ที่เห็นและเป็นไป : โอกาสของ‘การเมืองท้องถิ่น’

ที่เห็นและเป็นไป : โอกาสของ‘การเมืองท้องถิ่น’

ที่เห็นและเป็นไป : โอกาสของ‘การเมืองท้องถิ่น’

ยุทธศาสตร์ใหม่ของ “อนาคตใหม่” ที่ถูกยุบพรรคไป แล้วแตกตัวมาเป็น “พรรคก้าวไกล” ให้คนที่ไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ใช้เป็นฐานแสดงบทบาทในสภา กับคณะก้าวหน้าที่ใช้เป็นกลไกรองรับผู้นำพรรคที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองให้ได้แสดงบทบาททำงานมวลชน คือยุทธศาสตร์ที่ใช้ “เวทีการบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นเวทีแสดงบทบาททางการเมือง” เป็นเรื่องน่าสนใจมาก

ก่อนหน้านั้น การเมืองท้องถิ่นไม่มีอะไรแตกต่างกับการเมืองระดับชาตินัก ดูจะเป็นแค่การสร้างฐานของกลุ่มการเมืองที่ใช้ในการรองรับการเมืองระดับชาติด้วยซ้ำ

หลายจังหวัด หรือถ้าจะว่าไปเป็นเป้าหมายของทุกจังหวัดด้วยซ้ำ ที่กลุ่มการเมืองที่มีบทบาทระดับชาติ ใช้การเมืองท้องถิ่นเป็นฐานของครอบครัว หรือของกลุ่ม

Advertisement

องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทั้งหลาย ถูกทำให้เป็นฐานที่มั่นที่จะต้องส่งคนในครอบครัวไปยึดกุมไว้

ตระกูลไหนที่คุมการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดได้ เมื่อมีการคัดตัวผู้สมัครการเมืองเวทีใหญ่ จะเป็นตระกูลที่ได้รับความสำคัญเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของพรรคการเมืองใหญ่ที่จะส่งลงสมัครเพื่อขยายบทบาทขึ้นไป

จนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วว่า ครอบครัวไหนได้รับการเลือกเป็น ส.ส. จะต้องมีคนในครอบครัวพยายามที่จะยึดครองการเมืองท้องถิ่น

Advertisement

การเมืองที่อาศัยการสร้างเครือข่ายหัวคะแนน หรือจะว่ากันแบบตรงไปตรงมาคือ เงินในการหาเสียง

ตระกูลที่ยึดกุมพื้นที่ไว้ได้ย่อมต่อรองได้ในราคาที่สูงกว่า

อย่างไรก็ตาม กลไกแบบนี้เองที่เอื้อต่อการเมืองแบบผูกขาด

ตราบใดที่ยังพัฒนาความคิดความอ่านประชาชนไปสู่การใช้สิทธิอย่างมีคุณภาพเหมาะสมกับการเลือกตั้งแต่ละประเภท ที่เลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ที่แตกต่างกันไม่ได้

ตราบนั้นตระกูลไหนที่ทำงานใกล้ชิดประชาชน ช่วยเหลือเป็นที่พึ่งพิงในการดำเนินชีวิต จะได้รับเลือกในทุกระดับ และถึงที่สุดจะประสบความสำเร็จในการสร้างการเมืองแบบผูกขาดโดยตระกูลขึ้นมาในพื้นที่

แม้ว่าจะมีข้อดีอยู่บ้าง ตรงที่ประชาชนในพื้นที่ได้รับการดูแลใกล้ชิดจากเครือข่ายหัวคะแนนของตระกูลนั้น

แต่ที่จะตามมาคือ การบริหารจัดการท้องถิ่นจะเป็นไปเพื่อตอบสนองการเมืองส่วนกลางเป็นหลัก

เมื่อส่วนกลางต้องการอย่างไร จะสั่งการผ่านกลไกให้ไปจัดการในท้องถิ่นได้ง่ายๆ

กลายเป็นว่า การเมืองท้องถิ่นไม่สามารถมีอำนาจที่เป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนในพื้นที่ได้ เพราะแก่นแกนที่มาของผู้บริหารไม่ใช่เพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่ แต่เป็นตัวแทนอำนาจของส่วนกลางมากกว่า

ที่บอกว่าน่าสนใจคือตรงนี้

พรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้านั้นชัดเจนว่ามีปัญหาถูกกดดันให้แสดงบทบาททางการเมืองในเวทีส่วนกลางได้ระดับหนึ่งเท่านั้น

หนำซ้ำยังมีกลไกที่จะติดตามเล่นงานไม่ให้มีพลังในบทบาททางการเมืองในระดับที่จะสร้างผลกระทบต่อยุทธศาสตร์ชาติในยุคสมัยเช่นนี้ได้

การหันมาเน้นบทบาทของ “การเข้าไปมีบทบาทในอำนาจการเมืองท้องถิ่น” จึงน่าจะเป็นสิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ไม่น้อย

จาก “การเมืองท้องถิ่น” ที่เป็นแค่ “กลไกถ่ายทอดอำนาจจากส่วนกลาง” โดย “คนตระกูลเดียวกัน”

มาเป็น “ท้องถิ่น” พร้อมจะ “ตอบโต้อำนาจจากส่วนกลาง” เพื่อรักษาผลประโยชน์ของท้องถิ่น ฐานะคนที่ใกล้ชิดประชาชนมากกว่า

การบังคับใช้กฎหมายของส่วนกลาง จะถูกทำให้ต้องนึกถึง “ข้อเท็จจริงในท้องถิ่น”

จะทำให้การตัดสินตามกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยส่วนกลาง สะท้อนความยุติธรรมมากขึ้น เมื่อประกอบเข้าด้วยข้อเท็จจริงของคนในท้องถิ่นที่จะถูกตีความในทางเป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชน

ไม่ใช่ตีความให้เป็นไปแต่ในแนวเข้าทางอำนาจจากส่วนกลางเหมือนที่ผ่านมา

ย่อมเป็นเรื่องน่ายินดีที่ “คณะก้าวหน้า” ซึ่งแสดงเจตนาที่ชัดเจนว่าจะพัฒนาการเมืองไทยให้มีคุณภาพเหมาะสมมากขึ้น จะเล่นในสนามท้องถิ่น

เพียงแต่ว่า ความชัดเจนที่ต้องการลงไปเปลี่ยนแปลงการใช้อำนาจในท้องถิ่นดังกล่าว

จะทำให้โอกาสที่จะมี “การเลือกตั้งท้องถิ่น” ไม่เกิดขึ้นง่ายๆ ในเร็ววัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image