คนตกสี ที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : กฎหมายและมาตรการเชิงแก้บน จาก‘Pornhub’ถึง‘ไทยชนะ’ โดย กล้า สมุทวณิช

ไม่อยากจะเรียกเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องตลก แม้จริงๆ มันค่อนข้างตลกก็ตาม

เรื่องเริ่มที่มีผู้ทวีตข้อความถามผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเจ้าใหญ่รายหนึ่งว่า ขอให้ตอบตามตรงว่าเกิดอะไรขึ้น จึงไม่สามารถเข้าชมเว็บไซต์ Pornhub ซึ่งเป็นผู้ให้บริการวิดีโอสำหรับผู้ใหญ่เจ้าดังที่สุดของโลกได้

ทวิตเตอร์ตัวแทนของผู้ให้บริการรายนั้นตอบว่าได้จำกัดการเข้าถึงและบล็อกเนื่องจากเว็บไซต์ดังกล่าวมีเนื้อหาไม่เหมาะสม

คำตอบนี้ปลุกกระแสเดือดขึ้นมาในโลกโซเชียล มีผู้แสดงเจตจำนงว่าจะไปยกเลิกบริการจากผู้ให้บริการดังกล่าวเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ โดยที่ปรากฏว่าผู้ให้บริการรายอื่นสามารถเข้าชมเว็บดังกล่าวได้ตามปกติ จนกระทั่งภายในสองชั่วโมงหลังจากนั้น ผู้ให้บริการรายดังกล่าวจะต้องออกมาทวีตข้อความแจ้งว่าเป็นความเข้าใจผิด ทางผู้ให้บริการไม่ได้บล็อกเว็บไซต์ที่ว่า การที่เข้าถึงไม่ได้ในระยะเวลานี้เกิดจากปัญหาขัดข้องทางเทคนิคที่จะได้รับการแก้ไขต่อไป ซึ่งในขณะที่เขียนคอลัมน์นี้ได้ตรวจสอบแล้วว่าผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตรายดังกล่าวสามารถเข้าใช้งานเว็บที่ว่าได้ตามปกติแล้ว

Advertisement

หากกล่าวกันตามกฎหมายแล้ว เว็บไซต์ Pornhub นั้นผิดกฎหมายไทยอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าจะตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (4) หรือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 ความผิดเกี่ยวกับสิ่งลามก ดังนั้นก็ควรเป็นเรื่องถูกต้องแล้วที่ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยจำเป็นต้องสกัดกั้นหรือจำกัดการเข้าถึง แต่กระนั้นเมื่อเกิดความขัดแย้งกับ “กระแสความต้องการ” ของลูกค้าจำนวนมากก็ต้องรีบกลับลำโดยด่วน แถมในเรื่องเดียวกันนี้ ผู้ให้บริการรายอื่นก็ได้ที่ตอบลูกค้าของตัวเองเป็นนัยว่า สำหรับเจ้านี้ไม่มีนโยบายสกัดกั้นการเข้าถึงเว็บที่ว่า ลุยได้เลยตามชอบใครชอบมัน

เรื่องนี้แม้ในที่สุดมันจะจบลงแบบตลกๆ แต่สำหรับผู้อยู่ในแวดวงกฎหมายแล้วมันก็ไม่ควรจะหัวเราะเสียงดังเกินไปเมื่อคิดว่านี่คือการที่ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตทั้งหลายของไทยนั้นกำลัง “ละเมิดกฎหมาย” โดยมีลูกค้าผู้รับบริการทั้งหลายให้การสนับสนุน

อันที่จริงกฎหมายเรื่อง “สื่อลามก” ของไทยนั้นอยู่ในสภาพที่มีวิถีปฏิบัติที่รู้กันครอบลงไปบนกฎหมายลายลักษณ์อักษรอีกทีหนึ่งมานานแล้ว ตั้งแต่ในยุคของนิตยสารกระดาษ หนังสือปกขาว ภาพยนตร์ 8 มิลลิเมตร และวิดีโอเทป

Advertisement

แน่นอนว่าทั้งหมดนั้นคือสื่อลามกที่ผิดกฎหมาย แต่เราก็สามารถหาซื้อกันได้ไม่ยากนัก นิตยสารที่มีรูปภาพและเนื้อหาทางเพศโจ๋งครึ่มที่เรียกว่าหนังสือปลุกใจเสือป่าสามารถวางขายบนแผงได้อย่างเปิดเผยร่วมกับนิตยสารอื่นๆ ได้เพียงวางหลบมุมไปนิดหน่อย ส่วนที่หนักข้อกว่านั้นก็อาจจะสามารถถามหาจากผู้ขายที่คุ้นเคยได้ซึ่งพวกนั้นจะถูกเก็บไว้ใต้แผง โดยมีข้อแบ่งแยกที่แน่นอนว่าไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นแนวทางปฏิบัติที่รับรู้และยอมรับกันหลวมๆ ระหว่างผู้จัดพิมพ์กับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ว่าให้เห็นได้แค่ไหนจะสามารถวางแอบๆ บนแผงได้ เกินกว่านั้นต้องลงไปซุกใต้แผง

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีสื่อลามกส่วนหนึ่งที่จะโดนจับกุมดำเนินคดี แต่ก็จะเป็นที่ละเมิดต่อศีลธรรมอันดีของสังคมหนักข้อไป เช่น สื่อที่เป็นศูนย์กลางรสนิยมทางเพศแบบแลกคู่ และเรื่องสำคัญที่ยอมรับตรงกันในระดับนานาชาติว่าเป็นอาชญากรรมคือสื่อลามกอนาจารเด็ก

เพราะส่วนหนึ่งเราอาจจะต้องยอมรับว่าการเป็นสิ่งผิดกฎหมายของสื่อลามกอนาจารนี้ในทางทฤษฎีทางอาญาเป็นความผิดประเภท “ผิดเพราะกฎหมายห้าม” (Mala Prohibita) โดยพิจารณาได้จากหลักเกณฑ์ทางกฎหมายในเรื่องนี้ที่แตกต่างกันไปหนักเบาตามแต่กฎหมายของแต่ละประเทศ แตกต่างจาก “ความผิดในตัวเอง” (Mala In se) ที่มนุษย์ส่วนใหญ่รับรู้ได้ตรงกันไม่ขึ้นกับชาติภาษาและระบบกฎหมาย

ดังนั้นความรู้สึกว่าเรื่องนี้ “ปัญหา” ที่อำนาจรัฐควรเข้ามาจัดการห้ามปรามนั้นจึงขึ้นกับความรู้สึกนึกคิดของสังคมอันเป็นพลวัต และในปัจจุบันสังคมส่วนใหญ่ยอมรับว่าสื่อลามกบางประเภทที่ไม่ได้เกิดจากการละเมิดหรือทำให้ผู้เกี่ยวข้องเสียหายนั้นถือว่าอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้

ปัญหาเกี่ยวกับความขัดแย้งไม่ลงรอยของกลไกทางกฎหมายและการปฏิบัติจริงอีกเรื่องที่เหมือนจะเป็นคนละเรื่องแต่แท้แล้วมาจากรากเหง้าปัญหาเดียวกัน คือ เรื่องของหลักเกณฑ์ของรัฐเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทั้งเรื่องของมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ในร้านอาหารและบริการต่างๆ ที่ได้รับการผ่อนปรน และระบบ “ไทยชนะ” ที่ออกแบบมาเพื่อการนี้

เรื่องที่ทุกคนน่าจะได้พบเห็นตรงกันคือเรื่องนโยบายการจัดที่นั่งในร้านอาหารซึ่งไม่ได้มีมาตรฐานที่ตรงกัน แม้ว่าจะเป็นร้านขายอาหารประเภทเดียวกันหรืออยู่ในละแวกเดียวกันก็ตาม โดยมีตั้งแต่ร้านที่จำกัดให้นั่งโต๊ะละคนแบบไม่มีข้อยกเว้นและตั้งโต๊ะห่างกันตามมาตรฐานที่ทาง ศบค.ประกาศกำหนด แต่ทั้งนี้ก็มีร้านที่อะลุ้มอล่วยให้ลูกค้ากลุ่มที่มาด้วยกันนั่งโต๊ะเดียวกันได้แต่ต้องมีฉากหรือมีอะไรกั้น หรือให้นั่งสับหว่างกัน แล้วก็มีร้านที่ให้นั่งร่วมกันอย่างไรก็ได้โดยไม่มีข้อจำกัด เพียงแต่ยังเว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะ กับสุดท้ายร้านที่ปกติเคยนั่งกันยังไงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็นั่งกันอย่างนั้น ร้านใหญ่ๆ บางร้านอาจจะจัดที่ทางให้ดู “ถูกกฎหมาย” ไว้ส่วนหน้า แต่เดินลึกเข้าไปในร้านหรือขึ้นชั้นสองก็อีกเรื่องหนึ่ง

ส่วนระบบ “ไทยชนะ” นั้นในที่สุดก็กลายเป็นกระบวนการแก้บนให้พ้นภาระทั้งของฝ่ายร้านค้าและลูกค้าผู้ใช้บริการ มีตั้งแต่การที่ฝ่ายลูกค้าเอาโทรศัพท์ยื่นไปเหมือนกับจะส่อง QR-Code ให้พนักงานเห็นแล้วสบายใจก็ปล่อยเข้าร้านโดยไม่ดูว่าเช็กอินเข้าระบบไปจริงหรือไม่ ไม่ตรวจสอบด้วยซ้ำว่ามีคนเต็มพื้นที่อันจำกัดของร้านหรือยัง ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะโดยระบบมันไม่สะท้อนจำนวนผู้ใช้บริการจริงด้วย

ส่วนใครไม่ได้เอาโทรศัพท์มาก็ไปลงชื่อและเบอร์โทรศัพท์ไว้แทน ซึ่งจะใส่ชื่อจริงชื่อปลอมหรือเบอร์โทรศัพท์อะไรลงไปก็ได้ไม่มีวิธีตรวจสอบ (เราจึงได้เห็นคุณประยุทธ์นามสกุลแปลกๆ ไปเที่ยวเล่นในร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ) แถมถ้าใครเผลอซื่อลงเบอร์โทรศัพท์จริงๆ ไปก็มีปัญหาถูกพนักงานร้านแอดไลน์มาจีบก็มี ส่วนร้านค้าขนาดเล็กก็ทำเป็นลืมๆ เรื่อง “ไทยชนะ” เสียเนียนๆ ก็เพราะถ้าจะบังคับใช้ ต่อให้เอาแค่พอแก้บนก็ยังต้องเสียพนักงานไป 1 คน เพื่อดูแลจุดนี้ รวมถึงการตรวจสอบอุณหภูมิก่อนเข้าร้านด้วย ช่วงหลังๆ ได้ข่าวว่าแม้แต่ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ บางแห่งก็ไม่ค่อยเข้มงวดตรวจสอบอย่างจริงจังแล้ว

ทั้งหมดนี้อยู่บนพื้นฐานความต้องการที่ตรงกันของผู้ประกอบการและลูกค้าที่ไม่อยากจะยุ่งยากด้วยกันทั้งคู่ แต่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่รัฐประกาศขึ้นมาพอเป็นพิธีเท่านั้น

เรื่อง “ไทยชนะ” จึงมาบรรจบกันกับ “Pornhub” ด้วยความเป็นจริงที่ตรงกันว่าทั้งสองกรณีเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายพร้อมใจที่จะ “รู้กัน” เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายหรือมาตรการของรัฐ และสร้างวิธีปฏิบัติแบบแก้บนให้ดูไม่น่าเกลียดจนเกินไปนั่นเอง

หากลองถามตัวเราว่าทำไมเราถึงยอมทำตาม “กฎหมาย” ก็อาจจะมีคำตอบสองเหตุผลใหญ่ๆ คือ กลัวการถูกลงโทษตามกฎหมาย ในกรณีที่กฎหมายนั้นมีสภาพบังคับที่รุนแรงจริงจัง เช่น ที่คนส่วนใหญ่ไม่มีใครนึกอยากจะลักทรัพย์จากร้านค้ามาเสียดื้อๆ เพราะรู้ว่าถ้าถูกพบเห็นเรียกตำรวจจับแล้วเป็นคดีมีติดคุกขึ้นศาลกันบ้างแน่นอน

แต่ถ้ากฎหมายนั้นมีสภาพบังคับไม่ชัดเจนหรือไม่ทั่วถึง เราก็อาจจะยอมปฏิบัติตามกฎหมายนั้นอยู่เช่นกันถ้าเรายอมรับในความสมเหตุสมผลของกฎหมายหรือกฎเกณฑ์นั้น ไม่ว่าจะเพราะมันสอดคล้องกับศีลธรรมหรือจริยธรรมของเราเอง หรือเพราะเห็นโทษภัยของการละเมิดกฎหมาย หรือการปฏิบัติตามกฎหมายนั้นสอดคล้องกับประโยชน์ที่กฎหมายประสงค์จะปกป้องชัดเจน

แต่เรื่องของเว็บ Pornhub (รวมถึงเว็บอื่นในลักษณะเดียวกัน) และ “ไทยชนะ” นั้นขาดแรงเหนี่ยวรั้งหรือแรงจูงใจทั้งสองกรณี ไม่ว่าจะเพราะสภาพบังคับที่ไม่จริงจังไม่ทั่วถึง กับทั้งกฎหมายหรือกฎเกณฑ์นั้นก็ไม่ได้สอดคล้องกับความเชื่อหรือทำให้รู้สึกได้ว่าสมเหตุสมผลอะไรด้วย

ปัญหาของการที่กฎหมายลายลักษณ์อักษรหรือกฎเกณฑ์ของรัฐไม่สอดคล้องกับวิถีปฏิบัติตามความเป็นจริงของสังคมและในการบังคับใช้กฎหมายนั้นเป็นเรื่องไม่ดีนัก เบื้องต้นคือการที่กฎหมายเขียนอย่างแต่ผู้คนพร้อมใจกันทำอีกอย่างนั้น เปิดช่องให้มีการเลือกปฏิบัติหรือการทุจริตของผู้ใช้กฎหมายได้ นั่นก็เพราะแม้ว่ากฎหมายเขียนไว้อีกอย่างหนึ่งแต่ในทางปฏิบัติจะรู้กันอีกอย่างหนึ่ง แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐของรัฐนั้นก็ยังมีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายได้ ก็เท่ากับจะเลือกเอาผิดหรือไม่เอาผิดได้ตามใจชอบ เช่น ร้านนี้คนกินอาหารนั่งด้วยกันได้ แต่อีกร้านถ้านั่งแบบนั้นก็โดนจับ

แต่สิ่งที่ร้ายและเสียหายกว่าก็คือ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามสิ่งที่กฎหมายกำหนดห้าม หรือมาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นนั้น ไม่ว่าจะมีประสิทธิภาพหรือไม่อย่างไร มาตรการเหล่านั้นก็มีวัตถุประสงค์บางประการที่จำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันของสังคม การที่เราพร้อมใจกันไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎเกณฑ์เพราะไม่มีสภาพบังคับจริงจังหรือเพราะยอมรับในความสมเหตุสมผลนั้น ก็เท่ากับยอมรับให้ความเสียหายที่กฎหมายหรือกฎเกณฑ์นั้นมุ่งป้องกันดำเนินอยู่

กฎหมายเรื่องสื่อลามกอนาจารนั้นมีไว้เพื่อป้องกันการละเมิดทางเพศต่อผู้อื่นทั้งโดยตรงโดยอ้อม แต่ในเมื่อเรา “ยอมรับ” ในการมีของเว็บไซต์แบบ Pornhub ก็ทำให้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประเภทนี้นั้นดำเนินต่อไป เพราะเนื้อหาในเว็บดังกล่าวนั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยชอบหรือโดยความยินยอมพร้อมใจที่ถูกต้องเสมอไป แต่ยังมีพวกคลิปแอบถ่ายหรือเกิดจากการล่อลวงที่เป็นการละเมิดทางเพศต่อผู้ที่ไม่ยินยอมด้วย

หรือมาตรการของรัฐในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นั้นก็มีวัตถุประสงค์ตั้งต้นเพื่อป้องกันวิกฤตทางสุขภาพและชีวิตของผู้คนสังคม การที่เราปฏิบัติตามมาตรการกันแบบหน้าไหว้หลังหลอกนั้นก็เท่ากับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการแพร่ระบาด ซึ่งเราก็ไม่รู้ชัดเจนถึงสถานะและความร้ายแรงอันแท้จริงของมัน

การมีมาตรการทางกฎหมายที่ไม่สมเหตุสมผลและบังคับได้จริง จึงเป็นการสร้างภาระที่ทำให้ผู้คนหาทางหลบเลี่ยงหรือทำพอเป็นพิธี จนไม่ระวังถึงโทษภัยอันแท้จริงของแต่ละสิ่งที่ทำให้ต้องมีกฎหมายหรือมาตรการเหล่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image