อาหารดิลิเวอรี ในทรรศนะพยาบาล : โดย ผช.ศ.ดร.ศรีสุดา วงศ์วิเศษกุล

อาหารดิลิเวอรี ในทรรศนะพยาบาล : โดย ผช.ศ.ดร.ศรีสุดา วงศ์วิเศษกุล

อาหารดิลิเวอรี ในทรรศนะพยาบาล : โดย ผช.ศ.ดร.ศรีสุดา วงศ์วิเศษกุล

เมื่อกล่าวถึงอาหารกับพยาบาล หลายท่านอาจจะได้ยินเสียงแว่วเข้าหูในทันทีว่า อย่ากิน…..เยอะนะ น้ำตาลสูง-ลดเค็มลงหน่อย หยิบถ้วยน้ำปลาพริกออกจากโต๊ะอาหารได้เลย-กินแบบนี้ คอเลสเตอรอลขึ้นกระฉูดแน่Ž ดูเหมือนว่าถ้าท่านอยู่ใกล้ๆ กับพยาบาล เวลาจะสั่งอาหารต้องชะงักสักเล็กน้อย นั่นเป็นเพราะภาพของพยาบาลในสายตาของท่าน คือ คนที่คอยห้าม ปราม หรือขัด ในสิ่งที่จะท่านต้องการแล้วให้เหตุผลกับท่านว่า ต้องการให้สุขภาพของท่านอยู่ในเกณฑ์ที่ควรจะเป็นอย่างที่ตำราว่าไว้ ด้วยความห่วงใย…..

ช่วงเวลาของโรคโควิด-19 ได้ปรับวิถีการรับประทานอาหารของทุกคนโดยถ้วนทั่ว จากการนั่งรับประทานที่ร้าน (โปรด) กลับต้องอยู่กับบ้านและสั่งอาหารปรุงสำเร็จมารับประทาน ในครอบครัวที่มีสมาชิกหลายคนแม้จะปรับวิถีชีวิตมาปรุงอาหารรับประทานเอง แต่ในบางครั้ง ความคิดถึงรสชาติอาหารในร้านโปรด ทำให้อดใจไม่ได้ที่จะสั่งอาหารดิลิเวอรี ส่วนผู้ที่อยู่คนเดียวหรือมีสมาชิกในครอบครัวไม่เกิน 3 คน หรือที่พักอาศัยไม่เอื้อต่อการปรุงอาหารที่มีกลิ่นหรือต้องผัด ทอด ต้ม ที่ต้องปรุงหลายขั้นตอน การสั่งอาหารดิลิเวอรีดูเหมือนจะเป็นทางออกที่เหมาะสม อาหารดิลิเวอรีจึงเป็นที่นิยมและจัดว่าเป็นวิถีใหม่ (New Normal) ของการใช้ชีวิตในช่วงของการรักษามาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ชนิดไม่ให้การ์ดตก

ขอกลับมายังหัวข้อของวันนี้ อาหารดิลิเวอรีในทรรศนะพยาบาล ผู้เขียนใคร่ขอเปิดมุมมองเกี่ยวกับอาหารดิลิเวอรีในมิติสุขภาวะ ได้แก่ สุขภาวะทางกาย จิตและสังคม มาเป็นกรอบชวนคิด

Advertisement

อาหารดิลิเวอรีเกี่ยวข้องกับสุขภาวะได้อย่างไร

อาหารดิลิเวอรีมีหลากหลายประเภทตามความต้องการของผู้บริโภค อาหารคาว อาหารหวาน อาหารว่าง เครื่องดื่มประเภทต่างๆ เช่น ชา กาแฟ น้ำผลไม้ปั่น ดังนั้น ในช่วงของการหยุดเชื้อเพื่อชาติด้วยการอยู่บ้านและทำงานที่บ้านส่งผลให้อาหารดิลิเวอรีได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น อาหารดิลิเวอรีตอบโจทย์ความต้องการให้กับผู้บริโภคได้ทุกช่วงวัยจริงๆ ในบทความนี้ ขอยกความเกี่ยวข้องของอาหารดิลิเวอรีกับสุขภาวะในสามมิติคือ กาย จิต และสังคม ผู้ที่สามารถสร้างสมดุลให้กับมิติทั้งสามผ่านอาหารดิลิเวอรีได้ นับว่าเป็นผู้ที่สามารถสร้างวิถีใหม่ (New Normal) ให้กับตนเองและคนรอบข้างได้เช่นกัน

เรื่องแรกที่สำคัญและได้เกริ่นไว้บ้างแล้ว คือ มิติทางกาย เมนูอาหารดิลิเวอรีที่มีหลากหลายให้เลือกโดยเฉพาะประเภทอาหารคาวนั้น ในมุมมองของพยาบาลที่คำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการและสัดส่วนของสารอาหาร พบว่าอาหารดิลิเวอรีมีปริมาณผักค่อนข้างน้อย (ยกเว้นการสั่งสลัดผัก หรือ ส้มตำ) ส่วนใหญ่เป็นแป้ง ไขมันและโปรตีน จึงมีความเป็นไปได้ที่อาหารดิลิเวอรีจะให้พลังงานสูง กากใยน้อย ส่งผลให้เกิดการสะสมของไขมันในร่างกายมากเกินไป

Advertisement

วิธีหนึ่งที่ขอแนะนำ คือ ควรจะมีผักสดและผลไม้สดไว้ในตู้เย็นบ้าง เพื่อเสริมใส่ลงในอาหารดิลิเวอรีให้มากขึ้น และหากมีปริมาณมากพอ จะช่วยให้รู้สึกอิ่มเร็ว ส่งผลให้ร่างกายได้รับแป้งและไขมันจากอาหารดิลิเวอรีลดลงได้ นอกจากนี้ผักและผลไม้มีกากใยสูง (แน่นอนว่าย่อมไม่ใช่ มะม่วง ขนุน ละมุด มังคุด ลำไย ทุเรียน ฯลฯ) เป็นคุณต่อร่างกายในเวลาขับถ่ายด้วย

เคล็ดลับที่ขอบอกเพิ่มเติมคือ ผลไม้ที่มีรสหวานหรือหวานอมเปรี้ยว เช่น สับปะรด แอปเปิล มะเขือเทศ มะนาว (ฝานเป็นชิ้นเล็กๆ) มะม่วงสุกปากตะกร้อซอย ช่วยเพิ่มรสชาติให้อาหารคาวให้ครบรสมากขึ้นและอร่อยขึ้น …อย่ากังวลถ้าท่านจะรับประทานอาหารดิลิเวอรีในแบบฉบับของตนเอง…

ท่านอาจจะสงสัยว่า มิติทางจิต เกี่ยวข้องกับอาหารดิลิเวอรีอย่างไร จิตในที่นี้หมายถึงอารมณ์และอุณหภูมิในช่วงเวลาของการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ ด้วยการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) บางคนอาจต้องแยกตัวแม้จะอยู่กับครอบครัว บางคนต้องอยู่ลำพังหรือจำกัดการออกสังคม อาจเกิดภาวะหดหู่ ซึมเศร้าได้ ถ้ามีอารมณ์เศร้าเล็กน้อยพอเป็นสิ่งเร้าให้ได้ปรับตัว ไม่ถือว่าผิดปกติแต่อย่างใด การรับประทานอาหารดิลิเวอรี จึงควรเพิ่มสิ่งที่ช่วยให้จิตใจสดชื่น กระปรี้กระเปร่า คลายเศร้าหมองได้ เช่น น้ำผลไม้สดปั่น รสเปรี้ยวนำหวาน (หลีกเลี่ยงน้ำตาลหรืออาจใช้น้ำผึ้งแทน) ผลไม้ที่แนะนำได้แก่ กล้วย แอปเปิล สับปะรด ฝรั่ง มะนาว รวมทั้งผักสดบางชนิดที่ปั่นรวมกับผลไม้ได้ เช่น แครอต บีทรูท มะเขือเทศ ฯลฯ

จะเห็นได้ว่าเมื่อรับประทานผักและผลไม้เสริมไปกับอาหารดิลิเวอรี อาจจะเป็นน้ำผลไม้ปั่น หรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อรับประทานพร้อมอาหารย่อมก่อประโยชน์ทั้งต่อสุขภาวะทางกายและปรับอุณหภูมิให้อบอุ่น เยือกเย็น สดชื่นได้ นอกจากนี้ ขอแนะนำให้ฟังเพลงที่ชอบ (เช่น เพลงช้าๆ หวานๆ Soft Rock หรือ Bossa Nova แต่ไม่แนะนำ Hard Rock หรือ Heavy Metal เพราะอาจตื่นเต้นเกินไป) คลอไปในขณะรับประทาน จะช่วยให้เกิดสุนทรียทางอารมณ์ แม้รสชาติจะไม่อร่อยเลิศ แต่เมื่อรับประทานด้วยความผ่อนคลาย สร้างบรรยากาศให้อบอุ่น ช่วยให้อาหารธรรมดาอร่อยขึ้นจากอารมณ์สบายๆ

ผลที่ตามมาคือ จะรับประทานอาหารช้าลง (ขอแนะนำให้เคี้ยว 20-30 ครั้งต่ออาหาร 1 คำ) อาหารค่อยๆ ถูกย่อยจากเอนไซม์ Amylase ร่างกายมีกลไกจะรับรู้การย่อยนี้ ส่งผลให้อิ่มเร็วขึ้นและลดปริมาณอาหารที่รับประทานโดยไม่รู้ตัว กระเพาะจะทำงานลดลงจากอาหารที่ถูกบดเคี้ยวจนมีขนาดเล็ก สรุปได้ว่านอกจากจะสร้างความสุขใจแล้ว อวัยวะภายในระบบทางเดินอาหารพลอยมีความสุขไปด้วย รับประทานอาหารดิลิเวอรีอย่างมีความสุขเกิดขึ้นได้จริง ขอแนะนำ!!!

มิติทางสังคม เป็นสุขภาวะสุดท้ายที่นำมาเกี่ยวข้องกับอาหารดิลิเวอรี มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อาจจะทำให้ต้องห่างไกลจากเพื่อนสนิทมิตรสหาย แต่กลับเสริมแรงยึดเหนี่ยวในครอบครัวให้แข็งแรงขึ้น อาหารดิลิเวอรีมีส่วนช่วยเสริมสร้างสุขภาวะทางสังคมได้อย่างแน่นอน สุขภาวะทางสังคมในช่วงเวลาของโรคโควิด 19 เกิดจากการอยู่ร่วมกันในครอบครัว มาตรการอยู่บ้าน (Stay Home) และทำงานที่บ้าน (Work From Home) เป็นโอกาสอันดีที่สมาชิกในครอบครัวจะได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น มีเวลาที่จะสร้างเสริมสัมพันธภาพที่งดงามผ่านการรับประทานอาหารดิลิเวอรีที่เป็นจานโปรดร่วมกัน ความอบอุ่นในครอบครัวจัดว่าเป็นสุขภาวะทางสังคมที่สำคัญ….ท่านอาจเคยสั่งอาหารดิลิเวอรีที่ส่งพร้อมอุปกรณ์ประกอบอาหารเมื่อสั่งซื้อเมนูครอบครัว

วลีที่คุ้นหูว่า จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว เมื่อมีครอบครัวเป็นบริบท ในท่ามกลางอาหารดิลิเวอรีที่เป็นกระแสหลักของวิถีใหม่ (New Normal) การปฏิบัติตามที่กล่าวมาข้างต้นก่อให้เกิดสุขภาวะที่เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล ทั้ง กาย จิต และสังคม ได้

……พยาบาลขอแนะนำ!!!!……

ผช.ศ.ดร.ศรีสุดา วงศ์วิเศษกุล
คณบดี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image