เมื่อโลกเปลี่ยน คนต้องปรับทั้งภายในตนและปรับความสัมพันธ์ : โดย โคทม อารียา

เพื่อนส่งลิงค์ต่อไปนี้มาให้ https://drive.google.com/file/d/1AmaGwWGnLV6aS2AM7RCRX5bixKANLQN4/view พอเปิดดูรู้สึกดีใจเหมือนได้ของขวัญ เป็นหนังสือ e-book ของสุวิทย์ เมษินทรีย์ ชื่อหลักไม่ยาว คือ “โลกเปลี่ยน คนปรับ” แต่มีหลายชื่อรองที่เป็นเหมือนวลีสรุปเนื้อหาดังนี้ “หลุดจากกับดัก ขยับสู่ความยั่งยืน … ความพอเพียงในโลกหลังโควิด … เตรียมคนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในโลกหลังโควิด” ผู้เขียนเป็นรัฐมนตรี น่าทึ่งมากที่มีเวลามาเขียนผลงานที่ทันกาลและมีเนื้อหาสาระที่ลึกและกว้างได้ถึงขนาดนี้ ขอแสดงความชื่นชมครับ

ผู้เขียนมีกุศลเจตนา คงอยากให้มีคนอ่านหนังสือเล่มนี้เป็นจำนวนมาก จึงให้ดาวน์โหลดได้ฟรี หากมีคนอ่านและช่วยกันออกความคิดเห็น ความคิดในหนังสือน่าจะต่อยอดออกไป จนอาจกลายเป็นวาทกรรมที่ทรงพลังและสร้างสรรค์ ซึ่งพลังทางสังคมเช่นนี้ จะขาดเสียมิได้ หากหวังให้คนปรับเปลี่ยนสู่กระบวนทัศน์ใหม่หลังโควิด ในบทความนี้ ขอสรุปประเด็นบางประเด็นของหนังสือเล่มนี้ รวมทั้งแสดงความเห็นเสริมในบางประเด็น

หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็น 4 บท บทแรกคือ “ความพอเพียงหลังโลกโควิด” บทนี้กล่าวถึง 7 รอยปริ และ 7 ขยับ รอยปริหมายถึงปัญหา การขยับน่าจะหมายถึงการขยับเลื่อน (shift) เพื่อก้าวพ้นปัญหา ผู้เขียนให้ความสนใจต่อปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นพิเศษ แต่ผมไม่ค่อยรู้เรื่องเศรษฐกิจ เลยขอเน้นเฉพาะรอยปริที่ 1 กับที่ 7 ซึ่งกว้างกว่าเรื่อ

เศรษฐกิจ คือ 1) ความไม่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม ความยั่งยืนของธรรมชาติและภูมิปัญญาของมนุษย์ และ 7) ความไม่ไว้วางใจระหว่างรัฐ เอกชน และประชาสังคม ผู้เขียนวิเคราะห์ว่ารอยปริต่าง ๆ เป็นผลเนื่องมาจากกระบวนทัศน์สมัยใหม่ (modernism) ซึ่งอาจต้องขยับเลื่อนสู่กระบวนทัศน์ความยั่งยืน (sustainism) นอกจากเหตุจากกระบวนทัศน์แล้ว รอยปริน่าจะมาจากความคิดฐานราก (mental model) ด้วย ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากความคิดฐานรากแบบ “ตัวกูของกู” (egocentric) ซึ่งอาจต้องขยับเลื่อนสู่ความคิดฐานรากแบบ “การผนึกกำลังร่วม” (collaboration) โดยอาศัยกระบวนทัศน์และความคิดฐานรากใหม่ ผู้เขียนเสนอให้ปรับสมมุติฐานความสัมพันธ์เสียใหม่ คือปรับเปลี่ยนสมมุติฐานความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ จากเดิมที่เน้นว่ามนุษย์เป็น “สัตว์เศรษฐกิจ” ที่มีพฤติกรรมตามเหตุผลของหลักเศรษฐศาสตร์ เช่น ปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง และไม่แข่ง ไม่รอด มาเป็นสมมุติฐานที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคมด้วย คือปรารถนาอยู่ร่วมกับผู้คนอย่างเป็นปกติสุข เช่น มีพฤติกรรมคุ้มครองปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวม และมีคติว่ารวมกัน เราอยู่ พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนสมมุติฐานความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ จากเดิมที่มองว่าธรรมชาติเป็นทรัพยากร (resource) มามองว่าธรรมชาติเป็นแหล่งกำเนิด (source) มากกว่า

Advertisement

ด้วยกระบวนทัศน์ ความคิดฐานราก และสมมุติฐานใหม่ จึงมาถึงข้อเสนอ “7 ขยับ” จากรอยปริ ซึ่งขอกล่าวถึงเฉพาะการขยับจากรอยปริที่ 1) เรื่องความไม่สมดุลดังกล่าวข้างต้นดังนี้ การขยับที่ 2) จากเศรษฐศาสตร์ที่เน้นการช่วงชิงแข่งขัน เป็นการเกื้อกูลแบ่งปัน การขยับที่ 4) จากการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ มาเป็นการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของมนุษย์ การขยับที่ 5) จากชีวิตที่ร่ำรวยทางวัตถุ (เน้นเศรษฐกิจ) มาเป็นชีวิตที่รุ่มรวยความสุข (เน้นสังคม) และการขยับที่ 6) จากเศรษฐกิจเส้นตรง ที่นำทรัพยากรมาผลิตสินค้าตามห่วงโซ่คุณค่า โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม มาเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular) ที่นำสิ่งเหลือใช้และทรัพยากรที่มีจำกัด กลับมาหมุนเวียนทำประโยชน์ใหม่

สำหรับรอยปริที่ 7 เรื่อง “ความไม่ไว้วางใจระหว่างรัฐ เอกชน และประชาสังคม” นั้น ผู้เขียนไม่ได้เสนอการขยับที่ตอบโจทย์ข้อนี้โดยตรงไว้ในบทนี้ แต่จะไปขยายความในบทต่อไป เพียงแต่ชี้แนวทางในบทนี้ว่า วิกฤตโควิดทำให้เห็นว่าโลกนี้เป็นโลกชีวภาพ ภัยคุกคามทางชีวภาพสามารถข้ามพรมแดนได้ โดยมนุษย์ไม่สามารถยับยั้งโดยใช้แต่อำนาจแข็ง (hard power) ได้ หากต้องใช้อำนาจอ่อน (soft power) ซึ่งหมายถึงความร่วมมือภายในประเทศและข้ามประเทศด้วย และหมายถึงการมีจิตสำนึกการเป็นพลเมืองชาติ และการเป็นพลเมืองโลกในเวลาเดียวกัน

ผู้เขียนให้บทสรุปของ บทที่ 1 ว่า สยามประเทศผ่านการปฏิรูปครั้งที่ 1 ในสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 และ 5 นั่นคือการสร้างรัฐ-ชาติ มาบัดนี้ถึงเวลาการปฏิรูปครั้งที่ 2 นั่นคือการสร้างเศรษฐกิจพอเพียงและความยั่งยืน โดยมีคำขวัญว่า “รักษ์โลก เติบโตยั่งยืน แบ่งปัน และสันติ”

Advertisement

บทที่ 2 ของหนังสือเล่มนี้ มีหัวข้อว่า “เตรียมคนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในโลกหลังโควิด” ผู้เขียนระบุว่าปัญหาอยู่ที่ข้อบกพร่อง 7 ประการของระบบการศึกษาไทยคือ
1) ยึดตัวผู้สอนมากกว่าผู้เรียน
2) เน้นการสอนมากกว่าการเรียนรู้
3) ปรุงสำเร็จมากกว่าให้ไปคิดต่อ
4) เน้นลอกเลียนมากกว่าสร้างสรรค์
5) เน้นท่องจำมากกว่าปฏิบัติ
6) เน้นพึ่งพาคนอื่นมากกว่าตนเอง
7) เน้นสร้างความเป็นตนมากกว่าความเป็นคน

ดังนั้น ในโลกหลังโควิด เพื่อก้าวพ้นข้อบกพร่องเหล่านี้ ครูควรจะช่วยให้นักเรียน
1) รักที่จะเรียนรู้ (love to learn)
2) รู้ที่จะเรียน (ทำไม อะไร อย่างไร กับใคร) (learn to learn)
3) รู้ที่จะใช้ชีวิต (ความเป็นตน) (learn to live)
4) รู้ที่จะรัก (ความเป็นคน) (learn to love)

โดยมีวงจรการเรียนรู้ที่ประกอบด้วย การสำรวจสืบค้น (exploring) การทดลองปฏิบัติ (experimenting) การสร้างเสริมประสบการณ์ (experiencing) การแลกเปลี่ยนแบ่งปัน (exchanging) แล้วกลับมาตั้งต้นที่การสำรวจสืบค้นต่อไปเรื่อย ๆ

สาระสำคัญของบทนี้น่าจะเกี่ยวกับการสร้างความเป็นคน (ที่สมบูรณ์?) ผมขอเสริมว่า ความเป็นคนน่าจะเกี่ยวกับสุขภาวะ ซึ่งมักจะแบ่งเป็นทาง กาย ใจ จิตวิญญาณ และสังคม อันที่จริง สุขภาวะทางกาย ใจ และจิตวิญญาณจะแยกกันก็ได้ หรือจะถือเป็นองค์รวมที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันก็ได้ คือส่วนใดป่วย หรือขาดความสมดุล องค์รวมก็พลอยไม่สบายไปด้วย หรือถ้าส่วนใดมีสุขภาวะดี ส่วนอื่นก็อาจดีขึ้นด้วย ผู้เขียนดูเหมือนจะให้ความสำคัญแก่ปัจจัยภายในของสุขภาวะ โดยกล่าวถึง 7 สิ่งมหัศจรรย์จากภายใน อันประกอบด้วย การได้สัมผัส การรับรู้รสชาติ การมองเห็น การได้ยิน การมีความรู้สึก การหัวเราะ และการมีความรัก สิ่งมหัศจรรย์เหล่านี้คล้ายกับอายตนะซึ่งเชื่อมต่อระหว่างภายในกับภายนอก (แต่ไม่กล่าวถึงการได้กลิ่น) หากเพิ่มเรื่องหัวเราะ ซึ่งผมอยากโยงไปถึงอารมณ์ขันที่จำเป็นต่อสุขภาวะ และเรื่องความรัก ซึ่งผมอยากโยงไปถึงเมตตา (เถรวาท) กับโพธิจิตและไมตรี (มหายาน) ผู้เขียนไม่ได้เสนอแนะว่า เราจะพัฒนาและใช้สิ่งมหัศจรรย์ทั้ง 7 นี้ด้วยสติและการตระหนักรู้อย่างตรงไปตรงมาได้อย่างไร ผู้เขียนเพียงแต่กล่าวว่า “เราไม่จำเป็นต้องเพรียกหาสิ่งมหัศจรรย์จากภายนอก ลองค้นหาความดี ความงาม และความจริงผ่านสิ่งมหัศจรรย์จากภายในเราเอง” คำกล่าวเช่นนี้น่าจะใช่ แต่ไม่เพียงพอที่จะส่งเสริมการพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณจากภายใน

ผมจึงอยากเสริมว่า รัฐ เอกชนและภาคประชาสังคมน่าจะร่วมมือกันเพื่อการพัฒนาสุขภาวะจากภายในให้มากขึ้น เจ้าภาพฝ่ายรัฐได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมทั้งหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา (สพป./สพม.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) สำนักงาน กศน. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) หน่วยงานเหล่านี้ได้ริเริ่มโครงการพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณไปบ้างแล้ว แต่ยังต้องการการส่

เสริมอีกมาก เช่น การจัดให้เป็นระบบ (การพัฒนาครู – วิทยากรในการอบรม – หลักสูตร – รายวิชา – คู่มือ – เทคโนโลยีการอบรม รวมทั้งการฝึกปฏิบัติออนไลน์ – การประเมินผลสัมฤทธิ์การฝึกปฏิบัติที่แม่นตรง ฯลฯ) การจัดให้ครอบคลุม (น่าจะรวมถึงการฝึกที่ประสานกายกับใจ เช่น ไท้เก๊ก ชี่กง โยคะ ลีลาศ ฯลฯ) การจัดให้ทั่วถึง – ให้เปิดกว้างต่อความริเริ่มที่หลากหลาย – ให้คล่องตัว (ติดระบบราชการหรือระบบบริหารให้น้อยลง) – ให้มีแรงจูงใจแก่ครูและสถานศึกษาที่มีผลงานด้านสุขภาวะทางจิตวิญญาณ เป็นต้น

บทที่ 3 ของหนังสือเล่มนี้ มีหัวข้อว่า “สังคมของพวกเราในโลกหลังโควิด” ในการสร้างสังคมหลังโควิด ผู้เขียนเสนอให้ใช้ 1) การร่วมรังสรรค์และคุณค่ารวม เป็นความคิดฐานราก 2) ภูมิปัญญามหาชนและจิตวิญญาณเพื่อส่วนรวม เป็นพลังขับเคลื่อน 3) การผลิตแบบร่วมรังสรรค์ เป็นรูปแบบการผลิต 4) การเกื้อกูลและแบ่งปัน เป็นกระบวนการ อย่างไรก็ดี ข้อเสนอนี้ยังเป็นนามธรรมอยู่มาก

สำหรับสังคมการเมือง ผู้เขียนเสนอว่าบทบาทความเป็นรัฐ-ชาติได้ลดความสำคัญลง และถูกแทนที่ด้วยโลกาภิบาลมากขึ้นเรื่อย ๆ ความเป็นรัฐ-ชาติผ่านเสรีภาพ เสมอภาคและภราดรภาพ กำลังถูกแทนที่ด้วยการเน้นความมั่นคงของมนุษย์ ผ่านการกระชับแน่นภายในกลุ่ม (bonding) การเชื่อมโยงข้ามกลุ่ม (bridging) และการยึดโยง (linking) ระหว่างสถาบัน ในประเด็นนี้ผมมีความเห็นต่างไปบ้าง เสรีภาพ เสมอภาคและภราดรภาพเป็นคุณค่าหลักที่มีความเป็นนามธรรมในระดับสูง เน้นทั้งการกำกับรัฐและกำกับพฤติกรรมของปัจเจก ส่วนความมั่นคงของมนุษย์เป็นผลจากการปฏิบัติตามคุณค่าหลัก และการกระชับแน่น การเชื่อมโยงและการยึดโยงเป็นคุณค่าในทางปฏิบัติ ความจริงก็ไม่ขัดแย้งกัน และควรมีทั้งคุณค่าหลักและคุณค่าในทางปฏิบัติไปพร้อมกันโดยไม่ต้องแทนที่กันได้

ในตอนท้ายของบทนี้ ผู้เขียนเสนอภาพของสังคมหลังโควิดว่า เป็นสังคมความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งเป็นเหมือนคำตอบต่อรอยปริที่ 7 นั่นเอง ในทัศนะของผู้เขียน สังคมนี้มี 3 องค์ประกอบคือ clean & clear (ขอแปลว่าสะอาดและโปร่งใส) free & fair (ขอแปลว่า เสรีและเที่ยงธรรม) และ care & share (ขอแปลว่า ห่วงใยและแบ่งปัน) เงื่อนไขที่จะทำให้เกิดสังคมไว้เนื้อใจคือการที่พลเมืองมีเสรีและตื่นตัว ส่วนผลที่เกิดตามมาคือความมั่งคั่ง และสังคมของพวกเรา

บทที่ 4 ของหนังสือเล่มนี้ เป็นบทสรุปที่ใช้ชื่อว่า “ทบทวนวาระประเทศไทย เตรียมพร้อมสู่โลกหลังโควิด” ผู้เขียนเสนอให้ทบทวน “ยุทธศาสตร์ชาติ” และ “วาระการปฏิรูปประเทศ” เพื่อให้ตอบโจทย์โลกหลังโควิด โดยมีปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นรากฐาน มีเป้าหมายการเตรียมคนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ “รู้จักเติมเมื่อขาด รู้จักหยุดเมื่อพอ และรู้จักปันเมื่อเกิน” โดยมี 3 แนวทางสำคัญคือ 1) สร้างความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมไทยสู่ประชาคมโลก 2) เดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และ 3) น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image