ส่องการอภิปรายของสภากับการแก้วิกฤตของรัฐบาล : โดย สมหมาย ภาษี

ส่องการอภิปรายของสภากับการแก้วิกฤตของรัฐบาล : โดย สมหมาย ภาษี

ส่องการอภิปรายของสภากับการแก้วิกฤตของรัฐบาล : โดย สมหมาย ภาษี

ผ่านไปแล้วครับการอภิปรายห้าวันสี่คืนของสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องการออกพระราชกำหนดกู้เงินของรัฐบาลในช่วงวันที่ 27-31 พฤษภาคม 2563 เราลองมาดูและวิเคราะห์กันหน่อยว่าสภาผู้แทนราษฎรของไทยทำงานดีขึ้นบ้างหรือเปล่า ทั้งนี้ ไม่ต้องพูดถึงความสำเร็จของรัฐบาลในการผ่านกฎหมายใหญ่ทางการเงินครั้งนี้ เพราะฝ่ายค้านเองก็ออกตัวมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า ในหลักการเขาเห็นด้วยเพราะในภาวะวิกฤตแบบนี้ ในภาวะที่รัฐบาลจัดเก็บรายได้แบบชักหน้าไม่ถึงหลังเช่นนี้ ถ้าไม่กู้มาเยียวยาประชาชนแล้วจะไปหาเงินที่ไหนมาแก้วิกฤต

เอาละครับ ทีนี้เราลองมาดูสาระที่มีการอภิปรายของฝ่ายค้านและสาระที่คณะรัฐมนตรีและคณะได้ชี้แจงให้ประชาชนทราบกันทั้งประเทศนั้น มันดีขึ้นกว่าเก่าแค่ไหน ได้มีการแสดงวิสัยทัศน์ในการเข้าไปต่อสู้กับวิกฤตแค่ไหน จะมีแนวทางป้องกันความเสี่ยงไม่ให้ประเทศชาติต้องตกอยู่ในภาวะแร้นแค้นได้แค่ไหน สามารถทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีปีติและความหวังได้แค่ไหน

เริ่มต้นจากวันที่ใช้ในการอภิปรายถึงห้าวันนั้น ทำยังไงประชาชนระดับไหนก็ไม่อยากจะฟังและไม่อยากจะสนใจ เพราะว่ามันนานเกินไป นานแบบไทยไทย ปล่อยให้สมาชิกที่เป็นผู้แทนราษฎรแต่ละคนได้แสดงคารมและโวหารในการอภิปราย บนข้อเท็จจริงและความรู้ที่ส่วนใหญ่รู้ๆ กันดีอยู่แล้ว สำหรับประชาชนก็กลายเป็นการฟังที่ซ้ำๆ ซากๆ น่าเบื่อหน่าย ยกเว้นรัฐบาลที่สามารถวัดความจงรักภักดีของเหล่าก๊กและก๊วนทั้งหลายว่ายังเข้มข้นอยู่ไหม

Advertisement

ที่เห็นว่ามีการปรับปรุงให้เห็นชัดขึ้น ก็คือการนำข้อเท็จจริงมาแสดงเป็นรูปภาพ เป็นรูปกราฟิก และเป็นตัวหนังสือ ออกมาในแบบคลิปที่นิยมเผยแพร่กันทางสื่อและทางโทรศัพท์มือถือกันมากขึ้น เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่อย่างว่าแหละครับ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เขาไม่ชี้แจงและอภิปรายกันแบบนี้หรอกครับ เขาพูดกันสั้นๆ ถึงเหตุผล ข้อกฎหมาย ตรรกะ และผลกระทบด้านผลดีผลเสียต่อประชาชนและประเทศชาติ แล้วก็จบ ประเทศเขาถึงเร็ว ไม่ยืดยาดอืดอาดแบบไทยเรา

อย่างไรก็ตาม เมื่อจะวิเคราะห์กันแล้ว ควรต้องดูกันให้ชัดๆ แต่ละเรื่องว่า เรื่องที่ได้อภิปรายกันในสภาอันทรงเกียรติประชาชนซึ่งเป็นผู้ฟังได้รู้อะไรกันบ้าง

การแก้โควิด-19 ของรัฐบาล

Advertisement

สมาชิกฝ่ายค้านจำนวนไม่น้อยได้อภิปรายในเชิงตำหนิการทำงานแก้วิกฤตของรัฐบาลว่า ในขั้นต้นรัฐบาลมีความชะล่าใจ ตัวท่านนายกรัฐมนตรีและกระทรวงที่เกี่ยวข้องไม่สนใจแก้ไขตั้งแต่แรก หากรับมือตั้งแต่ต้น คงจะไม่บานปลายและก่อความเสียหายให้แก่ประเทศชาติอย่างที่เห็น

ครั้นเมื่อสายแล้วก็กลับมาทำงานจริงจัง ด้วยความสามารถทางการแพทย์ของไทย ทั้งในด้านการป้องกัน และการรักษาพยาบาลก็ได้เห็นผลดีขึ้น ถือว่าเอาอยู่ และประกอบกับประชาชนคนไทยต่างพยายามให้ความร่วมมือกับรัฐบาลด้วยดี อยู่แต่กับบ้านไม่ไปไหน ใส่หน้ากากอนามัยกันถ้วนหน้า ยอมเสียเสรีภาพส่วนตัว ซึ่งสิ่งนี้เป็น New Normal สำหรับคนไทยมานานแล้ว ไม่เหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ที่ผู้นำของเขาเข้าใจในเสรีภาพของประชาชนดี ไม่มีการบังคับให้ประชาชนถูกจำกัดเสรีภาพเนิ่นนาน และไม่พยายามนำพระราชกำหนดฉุกเฉินซึ่งเป็นอำนาจที่เบ็ดเสร็จในมือของรัฐบาลมาใช้เหมือนของรัฐบาลไทย การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่พัฒนาแล้วจึงลดลงช้ากว่าไทย

มาถึงวันนี้กลับมีเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนและสื่อสะท้อนออกมาให้เห็นว่ารัฐบาลไทยไม่สนใจเสรีภาพ ไม่สนใจคนไม่ได้ทำมาหากิน ไม่เป็นห่วงเรื่องรายได้ของประชาชนและของประเทศว่าจะลดน้อยลงอย่างมากมาย ตัวเลขผู้เจ็บป่วย ผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตต่ำมากขนาดนี้เทียบกันขณะนี้ประเทศไทยมีเตียงคนไข้โควิด-19 อยู่ถึง 15,000 เตียง แทบจะว่างเปล่าทั้งหมด มีห้องไอซียูไว้รองรับถึง 2,000 ห้อง แทบไม่มีการใช้ แล้วรัฐบาลคิดได้ยังไงที่ยังไม่ยอมผ่อนคลายการควบคุมให้ถึงระยะสี่ แถมยังดึงพระราชกำหนดฉุกเฉินไว้โดยไม่มีเหตุผลที่ไม่อาจรับฟังได้

นี่คือการทำงานแก้ปัญหาโควิด-19 ของรัฐบาลไทยที่มาจากรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยครึ่งใบที่ผู้นำยังคิดจะลากยาวบริหารประเทศอีกต่อไป หรือจะรอให้เห็นว่ากว่าถั่วจะสุก งาก็จะไหม้แล้ว

ความหวั่นกลัวว่าจะมีคอร์รัปชั่นจากการใช้เงินกู้

เวลาส่วนใหญ่ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือ ส.ส. ใช้ในการอภิปรายตลอด 5 วันที่ผ่านมาเป็นเรื่องความหวั่นกลัวว่าจะมีการฉ้อโกงของนักการเมือง และอาจรวมถึงข้าราชการในการใช้งบจากเงินกู้ที่ตั้งไว้จำนวน 400,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการพัฒนาชนบทและเพิ่มการจ้างงานในพื้นที่ ที่กลัวกันมากนี้ก็เพราะ ส.ส.ส่วนใหญ่ที่ผ่านงานการเมืองมาแล้ว ต่างก็รู้ดีว่างบประมาณที่ตั้งกันในลักษณะนี้ล้วนแต่เปิดช่องทางให้มีรูรั่วที่มองไม่เห็น และจับต้องไม่ได้แยะมาก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการพูดถึงเรื่องนี้กันมาก ทางรัฐบาลจึงได้พลิกผันแนวทางดำเนินการใช้งบนี้ให้รัดกุมขึ้น โดยได้มอบให้ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางที่ดูแลงบลงทุนภาครัฐ เป็นผู้พิจารณาวางแนวทางโครงการที่จะใช้งบก้อนนี้ โดยได้ตั้งเป้าหมายที่จะกลั่นกรองและรวบรวมโครงการเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ได้ในเดือนกรกฎาคมนี้ แต่แม้กระนั้น ส.ส.บางส่วนก็ยังไม่ค่อยพอใจ โดยได้เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินนี้ ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายรัฐบาลคงไม่พอใจแน่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติเข้ามาก้าวก่าย ก็ต้องถือว่าเป็นปัญหาอย่างหนึ่งของประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นดกดื่นแบบประเทศไทยเรา

การชี้แจงของฝ่ายรัฐบาลที่ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าในอนาคตจะสามารถรับมือกับความตกต่ำทางเศรษฐกิจได้อย่างไร

การอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ ปรากฏว่ามีความเรียบร้อยไม่มีการทักท้วงให้เกิดความรำคาญมากเหมือนครั้งก่อนๆ เป็นการอภิปรายพุ่งไปที่การต้องกู้เงินมาเยียวยาทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการดำเนินการในเรื่องปฏิบัติในการจัดจ่ายเงินเยียวยาว่าไม่มีข้อมูลของคนจนที่เพียงพอ ทำให้เกิดปัญหาให้เห็นมากหลายรูปแบบ ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลังได้ทำงานอย่างเต็มที่แล้ว นี่ก็ดูเหมือนจะเป็น New normal ที่เกิดในประเทศนี้ ผู้ที่ทำงานหนักเอาเงินมาแจกหลายแสนล้านบาท แทนที่คนจะรักและสรรเสริญกลับได้รับการด่าว่ารอบทิศ

อย่างไรก็ตาม ในการอภิปรายครั้งนี้ ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล รวมถึงรัฐมนตรีผู้ทำการชี้แจง แทบจะไม่สนใจกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่จะเกิดตามมาอย่างมากมายในอนาคต มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านบางท่านได้กล่าวว่า “ยังไม่เคยได้ยินรัฐบาลพูดว่า หลังโควิด-19 หลังจากได้ใช้เงินไปถึง 1.9 ล้านล้านบาทแล้ว จะฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างไร….”

ต้องยอมรับว่า ประชาชนคนฟังอยู่ข้างนอกได้ฟังท่านเสนาบดีบางท่านในรัฐบาลนี้ชี้แจงในสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้แล้ว แทนที่จะได้รับฟังให้ตระหนักว่าประเทศไทยขณะนี้กำลังเผชิญวิกฤตแต่ละด้านที่จะรุนแรงขนาดไหนบ้าง กลับได้รับฟังการคุยโม้โอ้อวดในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เช่น การเน้นขาย online หรือในเรื่องอันเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติอยู่แล้วที่ไม่จำเป็นต้องมาบอกเล่า เช่น การชี้แจงถึงการปรับปรุงการเป็นเซลส์แมนของรัฐมนตรีในการขายพริกสด ขายผลไม้ไทย เช่น ลำไย ทุเรียน ที่มียอดเงินในการขาย 800 ล้านบาทบ้าง 1,000 ล้านบาทบ้าง ฟังแล้วยิ่งกว่าการรายงานผลงานประจำปีของรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

นี่มันอะไรกัน คิดว่าที่ผ่านมาได้ทำงานด้านการส่งออกดีและยอดเยี่ยมมากแล้วหรือ รอฟังนานแค่ไหนก็ไม่ได้ยินท่านเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์พูดถึงการส่งออกของประเทศที่มีมูลค่าทั้งปีถึง 8 ล้านล้านบาท และกำลังทรุดหนักในปีนี้ อย่างที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อนแล้วจะให้ท่านเข้าไปแก้ปัญหาการส่งออกซึ่งเป็นเรื่องหลักของประเทศได้อย่างไร น่าสงสารประเทศไทยเสียจริงๆ

การอภิปรายวิกฤตที่ไม่มีการพูดถึงการดูแลจัดการกับความเสี่ยงภาครัฐ

วิกฤตโคโรนาไวรัสหรือโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อไปแล้วทั่วโลกในช่วงระยะเวลาแค่ 6 เดือน ถึงร่วม 6 ล้านคนไปแล้วนี้ มันเกิดขึ้นและได้ก่อผลกระทบที่รุนแรงและก่อให้เกิดความหายนะอย่างสุดสุดในขณะนี้
เป็นผลมาจากการบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) ที่ไม่ได้เรื่องของชาวโลกนั่นเอง

วิทยาการและเทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงได้รับความสนใจอย่างมากและมีการพัฒนามาตลอดในช่วงเวลากว่า 20 ปี หลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งขึ้นในประเทศไทยในปี 2540 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจด้านการเงิน ด้านพลังงาน ด้านการค้าการลงทุน ด้านอสังหาริมทรัพย์ และด้านการบิน เป็นต้น มีการคิดค้นและวางมาตรการป้องกันทุกรูปแบบ มีการใช้ทรัพยากรมหาศาลเพื่อการนี้

และแล้วเมื่อการระบาดของโคโรนาไวรัสเกิดขึ้น ทุกคนที่คลุกคลีอยู่กับการบริหารจัดการความเสี่ยงต่างก็ต้องตกอกตกใจ เพราะว่าไม่เคยมีใครเคยคิดว่าธรรมชาติจะช่างสร้างไวรัสตัวร้ายกาจนี้ให้ทะลุทะลวงเครือข่ายของการป้องกันความเสี่ยงอันเลอเลิศที่มนุษย์ได้คิดค้นขึ้นมาได้อย่างสะดวกสบาย

ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดก็เพราะว่า ในประเทศไทยเรานี้ ในโอกาสที่มีการอภิปรายเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อมาต่อสู้กับโควิด-19 ครั้งนี้ ที่มีทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารระดับสุดยอดของประเทศอยู่พร้อมหน้ากันนี้ กลับไม่ได้ยินผู้ใดพูดถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ถูกทะลุทะลวงจากโคโรนาไวรัสกันเลย สิ่งที่พูดกันทุกวันมีรายงานรายละเอียดยิบแทบทุกชั่วโมงนั้น เป็นการป้องกันและรักษาโรคระบาด ไม่ใช่เรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงอันได้เกิดและจะเกิดอีกมากจากการได้แพร่ระบาดของไวรัสร้ายตัวนี้ ดูๆ แล้วรัฐบาลนี้ยังเปิดช่องโหว่แบบไม่มีที่สิ้นสุดนี้อย่างไร้เดียงสาเหลือเกิน

สรุปแล้วกล่าวได้ว่า ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่มาจากการเลือกตั้งในประเทศนี้ ยังไม่มีใครที่พอจะมีวิสัยทัศน์มองเห็นความหายนะที่แท้จริงของประเทศกันเลย

ติดตามบทความ สมหมาย ภาษี ที่เฟซบุ๊ก
Sommai Phasee — สมหมาย ภาษี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image