New Normal โฉมหน้าใหม่ของการศึกษาไทย : โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน, ดานา โมหะหมัดรักษาผล

New Normal โฉมหน้าใหม่ของการศึกษาไทย : โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน, ดานา โมหะหมัดรักษาผล

New Normal โฉมหน้าใหม่ของการศึกษาไทย : โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน, ดานา โมหะหมัดรักษาผล

ทําไมเราจึงเท หรือไหลการศึกษาให้มาอยู่กับครอบครัว ผิดบทบาทระบบโรงเรียนใช่หรือไม่? ปรัชญาการสอนออนไลน์หรือ DLTV คืออะไร? เรากำลังหลงวัตถุประสงค์ไปกับโรงเรียนที่ครูเป็นแกนหลักกระบวนการเรียนรู้ New Normal ปฏิรูปการศึกษาแนวทางเป็นอย่างไร

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นวงกว้าง นักวิจัยทั่วโลกได้คาดการณ์ไว้ว่าเราอาจต้องใช้ชีวิตในสถานการณ์เช่นนี้ต่อไปอย่างน้อย 12-18 เดือน แน่นอนว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวได้นำไปสู่สถานการณ์ที่เรียกว่า “New Normal” หรือความปกติใหม่, ฐานวิถีชีวิตใหม่ ที่ทำให้เราต้องปรับรูปแบบการดำเนินชีวิต การทำงาน การเดินทาง ไปจนถึงรูปแบบการเรียนรู้โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน

Advertisement

ข้อมูลจากการสำรวจของ UNESCO พบว่าประเทศไทยมีนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถานศึกษาเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดจำนวนกว่า 15 ล้านคน ซึ่งการปิดภาคเรียนในระยะเวลานานนั้นส่งผลให้เกิด “ปรากฏการณ์ความรู้ถดถอย (summer slide)” โดย ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้อธิบายว่าจากงานวิจัย พบว่าการที่เด็กต้องออกจากโรงเรียนประมาณ 6 สัปดาห์ อาจทำให้ความรู้หายไปถึงครึ่งปีการศึกษา โดยเฉพาะนักเรียนกลุ่มเสี่ยง ฐานะยากจน ด้อยโอกาส หรือนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นผลให้นักเรียนกลุ่มนี้มีแนวโน้มหลุดออกจากระบบการศึกษาเพิ่มมากขึ้น

เพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้สำหรับเด็กนักเรียนในช่วงปิดภาคเรียนนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ออกมาตรการจัดการเรียนการสอน 3 รูปแบบ ได้แก่ Onsite Education เป็นจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียน โดยประเมินสถานการณ์ความพร้อมและคำนึงถึงความปลอดภัยของครูและนักเรียนเป็นหลัก On-air Education เป็นการเรียนรู้ผ่านการรับชมผ่านระบบโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) และ Online Education เป็นการเรียนออนไลน์ผ่านสื่อดิจิทัลและแพลตฟอร์มต่างๆ ถึงแม้ว่าในช่วงนี้ (18 พ.ค.63-30 มิ.ย.63) จะเป็นช่วงที่โรงเรียนทดสอบระบบการเรียนที่บ้านผ่านช่องทางข้างต้น แต่ก็มีเสียงสะท้อนจากเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้ปกครองถึงความกังวลและสภาพปัญหาของการจัดการเรียนที่บ้านในหลายๆ ด้าน

Advertisement

หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สำรวจความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนต่อประเด็นความพร้อมในการเรียนออนไลน์ภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2563 จำนวน 210 คน พบว่าเยาวชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตจากแพคเกจโทรศัพท์ โดยเด็กและเยาวชนจำนวนร้อยละ 51.9 ไม่ได้รับข่าวสารในการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบ DLTV และร้อยละ 65.8 ไม่มีความพร้อมในการเรียนด้วยระบบ DLTV นอกจากนี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้สำรวจผลกระทบและความต้องการช่วยเหลือจากสถานการณ์ COVID-19 กับบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงผู้ปกครองและนักเรียนจำนวน 12,460 คน พบว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ครอบครัวมีรายได้ลดลงและในขณะเดียวกันต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอื่นรวมถึงมีภาระงานบ้านที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ไม่มีเงินสำหรับจ่ายค่าเทอมและอุปกรณ์การเรียน โดยผลการสำรวจมากกว่าร้อยละ 50 ได้ระบุความช่วยเหลือที่นักเรียนต้องการ 3 อันดับแรกคือ การสนับสนุนค่าครองชีพ ค่าของใช้ที่จำเป็น และอาหารเช้า-กลางวัน

การเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์หรือการรับชมการเรียนการสอนผ่านระบบ DLTV ไม่ใช่เรื่องใหม่ อีกทั้งมีต้นทางการผลิต รูปแบบเนื้อหาสาระ ครูผู้สอน ความสมบูรณ์ของรายการอยู่ในเกณฑ์ดีน่าสนใจ แต่ปัญหาอุปสรรคอยู่ที่ปลายทางที่เครื่องรับสัญญาณไม่พร้อม มีความแตกต่าง หลากหลาย เหลื่อมล้ำราวฟ้ากับดิน ตั้งแต่ทีวีเก่า ไม่มีกล่องหนวดกุ้ง และอื่นๆ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องมาเป็นครูทั้งที่มีภาวะรุมเร้าด้านเศรษฐกิจ ตกงาน ไม่มีรายได้ ไม่รู้จะช่วยสอน หรือกำกับ ดูแลเรื่องการเรียนของลูกตนเองอย่างไร และอาจไม่สามารถดูแลคุณภาพในการเรียนของบุตรหลานได้ดีเท่าที่ควร อาการหลุดจากการเรียนรู้จึงเกิดขึ้นตลอดเวลา กล่าวได้ว่าคุณภาพและประสิทธิภาพที่เกิดจากการสอนออนไลน์และ DLTV อาจเกิดขึ้นได้เพียงร้อยละ 60-70 เท่านั้น

บทบาทของครูและผู้บริหารสถานศึกษา จึงมีบทบาทสำคัญในการออกแบบการเรียนรู้ให้กับนักเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่สามารถจัดชั้นเรียนให้เว้นระยะห่างได้ ปรับรูปแบบกิจกรรม ออกแบบการเรียนรู้แบบบูรณาการเพื่อลดจำนวนชั่วโมงเรียนลง ใช้สื่อดิจิทัลและแพลตฟอร์มต่างๆ ในการจัดการเรียนรู้และเก็บข้อมูลนักเรียน ใช้นวัตกรรมที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่และความพร้อมของโรงเรียน ชุมชน การทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนและชุมชน โดยอาจจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community-based Learning) ซึ่งชุมชนถือเป็นต้นทุนหนึ่งที่ช่วยสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้แก่เด็กได้ การสื่อสารและสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างโรงเรียนและครอบครัวของเด็กเป็นสิ่งสำคัญ การลงสำรวจพื้นที่ ลงเยี่ยมบ้านจะช่วยให้ครูสามารถเข้าถึงเด็กได้มากขึ้น โดยอาจทำงานร่วมกันระหว่างครูกับอาสาสมัครในชุมชน (อสม.) ลงสำรวจความพร้อม ติดตาม ให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำในการดูแลและส่งเสริมการเรียนรู้แก่เด็ก การใช้แพลตฟอร์มการเรียนรู้ต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กปฐมวัยที่ต้องอาศัยกิจกรรมสำหรับการส่งเสริมตามพัฒนาการ มองกลับกัน โรงเรียนขนาดใหญ่ที่แออัด ผู้ปกครองส่งลูกมาเรียนในเมืองอาจคิดใหม่ กลับมาเรียนใกล้บ้าน กระจายทรัพยากร ครูลงสู่โรงเรียนขนาดเล็กที่มีระยะห่างเพราะจำนวนเด็กมีไม่มากอยู่แล้วก็เป็นได้

การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองเป็นสิ่งสำคัญในระยะเปลี่ยนผ่านนี้ ไม่ใช่ผู้ปกครองทุกคนจะมีความพร้อมในการเสริมหรือให้ความรู้แก่บุตรหลานของตนเอง แต่สิ่งที่ทำได้คือการใช้เวลาอย่างมีคุณภาพร่วมกันระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก เป็นโอกาสในการฝึกพัฒนาทักษะชีวิต (soft skill) มากกว่าพัฒนาความรู้เชิงเนื้อหา เช่น ทักษะการดูแลตนเอง สุขภาพ อนามัย งานบ้าน ไปจนถึงการพัฒนาทักษะการอ่านเขียนผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว เช่น การอ่านนิทานก่อนนอน แต่ในขณะเดียวกันครอบครัวที่มีฐานะยากจน ด้อยโอกาสหรือผู้ปกครองต้องออกไปทำงานนอกบ้าน คนในชุมชนหรือครูจะต้องเข้ามามีบทบาทช่วยเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็กมากขึ้น หน่วยงานท้องถิ่นอาจเข้ามาช่วยสนับสนุนทั้งด้านอุปกรณ์และงบประมาณตามความจำเป็น เพราะถึงแม้ว่าหน่วยงานส่วนกลางจะเตรียมแพลตฟอร์มต่างๆ ไปจนถึงเอกสารประกอบการเรียนรู้ ใบงาน ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ไว้ แต่หากเด็ก เยาวชน และผู้ปกครองไม่สามารถเข้าถึงได้ ก็จะทำให้เด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้ไปอย่างน่าเสียดาย

การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กนักเรียนในสถานการณ์เช่นนี้อาจนำเราไปสู่การพัฒนาเป็นนวัตกรรมเฉพาะในแต่ละพื้นที่ เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี (well-being) เสริมพลังให้กับครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่นให้มีศักยภาพในการจัดการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปรับวิธีคิด มุมมองของคนที่ทำงานด้านเด็กและการศึกษา ให้กว้างและยืดหยุ่นเพียงพอที่จะเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ในวิถีฐานชีวิตใหม่อย่างน้อย 2-3 ปีต่อจากนี้ ครูต้องออกโรงเรียนลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเด็กถี่ขึ้น กระบวนการเรียนรู้จะผสมผสานทั้ง 3 ระบบ การเรียนรู้ในห้องเรียน ชุมชน และบ้านจะหลากหลายสนุกสนานยิ่งขึ้น เทคโนโลยีจะยิ่งมีบทบาทมากขึ้น หลักสูตรการศึกษาเน้นทักษะสมรรถภาพ การลงมือปฏิบัติมากกว่าเนื้อหา การท่องจำ ปรับบทบาทและให้อำนาจกับโรงเรียนเป็นนิติบุคคล โรงเรียนมีอิสระในการตัดสินใจและจังหวัดสามารถจัดการตนเองได้ ต่อไปกระทรวงศึกษาจะเล็กลงหรือถูกลดบทบาทลงไปในที่สุด

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน
ดานา โมหะหมัดรักษาผล
หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image