การเมืองไทย‘ยุคโควิด-19’ : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

การเมืองไทย‘ยุคโควิด-19’ : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

การเมืองไทย‘ยุคโควิด-19’ : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

นับตั้งแต่การปฏิวัติครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 รวมเวลา 6 ปีเศษ ภายใต้การปกครองของรัฐบาล คสช. ด้วยสูตร 5 บวก 1 และเป็นปีที่ 88 ของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2475 มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย กฎหมายรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2560 เป็นกฎหมายสูงสุดที่ “คสช.” โดยมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ที่มีการกล่าวขวัญกันว่าเป็น “ฉบับร่างเพื่อพวกเรา” 2-3 ปีที่ผ่านมา กฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2560 ดังกล่าวกับสำแดงฤทธิ์ได้ผลตาม “ฉายา” ที่มีการประดิษฐ์วาทกรรมขึ้นมาตามที่สื่อต่างๆ มีการนำเสนอ

ขณะนี้การเมืองไทยโดยเฉพาะ “การเลือกตั้ง” ของไทยก้าวถอยหลังและชะงักงัน มีผู้ใหญ่กล่าวว่าย้อนหลังไปถึง 40 กว่าปี เพราะการครองอำนาจของเผด็จการการเมือง การเลือกของประเทศเพื่อนบ้านของเราโดยเฉพาะในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และล่าสุดสิงคโปร์ก็กำลังจะมีการเลือกตั้งอีก 1-2 เดือนข้างหน้า สามสี่ประเทศนี้น่าจับตามองที่สุดในอาคเนย์ ของเรากลับเปลี่ยนแปลงอย่างสูงภายใต้เงื่อนไขที่ต่างกัน ราวกับจะยืนยันให้เห็นความเป็นไปได้ และคลื่นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ทำให้การเลือกตั้งมิได้หยุดนิ่ง และถูกผูกขาด…โดยชนชั้นนำกลุ่มเดิมๆ จำนวนน้อยอีกต่อไป

จำเป็นอย่างยิ่งของการเรียนรู้จากสังคมอื่น หากขาดหรือละเว้นก็ยากที่ “เรา” จะเข้าใจประเทศของตัวเองอย่างถ่องแท้และหากปราศจากการย้อนกลับไปมองที่มาที่ไปในอดีตก็ยากจะเข้าใจสภาพปัญหาทางการเมืองในปัจจุบัน เพราะ “ประวัติศาสตร์” หรืออดีตมีคุณค่ายิ่งในการที่เราจะเป็นแสงสว่างนำทางให้เราสร้างชาติให้เจริญอย่างดีที่สุด นั่นคือ การร่วมถกเถียงถึงโอกาส ความหวัง ความฝันกับความจริงจากการศึกษา ชำเลืองดูเปรียบเทียบกับความเปลี่ยนแปลงของการเลือกตั้งของประเทศเพื่อนบ้านย้อนกลับมาทบทวนกับเลือกตั้งของไทย ซึ่งตั้งไข่ล้มลุกคลุกคลานมากกว่า 88 ปี โดยเฉพาะการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งล่าสุด วันที่ 22 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างกระบวนการเลือกตั้งคุณภาพกับประชาธิปไตยที่ยั่งยืน

Advertisement

อนึ่ง ทศวรรษ 2500-2510 ที่ผ่านมา สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองการปกครองครั้งใหญ่ เมื่อกลุ่มอำนาจทหารนำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยการปกครองแบบ “เผด็จการระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์” คำขวัญ “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” นำบ้านเมืองสู่ยุคพัฒนาตัดถนนหนทางจากเมืองสู่ชนบท พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกทุกด้าน

สร้างความรู้สึกกับคนไทยในประเทศ ถึงความเป็นคนไทยและประเทศไทยว่าเป็น “ไทยจริง” จนรู้สึกหรือเชื่อไปได้ว่าความเป็นไทยยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น “คนไทยปลอม” แต่จะมีกี่คนรู้ว่าการพัฒนาดังกล่าวต้องแลกมาด้วย “นัยซ่อนเร้น” ต่างๆ นานา ด้านการเมืองการปกครองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนยากที่ใครจะรู้ถึงการแทรกซึมโดยเจตนานี้

หากมาดูการเมืองการปกครองยุคปัจจุบันที่มีนายกรัฐมนตรี ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครองอำนาจด้วยการปกครอง 2 ระบอบ กล่าวคือ 2557-2562 เป็นระบอบเผด็จการ ปี 2562- ถึงปัจจุบัน เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ : กึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 แต่มีเหตุการณ์พิเศษที่มี สงครามโรค ครั้งที่ 3 ด้วยการระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลกกว่า 200 ประเทศ และมีคนป่วยด้วยโรคดังกล่าวเกือบ 10 ล้านคน และมีคนตายเบ็ดเสร็จเกือบ 6 แสนกว่าราย และพบว่าโรคนี้อุบัติเริ่มต้นที่ประเทศจีน ได้ลุกลามไปทุกทวีป ทุกประเทศ และที่สำคัญที่อ่วมที่สุด คือ ประเทศมหาอำนาจ นอกจาก “จีน” ก็มีประเทศอเมริกา เยอรมนี อิตาลี อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย บราซิล อินเดีย โดยไม่ละเว้น และยังคงสภาพการระบาดดำเนินอยู่ต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 2-5 ปี

Advertisement

ทั้งนี้เพราะยังไม่มีประเทศใดค้นคว้าวัคซีนฉีดป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 รวมถึงยังไม่มียารักษาโรคดังกล่าวนี้อีกด้วย

ประเทศไทยเราถูกระบาดมาตั้งแต่เดือนมกราคมถึงปัจจุบัน รวม 6 เดือนเต็มๆ ย่างเข้าเดือนที่ 7 การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 “โควิด-19” อยู่ในทิศทางที่ดีโดยไม่ติดเชื้อภายในประเทศติดต่อกันมากกว่า 1 เดือนแล้ว ขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงเป็น “เชื้อนำเข้า” เป็นคนเดินทางกลับจากต่างประเทศ แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่ประชุม “คณะกรรมการศูนย์บริการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.” ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ประกาศเคาะต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน (1 ก.ค.-31 ก.ค.63) ด้วยเหตุผลว่ามีความจำเป็นที่จะต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อรองรับการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมต่างๆ ขณะเดียวกันจะมีการเปิดภาคเรียน ทำให้ประชาชนสัญจรไปมาเพิ่มขึ้นซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงสูง

ที่สำคัญยิ่งจากการล็อกประเทศมา 3 เดือน ปัญหาเศรษฐกิจไทยเข้าขั้นวิกฤตจากผลกระทบโควิด-19 โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ปีนี้ติดลบ 8.1% จากเดิมคาดติดลบ 5.3% ส่วนการส่งออกคาดติดลบ 10.3% จากเดิมคาดว่าจะติดลบ 8.8% ซึ่งถือว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงหนักกว่า วิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540 และคาดว่าจะมีคนตกงานไม่ต่ำกว่า 2-3 ล้านคน แต่ด้วยสภาพของประเทศขณะนี้จากเรื่อง “วัคซีนป้องกันโควิด” แล้วรัฐบาลยังต้องอาศัยฉีด “วัคซีน…ขจัดเหลือบโกง” มาช่วยสกัด “เชื้อไวรัสโกงบ้านโกงเมือง” จากวงเงิน 400,000 ล้านบาท ในส่วนของการเยียวยาและพื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ล่าสุดมีหน่วยงานเสนอโครงการแล้วกว่า 43,851 โครงการ คิดเป็นเงินทะลุไปกว่า 1.36 ล้านบาท หรือเกือบจะเป็น 2 เท่าของกรอบงบประมาณ

ขณะเดียวกันก็เกิดปัญหาวุ่นๆ ทางการเมืองที่ร้อนแรง ตอนนี้ก็ต้องการ “วัคซีนทางการเมือง” เช่นกัน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2563 มีการประชุมใหญ่ของ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐเลือกให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนท่วมท้นเป็นเอกฉันท์ ขึ้นนั่งแท่นหัวหน้าพรรคคนใหม่เป็นที่เรียบร้อย หวังเดินเกมส์เสริมแกร่งให้บัลลังก์อำนาจของรัฐบาลบิ๊กตู่ ปูทางอยู่ยาวๆ ออกไป แต่งานนี้นัยทางการเมืองและภาพลักษณ์กลับยังตอกย้ำสะท้อนของพรรคให้เป็น “พรรคทหาร” ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสถานที่ในการใช้เทียบเชิญ “บิ๊กป้อม” ก็หนีไม่พ้นค่ายทหาร และยิ่งดูเป็นการสอดรับกับข้อสงสัย เรื่องการเดินเกมส์พลังประชารัฐเพื่อ “ต่อท่ออำนาจ” ดังนั้น เรื่องนี้แทนที่จะเป็นจุดแข็งอาจจะกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เกิดการปลุกกระแส “เกมการเมืองนอกสภา”

และปลุกพลังมวลชนขึ้นต่อต้าน “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์” ในช่วงหลังจากนี้ได้ง่ายยิ่งขึ้น

และเป้าหมายต่อไปที่เป็นจุดหมายสำคัญ นั่นคือ ยุทธการ “เขย่า” กดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ปรับ ครม. ตามหลักสมการนักการเมืองเลือกตั้งมืออาชีพ เรื่องโควต้าสัดส่วน ส.ส. ต่อเก้าอี้รัฐมนตรียื่นผ่าน “บิ๊กป้อม” ในฐานะหัวหน้าพรรคอันดับหนึ่งของรัฐบาล แต่จากการเทียบเชิญจะเห็นได้จากมีตัวแทนจากหลายกลุ่มก๊วนมาก 2-3 กลุ่ม ทั้ง
“กลุ่มสามมิตร” จากกลุ่มสามมิตรเดิมที่เหลือสองแกนนำ คือ สมศักดิ์และสุริยะ เขี่ย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พ้นวงจรอำนาจ
“กลุ่ม กปปส.” ที่นำโดย 2 รัฐมนตรีอดีตแกนนำ กปปส. ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
“กลุ่มธรรมนัส” ที่คุมเกมโดย ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ที่เหยียบเรือสองข้าง “กลุ่มวิรัช” ภายใต้การนำของ วิรัช รัตนเศรษฐ เป็นต้น
ขณะเดียวกันภาพประเด็นการหย่าศึกในพรรคระหว่าง “ก๊วนธรรมนัส” และ “ก๊วนวิรัช” ที่บิ๊กป้อมยกยอว่าเป็นทหารเอกทั้งคู่ให้จูบปากกัน อาจจะเป็นภาพภายนอกเท่านั้น เพราะท้ายสุดแล้วเป้าประสงค์ของแต่ละก๊ก กลุ่ม ก๊วน มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี ที่จะมีการเขย่าในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะแย่งกันฝุ่นตลบมากกว่า เมื่อครั้งแรกจัดตั้งรัฐบาลซึ่งต้องมีการ
เกลี่ยโควต้าพรรค โควต้ากลางของนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ยังเกิดการระส่ำของพรรค “ลุงกำนัน” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขาใหญ่ กปปส. จากการลาออกของหัวหน้าพรรค “หม่อมเต่า” มรว.จัตุมงคล
โสณกุล รมว.แรงงาน ทิ้งบอมบ์ใส่เจ้าของค่ายตัวจริง อีกทั้งพรรคใหญ่ๆ อย่าง ปชป. ก็ไม่วายมีกระเพื่อมเขย่าบัลลังก์มีหัวหน้าพรรค ปชป. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ โทษฐานนำพรรคตกต่ำ ปชป. ป่วนล้มโควต้ากินรวบอยู่ในหมู่แกนนำชุดปัจจุบัน

งานนี้ “บิ๊กตู่” จะใช้วิธีไหนเป็นการไกล่เกลี่ยตำแหน่งให้เหมาะสม ทั้งความเหมาะสมในแง่พรรคร่วมรัฐบาลอยู่กันต่อไป ความเหมาะสมในแง่เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ การจัดให้คนตรงกับงาน และความเหมาะสมของคนที่ขึ้นมานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีมีความรู้ความสามารถในการทำงาน อีกพรรคที่เงียบๆ คือ ภูมิใจไทยอยู่อย่างสงบเสงี่ยม แต่ ส.ส.ของพรรคเพิ่มมาอีก 8-9 คน พรรคใหญ่เป็นอันสองรองจากพรรคประชารัฐจะเรียกร้องขอโควต้าเพิ่มอีกหนึ่งหรือไม่ต้องติดตามดู

สถานการณ์ตอนนี้ นอกจากวัคซีนโควิด-19 จึงไม่มีประเทศใดในโลกผลิตได้ มาใช้ป้องกันโรคระบาดแล้ว วัคซีนที่สำคัญ 2 ตัว คือ “วัคซีนหยุดเชื้อเหลือบโกง” และวัคซีนการเมืองก็สำคัญไม่แพ้กัน อยู่ที่ว่านายกรัฐมนตรีที่ชื่อ “บิ๊กตู่” จะเลือกฉีดวัคซีนสูตรไหนให้ประเทศไทย ระหว่าง “สูตรเสริมบัลลังก์อำนาจ” แย่งกันฝุ่นตลบกับสูตรเพื่อประโยชน์สุขของมวลประชาชนคนไทย คงจะได้เห็นกันเร็วๆ นี้ ไงเล่าครับ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image