เดินหน้าชน : ระทึกครึ่งปีหลัง โดย สัญญา รัตนสร้อย

ปิดฉากเป็นไปเรียบร้อยในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท ประกอบด้วยกฎหมาย 3 ฉบับ

หนึ่ง พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท

หนึ่ง พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 5 แสนล้าน
บาท

หนึ่ง พระราชกำหนดรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ วงเงิน 4 แสนล้านบาท

Advertisement

พระราชกำหนดฉบับแรกเป็นการกู้เงินจริงของกระทรวงการคลัง 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 6 แสนล้านบาท เยียวยาประชาชนกลุ่มต่างๆ อาทิ ผู้มีอาชีพอิสระ เกษตรกร กลุ่มผู้ชรา คนพิการ และอีก 4 แสนล้านบาท นำไปฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน เน้นวิสาหกิจชุมชน

ส่วนอีก 2 ฉบับหลัง เป็นเงินของแบงก์ชาตินำออกมาปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน ช่วยสภาพคล่องให้กับกลุ่มเอสเอ็มอี 5 แสนล้านบาท และรักษาสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน 4 แสนล้านบาท

การอภิปรายในสภาจบลงตามคาดหมาย ไม่เพียงโหวตให้ผ่านกฎหมายด้วยเสียงท่วมท้น

Advertisement

แต่ประเด็นที่พรรคฝ่ายค้านพุ่งเป้าไปยังเม็ดเงิน 4 แสนล้านบาทที่กระทรวงการคลังจะใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากกู้ ทำได้เพียงฟ้องประชาชนถึงความไม่ชัดเจนของมาตรการ มีเพียงกรอบกว้างๆ การใช้เงินในเอกสารไม่กี่แผ่น ขาดรายละเอียดแผนงานชัดเจน ถูกปรามาสเหมือนตี “เช็คเปล่า”

ก็ไม่สามารถผลักดันให้เกิด กมธ.วิสามัญ ตรวจสอบติดตามการใช้จ่ายเงินได้ การตรวจสอบตกอยู่กับกลไกของภาครัฐเอง

เงินกู้มหาศาล 1 ล้านล้านบาท คนไทยทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบ ตลกร้ายก็คือตัวแทนประชาชนในสภาไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า เงินทุกบาททุกสตางค์ถูกใช้คุ้มค่า ไม่มีรั่วไหลสูญเปล่า

หรือแม้กระทั่งเม็ดเงิน 5 แสนล้านบาท ในส่วนของแบงก์ชาตินำออกมาปล่อยกู้ซอฟต์โลนผ่านธนาคารพาณิชย์ เป้าหมายพยุงเอสเอ็มอีรายเล็กรายน้อยให้อยู่รอดและรักษาการจ้างงานไว้ได้ ก็ถูกตั้งข้อสังเกตจากการอภิปรายของพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่ามาตรการให้กู้ซอฟต์โลนนี้ออกมาเดือนเศษ แต่ปรากฏว่าธนาคารพาณิชย์เสนอขอใช้เพื่อนำไปปล่อยกู้เพียง 10% เท่านั้น

ทุกวันนี้น้ำหล่อเลี้ยงเอสเอ็มอียังไหลเอื่อยเหลือเกิน

ภายหลังมาตรการช่วยเหลือเยียวยาด้วยการจ่ายเงินให้เปล่าแก่ประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่รับผลกระทบจากโควิด-19 ถูกลดเงินเดือน ว่างงาน ไปจนถึงตกงาน ได้ประคองชีวิต กำลังสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายนนี้

เครื่องยนต์เศรษฐกิจอย่างภาคส่งออกไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ ภาคท่องเที่ยวเคยนำรายได้เข้าประเทศเฉลี่ยเดือนละกว่า 2 แสนล้านบาท ถูกปิดสวิตช์ แม้เปิดแล้วก็ใช่จะกลับคืนปกติโดยเร็ว

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประเมินว่าจะมีแรงงานกลุ่มเสี่ยงต้องว่างงานถึง 8.4 ล้านคน

วงเงินสองก้อนเบ็ดเสร็จ 9 แสนล้านบาทจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ สำหรับพยุงการจ้างงาน สร้างรายได้ให้คนเล็กคนน้อย เกิดการจับจ่ายใช้สอยหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจ

หากกระสุนทั้งสองนัดนี้ยิงไม่เข้าเป้า ผมไม่กล้านอนเลยครับ กลัวฝันร้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image