รื่นร่มรมเยศ : สมาธิ : โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

รื่นร่มรมเยศ : สมาธิ : โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

รื่นร่มรมเยศ : สมาธิ : โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

ชาวไทยคงเคยได้ยินคำว่า “สมาธิ” กันเกือบทุกคนหรือทุกคนกระมังครับ เพราะคำนี้เป็นคำสามัญใช้กันทั่วไป

สมัยเมื่อราวๆ 4-5 ปีมานี้ หนังการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง “อิกคิวซัง” ฉายติดต่อกันที่บ้านเรา เด็กทุกคนรู้จักคำว่า “สมาธิ” แถมยังได้อีกสองคำติดปากคือ “ปุจฉา” (ถาม) และ “วิสัชนา” (ตอบ) แต่ว่าความหมายของสมาธิคืออะไร คงยังไม่ทราบกัน

สมาธิ แปลตามตัวอักษรว่า “ความตั้งมั่น” หมายถึงอาการที่จิตตั้งมั่น ลองนึกอย่างนี้แล้วกัน เวลาเราเอาขวดหรือของอะไรก็ได้ที่คล้ายกันนี้ตั้งบนพื้น ถ้าตั้งไม่มั่นหรือตั้งไม่ดีมันจะล้มได้ แต่ถ้าตั้งให้มั่น ตั้งให้ดี (เช่น ตั้งบนพื้นที่ราบเรียบ) ขวดก็จะไม่ล้ม

Advertisement

ขวดที่ตั้งมั่นก็จะตั้งอยู่ได้อย่างปลอดภัย ขวดที่ตั้งไม่มั่นก็อาจล้มแตกเสียหายไป

ฉันใดก็ฉันนั้นแหละ ลองนึกถึงจิตของเรา อาการที่มันคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้สารพัดเรื่องนั้น แสดงว่าจิตมัน “ตั้งไม่มั่น” เพราะมันไม่ยอม “ตั้ง” หรือ “หยุด” อยู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเดียวกัน

จิตอย่างนี้เรียกว่าจิตฟุ้งซ่าน

Advertisement

ถ้าเราหา “อุปกรณ์” อะไรสักอย่างหนึ่งมาให้จิตมัน “เกาะ” แล้วคุมให้จิตมันจดจ่อ หรือคิดอยู่แต่เฉพาะสิ่งนั้นให้นาน นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ เรียกว่าเรากำลัง “ตั้งจิตให้มั่น”

อาการอย่างนี้แหละเรียกว่า “สมาธิ” ละครับ

เพราะฉะนั้น การทำจิตให้เป็นสมาธิจึงจำเป็น เพราะเมื่อจิตมันเป็นสมาธิแล้ว เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียนหนังสือก็เรียนได้อย่างดี ความจำดี อ่านหนังสือเข้าใจง่ายขึ้น

ถ้าสงสัยว่าจิตเป็นสมาธิแล้วทำให้เรียนดีจำดีอย่างไร คำตอบง่ายนิดเดียว ก่อนจะตอบผมขอย้อนถามอย่างนี้ก่อนว่า

“เวลาคุณคิดฟุ้งซ่าน คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้สารพัดเรื่องอยู่ คุณฟังครูบรรยายรู้เรื่องไหม”

แน่นอน คุณจะต้องตอบว่าไม่รู้เรื่องเลย ครูพูดอะไรไป ได้ยินบ้าง ไม่ได้ยินบ้าง เพราะใจไม่ได้อยู่ที่คำพูดคำสอนของครู มันผ่านไปอยู่ที่ไหนไม่รู้

ถามต่อว่า “ถ้าเวลาคุณไม่ฟุ้งซ่านล่ะ คุณฟังครูเข้าใจกันไหม”

ตอบแทนก็ได้ว่า แน่นอน ฟังเข้าใจ เพราะใจจดจ่ออยู่ที่คำบรรยายของครู

ถามต่อไปว่า “ตอนที่คุณฟุ่งซ่านฟังครูไม่รู้เรื่อง ขณะนั้นสมรรถนะสมองของคุณ มันดีกว่าตอนที่คุณไม่ฟุ้งซ่านหรือเปล่าหรือพูดให้ชัดว่าสมองของคุณเป็นคนละก้อนกันหรือเปล่า”

คำตอบก็คือ มันก็สมองก้อนเดียวกันนี่แหละ สมองอันที่อยู่ในกะโหลกของคุณก้อนนี้แหละ มีสมรรถนะเหมือนเดิมทุกอย่างนี้

แต่ตอนที่คุณจำได้ เข้าใจอะไรได้ง่าย ก็เพราะตอนนั้นจิตมี “สมาธิ” ที่จำไม่ได้ ฟังไม่เข้าใจ ก็เพราะขณะนั้นจิตมันฟุ้งซ่าน ไม่มีสมาธิ

เห็นหรือยังครับ ถ้าจิตเป็นสมาธิหรือจิตตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่านแล้ว จะฟังอะไรก็เข้าใจและจำได้ดี จะอ่านอะไรก็เข้าใจและจำได้ดี ยิ่งถ้าพลังสมาธิมีมากเท่าไร ยิ่งจะเพลิดเพลินในการอ่านการฟังยิ่งขึ้น บางทีมีคนเรียกก็ไม่ได้ยิน

ขณะที่ “ลืมโลกภายนอกเต็มที่” นี้เอง แสดงว่าจิตแน่วแน่ตรึงอยู่กับหนังสือที่อ่าน จึงไม่ได้ยินอะไร นี่แหละครับเรียกว่า “จิตเป็นสมาธิ” รู้ตัวทั่วพร้อมเฉพาะเรื่องตรงหน้า

ถ้าฝึกอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จิตจะ “คล่องตัว” ต้องการให้เป็นสมาธิเมื่อใดก็ทำได้ทันที พูดตามภาษาคนเล่นทางนี้ ก็ว่าต้องการให้จิต “เข้าที่” เมื่อใดก็ทำได้เมื่อนั้น

บางคนอาจฝึกทำจิตให้ “เข้าที่” ด้วยการยิงปืน ปาเป้า เพ่งกสิณ นับลมหายใจ ฝึกไปเถอะครับ ทำบ่อยๆ ซ้ำๆ ซากๆ นานๆ เข้า จะรู้สึกว่าจิตมันเข้าที่ได้ง่ายและเร็วขึ้น ถึงตอนนั้นเมื่อใดเราก็จะมีอำนาจเหนือจิต ควบคุมมันได้ เอาไปใช้งานได้อย่างดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image