ว่าด้วยภาษา การเหยียดเชื้อชาติ และความเกลียดกลัวชาวมุสลิมในพม่า : โดย ลลิตา หาญวงษ์

ว่าด้วยภาษา การเหยียดเชื้อชาติ และความเกลียดกลัวชาวมุสลิมในพม่า : โดย ลลิตา หาญวงษ์
(ภาพจาก Tha Malaysian Times)

ว่าด้วยภาษา การเหยียดเชื้อชาติ และความเกลียดกลัวชาวมุสลิมในพม่า : โดย ลลิตา หาญวงษ์

คำบางคำอาจมีความหมายอย่างหนึ่งในยุคหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป คำนั้นอาจมีทั้งความหมายตรงและความหมายแฝงที่ต่างออกไป ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคม และในท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ที่ทำให้ผู้คนด่าทอโจมตีกันด้วยถ้อยคำที่คิดว่าจะสร้างความอึดอัดใจแก่อีกฝั่งหนึ่งได้มากที่สุด ภาษาหรือคำที่ถูกงัดขึ้นมาใช้ยังอาจแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของ “เรา” และความเป็นอื่นของ “เขา”

ในพม่า ปมความขัดแย้งทางสังคม-การเมืองล้วนมาจากอคติทางเชื้อชาติ โดยเฉพาะระหว่างชาวพุทธพม่า กับชาวมุสลิม ชาวมุสลิมในพม่ามีหลากหลายกลุ่ม แต่ผู้เขียนมองว่าสิ่งที่ทำให้ชาวมุสลิมกลุ่มหนึ่งแตกต่างจากอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องของศาสนา หรือภาษา แต่กลับเป็นเรื่องของรูปร่างหน้าตา สีผิว และภูมิหลังของชาวมุสลิมกลุ่มนั้นๆ มากกว่า กล่าวโดยย่อ ไม่ใช่ชาวมุสลิมทุกกลุ่มที่เป็นเป้าการโจมตี แน่นอน ชาวมุสลิมที่ถูกเพ่งเล็งและเป็นเป้าของความเกลียดชังมาโดยตลอดคือชาวโรฮีนจา กลุ่มชาติพันธุ์ที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ตอนเหนือ แต่ในสังคมแบบพม่าที่ยังคงมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์โดยเฉพาะในเขตเมือง ยังมีชาวมุสลิม “หน้าแขกๆ” อีกจำนวนหนึ่ง ที่ก็ตกเป็นเป้าโจมตี หลังวิกฤตการณ์โรฮีนจาปะทุขึ้นมาตั้งแต่ปี 2012

ในท่ามกลางวิกฤตนี้ คำคำหนึ่งที่เห็นและได้ยินบ่อยที่สุด คือคำว่า “กะลาร์” (kalar) ซึ่งอาจแปลแบบหยาบๆ เป็นภาษาไทยว่า “แขก” (เแขกขายผ้า แขกขายโรตี ฯลฯ) แต่ในภาษาไทย คำว่า “แขก” เป็นคำกลางๆ ที่ไม่เคยถูกหยิบมาใช้เพื่อโจมตีชาวไทยที่สืบเชื้อสายมาจากประเทศในกลุ่มเอเชียใต้หรือตะวันออกกลาง และไม่ได้เป็นคำที่มีนัยหยาบและดูหมิ่นดูแคลน หากจะเปรียบคำว่า “กะลาร์” กับคำสแลงที่ใช้บ่งบอกเชื้อชาติหรือวัฒนธรรม อาจใกล้เคียงกับคำว่า “เจ๊ก” ที่ซ่อนน้ำเสียงดูถูกดูแคลนทางเชื้อชาติไว้ แต่ในบริบทความขัดแย้งด้านเชื้อชาติและศาสนาในพม่ายุคปัจจุบัน “กะลาร์” เป็นคำที่ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์มากมาย และกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายที่เกลียดชังชาวมุสลิมเพื่อโจมตี “คนหน้าตาแขก” ทุกคน โดยเฉพาะชาวโรฮีนจา

Advertisement

ขิ่น ซอ วิน (Khin Zaw Win) อาจารย์และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและสันติภาพ และผู้อำนวยการสถาบันตัมปะดีปะ (Tampadipa Institute) เป็นชาวพม่าส่วนน้อยที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวโรฮีนจาและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในพม่า ขิ่น ซอ วินโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนว่า “Don’t call me Kalar” หรือ “อย่าเรียกผมว่ากะลาร์” หลังจากที่ในช่วงหลังมานี้ คำว่า “กะลาร์” ถูกนำมาใช้มากขึ้นเพื่อบูลลี่ “คนหน้าตาแขกๆ” ไม่ว่าพวกเขาจะนับถือศาสนาฮินดู ซิกข์ หรืออิสลาม

คำว่า “กะลาร์” มีใช้มาตั้งแต่อดีต จากที่ผู้เขียนเคยอ่านเอกสารในยุคอาณานิคมมา ก็สังเกตว่ามีคำว่า “กะลาร์” ปรากฏอยู่ในเอกสารทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการมานับร้อยปีแล้ว ผู้ที่สืบเชื้อสายจากอนุทวีปหรือตะวันออกกลางในยุคอาณานิคมก็เรียกตนเองว่าเป็น “กะลาร์ ลูเมี้ยว” (kalar lumyo) หรือผู้ที่มีเชื้อชาติกะลาร์มาตั้งแต่ต้น ในชีวิตประจำวัน คำว่า “กะลาร์” ยังไปปรากฏในคำภาษาพม่าด้วย เช่น “กะลาร์ ทาย” (kalar htine) ที่แปลว่าเก้าอี้ (คนพม่าแต่ก่อนนิยมนั่งพื้น เก้าอี้จึงเป็นของใหม่ที่เพิ่งเข้ามา คำว่า “กะลาร์” ในที่นี้จึงมีความหมายว่าเป็นของจากต่างถิ่น หรืออาจถูกนำเข้าไปในพม่าเป็นครั้งแรกจากอินเดีย) หรือคำว่า “กะลาร์ เพ” ที่แปลว่าถั่วลูกไก่ (chickpeas) ซึ่งเป็นอาหารหลักในสำรับของชาวเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง ไปจนถึงเอเชียไมเนอร์ หรือ “ติ๊ด กะลาร์ โอ้ก” (thit kala ote) ที่แปลว่ายีราฟ

ในโลกที่ให้ความสำคัญกับความถูกต้องทางการเมือง (political correctness หรือ PC) ในปัจจุบัน ผู้คนทั่วโลกระมัดระวังการใช้ภาษามากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แม้แต่เฟซบุ๊กพม่าเองก็ออกมาประกาศให้คำว่า “กะลาร์” เป็นส่วนหนึ่งของเฮทสปีชมาตั้งแต่ 2017 แต่คำว่า “กะลาร์” ก็ยังปรากฏในปริมณฑลสาธารณะทั่วทุกแห่งในพม่า สาเหตุที่ทำให้การบูลลี่ผ่านภาษาในลักษณะนี้ยังเกิดขึ้น แม้เราจะเข้าสู่ทศวรรษ 2020 แล้ว อาจมีที่มาจาก 2 แหล่ง ส่วนแรกคือประสบการณ์ตั้งแต่ในยุคอาณานิคม ที่มีผู้อพยพจากเอเชียใต้เข้าไปทำงานในพม่าหลายล้านคน คนพม่าจึงมองว่า “แขก” เข้าไปแย่งงานของตน อีกทั้งอังกฤษก็ชื่นชอบศักยภาพของชาวเอเชียใต้ ที่ไม่เกี่ยงงาน และไม่หนีงาน ต่างจากแรงงานพม่าที่มีเรื่องชกต่อยกันเป็นประจำ และพร้อมทิ้งงานทันทีเมื่อพบงานใหม่ที่ดีกว่า ทัศนคติด้านลบที่สั่งสมมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนี้นำไปสู่ความขัดแย้งทางเชื้อชาติหลายครั้ง นอกจากนี้ ชาวพุทธพม่ายังมองว่าชาวมุสลิม “จงใจ” ทำลายศาสนาของตน เมื่อผู้ชายมุสลิมแต่งงานกับผู้หญิงพุทธพม่า การเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม และการส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมภายใต้ระบอบอาณานิคมแบบอังกฤษ ทำให้คนพม่าเก็บความเกลียดชัง “กะลาร์” มาจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อมีความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ คำว่า “กาลาร์” ก็จะถูกนำขึ้นมาด่าทอชาวมุสลิมในพม่า เหมือนเป็นวงจรอุบาทว์ ที่ทำให้ความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนายังดำรงอยู่ และไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ

Advertisement

อีกปัจจัยหนึ่งที่สืบเนื่องมาจากปัจจัยแรกคือนับตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชในปี 1948 รัฐบาลที่เข้ามามีอำนาจทุกชุดล้วนใช้อำนาจในแบบของตนเองเพื่อขับเน้นความสำคัญของชาวพุทธและกองทัพ กระบวนการเหล่านี้ได้ผลักชนกลุ่มน้อยอื่นๆ หรือคนที่มีความคิดต่างทางการเมืองไปเป็นคนชายขอบ คนเหล่านี้ล้วนเผชิญชะตากรรมคล้ายๆ กันในสังคมค่อนข้างปิดแบบพม่า ที่ผู้คนส่วนใหญ่มีความคิดไปในแนวทางอนุรักษนิยมเชิงเดี่ยว เชิดชูชาติ ศาสนา และตัวบุคคล มากกว่าการให้ความสนใจด้านสิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมกันในสังคม คำว่า “กะลาร์” เป็นเพียงมาตรการคว่ำบาตรทางสังคมที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าประสบความสำเร็จ และสังคมสามารถขับคนอื่นๆ ให้เป็นบุคคลชายขอบได้จริง คงได้แต่หวังว่าในอนาคตเมื่อคนรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นเรี่ยวแรงหลักขับเคลื่อนประเทศ พวกเขาจะช่วยประสานรอยร้าวทางเชื้อชาติ และไม่เชื่อวาทกรรมของนักชาตินิยมที่หล่อหลอมให้สังคมพม่าเป็นสังคมกึ่งปิดกึ่งเปิด ที่ยอมรับในความแตกต่างทางวัฒนธรรมและศาสนาได้น้อยกว่าสังคมอื่นๆ

อ่านรายงานว่าด้วยเฟซบุ๊ก เฮทสปีชในพม่า กับการใช้คำว่า “กะลาร์” ได้ในรายงานขนาดยาวของสำนักข่าวรอยเตอร์ส ที่ https://www.reuters.com/investigates/special-report/myanmar-facebook-hate/

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image