เทกระจาดเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านอย่างไร : โดย ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม

เทกระจาดเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านอย่างไร : โดย ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม

เทกระจาดเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านอย่างไร : โดย ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม

การแห่เสนอโครงการของหน่วยงานทั้งระดับกระทรวงและระดับจังหวัดต่างๆ เพื่อขอใช้เงินกู้ 400,000 ล้านบาท ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมนั้น พบว่ามีข้อเสนอโครงการเข้ามาที่สภาพัฒน์ จำนวนมากถึง 28,425 โครงการ รวมวงเงินที่เสนอมากกว่า 600,000 ล้านบาท ซึ่งเกินกรอบวงเงินที่วางไว้มาก ยิ่งไปกว่านั้นหน่วยงานกระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพียงหน่วยเดียว เสนอขอเงินถึง 50,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ การกระจายการเสนอโครงการและงบประมาณในแต่ละแผนงาน ก็มีความแตกต่าง เหลื่อมล้ำกันอย่างชัดเจน ทั้งจำนวนโครงการและวงเงินในแต่ละแผน เป็นต้นว่า โครงการเสนอของบพัฒนาภาคเกษตรมูลค่าเพิ่มและท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ จำนวน 91 โครงการ เป็นเงิน 220,000 ล้านบาท โครงการเสนอของบด้านเศรษฐกิจฐานราก ที่เสนอจากหน่วยงานและจังหวัด จำนวน 28,331 โครงการ เป็นเงิน 372,200 ล้านบาท โครงการเสนอจากส่วนราชการ 13 กระทรวง 4 หน่วยงาน ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี 115 โครงการ เป็นเงิน 168,000 ล้านบาท

และโครงการการเสนอขอกระตุ้นบริโภคเอกชน ซึ่งจำนวนวงเงินและโครงการยังไม่ชัดเจนอีกจำนวนหนึ่ง

Advertisement

เมื่อพิจารณาโครงการที่เสนอขอ จะเห็นว่าไม่สามารถครอบคลุมในรายละเอียดถึงประเด็นสำคัญๆ ของแต่ละแผนงานที่กำหนดไว้ ทั้งนี้เพราะการให้หน่วยงานและจังหวัด รวมทั้งหน่วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ต่างหน่วยต่างเสนอในเวลาอันจำกัด ซึ่งขาดการบูรณาการกับการจัดทำโครงการโดยไม่รู้กรอบวงเงินและจำนวนโครงการนั้น จะก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการทำอย่างไรให้โครงการหรือกิจกรรม สามารถครอบคลุมทุกแผนงาน ทุกมิติ และจะทำอย่างไรให้มีการกระจายไปยังพื้นที่จังหวัดพื้นที่ท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งกระจายไปยังหน่วยงานกระทรวงต่างๆ อย่างเป็นธรรม และไม่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

ที่สำคัญ คณะกรรมการกลั่นกรองและใช้เงินกู้จะพิจารณาคัดเลือกโครงการให้แต่ละหน่วยงานอย่างไร เพื่อจะให้ตอบโจทย์แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเป็นธรรม และมีสัดส่วนที่เหมาะสมอย่างไรเช่นกัน นอกจากนี้ สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นต้องระมัดระวังโครงการอาจจะกระจุกตัวอยู่ที่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งหรือจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งมากเกินไป ซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองจะต้องอธิบายในการคัดเลือกโครงการต่างๆ ให้ได้อย่างโปร่งใส เป็นธรรม

โดยเฉพาะการระมัดระวังที่แต่ละหน่วยอาจจะมีการวิ่งเต้นหรือใช้กำลังภายในการก้าวก่ายเพื่อขอโครงการ

Advertisement

ผมเข้าใจว่าเป็นวิธีคิดแบบเดิมๆ ที่ทำกันมาเป็น 40-50 ปี ที่ให้หน่วยราชการทั้งระดับกรม กระทรวง และระดับจังหวัด เสนอโครงการของบประมาณรัฐบาล ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง โดยเม็ดเงินยังกุมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางและรัฐบาล และฝากความหวังไว้ที่คณะกรรมการกลั่นกรองเพื่ออนุมัติการใช้เงินในโครงการต่างๆ เราจึงไม่แปลกใจนักที่หน่วยงานและจังหวัดเสนอโครงการที่เป็นความต้องการมามากถึงเกือบ 30,000 โครงการ ส่วนอำนาจการตัดสินใจจึงเป็นเรื่องของส่วนกลางโดยแท้ และแน่นอนที่สุดว่าเม็ดเงินจำนวน 400,000 ล้านบาท ก็จะถูกกระจายเป็นเบี้ยหัวแตก แบบหน่วยงานใครหน่วยงานมัน ซึ่งจะทำให้ขาดการบูรณาการเชื่อมโยงซึ่งกันและกันระหว่างแผนงานต่างๆ อย่างที่คาดหวัง

ผมจึงเห็นว่าวิธีการแบบนี้หน่วยงานระดับกรม กระทรวง และจังหวัด ก็เป็นเพียงให้เป็นผู้ทำโครงการเรียกงบประมาณ และจัดทำโครงการให้เสร็จๆ ไป ของแต่ละหน่วย เมื่อพิจารณาผลลัพธ์แล้วประชาชนจะได้อะไร จะคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ทุ่มลงไปเพื่อกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างแท้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะเป้าหมายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน กับกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดการจ้างงานและสร้างอาชีพ และสิ่งที่หวังจะให้เกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานจะทำได้อย่างไร

ผมจึงเป็นห่วงว่าคณะกรรมการกลั่นกรอง จะคัดเลือกโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมายได้อย่างไร แม้ว่าจะมีหลักเกณฑ์กำหนดไว้ในการเสนอโครงการหลายประการก็ตาม ดังเช่น เป็นโครงการเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการชุมชน พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น ซึ่งหลักเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้จะไปเกี่ยวข้องกับกรอบวงเงินที่จะอนุมัติอย่างไรที่จะก่อให้เกิดความสมดุล

และเข้าใจว่าภายหลังจากการพิจารณาโครงการและอนุมัติเงินให้หน่วยงานและจังหวัดต่างๆ แล้ว ก็จะเกิดคำถามและปัญหาต่างๆ ตามมามากมายอย่างแน่นอน

ความจริงผมเคยเสนอเม็ดเงิน 400,000 ล้านบาท ควรกระจายอำนาจไปยังจังหวัด ท้องถิ่น (อปท.) และกลุ่มต่างๆ โดยตรง ซึ่งสามารถจัดสรรเม็ดเงินให้แต่ละจังหวัดโดยตรง จัดสรรให้ท้องถิ่นโดยตรง และวางกรอบการดำเนินงานให้เป็นไปเพื่อฟื้นฟู กระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดและท้องถิ่นของตนเอง ก็จะทำให้แต่ละจังหวัดและท้องถิ่นต้องวางแผนวางยุทธศาสตร์เพื่อร่วมคิดร่วมทำอย่างบูรณาการที่จะจัดทำโครงการเพื่อตอบโจทย์การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างสร้างสรรค์และก่อให้เกิดนวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ ได้ ทั้งในแง่นวัตกรรมท่องเที่ยว และการให้บริการ นวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าทางด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม นวัตกรรมพัฒนาวิสาหกิจชุมชนด้านต่างๆ เป็นต้น เพราะปล่อยให้แต่ละจังหวัด แต่ละท้องถิ่นจะแข่งขันกันในตัวของมันเอง โดยให้หน่วยงานในระดับส่วนกลาง มหาวิทยาลัย และสภาพัฒน์ เป็นผู้ติดตามประเมินผลและตรวจสอบ

ความกังวลในการพิจารณาเงินกู้ 400,000 ล้านบาทนี้ จะได้ถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในโครงการต่างๆ ของแต่ละหน่วยงานอย่างไร เพื่อกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ตรงตามเป้าหมาย มิใช่ว่าพิจารณาโครงการและอนุมัติเม็ดเงินไปแล้ว เสมือนหนึ่งว่า เป็นการแจกงบแบบเทกระจาดŽ ให้หน่วยงานทุกระดับ เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ยั่งยืน

ไม่สามารถที่จะเชื่อมโยงบูรณาการที่ทำให้เกิดความต่อเนื่อง ทั้งการสร้างงาน สร้างอาชีพ ทั้งเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และภาคธุรกิจ ให้ฟื้นฟูได้อย่างเข้มแข็งในอนาคต

ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image