คุณลุงผู้ใจดีของเราเขาเคยฆ่าลูกใครหรือเปล่า โดย กล้า สมุทวณิช

ในการเขียนเรื่องแต่งจำพวกเรื่องสั้น และนวนิยาย รวมไปถึงการเขียนบทภาพยนตร์และละครด้วยนั้น มีศัพท์เอาไว้เรียกลักษณะของตัวละครสองรูปแบบ คือ ตัวละครแบนŽ และ ตัวละครกลมŽ

ตัวละครแบน คือ ตัวละครที่มีบุคลิกมิติเดียว ตัวอย่างที่มักจะยกกัน คือแบบในละครหลังข่าว ที่พระเอกก็จะหล่อ รวย ฉลาด (ยกเว้นในเรื่องการแยกแยะมารยาหญิง) นางเอกถ้าไม่สวยหวานเรียบร้อยตกเป็นเหยื่อ ก็อาจจะก๋ากั่นทโมนไพรสู้เข้าไปอย่าได้ถอย สำหรับนางอิจฉา เพียงหล่อนมีหูตาและจินตนาการในการหาเรื่องตบตีและส่งเสียงดังหลายสิบเดซิเบลก็เป็นอันครบถ้วนคุณสมบัติ

ส่วนตัวละครกลม คือ ตัวละครที่ไม่ได้มีบุคลิกตายตัวแบบนั้น พระเอกอาจจะเป็นชายหนุ่มรูปหล่อ แต่เปราะบางทางอารมณ์เพราะบาดแผลในวัยเยาว์ นางเอกอาจจะเรียบร้อยสวยหวานแต่สามารถเอารองเท้าส้นสูงไปคนในชามซุปของนางอิจฉาได้ ส่วนนางอิจฉาเอง (ถ้าจะมี แต่จริงๆ ไม่ควร) ก็อาจจะต้องหาสาเหตุสนับสนุนหน่อยว่า ทำไมนางต้องหลุดโลกอะไรเบอร์นั้น

ในการสอนเขียนหนังสือ ผู้เรียนมักจะได้รับคำแนะนำว่า อย่าสร้างหรือเขียนตัวละครแบนๆŽ เหมือนละครหลังข่าว ให้สร้างตัวละครกลมที่ดูมีชีวิต เพื่อให้ผู้อ่านเชื่อว่าอาจจะมีคนอย่างตัวละครนั้นอยู่จริง หรือระลึกได้ว่าเคยรู้จักคนเช่นนั้นอยู่

Advertisement

แต่จริงๆ แล้วการออกแบบตัวละครให้แบนหรือกลมนั้น ขึ้นกับวัตถุประสงค์ในการใช้งาน ถ้าคุณจะเขียนเรื่องตลกเบาสมองสุดสุด เรื่องต่อสู้บู๊กันแหลก หรือเรื่องเสียวคืนเดียวจบ เอาเข้าจริงเรื่องแนวนั้นก็ไม่ได้เรียกร้องความกลึงกลมสมจริงของตัวละครอะไรนัก เว้นแต่ว่าคุณจะเขียนเรื่องแนววรรณกรรมที่สะท้อนชีวิตของผู้คนหรือแสดงภาพสังคมการเมืองนั่นก็ว่าไป

หากอยู่ในเรื่องแต่ง หรือหนังละคร พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็เป็นตัวละครที่มีสีสันโดดเด่นเป็นพิเศษ

ตัวพี่ใหญ่ผู้มีอำนาจสูงสุดที่อยู่เบื้องหลังทั้งขุนพลทหาร และนักการเมือง แต่กลับมีคาแร็กเตอร์ที่ชวนล้อเลียนทั้งรูปลักษณ์ และบุคลิก การพูดจา แถมข่าวคราวที่ผ่านมาของท่านในแต่ละเรื่องก็เป็นที่กังขาต่อสาธารณะ โดยเฉพาะเรื่องแหวนมารดา นาฬิกายืมเพื่อนที่ตายไปแล้ว

Advertisement

เรียกว่าเป็นอดีต คสช. และนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลเพียงไม่กี่คนที่ทุกสีทุกฝ่ายนั้นมีฉันทามติไปในทางเดียวกัน จนถูกเรียกว่า ตำบลกระสุนตกŽ ในทางการเมืองช่วงสองสามปีที่ผ่านมา

ดังนั้นเมื่อ ฌอน บูรณะหิรัญ ไลฟ์โค้ชนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ และผู้นำกระแส (Influencer) ชื่อดังได้พยายามนำเสนอ แง่มุมใหม่Ž ของ ท่านประวิตรŽ ว่าไม่เหมือนกับที่ชาวเน็ตเห็นในภาพล้อเลียนต่างๆ ที่สื่อออกมาดูร้ายๆ แต่พอได้เห็นตัวจริงกลับเหมือนผู้ใหญ่ที่น่ารัก เขาจึงชี้ว่า สิ่งที่เราเห็นในสื่อนั้นคือ การชี้นำ ดังนั้นอย่าเพิ่งตัดสินใครจนกว่าเราจะได้เจอ ได้คุย ได้สัมผัสกับเขาจริงๆ

ตามด้วยการ สั่งสอนŽ ถึงคนรุ่นใหม่ว่า ข่าวต่างๆ ล้วนมีเจตนา อย่าเพิ่งเชื่อ 100% ในสิ่งที่ได้เห็นได้ดู และอย่าเชื่ออะไรเลยที่เราได้ยิน เพราะภาพบางอย่างไม่ได้เล่าเรื่องทั้งหมด

กระสุนŽ จึงย้ายเป้า หรือถ้าจะใช้ภาษาให้ตรงกับบริบทของโลกโซเชียล คือ ทัวร์ลงŽ ไปเยี่ยมนักสร้างแรงบันดาลใจชื่อดังแทน และเขาก็รับมือกับมันได้ไม่ดีนัก ส่งผลให้ยอดผู้ติดตามลดลงถึงประมาณหนึ่งล้านการติดตามภายในวันเดียว รวมถึงมีภาพและคลิปที่ผู้คนเอาหนังสือที่เขาเขียนมาเผาทิ้งกันเอิกเกริกไป

ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการตลาดผ่านสื่อโซเชียลคาดหมายว่าค่อนข้างชัดเจนที่งานนี้น่าจะมีค่าตอบแทนมูลค่าสัญญาน่าหลายแสนถึงเกือบหนึ่งล้านบาท และนั่นก็อาจจะเป็นเรื่องที่ต้องสืบกันต่อไปว่าเม็ดเงินนั้นมาจากไหน เป็นการจ่ายส่วนตัว หรือใช้งบประมาณแผ่นดินใดหรือไม่

อย่างไรก็ตาม นี่ก็ถือเป็นเรื่องที่เป็นบทเรียนสำหรับนักการตลาดเชิงกระแสโซเชียลนี้ว่า ต้นทุนทางการเมืองŽ นั้นเป็นราคาสำคัญอย่างหนึ่งที่ตัวผู้นำกระแสนี้ต้องจ่าย และถ้าไม่ได้ประเมินความคุ้มค่าไว้ หรือประเมินไว้ต่ำกว่าที่เสียหายจริง ก็จะเข้าบทเรียนที่ว่า ถ้าเล่นการเมืองไม่เป็น การเมืองนั้นก็จะเล่นคุณŽ

ถ้าตัดเรื่องประเด็นการรับงานสร้างกระแสนี้ออกไป เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ก็ยังมีแง่มุมน่าพิจารณา เกี่ยวกับ มิติความเป็นมนุษย์Ž ของบุคคลต่างๆ โดยเฉพาะบุคคลสาธารณะที่มีบทบาท หรือหน้าที่อำนาจในทางการเมือง หรือในทางที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ทางได้เสียของสังคม

เราอาจจะเคยได้ยินการกล่าวเปรียบเรื่องของ สถานะŽ ที่ทับซ้อนกันอยู่ในตัวมนุษย์ในฐานะของบุคคลกับบทบาทต่างๆ ของเขา ว่าเป็นเหมือนการ สวมหมวกŽ

ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้อยู่ในสถานะรองนายกรัฐมนตรี ว่าที่หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ หรือก่อนหน้านั้นคือ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ที่เชื่อกันว่าคือ ผู้มีอำนาจตัวจริงอยู่เบื้องหลังการใช้อำนาจของ คสช. และการเมืองยุคหลังจากนั้น อาจจะมีภาพลักษณ์เหมือนตัวร้ายตลกๆ ดังภาพที่รู้สึกกันทั่วไป นี่คือภาพของ ตัวละครแบนŽ แบบหนังละคร

แต่เราไม่ค่อยได้เห็น แง่มุมŽ ความเป็นมนุษย์ในแง่อื่นที่แสดงถึงความเป็น ตัวละครกลมŽ ของบุคคลผู้นี้สักเท่าไร แง่มุมด้านที่หันให้สำหรับบุคคลผู้ใกล้ชิด เช่น แง่มุมเชิงความสัมพันธ์ส่วนตัว ที่แม้ว่าไม่มีลูกหลานทางตรง เพราะยังไม่ได้สมรส แต่ท่านจะเป็นคุณลุงของหลานๆ บ้านไหนบ้างหรือไม่ ในฐานะของบุตรชาย ท่านจะมีบทบาทอย่างไร (ซึ่งได้ทราบว่ามารดาท่านยังมีชีวิตอยู่) ส่วนกับบรรดาลูกน้องผู้ใต้บังคับบัญชานั้นท่านเป็นเจ้านายที่มีเมตตา หรือเข้มงวดอย่างไร เรื่องนี้คงมีแต่ผู้ใกล้ชิด หรืออยู่ในสถานะดังกล่าวเท่านั้นที่จะได้รู้

เพราะมิติต่างๆ ของมนุษย์นั้นขึ้นกับบริบทและความสัมพันธ์ ดังนั้นการแปะป้าย หรือชี้วัดว่าใครเป็นอย่างไร และพยายามนำเอาป้ายนั้นไปใช้บ่งชี้บุคคลนั้นในทุกบริบทนั้นจึงเป็นเรื่องตื้นเขินเปล่าประโยชน์ ในเมื่อเราสามารถค้นพบแง่มุมความเป็นคุณพ่อที่แสนดีได้ในตัวของหัวหน้าแก๊งอันธพาลที่สั่งฆ่าคนอย่างทารุณโหดร้าย หรือในทางกลับกันนักต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองและความเสมอภาคของเพื่อนมนุษย์อาจจะเป็นคนโหดร้ายไล่เตะหมาทุกตัวที่นอนหน้าร้านสะดวกซื้อ เรื่องต่างๆ เหล่านี้ไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่จริงหรือเป็นไปไม่ได้

เอาตัวอย่างที่เป็นเรื่องจริง นักวิชาการผู้จริงจังในการถกเถียงในประเด็นละเอียดอ่อนอย่างอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล ต่อหน้าสุนัขน่ารักๆ ท่านก็ ต๊ะเอ๋Ž ทักทาย เช่นเดียวกับอดีตนายกรัฐมนตรี คุณสมัคร สุนทรเวช ที่ได้ชื่อว่าเป็นทาสแมวมาตั้งแต่ไหนแต่ไร หรือในเรื่องความเห็น หรือทรรศนะทางการเมืองที่แสดงผ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้เพียงใด แต่สำหรับท่านอาจารย์จรัญ ภักดีธนากุล แล้วก็ไม่มีใครกล้าก้าวล่วงในแง่มุมของความเป็นครูกฎหมายผู้ทรงภูมิและมีเมตตา เช่นเดียวกับบทบาททางวิชาการ ของศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หรือเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจจะทำให้ใครที่มีลูกเล็กได้ระลึกถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา ในแง่ดี คือในครั้งหนึ่งที่มีการนำเด็กนักเรียนเล็กๆ ไปเยี่ยมเยียนที่ทำเนียบ จำไม่ได้แล้วว่าด้วยสาเหตุใด แต่ท่านจะต้องอุ้มเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ อายุราว 5-6 ขวบขึ้นมา วิธีการอุ้มของท่านนั้นถ้าใครเป็นพ่อแม่มีลูกเล็กสังเกต จะรู้ว่าท่านจงใจอุ้มอย่างทนุถนอมและระมัดระวังเป็นพิเศษสำหรับเด็กผู้หญิงไม่ให้เกิดภาพไม่น่าดู ในเสี้ยววินาทีนั้น เขาเป็น ลุงตู่Ž ของเด็กจริงๆ

เรื่องนี้ใครที่เป็นลูกเป็นหลานของบุคคลผู้มีอิทธิพล หรือมีชื่อเสียงในด้านไม่ดีคงมีประสบการณ์เจ็บปวดในเวลาที่เห็นคำวิพากษ์วิจารณ์ หรือสาปแช่งบุพการีญาติพี่น้องของเขาในทางสาธารณะ ก็ในเมื่อสำหรับพวกเขาแล้ว จอมพลผู้ได้ชื่อว่าเป็นทรราช คือ คุณตาผู้ใจดีของพวกเขา นักการเมืองผู้ชั่วร้ายขี้ฉ้อนั้นเป็นพ่อเป็นน้าที่แจกอั่งเปาซองโตๆ หรือนายทุนผู้ทรงอิทธิพลที่ได้ชื่อว่าผูกขาดกินรวบนั้นก็เป็นอากงอาแปะผู้สอนบทเรียนชีวิตและให้คำแนะนำอันล้ำค่าให้ญาติพี่น้องวงในสายสนิท

แต่ทั้งแง่มุมสาธารณะและแง่มุมส่วนตัวนั้นในหลายเรื่องสามารถวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวเนื่องกันไปก็ได้ เช่น คุณตาใจดีของท่านได้พรากชีวิตลูกสาวลูกชาย และพ่อแม่ของคนนับสิบนับร้อยครอบครัวไปด้วยการสั่งการเพียงครั้งเดียว เงินในอั่งเปาซองโตนั้นมาจากส่วนแบ่งของผู้ประมูลงานกับทางภาครัฐที่กันส่วนมาจากเงินที่ควรเอาไปเพิ่มความแข็งแรงให้แก่ถนนหรือสะพาน ส่วนบทเรียนชีวิตของอากงอาแปะก็อาจจะแลกมาด้วยการทำให้คู่สัญญาใหญ่น้อยกล้ำกลืนน้ำตาล้มละลายขายกิจการ แต่แง่มุมที่ต่างฝ่ายต่างก็อ้างนั้นก็เป็นเรื่องจริงทั้งคู่อย่างที่ไม่จำเป็นต้องคัดง้างกันว่าเรื่องของใครจริงกว่าใคร

ลองคิดในแง่นี้ดูว่า ถ้าเราเขียนเรื่องราวทั้งหมดในชีวิตของมนุษย์สักคนอย่างซื่อตรงลงในสมุดสักเล่มหนึ่ง เอาเรื่องของคุณเองก็ได้ โดยกำหนดว่า ในหน้าที่เป็นเลขคู่ จะเขียนเฉพาะเรื่องราวความสัมพันธ์ส่วนตัวกับญาติมิตรคนใกล้ตัว ส่วนในหน้าคี่จะเขียนเรื่องราวความสัมพันธ์ที่มีต่อคนอื่นๆ สังคม และประเทศชาติ จากนั้นถ้าคัดเอาเฉพาะหน้าคู่หรือหน้าคี่ไปให้ใครก็ได้ที่ไม่รู้จักตัวตนของเจ้าของเรื่องอ่าน แล้วให้วิพากษ์วิจารณ์ว่าบุคคล ในบันทึกนั้นเป็นคนดีคนร้ายอย่างไร นับถือกราบไหว้ลงหรือไม่ เราอาจจะได้คำตอบที่แตกต่างกันราวกับฟ้ากับเหว

แต่ทั้งนี้ ไม่ได้จะสรุปแบบคติน้ำเน่าโลกสวยว่า อย่าตัดสินหรือวิพากษ์วิจารณ์ใคร ถ้าไม่ได้รู้จักเขาทั้งหมดทุกแง่มุม เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่จะทำเช่นนั้น ในชีวิตจริงของเราอย่าว่าแต่อ่านบันทึกของใครทั้งหน้าคู่และหน้าคี่เลย เอาว่าต่อให้อยากเลือกอ่านแต่หน้าคู่ เขาก็อาจจะส่งมาให้คุณเฉพาะบางหน้าที่เลือกมาแล้ว

รวมไม่ได้จะบอกว่าเราไม่ควรไปตัดสินผู้อื่น ไม่เลยเรามีสิทธิตัดสินเสมอ แม้ว่าจะไม่ใช่ผู้พิพากษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบุคคลสาธารณะ ผู้มีตำแหน่งทางการเมือง หรือผู้ใช้อำนาจที่อาจส่งผลต่อทางได้ทางเสียของเรา เพียงแต่เราต้องรู้เท่านั้นเองว่า คำตัดสินของเรานั้นอยู่ภายใต้ข้อจำกัดและบริบทใด และถ้าเห็นทรรศนะใดที่แตกต่าง ก็ไม่ได้แปลว่าเขาคิดผิดหรือเห็นผิด

ถ้านั่นไม่ใช่การตัดสิน หรือคิดเห็นแบบฉาบฉวยแบบที่ว่าไปปลูกต้นไม้ทีเดียวสามารถฟันธงได้เสียแล้วว่าที่ชาวบ้านเขาก่นด่ากันทั้งประเทศมาหลายปีนั้นเป็นเรื่องที่ถูกชี้นำ หลอกลวง หรือไม่มีวิจารณญาณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image