คุณภาพคือความอยู่รอด : เกษตรกลางกรุง : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

คุณภาพคือความอยู่รอด : เกษตรกลางกรุง : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

คุณภาพคือความอยู่รอด : เกษตรกลางกรุง : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ใครจะไปคิดว่า ใจกลางกรุงเทพมหานคร ในซอยข้างตึก “การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค” (PEA) จะมี “เกษตรกลางกรุง” บนพื้นที่กว้างในลักษณะของ “Smart Farming” ที่อาศัยการควบคุมดูแลและการบริหารจัดการผลิตผลทางการเกษตรด้วยคอมพิวเตอร์และระบบไอทีเป็นหลัก

“เกษตรกลางกรุง” ที่ผมว่านี้ เป็นฝีมือของหนุ่มใหญ่วัย 40 กว่าและทีมงานที่ใช้ความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์และไอทีมาเป็นประโยชน์สำหรับการหันเหวิถีชีวิตมาสู่อาชีพเกษตรกรรมจนได้ผลที่น่าพอใจยิ่ง

เมื่อตอนบ่ายของวันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน 2563 ผมและอาจารย์ พงษ์ศักดิ์ พิบูลศักดิ์ (ประธานสมาพันธ์อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทย) ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมกิจการ “StarCat Wise Farm” ของ คุณนรินทร์นาถ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มอสกี้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ซอยงามวงศ์วาน 59 เขตจตุจักร กทม. ซึ่งเป็น Smart Urban Farm กลางเมืองหลวง บนพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาช่วยเสริมเติมประสิทธิภาพภาคการเกษตร

Advertisement

คุณนรินทร์นาถเล่าถึงที่มาที่ไปในเรื่องนี้ว่า เขามีพื้นฐานเป็นวิศวกร คือจบวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และประกอบอาชีพเกี่ยวกับการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายให้กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จนถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่งแล้ว แต่เมื่ออายุ 40 ต้นๆ ได้ฉุกคิดว่าน่าจะใช้ความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีที่มีอยู่เพื่อสังคมมากขึ้น โดยเห็นว่าประเทศไทยมีคนทำอาชีพเกษตรกรรมจำนวนมาก แต่ถึงวันนี้แม้จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ มากมาย เกษตรกรยังคงทำกันแบบเดิมๆ และยังไม่มีการพัฒนาด้านเกษตรกรรมอย่างจริงจัง เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงมีความเป็นอยู่เหมือนเดิม เมื่อพูดคุยกับน้องๆ ที่ทำงานด้วยกันแล้ว ก็ได้ข้อสรุปว่า งานอาชีพในส่วนที่ทำเกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์ก็ต้องทำต่อไป แต่ขอแบ่งเงินประมาณ 30% มาช่วยกันสร้างงานด้านการเกษตร เพื่อหาประสบการณ์และถ่ายทอดต่อไป

ในภาพรวมแล้ว บ้านเราจะมีการทำเกษตรอยู่ 2 กลุ่ม (ลักษณะ) คือ (1) เกษตรแบบพอเพียง และ (2) เกษตรแบบ Smart Farming ใช้เทคโนโลยีช่วย คือใช้เทคโนโลยีเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านด้วย

พวกเขาจึงเริ่มต้นด้วยการหาซื้อที่ดินรกร้างว่างเปล่าในเมืองมาปรับปรุงเป็นอาคารสำนักงาน และพื้นที่ทำการเกษตร จนวันนี้เป็นแปลงเกษตรกลางกรุง และมีร้านอาหารที่เอาพืชผักที่ปลูกเองมาเป็นส่วนสำคัญของเมนูอาหารจานเด็ด นอกจากนี้ก็มีพื้นที่ทำงานแบบ Co-Working Space ด้วย (เพื่องานที่ใช้คอมพิวเตอร์และไอที เป็นหลัก) ซึ่งสามารถใช้เป็นทั้งพื้นที่ในการทำงานปกติ และการกำกับดูแลพื้นที่ “เกษตรกางมุ้ง” ที่ทำอยู่ (เพื่อเกษตรปลอดสารพิษ) จึงเรียกขานกลุ่มตัวเองว่า “วิสาหกิจชุมชนเกษตรในเมือง” (Urban Farming Community Enterprise) ซึ่งปัจจุบันถือได้ว่า กิจการประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ

Advertisement

เกษตรกลางกรุง หรือวิสาหกิจชุมชนเกษตรในเมือง ได้ยึดหลักการและวิถีปฏิบัติดังนี้ ใช้พื้นที่เพาะปลูกขนาดเล็กเน้นปลูกผัก ใช้พลังงานต่ำ ไม่มีการใช้ยาหรือสารเคมีที่ฆ่าแมลง ใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาผสมผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้าน นำเอาคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และอุปกรณ์ IoT มาช่วยเท่าที่จำเป็น พัฒนาแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนสำหรับช่วยในการบริหารจัดการและดูแลควบคุมจากระยะไกล (ระบบจ่ายน้ำ จ่ายปุ๋ย พ่นหมอก ระบายอากาศ) สร้างเครือข่ายเกษตรกรในเมืองเพื่อลดต้นทุนและรวมผลผลิตเพื่อจำหน่าย เป็นต้น

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ เป็นการตอกย้ำว่า ความพยายามที่ถูกที่ถูกทาง มักจะประสบความสำเร็จเสมอ ขอเพียงลงมือทำด้วยความมุ่งมั่น ครับผม !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image