โควิดชวนให้คิดเรื่องความเสมอภาค : โดย โคทม อารียา

มีคำกล่าวว่า เมื่อมีศัตรูร่วมเราจะรวมตัวกันง่ายขึ้น เราจะสามัคคีกันในการเอาชนะศัตรู เมื่อไวรัสที่มีชื่อว่า SARS-CoV-2 แพร่ระบาดไปทั่วโลก จะถือว่ามันเป็นศัตรูร่วมของชาวโลกได้หรือไม่ ถ้าใช่ ไวรัสนี้จะช่วยให้เห็นความเหมือนกันในความเป็นมนุษย์ของทุกคน และให้ความสำคัญแก่ความเหมือนกันนี้มากกว่าความแตกต่างที่ย่อมมีเป็นธรรมดาระหว่างมนุษย์ อย่างไรก็ดี เราไม่เหมือนกันแบบลูกแฝด แต่ละคนมีลักษณะเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น เพศ ผิวพรรณ ฯลฯ ถ้าเราเน้นความเป็นมนุษย์เหมือนกัน ในทางนามธรรมก็จะพูดถึงการมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ในทางนิตินัยจะพูดถึงความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติ จึงขอยกบทบัญญัติมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญที่เป็นบทอ้างอิงที่สำคัญและควรคำนึงถึงอย่างมากในสถานการณ์นี้

“บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน

การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกําเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใด จะกระทํามิได้

Advertisement

มาตรการที่รัฐกําหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพ ได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น หรือเพื่อคุ้มครองหรืออํานวยความสะดวกให้แก่เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาส ย่อมไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม”

คำถามก็คือ เมื่อเผชิญภัยโควิดที่เป็นภัยร่วมกัน เราลดวาทกรรมที่ปฏิเสธผู้เป็นอื่นได้ไหม เราให้ความสำคัญแก่การคุ้มครอง เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสเพียงพอแล้วหรือยัง ภัยโควิดเป็นโอกาสการฉุกคิดและการทำให้สังคมมีความเท่าเทียมกันมากขึ้นได้ไหม ผมเชื่อว่าสังคมไทยรับมือภัยโควิดได้ดี ส่วนหนึ่งเพราะเรามีน้ำใจ ไม่เพียงแต่รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงผู้ที่ยากจนในลำดับก่อน คนธรรมดารวมทั้งคนรวยหลายคนก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ที่น่าชื่นชมคือการจัดให้มี “ตู้ปันสุข” ที่ผู้ให้ไม่ยึดติดอัตตา และผู้รับก็สบายใจพร้อมแบ่งปัน

แม้มนุษย์ไม่ควรเลือกปฏิบัติต่อกัน แต่ก็แปลกที่ไวรัส SARS-CoV-2 เลือกทำร้ายมนุษย์ไม่เหมือนกัน อัตราผู้เสียชีวิตที่เป็นเด็กและสตรีอยู่ในระดับต่ำ ส่วนที่เป็นผู้สูงอายุอยู่ในระดับสูง อีกทั้งยังเลือกทำร้ายชาวยุโรปและอเมริกาที่มีเทคโนโลยีสูง มากกว่าผู้อยู่อาศัยในภูมิภาคอื่น ตัวอย่างเช่น ในประเทศฝรั่งเศส มีผู้เสียชีวิตประมาณ 2.8 หมื่นคน ในจำนวนนี้ กว่า 1 หมื่นคนเสียชีวิตในบ้านพักคนชรา เมื่อเปรียบเทียบระหว่างประเทศในภูมิภาคเดียวกัน เช่น ระหว่างฝรั่งเศสกับสวีเดน พบว่าสวีเดนมีมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมและมาตรการป้องกันอื่น ๆ ที่เข้มงวดน้อยกว่าฝรั่งเศสมาก แต่ผู้เสียชีวิตแม้จะสูงถึงประมาณ 3,700 คน แต่ก็น้อยกว่าของฝรั่งเศสอยู่เกือบ 8 เท่า เรายังไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจนว่า อะไรคือเหตุแห่งความแตกต่างระหว่างภูมิภาคและระหว่างประเทศในภูมิภาคเดียวกันดังกล่าว ผมได้แต่มีข้อสันนิษฐานว่า เหตุสำคัญอยู่ที่การเมืองและวัฒนธรรม มากกว่าฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้กล่าวถึงความมีน้ำใจของคนไทยที่มีส่วนช่วยบรรเทาวิกฤตครั้งนี้ได้ไม่มากก็น้อย ประกอบกับนิสัยเชื่อฟังผู้มีอำนาจหน้าที่ ซึ่งครั้งนี้ได้แก่แพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ที่ฝ่ายการเมืองเองก็ยอมคล้อยตาม

Advertisement

แม้เด็กจะไม่ใช่กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง แต่ความกังวลก็ย่อมมีโดยเฉพาะเมื่อจะมีการเปิดเรียน ‘หลังโควิด’ ระหว่าง 1 กรกฏาคมถึง 13 พฤศจิกายน ผลจากการเปิดเรียนสำหรับนักเรียนอนุบาลและประถมต้นของฝรั่งเศสเพียง 1 สัปดาห์ คือระหว่าง 11 ถึง 18 พฤษภาคม พบนักเรียนติดเชื้อไวรัส 70 ราย ทั้ง ๆ ที่ 7 วันเป็นระยะเวลาฟักตัวที่ไวรัสอาจไม่ก่อให้เกิดอาการ ทั้ง ๆ ที่โรงเรียนฝรั่งเศสแบ่งนักเรียนเป็นสองกลุ่ม แต่ละกลุ่มไปเรียนที่โรงเรียนสองวัน เรียนอยู่ที่บ้านสามวัน เพื่อลดความใกล้ชิดทางสังคมลงบ้าง และนักเรียนแทบไม่มีปัญหาการใช้อินเตอร์เน็ต กลับมามองความพร้อมของโรงเรียนไทยดูบ้าง เห็นข่าวการสอนภาษาอังกฤษทางไกลผ่านดาวเทียม ปรากฏมีผู้วิจารณ์ว่าไม่ค่อยจะมีคุณภาพและไม่จูงใจนักเรียนให้ติดตาม ดังนั้น ระหว่างที่รอการเปิดเทอมนี้ โรงเรียนและวิทยาลัยเทคนิคและอาชีวะควรตระเตรียมครูเพื่อให้สามารถเปิดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพและปลอดจากไวรัสตามสมควร ผู้บริหารต้องเตรียมแผนรับมือโควิด ทั้งในด้านอาคารสถานที่ การปรับหลักสูตรและการเรียนการสอน การจัดตารางสอน และที่สำคัญคือการถือนักเรียนเป็นตัวตั้ง และครูบางคนควรเริ่มติดต่อนักเรียนของตนเพื่อสำรวจความพร้อมที่จะเรียนจากบ้าน

การเรียนจากบ้านจะให้นักเรียนทุกคนพร้อมที่จะใช้อินเตอร์เน็ตในทันทีคงเป็นไปไม่ได้ ผมบังเอิญดูคลิปการสอบถามของครูคนหนึ่ง บทสนทนามีทำนองว่า ถาม: “ป็อก (ชื่อสมมุติ) มีสมาร์ตโฟนไหม” ตอบ: “ไม่มีครับ” ถาม: “โทรทัศน์มีไหม ป็อก” ตอบ: “มีแต่ดงกล้วยครับ” ครูปลอบใจว่าไม่เป็นไร ป็อกก็บอกว่า “คิดถึงเพื่อน ครูจะให้ป็อกไปโรงเรียนเมื่อไรครับ” แม้เราจะมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ทำงานอย่างตั้งอกตั้งใจ แต่งานที่จะต้องทำยังมีอีกมาก

ผมเพียงอยากฝากความเห็นไว้เล็กน้อย ถ้าจะให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาในช่วงการระบาดของโควิด ภาระหนักอยู่ที่ครู ต้องอาศัยความเป็นครูติดตามลูกศิษย์ทุกคน และปรับการเรียนการสอนให้เข้ากับนักเรียน คนไหนใช้อินเตอร์เน็ตได้ก็สอนออนไลน์ คนไหนไม่ได้แต่มีโทรทัศน์ก็ให้สอนทางไกล ใครที่ไม่มีทั้งอินเตอร์เน็ตและโทรทัศน์ (ป็อกมีแต่ดงกล้วย) ก็ต้องมาเข้าห้องเรียนหรือมารับแบบเรียนและส่งการบ้านที่โรงเรียน หรือโรงเรียนจัดส่งแบบเรียนและนักเรียนส่งการบ้านกลับทางไปรษณีย์ ผมไม่คุ้นเคยกับการเรียนการสอนในโรงเรียน เคยสอนก็แต่นักศึกษาซึ่งไม่มีปัญหาการเรียนออน์ไลน์ จึงไม่อาจเสนอแนะได้มาก เพียงแต่อยากกระตุ้นความเป็นครูไม่ให้ลืมคำขวัญ “เราจะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง” อีกทั้งอยากฝากความหวังไว้แก่ กองทุน กสศ. และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่าในระยะยาว ขอให้ตั้งเป้าหมายที่จะให้ทุกคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและมีความเข้าใจและทักษะทางเทคโนโลยีดิจิตัล (digital literacy) ที่เหมาะสม วิกฤตโควิดทำให้เห็นประเด็นความไม่เสมอภาคทางเทคโนโลยีดิจิตัล และความจำเป็นเร่งด่วนในการลดช่องว่างทางดิจิตัลนี้

ความเสมอภาคหมายรวมถึงการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งถิ่นกำเนิด ซึ่งขอตีความแบบกว้างว่า คนที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่ทำงานอยู่ในประเทศไทยก็ไม่น่าจะถูกเลือกปฏิบัติ เมื่อเดือนมีนาคม 2563 กระทรวงแรงงานแจ้งว่ามีแรงงานข้ามชาติจำนวน 2.81 ล้านคน ส่วนใหญ่กว่า 90% มาจากประเทศเมียนมา กัมพูชา ลาวและเวียดนาม ในจำนวนนี้ ประมาณ 1.2 ล้านคนเข้าอยู่ในระบบประกันสังคม ทำให้มีสวัสดิการระดับหนึ่ง ที่เหลือประมาณ 1.6 ล้านคนไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ถ้าคนเหล่านี้ตกงานก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล ได้ข่าวมาว่ายังดีที่แรงงานข้ามชาติมีการรวมกลุ่มกันเป็นชุมชน และพวกเขาก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน หรือได้รับการช่วยเหลือด้านอาหารจากสังคม เช่นในกรณีตู้ปันสุข อย่างไรก็ดี แรงงานข้ามชาติได้รับการดูแลทางด้านสาธารณสุข เช่น ได้รับข่าวสารเกี่ยวกับโควิด ได้รับหน้ากาก เจลล้างมือ ฯลฯ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส ณ วันที่ 29 เมษายนมีจำนวน 80 ราย ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับผู้ติดเชื้อทั้งหมด ณ วันที่ 5 พฤษภาคม จำนวน 2,998 ราย ส่วนในเรื่องใบอนุญาตทำงานและการต่อวีซ่า รัฐบาลก็ผ่อนผันโดยขยายอายุใบอนุญาตทำงานและวิซ่าออกไปจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน แต่ไม่แน่ใจว่าครอบคลุมแรงข้ามชาติทุกคนหรือไม่

มีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าเป็นห่วง คือคนไทยนับหมื่นคนที่ไปทำงานในประเทศมาเลเซีย เมื่อประสงค์จะกลับบ้าน ก็ต้องผ่านการกลั่นกรองและกักตัว 14 วันตามระเบียบหมอ อย่างไรก็ดี จำนวนที่รับกลับในแต่ละวันอยู่ในหลักร้อย ซึ่งยังน้อยเมื่อเทียบกับคนไทยอีกจำนวนมากที่รอจะกลับมา ทางการน่าจะเพิ่มการอำนวยความสะดวกในการกักตัวให้เพียงพอแก่หลักการไม่เลือกปฏิบัติ หรือไม่ก็ควรอธิบายว่าใช้หลักการกลั่นกรองด้านความมั่นคงประกอบด้วยหรือไม่อย่างไร

โรคโควิดชวนให้คิดถึงหลักความเสมอภาค ซึ่งยังมีแง่มุมอีกมากที่จะต้องชวนคิดต่อ เพียงแต่เริ่มคิดและวางหมุดหมายความเสมอภาคในวิถีชีวิตใหม่หลังโควิด ก็จะช่วยแปลงวิกฤตให้เป็นโอกาสของการพัฒนาในระยะยาว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image