ความหลากหลายทางเพศ เรื่องที่ทุกคนต้องใส่ใจ : โดย เศรษฐา ทวีสิน

ความหลากหลายทางเพศ เรื่องที่ทุกคนต้องใส่ใจ : โดย เศรษฐา ทวีสิน

ความหลากหลายทางเพศ เรื่องที่ทุกคนต้องใส่ใจ : โดย เศรษฐา ทวีสิน

ต้องยอมรับครับว่าในเวลานี้เรื่องของความหลากหลายทางเพศ เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง เพราะสังคมโลกในปัจจุบันเปิดใจและให้การยอมรับความแตกต่างและความหลากหลายของมนุษย์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านเชื้อชาติ ศาสนา อายุ โดยฉพาะอย่างยิ่งความหลากหลายทางเพศ และรสนิยมทางเพศ ซึ่งเราเองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมก็ควรที่จะทำความเข้าใจและตระหนักในการเปลี่ยนแปลงในเชิงความคิดดังกล่าว

เมื่อปีที่แล้ว ทางสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) ได้จัดทำรายงานผลการสำรวจเพื่อสอบถามประสบการณ์การถูกตีตราและเลือกปฏิบัติของผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย โดยรายงานฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจระดับประเทศเรื่องประสบการณ์การถูกตีตราของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศและทัศนคติของสังคมที่มีต่อพวกเขาที่ใหญ่ที่สุดชิ้นหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งรายงานนี้บอกว่าถึงแม้ประเทศไทยจะได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นดินแดนที่ยอมรับความแตกต่างและความหลากหลาย แต่กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ในประเทศไทยนั้นยังคงถูกจำกัดสิทธิด้วยการตีตราและการเลือกปฏิบัติ และยังไม่มีกฎหมายรองรับในสิทธิของบุคคลกลุ่มนี้ในอีกหลายๆ เรื่อง นอกจากนั้นผลการสำรวจยังแสดงให้เห็นว่าในสังคมไทยยังมีความเชื่อและทัศนคติแง่ลบต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถแสดงและพัฒนาศักยภาพของพวกเขาได้อย่างเต็มที่ในฐานะสมาชิกส่วนหนึ่งของสังคม

ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่ผมอ่านแล้วพูดไม่ออกและไม่แปลกใจเลยการที่คนกลุ่มนี้ยังไม่สามารถแสดงศักยภาพได้เต็มที่ก็คือใจความของผลสำรวจที่บอกว่า “ถึงแม้กลุ่มประชากรทั่วไปจะมีทัศนคติที่ดีต่อกลุ่มบุคคลเหล่านี้ พร้อมทั้งให้การสนับสนุนเรื่องสิทธิความเท่าเทียมและการเข้าถึงบริการต่างๆ ในสังคม แต่การยอมรับและสนับสนุนของพวกเขากลับลดลงเมื่อผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นเป็นนักเรียน บุคคลในที่ทำงาน สมาชิกในครอบครัว หรือคนรู้จักใกล้ชิด” ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง นั่นหมายความว่าแทบจะไม่เหลือคนรอบๆ ตัวที่มีความสำคัญกับพวกเขาในทุกช่วงชีวิตที่จะให้การสนับสนุนและยอมรับความหลากหลายทางเพศของเขาเลยหรือครับ

Advertisement

สถาบันครอบครัว กลุ่มสังคมที่มีความผูกพันใกล้ชิดที่สุด กลับเป็นคนรอบตัวที่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมีแนวโน้มต่ำที่จะเปิดเผยตัวตนด้วย และกลายเป็นว่าพวกเขาเลือกที่จะเปิดเผยตัวตนกับคนนอกครอบครัว (ร้อยละ 92.9) อีกทั้งยังรู้สึกได้รับการยอมรับจากสมาชิกในครอบครัวน้อยว่าคนนอกครอบครัวด้วย

สถาบันการศึกษา ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ได้ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่งให้ข้อมูลว่าเคยถูกเลือกปฏิบัติเมื่อสมัยเป็นนักเรียน เช่น ถูกสั่งให้ระมัดระวังเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกและการแสดงออกทางเพศ บางรายเคยถูกโจมตีด้วยคำพูด และถูกลวนลามทางเพศอยู่บ่อยครั้ง ในขณะเดียวกันหลักสูตรวิชาเพศศึกษาและการให้ความรู้ของครูอาจารย์ก็ยังมีช่องว่างของเนื้อหาที่ไม่ครอบคลุมถึงหัวข้อเกี่ยวกับวิถีทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศหรือลักษณะทางเพศที่หลากหลาย

เมื่อก้าวเข้าสู่ชีวิตทำงาน กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกจำกัดโอกาสทางการจ้างงานเนื่องจากการถูกตีตรา การเลือกปฏิบัติ เช่น ค่าตอบแทนที่ไม่เท่าเทียม ขั้นตอนการรับเข้าทำงานที่แตกต่าง จนกระทั่งการถูกปฏิเสธไม่ให้เลื่อนตำแหน่งเนื่องด้วยวิถีทางเพศหรือการแสดงออกทางเพศ นอกจากนี้ยังมีการถูกระรานและถูกปฏิบัติไม่ดีโดยหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานอีกด้วย

Advertisement

ทุกคนควรได้รับสิทธิในการได้รับการยอมรับตัวตนที่แท้จริงจากสังคมรอบข้าง และถ้าหากบุคคลคนนั้นไม่ได้แม้สิทธิดังกล่าวนั่นแทบเท่ากับว่าไม่เหลือองค์ประกอบพื้นฐานที่จะช่วยให้บุคคลนั้นระลึกถึงศักยภาพของตัวเค้าเองได้เลย ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเพราะนั่นเท่ากับว่าสังคมก็ขาดพลังและศักยภาพจากบุคคลเหล่านี้ในการช่วยผลักดันให้ก้าวเดินไปข้างหน้าได้ด้วยกัน

ภาคธุรกิจเองก็เป็นแรงสำคัญครับ ผมเชื่อว่าในประเทศไทยหลายองค์กรยังขาดการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียม การยอมรับ และบรรยากาศที่เอื้อต่อการแสดงออก รวมถึงการส่งเสริมบทบาท ทำให้พนักงานกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม และไม่สามารถปลดปล่อยศักยภาพของตนออกมาได้อย่างเต็มที่ โดยทางเราเองก็เพิ่งเริ่มตระหนักและพยายามทำความเข้าใจและปรับแนวทางให้สอดคล้องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผมและผู้บริหารของบริษัทได้ร่วมลงนามในข้อตกลง “มาตรฐานข้อปฏิบัติทางธุรกิจขององค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อลดการแบ่งแยก และความเหลื่อมล้ำในกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ LGBTI” ที่จะส่งเสริมการยอมรับความแตกต่างและอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม ซึ่งเกิดจากที่มีกลุ่มพนักงานในองค์กรของเราที่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ได้ทำการติดต่อกับทาง UNDP เพื่อที่จะเรียนรู้แนวทางในการปฏิบัติดังกล่าวเพื่อนำมาใช้ในองค์กร และได้รับการตอบรับอย่างดีจากจากทาง UNDP ในการให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะกับเราเป็นอย่างดี ซึ่งถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่เราเห็นพนักงานในองค์กรอยากมีส่วนร่วมผลักดันในเรื่องนี้โดยไม่รอช้า

ผมอยากชักชวนให้องค์กรภาคธุรกิจทั้งหลายหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องความเท่าเทียมนี้อย่างจริงจัง เริ่มจากผู้นำองค์กรต้องให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วม องค์กรต้องมีการกำหนดเส้นทางการเติบโตในสายงานอย่างชัดเจนและเป็นธรรมสำหรับบุคคลทุกกลุ่ม องค์กรต้องแสดงจุดยืนในการส่งเสริมความเท่าเทียมผ่านทางนโยบายและการสื่อสารอย่างชัดเจนว่ายอมรับในความแตกต่างอย่างแท้จริง รวมถึงการสร้างเครือข่ายพันธมิตรสำหรับเรื่องนี้ทั้งภายในและภายนอกองค์กรด้วย

ในฐานะของภาคธุรกิจที่มีพันธกิจทางสังคม ผมว่าถึงเวลาแล้วที่พวกเราทุกคนต้องร่วมกันจุดประกายให้ภาคส่วนอื่นๆ เห็นความสำคัญของการยอมรับความแตกต่างและอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมในสังคมไทยครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image