ที่เห็นและเป็นไป : ‘อนาคต’ในความกังวล

ที่เห็นและเป็นไป : ‘อนาคต’ในความกังวล

ที่เห็นและเป็นไป : ‘อนาคต’ในความกังวล

มีความกังวลว่าในระยะเวลาอันใกล้นี้ คือประมาณเดือนตุลาคม สถานการณ์ประเทศไทยเราจะหนักหนาสาหัส ตรงกับการประเมินของ “กลุ่ม C A R E” ซึ่งเป็นการรวมตัวของคนกลุ่มหนึ่งที่มีความห่วงใยออกมาประกาศ “ขับ เคลื่อน ไทย” ที่กังวลว่า 150 วันนับจากนี้ “อันตราย”

อะไรที่ทำให้ประมาณเดือนตุลาคม หรือ 150 วัน นับจากนี้เป็นห้วงเวลาที่น่ากังวลสำหรับประเทศไทยเรา

ยกเอาเรื่องราวข่าวลือทั้งหลายวางไว้ก่อน

Advertisement

เอาแค่เงื่อนไขต่างๆ ที่วางอยู่บนโต๊ะ เห็นๆ กันอยู่แล้วมาพิจารณา “อันตราย” ที่มาจากเหตุผลที่มองกันอยู่ใน 2 กรอบ

กรอบแรก เป็นที่รู้กันว่าหลังวิกฤตโควิด-19 ประชาชนที่ประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิตซึ่งเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นแล้ว ประคับประคองอยู่ด้วยเงินที่ได้จากมาตรการต่างๆ ที่จ่ายแบบให้เปล่าเพื่อช่วยเหลือ ซึ่งภายในเดือนตุลาคมระยะเวลาของมาตรการช่วยเหลือต่างๆ จะค่อยๆ หมดลง

ทว่าวิกฤตโควิดที่กระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหนัก ทำให้ช่องทางทำมากินของประชาชนเป็นไปด้วยความยากลำบาก

Advertisement

จะเป็นภาระหนักของรัฐบาลที่จะต้องหาทางเยียวยา ซึ่งหากจะเอาแค่ต่อมาตรการแจกเงินแบบให้เปล่าต่อไป ย่อมกระทบต่องบประมาณและเป็นปัญหาต่อการวางพื้นฐานการพัฒนาประเทศ และความเชื่อมมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างยิ่ง

เป็นความเชื่อมั่นในความรู้ความสามารถของรัฐบาลในการคิดนโยบายบริหารประเทศให้เหมาะสม ซึ่งเกิดขึ้นไม่ได้กับการเอาแต่แจกเงิน

กรอบที่สอง คือ การใช้จ่ายเงินที่ได้มาตาม พ.ร.บ.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท

ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลกำลังจะใช้เงินในอนาคต อันจะเป็นภาระของคนรุ่นลูก รุ่นหลานที่จะต้องเติบโตในวันข้างหน้าอย่างไร

นโยบาย หรือการวางโครงการ มาตรการในการใช้เงินดังกล่าวน่าจะเป็นรูปเป็นร่างให้เห็นภายเดือนตุลาคม หรือประมาณ 150 วันนับจากนี้

ความกังวลส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากการเห็นโครงการตามเงินกู้เฟสแรก 400,000 ล้านบาท ซึ่งเปิดเผยออกมาแล้วว่าส่วนใหญ่เป็นโครงการในกรอบความคิดเก่า แทบจะเรียกได้ว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบในการเสนอเพียงแต่นำโครงการเก่าๆ มาเปลี่ยนชื่อให้ดูใหม่ด้วยคำอย่าง “สู้โควิด-สู้โรคระบาด” หรือ “วิถีใหม่” เข้าไปเพื่อให้ดูทันสมัยเท่านั้น ทั้งที่รู้กันอยู่ว่าเป็นโครงการที่สุ่มเสี่ยงกับที่จะไร้ประโยชน์กับการพัฒนา ใช้เงินอย่างสูญเปล่า และที่สำคัญคือเสี่ยงต่อการรั่วไหลตามประสาการจัดการโครงการแบบราชการไทย

เพราะเป็นเงินกู้อันเป็นภาระต่ออนาคตของชาติ จึงทำให้เสียงเรียกร้องให้สร้างกระบวนการตรวจสอบให้เกิดความรอบคอบ

และความห่วงกังวลนั้น ไม่ได้รับการขานรับจากผู้มีอำนาจ

การแสดงออกถึงความห่วงใย และกังวลอย่างมากนี้อยู่ที่ความรู้สึกว่าเป็นการใช้อำนาจจัดการโดย “ไม่เห็นหัวประชาชน” ของคณะบุคคลที่เชื่อไม่ได้ในความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการ

ห่วงว่าจะใช้เงินที่กู้มามหาศาลนั้นอย่างไร้ประสิทธิภาพ

และนั่นคืออันตรายที่จะให้เห็นกันภายในสิ้นปีนี้

เหมือนจะรู้ว่าความเชื่อมั่นในรัฐบาลต่อการใช้อำนาจโดยไม่ยอมให้มีการตรวจสอบจะเป็นเรื่องสร้างความกังวล ซึ่งจะตามมาด้วยความไม่พอใจของประชาชน

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำประเทศ ได้แถลงการณ์ว่าจะบริหารแบบ “วิถีใหม่” ให้คุณค่ากับการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มาก ทั้งในเรื่องร่วมกำหนดโครงการและการตรวจสอบ

ซึ่งเป็นคำพูดที่ฟังดูดี

แต่เรื่องราวที่ฟังดูดีนั้น พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ได้บอกว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ช่องทางไหนที่ประชาชนจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอโครงการ รัฐบาลจะสร้างระบบแบบไหนให้ประชาชนมีสิทธิเข้าไปตรวจสอบการใช้งบประมาณได้อย่างจริงจัง

ยิ่งย้อนกลับไปดูพฤติกรรมของการบริหารจัดการประเทศ ที่สะท้อนการพูดไปเรื่อยในเรื่องทำให้ดูดี แต่พฤติกรรมที่แท้จริงกลับเป็นไปอีกทาง ที่แทบจะตรงกันข้ามกับที่พูด อย่างเช่นเรื่องประชาธิปไตย เรื่องสิทธิเสรีภาพ การแสดงออกของประชาชน ซึ่งพูดกันอย่างฉะฉานเหมือนว่าประชาชนไทยได้รับเต็มที่

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง การใช้อำนาจควบคุมจากกลไกรัฐต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นไปอย่างเข้มข้นยิ่ง

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประชาชนส่วนใหญ่จะกังวลว่า การมีส่วนร่วมและการเปิดโอกาสให้ตรวจสอบ จะเป็นแค่ความหวังลมๆ แล้งๆ กับคำพูดเรื่อยเปื่อย เหมือนที่เคยเป็นมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image