สะพานแห่งกาลเวลา : เมื่อผู้นำเปิดศึกโซเชียลมีเดีย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-Reuters)

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับโซเชียลมีเดียและอินเตอร์เน็ตโดยตรงขึ้นที่สหรัฐอเมริกา

เมื่อประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในคำสั่งเชิงบริหารให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องŽ เสนอกฎข้อบังคับเพื่อสร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้นกับ มาตรา 230Ž ในรัฐบัญญัติว่าด้วยการสื่อสารที่เหมาะสม (ซีดีเอ)
ปี 1996

มีบางคน โดยเฉพาะฝ่ายที่ถือหางทรัมป์ ตีความไปไกลถึงกับเชื่อว่าคำสั่งนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับมาตรา 230 ที่ว่านั้น

ประธานาธิบดีทรัมป์เอง พยายามให้เห็นไปในทำนองนั้นเช่นกัน ด้วยการ ส่งสัญญาณŽ ไปยังรัฐมนตรียุติธรรม ให้เตรียมยกร่างเพื่อ ปรับแก้Ž หรือยกร่างทั้งมาตราขึ้นมา ใช้แทนŽ มาตรา 230 ที่ควร ลบทิ้งŽ

Advertisement

ในคำสั่งเชิงบริหารของทรัมป์ มีขึ้นราว 2 วัน หลังจากเกิดเหตุการณ์ขึ้นกับข้อความทวีตของท่านประธานาธิบดีเป็นครั้งแรกได้ชื่อว่าเป็นผู้นำที่ใช้ทวิตเตอร์มากที่สุดในโลก

ทวิตเตอร์ ติดธงŽ แสดงสัญลักษณ์ ตรวจสอบข้อเท็จจริงŽ เพราะข้อความที่ทรัมป์ทวีตนั้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

เป็นการดำเนินการตามมาตรการตรวจสอบความถูกต้องของข้อความที่โพสต์ของทวิตเตอร์ เพื่อป้องกัน เฟคนิวส์Ž ในช่วงปีการเลือกตั้งตามที่บริษัทประกาศไว้

ทรัมป์ถือว่านั่นนอกจากจะเป็นการ อีดิทŽ สารัตถะที่ตนต้องการสื่อกับสาธารณะแล้ว ยังเป็นการแทรกแซงการเลือกตั้ง และแสดงออกไปถึง ความลำเอียงทางการเมืองŽ ทั้งๆ ที่ทวิตเตอร์ควร เป็นกลางทางการเมืองŽ (แม้ว่าจะไม่มีกฎหมายไม่ว่าฉบับไหนๆ ของสหรัฐ บังคับไว้ให้เป็นกลางเลยก็ตามที)

แล้วก็ลั่นวาจาว่าจะเล่นงานทวิตเตอร์และโซเชียลมีเดียอีกหลายรายที่ มีอำนาจมากเกินไปŽ ในการตรวจแก้, เซ็นเซอร์, อีดิท, ตัดทอน, ซ่อน, เปลี่ยนโฉมหน้าของเนื้อความไปตามความต้องการของตน เข้าข่ายละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนที่รัฐธรรมนูญอเมริกันการันตีไว้

รัฐบัญญัติหรือกฎหมายว่าด้วยการสื่อสารที่เหมาะสมที่ว่านี้ เดิมทีบัญญัติขึ้นมาเพื่อจัดการกับสื่อจำพวกรุนแรง ลามกอนาจารบนโลกออนไลน์โดยเฉพาะ

ทำไปทำมา มีหลายมาตรามากที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาลามกอนาจาร ถูกศาลตีความจนหมดสภาพบังคับไป เนื่องจากขัดกับรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ที่ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงออกของพลเมืองอเมริกัน

แต่มาตรา 230 ยังคงอยู่มาถึงทุกวันนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่านี่คือข้อกฎหมายที่เอื้อต่อการเติบใหญ่กลายเป็นบริษัทที่ทรงอิทธิพลในระดับโลกของบริษัทไอทีจากสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นกูเกิล, เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ ก็ตามที

หัวใจสำคัญของมาตรา 230 คือ การให้ความคุ้มครองต่อ ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตŽ หรือ ผู้เป็นเจ้าของŽ เว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ใดๆ ไม่ต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ต่อเนื้อหาใดๆ ซึ่งยูสเซอร์เป็นผู้ทำขึ้นและปรากฏบนเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มนั้นๆ ตราบใดที่การแสดงเนื้อหาเหล่านั้นเป็นไป โดยสุจริตŽ

ซึ่งแพลตฟอร์ม ออนไลน์ทั้งหลายเหล่านี้ใช้ประโยชน์มานานกว่า 20 ปีแล้ว

ไม่เพียงป้องกันไม่ให้แพลตฟอร์มเหล่านี้ถูกฟ้องร้องจากคนอเมริกันที่เสียหายเท่านั้น ยังปกป้องบริษัทเหล่านี้ ซึ่งถือสัญชาติอเมริกันเกือบทั้งหมด ไม่ให้ถูกรุมฟ้องจากผู้เสียหายทั่วโลกอีกด้วย

ถ้าทรัมป์จัดการให้มาตรา 230 หายไปได้สำเร็จ ผลเสียหายจะตกอยู่กับอินเตอร์เน็ตและแพลตฟอร์มบนอินเตอร์เน็ตมากแค่ไหนก็คงพอเข้าใจกันได้

แต่ไม่ทันข้ามวันหลังจากทรัมป์เซ็นคำสั่ง บรรดาครูบาอาจารย์ด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยโด่งดังในสหรัฐอเมริกา ทั้งสแตนฟอร์ดและฮาร์วาร์ด รวมถึง
ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตทั้งหลาย ก็ออกมาให้ความเห็นคล้ายๆ กันว่า คำสั่งทรัมป์น่ะ สั่งได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว เป็นไปไม่ได้

นักกฎหมายระดับหัวแถวของสหรัฐอเมริกา ถึงกับบอกว่า นี่เป็นเพียงแค่ ละครการเมืองŽ ฉากหนึ่งในปีเลือกตั้ง ที่แค่เล่นเพื่อเรียกคะแนนเสียงจากคนที่เห็นตรงกันเท่านั้นเอง แต่เป็นจริงไม่ได้ในทางปฏิบัติ

เหตุผลแรกคือ ทรัมป์หรือหน่วยงานใดๆ ไม่สามารถแก้หรือยกมาตราหนึ่งมาตราใด ในรัฐบัญญัติใดทิ้งได้ กระบวนการนี้ต้องทำผ่านรัฐสภาเท่านั้น

ประการถัดมา ถ้าหากดำเนินการตามความเห็นของทรัมป์ได้ กฎหมายใหม่นี้ก็จะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง ไม่มีสภาพบังคับ เนื่องจากขัดกับรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงออกโดยตรง

ลอว์เรนซ์ ไทรบ์ ศาสตราจารย์นิติศาสตร์ของฮาร์วาร์ด กับ โจชัวร์ เกลท์เซอร์ จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ เขียนถึงกรณีนี้เอาไว้ว่า

ทรัมป์เข้าใจกฎหมายผิดๆ มาแล้วมากมาย แต่หนนี้ยิ่งผิดใหญ่ผิดโตกว่าทุกครั้ง

กรณีทวิตเตอร์นี้มีคนละเมิดบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 อยู่จริง แต่ไม่ใช่ทวิตเตอร์ คนละเมิดคือทรัมป์

ถ้าคิดจะเปิดศึก เพื่อควบคุมบรรดาม้าป่าที่กำลังคะนองอย่างโซเชียลมีเดียทั้งหลาย ทรัมป์ต้องคิดมากกว่านี้มากครับ!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image