บทความโดย โคทม อารียา : วิกฤตใหญ่

วันที่เขียนบทความนี้คือวันที่ 24 มิถุนายน 2563 วันครบรอบ 88 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ขอให้ประชาธิปไตยจงเจริญ

แต่มีข่าวร้ายครับ นอกจากจะมีวิกฤตโควิดที่บุคลากรสาธารณสุข – ตั้งแต่แพทย์ถึง อสม. – ได้ช่วยควบคุมการระบาดได้ด้วยดี โดยการร่วมมือของประชาชนแล้ว สังคมการเมืองไทยแสดงอาการน่าวิตก ว่าภัยคุกคาม (ไม่ใหม่) จะคืนมา นั่นคือการกลับมาของอำนาจเก่า หมายถึง ทหาร/ข้าราชการที่หลงอำนาจ และนักการเมือง ที่ต้องการอำนาจเพื่อผลประโยชน์ ทั้งหมดนี้โดยอ้างประโยชน์สุขของประชาชน

คงไม่สามารถยกตัวอย่างของอาการได้ครบถ้วน แต่ขอยกเฉพาะเรื่องที่ผมวิตกก็แล้วกัน

1) การยกร่างรัฐธรรมนูญที่ขาดการมีส่วนร่วมในการร่าง แต่แก้ไขได้ยากมาก

Advertisement

2) ก่อนการนำร่างรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติ สนช. ได้เสนอฝากประเด็นเพิ่มอำนาจ สว. ที่มาจากแต่งตั้งให้ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้การสืบทอดอำนาจชัดขึ้น รวมถึงอำนาจที่จะสืบทอดแก่สมาชิก สนช. บางคนที่หวังจะผันตัวเองเป็น สว.

3) การวินิจฉัยของ กกต. ในการจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อ ให้แก่พรรคที่ได้คะแนนน้อย ซึ่งโดยสัดส่วนจะได้ ส.ส. ไม่ถึงหนึ่งคน

4) การยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคที่ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะต่อสู้ในระบอบรัฐสภา โดยข้ามขีดแบ่งฝ่ายรัฐบาล – ฝ่ายค้าน เพื่อให้มาร่วมกันออกกฎหมายเพื่อประชาชน พร้อมทั้งปฏิเสธวิธีการเดิม ๆ เช่น การจัดงบประมาณแฝงให้ ส.ส. เขตนำไปบริหารในเขตพื้นที่ของตน

Advertisement

5) การออกกฏหมาย “ยุทธศาสตร์ชาติ” บังคับใช้ 20 ปี โดยตั้งเป้าหมายที่แทบเป็นไปไม่ได้ เช่น ผลผลิตมวลรวมของประเทศหรือ GDP ว่าจะต้องเติบโตไม่น้อยกว่าปีละ 5% (ห้าปีของรัฐบาล คสช. และปีกว่าของรัฐบาลผู้สืบทอดไม่เคยทำได้ตามเป้าหมายนี้) รายได้ขั้นต่ำ 21,000 บาท ต่อคนต่อเดือนในปี 2564 รายได้จากการท่องเที่ยวไม่น้อย กว่า 3 ล้านล้านบาทต่อปี รัฐบาลที่ปฏิบัติไม่ได้ (ยกเว้นรัฐบาลผู้สืบทอดฯ) อาจถูกฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ

6) ท่ามกลางวิกฤตโควิด ส.ส. จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะที่ต้องการเงินไปดูแลคะแนนเสียงในพื้นที่ หาวิธีแซะให้ผู้บริหารพรรคที่ไม่มีถุงเงินพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นการยืนยันว่า ไม่สนใจ new normal in politic (การเมืองวิถีใหม่) และเรียกร้องให้กลับสู่การเมืองวิถีเก่าโดยเร็ว โดยลืมเรื่องที่เคยเป่านกหวีดเรียกร้องการปฏิรูปการเมือง และลืมการเชื้อเชิญทหารเข้าสู่อำนาจเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว

7) น่าสงสัยว่าการรีบกลับสู่วิถีเก่าจะมีปัจจัยในเรื่องเงินกู้ฟื้นฟูหลังโควิด จำนวนสี่แสนล้านบาทด้วยหรือไม่ เงินกู้นี้รัฐบาลประกาศยืนยันว่าจะไปช่วยประชาชน แต่จะทำอย่างไรจึงจะเอาชนะแนวโน้มที่ว่า “ผู้ใดมีอำนาจตัดสินใจ ประโยชน์ในอันดับต้นจะไหลไปสู่ผู้นั้น” ข่าวจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อที่ 23 มิถุนายน 2563 เกี่ยวกับโครงการขอแบ่งสี่แสนล้านแจ้งว่า มีหน่วยงานราชการเสนอโครงการดังนี้ (1) ในแผนงานการเติบโตที่ยั่งยืน มี 164 โครงการ วงเงิน 284,302 ล้านบาท (33.8%) (2) ในแผนงานเศรษฐกิจฐานราก มี 33,798 โครงการ วงเงิน 465,023 ล้านบาท (55.3%) (3) ในแผนงานสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิต มี 301 โครงการ วงเงิน 91,942 ล้านบาท (10.9%)

ความรวดเร็วในการเสนอโครงการ ด้านหนึ่งอาจแสดงถึงประสิทธิภาพของระบบราชการ อีกด้านหนึ่งชวนให้สงสัยว่าส่วนหนึ่งของโครงการเหล่านี้ อาจเป็นโครงการเก่าที่เคยถูกปฏิเสธในการบรรจุไว้ในงบประมาณปีก่อน หรือได้เตรียมเผื่อไว้สำหรับเสนอของบประมาณปีนี้ อย่างไรก็ดี ไม่มีข่าวว่าประชาชนผู้เป็นเป้าหมายที่จะได้รับประโยชน์ ได้มีส่วนร่วมเสนอโครงการมากน้อยเพียงใด แม้บางทีจะเป็นการมีส่วนร่วมแบบขอไปทีก็ตาม

8) หลังโควิด (ซึ่งแพทย์บางคนบอกว่า ยังจะมีระลอกสองที่อาจรุนแรงกว่า จึงไม่อาจบอกว่าจะพ้นจากโควิดได้เมื่อไร) จะมีผู้ตกงานเรือนล้าน เมื่อรัฐบาลหมดเงินช่วยเหลือเดือนละ 5,000 บาทที่ได้จ่ายไปเป็นเวลาสามเดือนแล้ว เขาเหล่านี้จะเดือดร้อนมาก หากการจ้างงานไม่ฟื้นตัว ธุรกิจใหญ่น้อยจะต้องปรับตัวอย่างมาก รัฐบาล/ธนาคารแห่งประเทศไทยจะช่วยเหลืออย่างไรจึงจะไม่ถูกกล่าวหาว่าเอาเงินไปช่วยคนรวย และช่วยอย่างไรจึงจะเป็นธรรมพอสมควร

สรุปเบื้องต้นจากอาการโดยสังเขปดังกล่าวคือ อาการร้ายจากโควิดยังไม่ทันผ่านไป อาการซ้อนขึ้นมาคือ ส.ส. จำนวนหนึ่งมุ่งเขย่าฐานการเมือง ช่วงชิง/ทวงถามเก้าอี้ และขอพึ่งถุงเงินเพื่อเพิ่มโอกาสครองคะแนนเสียง แบบ old normal ต่อไป โดยไม่คำนึงถึงข้อครหาและความเอือมระอาที่ประชาชนส่วนหนึ่งมีต่อการตีชิงผลประโยชน์เช่นนี้

ผมพยายามเงี่ยหูฟังว่าจากฝ่าย คสช. โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีชื่อเสียงเสียหายว่าเขาคิดกันอย่างไร ก็ดีใจที่ได้อ่านหนังสือของสุวิทย์ เมษินทรีย์ ชื่อ “โลกเปลี่ยน คนปรับ : หลุดจากกับดัก ขยับสู่ความยั่งยืน” ซึ่งเสนอแนวคิด “ความพอเพียงในโลกหลังโควิด” ได้อย่างน่าสนใจ แม้จะไม่เห็นด้วยกันทั้งหมด แต่ก็ถือว่าเป็นการนำเสนอนโยบาย “หลังโควิด” ที่เป็นระบบ เป็นทางเลือก เป็นการเชื้อเชิญให้เกิดการถกแถลง (deliberation) เพื่อให้เกิดพลังทางความคิดในสังคม จึงขอเชิญชวนให้ผู้อ่านเปิดหนังสือเล่มนี้ดูทางออนไลน์ที่ https://drive.google.com/file/d/1AmaGwWGnLV6aS2AM7RCRX5bixKANLQN4/view

มีบางคนบอกว่ากลุ่ม 3 ป. เขาเหนียวแน่นเป็นหนึ่งเดียวกันมาก พี่ใหญ่ทำอะไร พี่รองทำอะไร น้องสามย่อมรู้เห็นด้วย เพียงแต่รักษาระยะห่างไม่ให้พลอยถูกกระทบไปด้วย แต่ผมยังมองโลกในมุมอื่นอยู่บ้าง เช่น เมื่อใครพูดในเชิงบวก ก็ควรย้ำคำพูดเหล่านั้นบ่อย ๆ ขึ้น เผื่อคนพูดจะทำตามที่พูด (แม้ในการเมืองไทยที่หลายคนมีความทรงจำสั้น และมีความเป็นศรีธนชัยสูง สังคมการเมืองจะไปได้ยากเพราะตกอยู่ในสภาพ “ความไว้วางใจต่ำ”)

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563 นายกรัฐมนตรีประกาศทางโทรทัศน์ว่า ใกล้ชัยชนะเหนือโควิด (กว่า 28 วันที่ไม่มีการติดโรคโควิดจากในประเทศ) และประกาศการเข้าสู่ยุคหลังโควิดว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยสรุปคือ

1) ผนึกทุกภาคส่วนร่วมวางอนาคตประเทศไทย

2) ให้ผู้มีส่วนได้เสียตัวจริงเป็นผู้ประเมินผลงานภาครัฐ

3) กำหนดนโยบายสำคัญเร่งด่วนที่สร้างประโยชน์แก่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม “ไม่ปล่อยให้เกมการเมืองที่ไม่สุจริตมาดึงรั้งการก้าวไปข้างหน้าของประเทศ”

ดูเหมือนจะยอมรับโดยปริยายว่า การมีส่วนร่วมที่ผ่านมา (รวมทั้งเรื่องเงินฟื้นฟูสี่แสนล้าน?) ยังขาดการมีส่วนร่วม ยังไม่ได้มีการประเมินประสิทธิผลโดยกลุ่มเป้าหมายการพัฒนา มีแต่การรายงานของหน่วยงานราชการเองถึงประสิทธิภาพและผลการดำเนินกิจกรรม (output) และเคยมีการปล่อยให้เกมการเมืองที่ไม่สุจริตมาก้าวก่าย แต่สิ่งเหล่านี้ต้องเปลี่ยนไปเพราะเรากำลังเผชิญวิกฤตใหญ่

ในเรื่องการผนึกกำลังของทุกฝ่าย ผมอยากให้เชิญชวนฝ่ายที่ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับรัฐบาลให้เข้ามามีส่วนร่วม เช่น (1) ฝ่ายคนรุ่นใหม่ ซึ่งในทางการเมือง คนรุ่นใหม่ไม่มากก็น้อยเคยถือว่าอดีตพรรคอนาคตใหม่เคยเป็นความหวังของพวกเขา ตอนนี้พรรคถูกยุบไปโดยวิถีเก่า กลายมาเป็นหนึ่งพรรค-หนึ่งกลุ่ม รัฐบาลจะเปิดพื้นที่ให้พวกเขาและคนรุ่นใหม่มากขึ้นได้ไหม (2) ฝ่ายผู้ใช้แรงงาน ทั้งในและนอกระบบ ซึ่งเราจะต้องรับฟังความเดือดร้อนและหาทางฟื้นฟู โดยเฉพาะปูทางเข้าสู่การเป็นแรงงานในระบบที่มีระบบสวัสดิการที่เหมาะสมให้มากขึ้น (3) ฝ่ายทุนในประเทศทั้งที่มีตัวแทนเป้นระบบ เช่น สภาอุตสาหกรรม หอการค้า สภา SME ฯลฯ และยังไม่มีตัวแทนเป็นระบบ ประเด็นหนึ่งที่ควรรับฟังคือการลดการผูกขาดและการลดบทบาททางการเมืองของกลุ่มทุนบางกลุ่มที่มุ่งรักษาประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมของทุนกลุ่มนั้น ๆ (4) ภาคประชาสังคม เช่น ที่ทำงานเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ฯลฯ

เราควรฝ่าวิกฤตใหญ่ไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ไม่ปล่อยให้ผู้คนจำนวนมากหมดหวังกับการเมืองทุจริตที่ “ดึงรั้งการก้าวไปข้างหน้าของประเทศ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image