บทนำ : ต้าน‘ระเบียบศธ.’

บทนำ : ต้าน‘ระเบียบศธ.’

บทนำ : ต้าน‘ระเบียบศธ.’

ระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้นักเรียนชายจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลังต้องยาว ไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย ส่วนนักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสม และรวบให้เรียบร้อย แต่มีข้อห้ามดัดผม ย้อมสีผมให้ผิดไปจากเดิม ไว้หนวดหรือเครา และการกระทำอื่นใดซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพการเป็นนักเรียน เช่น การตัดแต่งทรงผม เป็นรูปทรงสัญลักษณ์หรือเป็นลวดลาย การกำหนดทรงผมของนักเรียนเป็นไปตามความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษา หรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียน ซึ่งจะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้

ระเบียบดังกล่าว ได้รับเสียงชื่นชมจากสังคมส่วนหนึ่ง เพราะเห็นว่าเป็นการผ่อนคลายให้เด็กมีเสรีภาพ แต่เกิดปัญหาในโรงเรียนบางแห่ง มีครูบางท่านโพสต์ข้อความไล่นักเรียนให้ไปเรียนที่อื่น หากไม่พอใจที่ครูไม่ให้ไว้ผมยาว นอกจากนี้ ยังมีศิษย์เก่าของโรงเรียนเข้ามาร่วมแสดงความเห็นว่า หากไว้ผมจะทำให้เด็กเป็นสาวเร็วขึ้น มีความเสี่ยงในเรื่องชู้สาว ขณะที่นักเรียนได้ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียเปิดเผยการที่ครูจับเด็กตัดผม และมีกรณีที่ผู้ปกครองนักเรียน อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ลูกสาวโดนครูลงโทษ ใช้กรรไกรตัดทรงผมแหว่ง ทำให้อับอาย โดยผู้อำนวยการโรงเรียนเกิดเหตุยืนยันว่าระเบียบก็คือระเบียบ สังคมอยู่ได้เพราะระเบียบ

เข้าใจได้ว่า การให้เสรีภาพเด็กไว้ผมยาว รวมไปถึงการยกเลิกเครื่องแบบนักเรียนที่เริ่มมีการพูดถึงกันมาก โรงเรียนหลายแห่ง เห็นว่า เป็นโอกาสยกระดับคุณภาพการศึกษา ทำให้นักเรียนเติบโตเป็นคนรุ่นใหม่ แต่บางโรงเรียน อาจรู้สึกสูญเสียอำนาจบังคับเหนือนักเรียน แนวทางของโรงเรียนที่ผลิตคนเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ น่าจะต้องเปิดกว้าง เข้มงวดในความรู้ ความคิด มีเหตุผล มากกว่ามัวเข้มงวดกับเครื่องแบบ ทรงผม ที่ไม่ใช่สาระสำคัญของการศึกษา ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าว ได้เปิดให้เห็นภาพจริงของระบบที่ยังรอกระทรวงศึกษาฯไปทำความเข้าใจ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image