สะพานแห่งกาลเวลา : คำถามที่ทุกคนอยากรู้คำตอบ โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-NASA)

มีประกาศจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซาของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่ากำหนดปล่อยยานอวกาศไปสำรวจดาวอังคาร ที่เดิมกำหนดไว้ในราวกลางเดือนกรกฎาคมนี้มีอันต้องเลื่อนออกไปอีกครั้ง เป็นอย่างเร็วที่สุด 30 กรกฎาคม

ไม่ใช่เพราะโควิดระบาดครับ แต่เป็นเพราะปัญหาทางเทคนิค เนื่องจากเกิดปัญหาขึ้นกับเซ็นเซอร์ตรวจสอบเชื้อเพลิงออกซิเจนเหลว

ประกาศที่ว่านี้ ทำให้ผมนึกถึงโครงการสำคัญโครงการนี้ขึ้นมา ด้วยเหตุที่ว่ามันถูกข่าวคราวการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลบไปจนหมด

โครงการนี้สำคัญอย่างมาก เพราะเป็นโครงการสำรวจดาวอังคารโครงการแรกที่มุ่งมั่นตอบคำถามสำคัญที่ทุกคนอยากรู้ให้ได้ นั่นคือ บนดาวอังคาร “มี” หรือ “เคยมี” สิ่งมีชีวิตหรือไม่?

Advertisement

เพื่อหาคำตอบนี้ นาซาส่งยานโรเวอร์สำหรับสำรวจพื้นผิวไปลงที่นั่นอีกครั้ง ยานโรเวอร์ใหม่นี้ใช้ชื่อรหัสว่า “มาร์ส 2020” เพิ่งได้ชื่ออย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า “เพอร์เซเวอแรนซ์” ที่แปลว่า “ความเพียร” นั่นแหละครับ

(คนตั้งชื่อไม่ใช่นาซา แต่เป็นเด็กนักเรียนอายุ 12 ปี จากคอนเนกติกัต ชื่อ อเลกซานเดอร์ แมเธอร์ ที่ส่งชื่อพร้อมคำอธิบายเข้าประกวด)

เพอร์เซเวอแรนซ์ รูปร่างหน้าตาคล้ายๆ กับคิวริออสซิตี ยานโรเวอร์ที่ไปลงดาวอังคารเมื่อปี 2012 ยังกะแกะออกมาจากพิมพ์เดียวกัน

Advertisement

แต่ขีดความสามารถของมันกลับสูงกว่าคิวริออสซิตีมากครับ

จุดหมายปลายทางของเพอร์เซเวอแรนซ์ คือหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่บริเวณเส้นศูนย์สูตรของดาวอังคาร ที่มนุษย์โลกตั้งชื่อไว้ว่า “เจเซโรเครเตอร์” เพื่อหาคำตอบให้ได้ว่า มีหรือเคยมี สิ่งมีชีวิตอยู่หรือไม่
ที่เลือกที่นี่เพราะ เจเซโรมีลักษณะเหมือนทะเลสาบ หรือลากูนบนโลกมากเพียงแต่แห้งผากเท่านั้นเอง

ด้านหนึ่งของเจเซโรมีร่องลึก ดูคล้ายลำน้ำขนาดใหญ่ไหลลงมาสู่ตัวหลุม ตรงปากทางเข้ามีลักษณะเหมือนพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำบนโลกไม่มีผิด

ถ้าเป็นบนโลก ภูมิประเทศแบบนี้มักจะปรากฏชั้นหินเก่าแก่ที่เรียกว่า “สโตรมาโทไลท์” ให้เห็นบริเวณริมขอบหรือหาดที่น้ำตื้นๆ

สโตรมาโทไลท์ เป็นชั้นหินตะกอนที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมาก จำพวกแบคทีเรีย หรือจุลชีพเซลล์เดียวอื่นๆ ที่มีชีวิตอยู่ในน้ำตื้นๆ

สิ่งมีชีวิตเหล่านี้สร้างเมือกขึ้นมา กลายเป็นตัวดักจับตะกอนละเอียดที่มากับน้ำเอาไว้นานๆ ในเมือกเหล่านั้นจะมีสารคาร์บอร์เนต ซึ่งจะทำให้ตะกอนพวกนั้นจับตัวกันแน่นขึ้น แผ่เป็นแผ่นบางๆ นานเข้าเป็นล้านปี พันล้านปี ก็จะกลายเป็นฟอสซิลหินเนื้อละเอียดที่มีซากของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้อยู่ภายใน

เพอร์เซเวอแรนซ์มองหา “สโตรมาโทไลท์” แบบนี้แหละครับในเจเซโรเครเตอร์

หาหินตัวอย่างเหล่านี้เพื่อที่วิเคราะห์ดูว่า เป็นผลงานของสิ่งมีชีวิตหรือเกิดจากสภาวะธรรมชาติอย่างอื่น

ที่สำคัญที่สุดและแตกต่างจากโครงการที่ผ่านมามากที่สุดก็คือ เพอร์เซเวอแรนซ์จะควานหา “ตัวอย่างที่ดีที่สุด” จำนวนหนึ่งเก็บเอาไว้ในหลอดขนาดเท่าๆ ปากกาเขียนไวท์บอร์ด เก็บไว้บนพื้นผิวดาวอังคาร

รอยานสำรวจเที่ยวต่อๆ ไปนำกลับมายังโลก เพื่อให้ห้องปฏิบัติการทดลองบนโลกได้ตรวจสอบซ้ำเเละมีหลักฐานบ่งชี้ชัดกันลงไปเลยอีกต่อหนึ่ง

ถ้าปลายเดือนนี้ทุกอย่างไม่มีอะไรติดขัด เพอร์เซเวอแรนซ์ก็จะออกเดินทาง ใช้เวลา 7 เดือนถึงดาวอังคาร กำหนดร่อนลงจอดในราวเดือนกุมภาพันธ์ 2021

นักวิทยาศาสตร์คาดว่า ภายในทศวรรษ 2030 พวกเขาจะมีตัวอย่างที่เก็บจากดาวอังคารมาอยู่ในมือเป็นครั้งแรก

แล้วก็ตอบคำถามได้หนักแน่น เต็มปากเต็มคำเสียทีว่า ดาวอังคาร มี หรือเคยมี สิ่งมีชีวิต หรือไม่

ก่อนที่จะคิดต่อไปว่า ถ้าจำเป็นต้องตั้งอาณานิคมที่นี่ ต้องทำอย่างไรถึงจะดีที่สุดนั่นเองครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image