ประธานาธิบดีทรัมป์กับเรื่องสนุกๆ สำหรับทวิตเตอร์ โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ทวิตเตอร์ (Twitter) เป็นบริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เป็นที่นิยมอย่างสูงเครือข่ายหนึ่งของสหรัฐอเมริกาที่ผู้ใช้สามารถส่งข้อความยาวไม่เกิน 280 ตัวอักษร ว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ โดยเรียกการส่งข้อความนี้ว่า ทวีต (Tweeted) ซึ่งแปลว่า เสียงนกร้อง
ทวิตเตอร์ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2549 โดยมีนายแจ็ก ดอร์ซี เป็นหัวเรือใหญ่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองซานฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย และต่อมาในเดือนกรกฎาคม ก็ได้เปิดตัวเว็บไซต์สังคมออนไลน์ ซึ่งต่อมาได้รับความนิยมจากทั่วโลก โดยมีผู้ใช้ที่ลงทะเบียนเข้าใช้มากกว่า 1,300 ล้านคนในปี พ.ศ.2563 รวมไปถึงมีทวีต
มากกว่า 500 ล้านทวีตต่อวันหมายความว่ามีการทวีตเฉลี่ย 6,000 ครั้งทุกวินาที

ที่สำคัญและน่าสนใจที่สุดคือบรรดาผู้นำประเทศ ทั่วโลกได้พากันเข้ามาใช้บริการของทวิตเตอร์ เพื่อสื่อสารโปรโมตตัวเองพร้อมทั้งแนวคิด นโยบายและทำความเข้าใจกับประชาชนในประเทศของตนเป็นอันดับหนึ่งของบรรดาช่องทางการสื่อสารในยุคดิจิทัลโดยบริษัท Statista ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและสำรวจที่มีชื่อเสียงระดับโลก ได้เก็บข้อมูลของ 10 ผู้นำระดับโลกที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในทวิตเตอร์ปัจจุบันนี้ (รายงานเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2563) มีดังนี้คือ

1.ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้ติดตาม 85.6 ล้านคน

2.นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้นำประเทศอินเดีย มีผู้ติดตาม 75.9 ล้านคน

Advertisement

3.ประธานาธิบดีเรเซป เตย์ยิป เออร์ดวน ผู้นำประเทศตุรกี มีผู้ติดตาม 20.3 ล้านคน

4.พระสันตะปาปาฟรานซิส ผู้นำคริสตจักรโรมันคาทอลิก มีผู้ติดตาม 18 ล้านคน

5.ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำประเทศอินโดนีเซีย มีผู้ติดตาม 11.3 ล้านคน

6.พระราชินีราเนีย อัล อับดุลเลาะห์ พระราชินีแห่งประเทศจอร์แดน มีผู้ติดตาม 10.4 ล้านคน

7.ประธานาธิบดีมูฮัมหมัด บิน ราชิดอัล มัคตุมแห่งสหรัฐเอมิเรตส์มีผู้ติดตาม 9.6 ล้านคน

8.นายกรัฐมนตรีอิมราน ข่าน แห่งประเทศปากีสถาน มีผู้ติดตาม 9.5 ล้านคน

9.กษัตริย์ซัลมาน อัล-อาซิส แห่งประเทศซาอุดีอาระเบีย มีผู้ติดตาม 7.4 ล้านคน

10.ประธานาธิบดีอันเดรส มานูเอล โอบราดอร์ ผู้นำประเทศเม็กซิโก มีผู้ติดตาม 5.5 ล้านคน

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คือผู้นำประเทศผู้ใช้บริการของทวิตเตอร์มากและบ่อยที่สุดในโลกโดยนับตั้งแต่ พ.ศ.2558 ก่อนหน้าที่ทรัมป์จะสมัครเข้าแข่งขันเป็นประธานาธิบดีนั้นเขาทวีตเฉลี่ยวันละ 22.3 ครั้ง เมื่อเขาลงสมัครเป็นประธานาธิบดีอย่างจริงจังแล้วใน พ.ศ.2558 เขาทวีต ลดลงเหลือเฉลี่ยวันละ 15.2 ครั้ง แต่ช่วงหลังของปีที่ 3 ในการเป็นประธานาธิบดีคือระหว่างวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2562-19 มกราคม พ.ศ.2563 การทวีตของทรัมป์ถี่ขึ้นมากที่สุดเป็นเฉลี่ยวันละ 28.1 ครั้ง

เนื่องจากทวิตเตอร์มีนโยบาย “ต่อต้านข้อมูลปลอม” ที่บริษัทเริ่มนำมาใช้ในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อสกัดการแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยมีแผนที่จะขยายให้ครอบคลุมถึงข้อมูลที่ถูกโต้แย้งหรือบิดเบือนในประเด็นอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ ทวิตเตอร์เคยลบข้อความของประธานาธิบดีบราซิลและเวเนซุเอลา ซึ่งมีเนื้อหาขัดต่อกฎระเบียบว่าด้วยการเสนอข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มาแล้ว ในขณะเดียวกันทวิตเตอร์ได้งดเว้นไม่ต่อต้านข้อมูลปลอมที่ประธานาธิบดีทรัมป์ทวีตอยู่มากมายหลายครั้ง อาทิ ทรัมป์ได้แนะนำว่าการใช้ยาฆ่าเชื้อที่เป็นอันตรายอาจช่วยรักษา COVID-19 ได้ อีกทั้งยังได้ส่งเสริมการรักษาด้วยยาที่ไม่ได้รับการพิสูจน์นี้ รวมถึงกรณีที่เคยแย้งกลุ่มข่าวกรองของอเมริกาว่า เคยเห็นหลักฐานที่แสดงว่า COVID-19 เกิดขึ้นจากห้องแล็บในจีน ทั้งที่หน่วยสืบราชการลับที่ใช้ร่วมกันระหว่างพันธมิตรสหรัฐระบุว่ามีแนวโน้มว่าไวรัสจะมาจากตลาดในอู่ฮั่นไม่ใช่จากห้องแล็บในจีนจนกระทั่งวันพุธที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ ทวิตเตอร์จึงได้ขึ้นแถบคำเตือนว่าหาข้อมูลจริง (fact-check) ใต้ข้อความ 2 ข้อความของทรัมป์ ซึ่งมีการอ้างว่าระบบลงคะแนนทางไปรษณีย์ จะนำไปสู่การทุจริตฉ้อโกงผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในเดือนพฤศจิกายน ทั้งๆ ที่ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีโกงเลือกตั้งเกิดขึ้น ทวิตเตอร์จึงได้ขึ้นแถบคำเตือนให้ผู้อ่าน “ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการลงคะแนนทางไปรษณีย์” ไว้ใต้ทวีตของทรัมป์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทวิตเตอร์ทำเช่นนี้ หลังจากที่โดนวิพากษ์วิจารณ์มานานแล้วว่าละเว้นในการละเมิดกฎเกณฑ์ของทรัมป์ ที่มักจะทวีตโจมตีบุคคลอื่นหรือแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนไปยังผู้ติดตามทวิตเตอร์ของเขาซึ่งมีมากกว่า 85 ล้านคน

การทำตามกฎเกณฑ์ของบริษัททวิตเตอร์ครั้งนี้ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์โกรธมากจึงได้โจมตีบริษัททวิตเตอร์ว่ากำลังปิดกั้นการแสดงความเห็นของฝ่ายอนุรักษนิยมในสหรัฐอเมริกาและอ้างว่าแพลตฟอร์มบริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก หรือยูทูบ เหล่านี้มีอำนาจที่ไม่มีการตรวจสอบในการคัดกรองและจำกัดการสื่อสารส่วนบุคคลเกือบทุกรูปแบบ และกล่าวหาทวิตเตอร์ว่าพยายามแทรกแซงศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีปลายปีนี้ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์จะลงชิงชัยอีกด้วยโดยกล่าวหาว่าทวิตเตอร์กำลังปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี และประธานาธิบดีทรัมป์ได้ตอบโต้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา ด้วยการลงนามคำสั่งของฝ่ายบริหารโดยประธานาธิบดีสั่งให้หน่วยงานของรัฐบาลแก้ไขกฎหมายมาตรา 230 ของรัฐบัญญัติการสื่อสารที่ปกป้องบรรดาบริษัทโซเชียลมีเดียที่มีคนใช้บริการทั่วโลก เช่น เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ และยูทูบ จากการถูกฟ้องร้องเกี่ยวกับเนื้อหาที่เผยแพร่ในแพลตฟอร์มเหล่านี้ โดยทรัมป์ชี้ว่า เอกสิทธิ์คุ้มครองดังกล่าวไม่ควรถูกนำมาใช้ หากเครือข่ายสังคมออนไลน์เหล่านี้จะแก้ไขเนื้อหาที่โพสต์โดยผู้ใช้งานได้อย่างเสรี

แต่เมื่อวันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ทวีตเมื่อคืนวันพฤหัสบดีเกี่ยวกับการประท้วงจนเกิดการจลาจลอย่างรุนแรงขึ้นในเมืองมินนีเอโพลิส มลรัฐมินนิโซตา ที่มีชนวนเหตุจากการเสียชีวิตของนายจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำไร้อาวุธขณะถูกตำรวจควบคุมตัว มีข้อความส่วนหนึ่งว่า

“เมื่อการแย่งชิง ขโมย ปล้น เริ่มขึ้น การยิงก็ต้องเริ่มขึ้น ขอบคุณ”

ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา ทวิตเตอร์ได้ซ่อนข้อความนี้ โดยขึ้นคำเตือนว่า

“ทวีตนี้ละเมิดข้อบังคับของทวิตเตอร์ด้วยการส่งเสริมความรุนแรง อย่างไรก็ตาม ทวีตนี้จะยังคงแสดงไว้เนื่องจากทวิตเตอร์ได้พิจารณาแล้วว่าอาจเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ”

อย่างไรก็ดี ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ยังสามารถกดเข้าไปอ่านข้อความต้นฉบับได้ แต่ไม่สามารถกดถูกใจ, ตอบ หรือทวีตต่อได้ ยกเว้นการทวีตต่อพร้อมการแสดงทรรศนะ

ครับ ! ทวิตเตอร์ไม่แคร์ประธานาธิบดีทรัมป์เลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image