โควิดกับการเปลี่ยนแปลง : โดย โคทม อารียา

วิกฤตโควิดชวนให้คิดเรื่องการเปลี่ยนแปลง บางคนคิดว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เราเพียงแต่ใช้ชีวิตให้ดีก็แล้วกัน บางคนคิดว่ามนุษย์มีสารัตถะสำคัญ มีอุปนิสัย มีวัฒนธรรม ซึ่งไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง ดังนั้น เมื่อสามารถป้องกันโรคโควิดได้บ้างแล้ว เราก็จะกลับไปเหมือนเดิม บางคนคิดว่าโควิดเป็นโอกาส โอกาสที่จะเรียนรู้และเปลี่ยนแปลง ด้วยทัศนคติที่จะทำในสิ่งที่ดีกว่าในอนาคต

ท่านพุทธทาสสอนเราอย่างน่าฟังยิ่งในหลาย ๆ เรื่อง เพื่อนมักส่งคำสอนดี ๆ ในรูปของโพสเตอร์มาทาง Line เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อนส่งคำเตือนสติของท่านพุทธทาสมาทาง Line ว่า “อย่าไปบ้ากับชีวิตให้มาก เพราะมันเป็นสิ่งสมมุติ เพราะชีวิตมันไม่มีจริง มันเป็นเพียง “การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ” จงทำหน้าที่ให้ดี โดยไม่มีความทุกข์ ให้สงบ เย็นและเป็นประโยชน์ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเราต้องคืนให้ “กลับสู่ธรรมชาติ” ดังเดิม แม้แต่ร่างกายที่เราเฝ้าดูแลก็ตาม” อย่างไรก็ดี มีคำสอนทางพุทธศาสนาว่า การเกิดเป็นมนุษย์เป็นโอกาสอันประเสริฐ ที่เหนือล้ำกว่าเทวดาเสียอีก เพราะมนุษย์สามารถปฏิบัติธรรมจนหลุดพ้น หรือบรรลุธรรมเพื่อมีไมตรีช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง โควิดเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นความทุกข์ชนิดหนึ่งและเป็นโอกาสในการฝึกให้มีไมตรีแก่ตนเองและผู้อื่น

ศุภชัย พานิชภักดิ์พูดชัดถ้อยชัดคำว่า “สำหรับผม ไม่มี new normal” ในขณะนี้ มีการพูดกันมากถึงความปกติใหม่ วิกฤตโควิดเป็นความผิดปกติ วิถีชีวิตและพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในช่วงนี้ แต่หวังว่าอีกไม่ช้าไม่นาน โรคระบาดนี้จะซาไป ด้วยเหตุแห่งการอ่อนแรงของไวรัส หรือเป็นเพราะเราเกิดมีภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้น หรือมีภูมิคุ้มกันจากวัคซีนก็ตามแต่ ในช่วงนั้น วิถีชีวิตจะเป็นอย่างไร ศุภชัยเชื่อว่าจะกลับมาเหมือนเดิมก่อนวิกฤต กลับมาเป็น old normal นั่นเอง เหตุผลก็คือมนุษย์เป็นสัตว์สังคม จะกลับไปคบค้าสมาคมกันเหมือนเดิม การรักษาระยะห่างทางสังคมย่อมไม่จำเป็นเพราะยับยั้งโรคระบาดได้แล้ว ชาวตะวันตกจะกลับไปจับมือถือแขน โอบกอดเพื่อแสดงความสนิทสนมเมื่อพบปะกันเหมือนเดิม คนไทยจะลืมเรื่อง “กินร้อน ช้อนกลาง (หรือช้อนกู)” และจะสรวลเสเฮฮากันเหมือนเดิม เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลกในปี ค.ศ. 2007-2008 ที่เรียกกันว่าวิกฤต subprime ที่ธนาคารปล่อยกู้คุณภาพต่ำ และมีการปั่นหุ้นอนุพันธ์จนเกินจริง ช่วงนั้นก็พูดกันมากว่าจะต้องมีการออกระเบียบมิให้ธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์เอาเปรียบประชาชน โดยในที่สุดรัฐต้องมาช่วยธนาคารและบริษัทเหล่านั้นโดยใช้เงินภาษี ส่วนที่บริษัทโกยกำไรไปก่อนหน้านั้นถือเป็นกำไรส่วนบุคคล แต่พอขาดทุนถือเป็นภาระสังคม พูดกันไปพูดกันมา แล้ว 12 ก็ปีผ่านไปโดยไม่มีระเบียบการเงินใหม่ ทุกอย่างเหมือนเดิม เช่นเดียวกับเรื่องภาวะโลกร้อน พูดกันมาหลายสิบปี ในองค์การสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศ แล้วประเทศน้อยใหญ่ก็ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหมือนเดิม ศุภชัยอธิบายว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะมนุษย์ไม่มีเหตุผล มนุษย์มักเข้าข้างตนเอง เข้าข้างเพื่อนฝูง อันที่จริงโลกต้องเปลี่ยนแปลง แต่เปลี่ยนแปลงยาก ปัญหาสำคัญคือโลกจะหาอาหารที่ไหนมาเลี้ยงคน 7,000 ถึง 8,000 ล้านคน มนุษย์เลยคิดกินสัตว์ป่า สัตว์ป่าเลยเข้าเมือง มาอยู่กับสัตว์ที่เราเลี้ยง สัตว์ที่อันตรายคือค้างคาวที่มีไวรัสอยู่หลายสายพันธุ์ ดังนั้น มนุษย์จำเป็นต้องมีชุดความคิดใหม่ เรามัวแต่วิตกเรื่อง GDP ว่าจะติดลบเท่านั้นเท่านี้เปอร์เซ็นต์ อันที่จริง ติดลบ 5 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ถึงตาย เราเคยติดลบเช่นนี้มาแล้ว แต่ติดโควิดซิ ถึงตาย

ผมนิยมชมชอบและเลื่อมใสพระไพศาล วิสาโล ครั้งหนึ่งท่านเทศน์ว่ามนุษย์มีความต้องการทางกาย และทางใจ ทางกายถือปัจจัย 4 เป็นหลัก ในทางใจทุกคนต้องการความสุข เมื่อโควิดบุก เราขาดปัจจัยที่สำคัญคือยาป้องกันและยารักษาโรค ผลกระทบทางใจคือความหวาดกลัว พระไพศาลเสนอคาถาว่าเราจะต้องไม่ประมาท เมื่อหลายปีก่อน เรามักได้ยินพูดกันว่า โรคติดเชื้อเราเอาอยู่แล้ว เรามียาปฏิชีวนะที่ดี มียาต้านไวรัสหลายตัวที่ใช้ได้ผล เช่น ใช้ต้านไวรัส HIV-AIDS ได้ ที่ต้องกลัวต่อไปนี้คือโรคไม่ติดต่อ เช่น มะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ฯลฯ โควิดชี้ให้เห็นว่าเราประมาทต่อโรคติดเชื้อ พอเกิดการระบาดก็รับมือได้ยาก ท่านจึงเสนอคาถาว่าต้องไม่ประมาท และมีชุดความคิดใหม่ว่าเชื้อโรคและไวรัสจะอยู่คู่มนุษย์ชั่วกัลปาวสาน เชื้อโรคเป็นเหมือนความทุกข์ จะอยู่คู่มนุษย์เป็นธรรมดา ในร่างกายเรามีเชื้อจุลินทรีย์มากมาย หลายตัวเป็นประโยชน์ แต่ด้วยความไม่รู้ เรานิยมฆ่าจุลินทรีย์ด้วยยาปฏิชีวนะ แล้วพลอยฆ่าตัวที่เป็นประโยชน์ไปด้วย ส่วนตัวที่ต้องการฆ่ากลับไปช่วยให้มันกลายพันธุ์ ทำให้ฆ่ายากขึ้นไปอีก จากการวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า การขาดจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในกระเพาะจะกระทบถึงระบบประสาท ในทางกลับกัน หากปลูกถ่ายจุลินทรีย์หรือให้กินจุลินทรีย์เหล่านี้ อาจช่วยฟื้นฟูเด็กที่เป็น autistic ได้บ้าง ในทางกายภาพ หากจะสู้กับโควิด จะต้องใช้ความรู้ในการกำหนดมาตรการ ในทางจิตใจ หากจะสู้โควิด ต้องสร้างภูมิคุ้มใจ ภูมิคุ้มใจหมายถึงจิตที่ผ่อนคลายและอ่อนโยน พระไพศาลเล่าถึงเพื่อนที่เป็นมะเร็งคนหนึ่ง ตอนแรกใช้เคมีบำบัดก็นึกว่าหาย แต่สักพักโรคกลับมากำเริบ หมอบอกว่ามีเวลา 2 ปี ท้อแท้แล้วทำใจ หันไปทำงานจิดอาสา ภูมิคุ้มใจดีขึ้น ภูมิคุ้มกายก็ดีไปด้วย เลยหายจากโรค คำกุญแจในการสร้างภูมิคุ้มใจคือสติ สติเป็นเหมือนผู้เฝ้าประตูเมืองจิตตนคร ไม่ให้เชื้อโรคทางใจเข้าไปได้ การที่เราจะติดหรือไม่ติดเชื้อโควิด อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องกรรมในอดีตชาติ ถ้าจะพูดถึงกรรมก็เป็นพฤติกรรมในปัจจุบันชาติมากกว่า ซึ่งต้องควบคุมให้ดีโดยไม่ประมาท แล้วยังมีเหตุปัจจัยอื่น ๆ เช่นเชื้อบางตัวระบาดง่ายและมีฤทธิ์รุนแรง ปัจจัยทางดินฟ้าอากาศและทางจิตใจก็มีความสำคัญ พระไพศาลชี้ว่า โควิดไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวเชื้อโควิด…จนขาดสติ ทำให้โรคเห็นแก่ตัวกำเริบ เราควรช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกันให้มาก เพื่อลดความกลัวและช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้แก่กัน

Advertisement

พระไพศาลพูดถึงข้อดี 3 ประการของโควิด คือ โควิดเป็น 1) โอกาสเรียนรู้ที่จะยอมรับความจริงว่า โรคติดเชื้อจะอยู่คู่มนุษย์ไปตลอด เป็นแต่จะมาในรูปแบบไหนเท่านั้น การพัฒนาความรู้จะช่วยให้รับมือกับโรคและบรรเทาผลกระทบลงได้ 2) โอกาสฝึกฝนเจริญสติ เช่น ฝึกมีพฤติกรรมใหม่ ลดการเอามือแตะใบหน้า และหมั่นล้างมือ อานิสงส์ประการหนึ่งของการมีสติคือลดการทะเลาะเบาะแว้งลง 3) โอกาสแสดงความเอื้อเฟื้อให้แก่กัน

จะมีหรือไม่มีโควิด โลกจะเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ระเบียบโลกกำลังจะเปลี่ยนไป ประเทศหรือกลุ่มประเทศมหาอำนาจที่จะแข่งขันกันหลังยุคโควิด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา – สหภาพยุโรป – จีน – อินเดีย พวกเขาจะร่วมมือกันประกอบสร้างระเบียบโลกใหม่ หรือจะปล่อยให้เลื่อนไหลสู่การไม่มีระเบียบโลก ก็ยังไม่ทราบ อาเซียนมีประชากรประมาณ 600 ล้านคน จะไม่มีบทบาทมากนัก หวังได้แต่จะประคับประคองตัวในท่ามกลางความ “ปกติใหม่” หรือถ้าจะให้ดี อาเซียนก็ค่อย ๆ สร้างการยอมรับ ในฐานะ Zone of Peace, Freedom and Neutrality (ZOPFAN) ซึ่งหมายรวมถึงการเป็นเขตที่เชื่อมโยงในด้านการค้าและการทูตกับทุกประเทศ โดยเฉพาะกับมหาอำนาจที่ไม่ควรดึงอาเซียนเข้าสู่สงครามตัวแทน แม้จะเป็นสงครามเย็นก็ตาม

สำหรับประเทศไทย ศึกหนักทางเศรษฐกิจกำลังมา การไม่ยึดติดกับ GDP เป็นเรื่องดี แต่การหาแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ นอกเหนือจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่มีความไม่แน่นอนสูงก็เป็นเรื่องสำคัญ และรัฐบาลควรดำเนินนโยบายไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างต่อเนื่องต่อไป การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา ความไม่ประมาทคือการเตรียมตัวให้การเปลี่ยนแปลงหมายถึงการพัฒนาทั้งทางกายภาพและทางจิตใจ เพื่อประโยชน์สุขของทุกคน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image