็ยอมรับว่าภาษาอังกฤษของแท้ ดั้งเดิม ก็กลายพันธุ์ไปหมดแล้ว ชาวอินเดีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกาหลี ชาวจีน ออสเตรเลีย อเมริกัน ฯลฯ ล้วนใช้ภาษาอังกฤษที่ “ดัดแปลงสำเนียง” ไปตามความถนัด

บางครั้งคนอังกฤษที่เป็นเจ้าของภาษาต้อง “งงเป็นไก่ตาแตก” เมื่อมีคนบอกว่า นี่เค้าพูดภาษาอังกฤษนะ…

โฟกัสให้แคบลงมาในบรรดากลุ่มประเทศอาเซียน… สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน…คือประเทศที่ประชากรใช้ภาษาอังกฤษได้ดี

ขอให้ตัดใจ ไม่พูดถึงเรื่องการตกเป็นเมืองขึ้น เป็นอาณานิคมออกไปก่อนนะครับ เดี๋ยวผู้เขียนจะถูกกล่าวหาว่าอยากให้คนในชาติพูดภาษาอังกฤษได้ ถึงขนาดต้องขอยอมเป็นเมืองขึ้นมาก่อน…ตรรกะตรงนี้ไม่ตรงประเด็น…

คนไทยส่วนหนึ่งในสมัยก่อนไปเรียนทำปริญญากันที่ฟิลิปปินส์

เราลองมาทำความรู้จักฟิลิปปินส์ครับ…

ชนเผ่า “ปิกมี่” คือคนพื้นเมือง เป็นพวกหาของป่าและไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ต่อมาเผ่าชวา (อินโดนีเซีย) อพยพเข้ามาทางทะเล เป็นเผ่าที่มีพัฒนาการสูงกว่าปิกมี่และนำการเพาะปลูกและการทำนาบนไหล่เขาเข้ามา และชนเผ่าที่อพยพเข้ามาต่อมาคือชนเผ่ามาเลย์ ที่นำวัฒนธรรมอิสลามมาสู่ฟิลิปปินส์

หลังจากนั้น เฟอดินานด์ แมกเจลแลน (Ferdinand Magellan) นักเดินเรือชาวโปรตุเกส (สัญชาติสเปน) แล่นเรือสำรวจโลกมาพบหมู่เกาะเมื่อปี พ.ศ.2064 และตั้งชื่อว่า ฟิลิปปินส์ เพื่อเป็นเกียรติแก่พระเจ้าฟิลลิปที่ 2 แห่งสเปน

ชาวสเปน เมืองกระทิงดุจำนวนมหาศาล ลงเรืออพยพมาหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ยึดเมืองมะนิลาได้ในปี พ.ศ.2114 หมู่เกาะทั้งหมดเป็นอาณานิคมของสเปน

ฟิลิปปินส์กลายเป็นอาณานิคมของสเปนนานถึง 327 ปี มีการต่อสู้เพื่อเป็นเอกราชตลอดมา ผู้นำทุกคนถูกทหารสเปนจับประหารชีวิตทั้งหมด

สเปนมุ่งที่จะสอนศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ตั้งโรงเรียนในเขตโบสถ์ทุกแห่ง ซึ่งบาทหลวงใช้ภาษาสเปนในการเรียนการสอน ซึ่งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเหล่านี้ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน

ชาวสเปนมีนิสัยร่าเริง เฮฮา ร้องรำทำเพลงเก่ง รวมทั้งเล่นดนตรี กีตาร์ แบนโจ ดื่มหนัก เปิดเผย เลยทำให้ชาวฟิลิปปินส์ร้องเพลง เล่นดนตรี แสดงบนเวทีเก่งแทบทุกคน

ในสมัยผู้เขียนเป็นวัยรุ่นและกลางคน จำได้ว่านักร้องเพลงสากลตามโรงแรมชั้นนำในกรุงเทพฯ ที่ร้องได้ไพเราะ วงดนตรี ล้วนแต่เป็นชาวฟิลิปปินส์ เพราะถ้าจ้างฝรั่งมาร้องมันแพงมาก

23 ม.ค.2442 สเปนรบแพ้อเมริกาเลยต้องยกหมู่เกาะฟิลิปปินส์ให้สหรัฐเมื่อ 10 ก.ค.2411 และอเมริกาสงเคราะห์จ่ายเงินให้สเปน 20 ล้านเหรียญ เป็นค่าทำขวัญ (คล้ายกับซื้อดินแดน)

ชาวฟิลิปปินส์ไม่ยอมแพ้ จับอาวุธเพื่อต่อสู้กับสหรัฐอีกครั้ง รบกันนาน 3 ปี จึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของสหรัฐในปี พ.ศ.2445

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพลูกซามูไรบุกยึดฟิลิปปินส์ ต้องรบกับสหรัฐ ญี่ปุ่นโหด ตีกองทัพสหรัฐจนนายพลแมคอาเธอร์ต้องนำกำลังทหารไปตั้งหลักในออสเตรเลีย พร้อมกับคำกล่าวว่า “I shall return”

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟิลิปปินส์ได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์เมื่อ 4 ก.ค.2489 ปกครองแบบสาธารณรัฐ โดยมี นายมานูเอล โรฮาส เป็นประธานาธิบดีคนแรก

แปลว่า…สหรัฐปกครอง ครอบครองดินแดนแห่งนี้นาน 44 ปี

หมู่เกาะฟิลิปปินส์ตั้งอยู่ในแถบวงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) คนไทยจะได้ยินข่าวแผ่นดินไหว ไต้ฝุ่น น้ำท่วม แบบไม่เคยว่างเว้น

ชื่อเป็นทางการคือ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (Republic of the Philippines) ประกอบด้วยเกาะราว 7,641 เกาะ

สหรัฐเข้ามาปกครองฟิลิปปินส์ ได้เข้าจัดการระบบการศึกษาใหม่ที่ทันสมัย โดยมุ่งให้นักเรียนทุกคนเข้าเรียนภาคบังคับในชั้นประถม 1-6 และได้ตั้งโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่และตั้งมหาวิทยาลัยแห่งชาติคือ มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ที่จัดการสอนตามหลักสูตรอเมริกัน ภาษาที่ใช้ในการสอนขณะนั้นคือภาษาอังกฤษและสเปน

สหรัฐดำเนินนโยบาย กระจายอำนาจการปกครอง เพราะสหรัฐถือว่าเป็นหน้าที่ของตนที่จะให้การศึกษาเกี่ยวกับการเมืองการปกครองและสร้างความเจริญให้ฟิลิปปินส์ด้วย

สหรัฐได้ฝึกชาวพื้นเมืองให้รู้จักการปกครองระบอบประชาธิปไตยและรู้จักการปกครองตนเอง ร่างรัฐธรรมนูญปกครองตนเอง จัดตั้งระบบพรรคการเมืองและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งเป็นรากฐานการปกครองของชาติ

กุญแจดอกสำคัญที่ทำให้ชาวฟิลิปปินส์ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีในชีวิตประจำวัน ใช้พูดกันทุกหนแห่งคือ นโยบายการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ภาษาอังกฤษ คือมรดกที่สหรัฐได้ทิ้งไว้

นโยบายทางการศึกษาแบบอเมริกันคือ ให้ใช้ 2 ภาษา ที่ใช้ภาษาตากาล็อกควบคู่ไปกับภาษาอังกฤษ

คำว่า “ตากาล็อก” มาจาก taga-ilog โดย taga หมายถึงท้องถิ่นของ และ ilog หมายถึงแม่น้ำ รวมแล้วหมายถึง ผู้อาศัยอยู่กับแม่น้ำ

นี่คือที่มาที่ไปของเหตุผลที่คนไทยไม่น้อยในอดีต เลือกที่จะไปศึกษาในฟิลิปปินส์ จุดเด่นคือ ค่าใช้จ่ายไม่แพงนักและไม่ไกลบ้าน หลายท่านก็ใช้คุณวุฒิ ความรู้ภาษาอังกฤษ เติบโตในหน้าที่การงานราชการ

ข้อมูลที่น่าสนใจ…คือ เมื่อชาวเกาะแห่งนี้ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีจึงมีโอกาสหางานทำทั้งในและนอกประเทศได้อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ส่งเงินรายได้กลับมาแผ่นดินแม่มหาศาล

สถิติ ณ ปี พ.ศ.2556 มีชาวฟิลิปปินส์ประมาณกว่า 10 ล้านคน ไปทำงานในต่างประเทศ ด้วยทักษะด้านภาษาอังกฤษ รวมแล้วถือเป็นกลุ่มคนพลัดถิ่นที่ใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก
ชาวฟิลิปปินส์ก็เข้ามาทำงานในเมืองไทยจำนวนมาก เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ และอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ครอบครัวชาวไทยบางคนว่าจ้างแม่บ้านชาวฟิลิปปินส์มาเลี้ยงดูลูกเพื่อให้พูดภาษาอังกฤษกับลูก ซึ่งก็ได้ผลและมีค่าใช้จ่ายที่พอรับได้…

ที่เข้ามาทำงานในไทยอย่างถูกกฎหมายมีประมาณ 1 หมื่นกว่าคน

ความสามารถด้านภาษาอังกฤษเป็น “จุดแข็ง” ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ให้เหนือกว่าอินเดียในปี พ.ศ.2555

ร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินหลายแห่งทั่วโลกมีชาวฟิลิปปินส์เป็นคนขาย ในฮ่องกง ในซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่มีกินมีใช้คนไม่อยากทำงาน โอกาสจะเป็นของแรงงานที่ใช้ภาษาอังกฤษ

แม้กระทั่งไปเป็นอาจารย์สอนหนังสือในต่างประเทศ ผู้เขียนเคยได้ดูคลิปชีวิตของอาจารย์สาวชาวฟิลิปปินส์ที่ได้รับการว่าจ้างให้ไปสอนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนชนบท เมืองที่ขาดแคลนครูในอเมริกา ซึ่งเธอก็ทำได้ดี

ชาวตากาล็อกที่ออกไปทำงานยังต่างประเทศได้สร้างรายได้จากเม็ดเงินที่โอนเข้าฟิลิปปินส์สูงเป็นอันดับ 1 ของรายได้ทั้งประเทศ

โลกการทำงานทุกยุคสมัย ภาษาอังกฤษมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทักษะภาษาอังกฤษเป็น “ต้นทุน” ที่ควรต้องสามารถพูด อ่าน และเขียนได้อย่างคล่องแคล่ว จะช่วยเพิ่มโอกาสปูทาง เติบโตในหน้าที่การงาน

ชาวฟิลิปปินส์มีอัตราการรู้หนังสือของประเทศอยู่ที่ 94% และ 70% ของประชากรใช้ภาษาอังกฤษ

ไปประชุม สัมมนา เรียนหนังสือที่ไหน ถ้ามีชาวตากาล็อกที่หน้าตาเหมือนคนไทย จะช่างพูดช่างคุย ชี้แจง แสดงเหตุผล โต้เถียงแบบสนุกสนาน

การไปทำงาน-ทำเงิน ในต่างประเทศ เป็นวัฒนธรรมและทุกรัฐบาลฟิลิปปินส์ก็ส่งเสริม “จุดแข็ง” ของประเทศ

จะว่าไปแล้ว ภาษาอังกฤษ หรือภาษาจีน ภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน ฯลฯ และทุกภาษาจะเป็นพลังขับเคลื่อน เพื่อตนเองและสังคมไทยให้โกอินเตอร์ได้ คนไทยไม่เคยด้อยในสติปัญญา ไปเรียนที่ไหนก็ไม่เป็นรองใคร

ติดนิดเดียว…ที่พูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยเก่ง เลยต้องหุบปาก ขรึม ซุ่มเงียบ แต่คนไทยเก่งแกรมม่า (grammar ไวยากรณ์ภาษา) แน่นปึ้ก…

เรื่องระบบการศึกษาต้องลงทุนนะครับ สร้างชาติ ทำเงินได้จริง พูดกันมานานแล้ว อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการสอนภาษาอังกฤษโดยเจ้าของภาษาที่ต้องหาวิธีการจัดหามาให้ได้

โรงเรียนชื่อดัง ชาย หญิง ใน กทม.ต้องแย่ง กราบไหว้กัน ยอมเสียเงินมหาศาลเพื่ออะไร ..ถ้ามิใช่เพื่อภาษาอังกฤษ

ส่วนตัว…ถ้าอยากเก่ง ก็ฝึกหัด ขยัน ดูหนัง ดูแบบฝึกหัดการเรียนภาษาอังกฤษจากสื่อออนไลน์ หัดพูด หัดคุย กล้า อย่าอายใคร

ภาษาอังกฤษจะทำให้นกที่เดินดิน กลายเป็น “นกที่บินได้” ด้วย

ข้อมูลจาก Pinoys’ English proficiency declines sharply-The Manila Times

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image