NEW NORMAL อาชีวศึกษา : โดย วุฒิชัย กปิลกาญจน์

NEW NORMAL อาชีวศึกษา : โดย วุฒิชัย กปิลกาญจน์

NEW NORMAL อาชีวศึกษา : โดย วุฒิชัย กปิลกาญจน์

การแพร่กระจายของโรคระบาดอุบัติใหม่ COVID-19 ก่อให้เกิดผลกระทบ และความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และต่อการดำรงชีวิตส่วนตัว ส่วนรวม ของมนุษยชาติทั่วโลก แต่ในเหตุวิกฤตย่อมมีโอกาส โดยน่าจะมีการปรับเปลี่ยนสิ่งที่ไม่เหมาะสมให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

การศึกษา คือ รากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศและอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เริ่มจากขั้นพื้นฐาน การศึกษา ก่อนวัยเรียน ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา 3 (ม.3) จากนั้นแยกเป็น 2 สาย คือ สายสามัญ (ม.4 ม.5 และ ม.6) และสายวิชาชีพอาชีวศึกษา (ประกาศนียบัตรวิชาชีพ ปวช.1 ปวช.2 และ ปวช.3) โดยทั้งหมดนี้อยู่ในความดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ ต่อด้วยสายสามัญ อุดมศึกษา ระดับปริญญาตรี (4 ปี) และบัณฑิตศึกษา ซึ่งรับผิดชอบโดยกระทรวง อว. ส่วนสายวิชาชีพระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชีพชั้นสูง ปวส. (2 ปี) รวมถึงการศึกษาในระดับสูงยังคงขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของกระทรวงศึกษาธิการ

สรุปได้ว่าสายสามัญดำเนินงานภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ และ อว. ส่วนอาชีวศึกษา ดูแลตลอดแนวโดยกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งถ้านำมาเปรียบเทียบกับอุดมศึกษาแล้ว อาชีวศึกษาต้องมีการปรับปรุงแก้ไขในด้านต่างๆ และควรจะใช้ช่วงเวลานี้ในการดำเนินการ เพื่อเป็น NEW NORMAL ของอาชีวศึกษา ดังนี้

Advertisement

หลักสูตร การเรียนการสอน จำนวนนักศึกษา

เดิมมีความขาดแคลนกำลังคนสายวิชาชีพในสาขาวิชาต่างๆ คือ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม พาณิชยกรรม การท่องเที่ยว และการบริการอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอุตสาหกรรม จึงมีนโยบายเพิ่มจำนวนนักศึกษาสายวิชาชีพ เพื่อรองรับการขยายตัวตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศรวมถึงแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นในขณะนี้ทำให้ธุรกิจบางประเภทเกือบล่มสลาย และจะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูนานพอสมควร เช่น การบิน การท่องเที่ยว ในขณะเดียวกัน การค้าออนไลน์ บริการจัดส่งสินค้า ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงควรพิจารณาทบทวนจำนวนนักศึกษาที่จะรับเข้าศึกษาในหลักสูตรต่างๆ ตลอดจนดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการปรับหลักสูตร และรูปแบบการเรียนการสอน เปิดหลักสูตรใหม่ จัดการฝึกอบรมเพิ่มเติม (สำหรับผู้ที่จบการศึกษาแล้วในระดับใดระดับหนึ่ง) เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะของสังคม และเศรษฐกิจในอนาคต โดยสาขาวิชาที่มีความสำคัญอย่างโดดเด่นและชัดเจนในปัจจุบัน คือ อาชีวศึกษาเกษตร เพื่อทำให้ประเทศมีความเข้มแข็งทางด้านการเกษตร ส่งผลให้เกิดความมั่นคงในส่วนของอาหารและสามารถพึ่งพาตนเองได้ตลอดไป

งบประมาณและการบริหาร

สภาพเศรษฐกิจตกต่ำที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้ผู้ว่างงานมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงความสามารถในการส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาของประชาชนทั่วไป ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนในอนาคตอันใกล้นี้ ดังนั้นรัฐควรตั้งงบประมาณเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาทั้งหมด (ทุนการศึกษา) ให้กับผู้ที่ประสงค์จะศึกษาสายวิชาชีพในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทุกคน และเมื่อได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพและมีความประพฤติดีจะได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุนการศึกษาต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ต่อเนื่องไปจนถึงศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไปอีก เพื่อรับราชการเป็นอาจารย์ในสถานศึกษาสายวิชาชีพต่อไป (โดยผู้ประสงค์จะเข้าศึกษาสายสามัญสามารถใช้กลไกของกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาและกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา)

กระทรวงศึกษาธิการควรดำเนินการอย่างจริงจังและรวดเร็ว เพื่อสนับสนุนให้สถานศึกษาสามารถหารายได้ด้วยตนเอง เป็นการเสริมจากงบประมาณที่รัฐจัดหาให้และบูรณาการความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนกับหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กระทรวง อว. กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมถึงกลุ่มสหกรณ์ประเภทต่างๆ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์การเกษตร เป็นต้น เพื่อให้การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีสามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทุกสาขาวิชา

รวดเร็ว ถูกต้อง คล่องตัว น่าจะเป็นกลยุทธ์ในการบริหารงานยุค COVID-19

วุฒิชัย กปิลกาญจน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image