จิตวิวัฒน์ : สร้างพลังใจในยามวิกฤต : โดย พระไพศาล วิสาโล

จิตวิวัฒน์ : สร้างพลังใจในยามวิกฤต : โดย พระไพศาล วิสาโล

จิตวิวัฒน์ : สร้างพลังใจในยามวิกฤต : โดย พระไพศาล วิสาโล

เมื่อ 25 ปีก่อน สงครามกลางเมืองในประเทศกัมพูชาเพิ่งยุติ มีพระชาวญี่ปุ่นคณะหนึ่งเดินทางไปที่นั่น เพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ประสบภัย คราวหนึ่งท่านได้ไปเยือนโรงเรียนแห่งหนึ่งในชนบท โรงเรียนนี้ขัดสนไปเกือบทุกอย่าง มีเพียงอาคารหลังเก่าๆ และบรรยากาศดูเศร้าสร้อย ท่านถามครูใหญ่ว่าต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง ทีแรกท่านคิดว่าครูใหญ่คงอยากได้โต๊ะ เก้าอี้ กระดาน และเครื่องเขียน แต่คำตอบที่ได้คือ “เมล็ดพันธุ์และกล้าไม้ดอก”

พระญี่ปุ่นนึกไม่ถึงว่าจะได้คำตอบนี้ จึงขอทราบเหตุผล ครูใหญ่อธิบายว่า เด็กโรงเรียนนี้พบเห็นสงคราม การฆ่าฟันและการทำลายล้างมาตั้งแต่เล็กจนโต แทบไม่เคยเห็นอะไรดีๆ ในชีวิตเลย จิตใจจึงหดหู่แห้งแล้ง ครูใหญ่เห็นว่าสิ่งสำคัญอย่างแรกที่เด็กๆ ต้องการก็คือ ความสดใสงดงามและความชื่นบาน ดังนั้น ถ้ามีดอกไม้เบ่งบานไปทั่วโรงเรียน ก็จะช่วยให้เด็กกลับมามีความหวังและความเบิกบานขึ้นใหม่

ความคิดของครูใหญ่น่าสนใจ สำหรับคนที่เติบโตมากับสงคราม แม้ว่าจะมีความอัตคัดขาดแคลน แต่สิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าปัจจัย 4 ก็คือ ความสดชื่นเบิกบาน เพราะเป็นสิ่งที่ชุบชูจิตใจให้มีกำลัง สามารถทำสิ่งที่มีคุณค่าต่อชีวิตได้ดีขึ้น รวมทั้งการเรียนและการดำเนินชีวิต ครูใหญ่เป็นผู้ที่มองการณ์ไกล เห็นว่านอกจากวิชาความรู้แล้ว ใจที่มีความเบิกบาน จะช่วยเติมความหวังให้แก่นักเรียน ทำให้เติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุภาพ

Advertisement

เรื่องนี้ชี้ว่าคนเราไม่ได้ต้องการเพียงแค่อาหารกายหรือข้าวของเครื่องใช้ อาหารใจหรือสิ่งบำรุงใจก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน นี้คือสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่โรงเรียนควรจะมอบให้กับเด็กนักเรียน โดยเฉพาะเด็กที่เติบโตมากับสงคราม

มีเหตุการณ์ที่คล้ายๆ กัน แต่หนักหนาสาหัสกว่ามาก ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมันซึ่งมีฮิตเลอร์เป็นผู้นำได้ส่งกองทัพไปยึดเมืองต่างๆ ในรัสเซีย รวมทั้งเมืองเลนินกราด แต่ถูกต้านทานอย่างเหนียวแน่น เลนินกราดถูกปิดล้อมนานถึง 2 ปี 4 เดือน หรือ 900 วัน นับว่าเป็นการปิดล้อมที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว อีกทั้งเป็นการปิดล้อมที่ก่อความเสียหายอย่างมหาศาลเป็นประวัติการณ์ มีคนตายไป 1.5 ล้านคน จำนวนมากตายเพราะระเบิดและกระสุนปืน แต่ที่ตายเพราะความหิวโหยไม่น้อย

ช่วงที่ถูกปิดล้อม อาหารขาดแคลนมาก โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว ซึ่งหนาวเหน็บมาก ขนมปังต้องผสมขี้เลื่อยถึง 50% แต่ตอนหลังไม่มีอะไรกิน ผู้คนก็ต้องกินแม้กระทั่งรองเท้าหรือเข็มขัด เปลือกไม้ก็ต้องขูดเอาใส่ท้อง หนู แมว หมา กลายเป็นอาหารอันโอชะของคนที่นั่น ตอนหลังแม้แต่หนูก็ขาดแคลน หลายคนจึงหันไปกินศพคน ศพจำนวนมากไม่มีขา ไม่มีแขน เพราะถูกตัดเอาไปกินเป็นอาหาร มีแม่คนหนึ่งจำต้องฆ่าลูกน้อยเพื่อให้ลูกอีกคนมีอาหารกิน

Advertisement

แต่ว่ามีเหตุการณ์อย่างหนึ่งที่น่าทึ่งมาก ขณะที่ผู้คนอดอยากหิวโหยและล้มตายกันมากมาย อีกทั้งยังต้องคอยหลบหลีกอันตรายจากกระสุนและระเบิดที่สาดใส่ทุกวัน แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้คนต้องการคือเสียงเพลงเพื่อช่วยชุบชูใจ ดังนั้นจึงมีการเรียกร้องให้จัดแสดงคอนเสิร์ตครั้งใหญ่กลางกรุงเลนินกราด ทั้งๆ ที่เป็นการแสดงที่เสี่ยงอันตรายมาก และจัดทำได้ยากมากเพราะทุกอย่างขาดแคลนไปหมด ไม่ว่านักดนตรีและเครื่องดนตรี

ในสถานการณ์ที่ยากเข็ญแร้นแค้นและเสี่ยงภัย แทนที่จะมองว่าการแสดงคอนเสิร์ตกลางสนามรบเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยไร้สาระ ผู้นำรัสเซียกลับเห็นเป็นเรื่องสำคัญ ผู้บัญชาการกองทัพเลนินกราดต้องระดมนักดนตรีและวาทยกรเพื่อแสดงคอนเสิร์ตนี้ให้ได้ ปรากฏว่านักดนตรีแต่ละคนที่ระดมมาได้ทุกคนล้วนผอมโซ แค่ยกเครื่องดนตรีก็ไม่มีแรงแล้ว ดังนั้นจึงต้องนำอาหารมาปันส่วนให้นักดนตรี มีการซ้อมอยู่หลายวัน เมื่อถึงวันแสดงสด ผู้คนต่างรอฟังอย่างใจจดใจจ่อ มีการนำลำโพงไปติดทั่วเมือง

เพื่อให้มั่นใจว่าการแสดงคอนเสิร์ตนี้จะเป็นไปได้อย่างราบรื่น ก่อนการแสดงจะเริ่มต้น ทหารรัสเซียได้เอาปืนใหญ่ยิงถล่มเยอรมันก่อน เพื่อให้ทหารเยอรมันหยุดยิงและทิ้งระเบิดขณะมีการแสดง เพลงที่นำมาบรรเลงในวันนั้นเป็นเพลงที่แต่งเป็นพิเศษในโอกาสนี้ โดยคีตกวีที่มีชื่อ ภายหลังเพลงนี้มีชื่อว่า “เลนินกราด” เป็นเพลงที่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้

ปรากฏว่าชาวเลนินกราดที่ได้ฟังคอนเสิร์ตนี้มีความสุขและซาบซึ้งใจมาก แม้กระทั่งทหารเยอรมันซึ่งพลอยได้ฟังด้วย ก็รู้สึกประทับใจในเพลงนี้มาก หลายคนรู้สึกเกรงขามคนรัสเซียว่า ทั้งๆ ที่ทุกข์ยากลำบากแสนเข็ญ ก็ยังปรารถนาฟังเสียงเพลง แสดงว่าจิตใจแข็งแกร่งมาก

การแสดงคอนเสิร์ตครั้งนั้นมีส่วนสร้างพลังใจให้แก่ชาวเลนินกราด ทำให้มีจิตใจฮึกเหิม และพร้อมจะกัดฟันเผชิญความทุกข์ยากแสนเข็ญต่อไป ผ่านไปปีครึ่ง กองทัพเยอรมันก็ยังยึดเลนนินกราดไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องล่าถอยกลับไปหลังจากปิดล้อมนานเกือบ 900 วัน

กรณีดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าในยามวิกฤต ทั้งๆ ที่กำลังอดตาย แต่คนเราไม่ได้โหยหาข้าวปลาอาหารเพื่อประทังกายให้มีชีวิตรอดเท่านั้น หากยังต้องการอาหารบำรุงใจ ให้มีกำลัง พร้อมที่จะต่อสู้อุปสรรค สำหรับชาวเลนินกราด สิ่งหนึ่งที่จะช่วยบำรุงใจก็คือ เสียงเพลง แรงบันดาลใจที่ได้จากเสียงเพลงทำให้ชาวเลนินกราดมีกำลังใจที่จะสู้ต่อไป แม้กายจะเหนื่อยล้าและหิวโหย จนผ่านพ้นความทุกข์ยากไปได้ในที่สุด

คนเรานั้นไม่ได้อยู่ได้ด้วยอาหาร ไม่ได้อยู่ได้ด้วยข้าวหรือขนมปังเท่านั้น แต่ยังต้องการสิ่งบำรุงใจ สิ่งบำรุงใจนั้นมีมากมาย นอกจากดอกไม้ เสียงเพลง หรือสิ่งดีงามที่ผู้อื่นมอบให้เราแล้ว สิ่งบำรุงใจยังเกิดขึ้นได้ด้วยการกระทำของเราเอง เช่น การนึกคิดในสิ่งที่ดี การทำความดี รวมทั้งการเจริญสติ การทำสมาธิ สิ่งเหล่านี้ช่วยเติมความสุขและพลังบวกให้แก่จิตใจ หล่อเลี้ยงบำรุงใจให้มีกำลัง

หลายคนเวลาจิตใจห่อเหี่ยว เซ็ง เบื่อ ก็ดูหนังฟังเพลง แต่ดูทั้งวันก็เบื่อ จิตใจก็กลับมาเหี่ยวแห้งเหมือนเดิม แต่ถ้าเรารู้จักน้อมใจของเราให้สงบ ให้อยู่กับปัจจุบัน ทำความรู้สึกตัว ให้เกิดขึ้น ให้ใจเกิดความรู้สึกตื่นรู้อยู่เสมอ ความโปร่งโล่งเบาสบายก็จะช่วยทำให้ใจมีกำลังได้

นอกจากการหาเงินทองหรือหาความสุขสบายให้กายแล้ว เราควรให้เวลากับการแสวงหาหรือสร้างสิ่งบำรุงใจด้วย แม้ในยามที่เงินทองร่อยหรอ ความสบายกายลดลง ก็อย่าทิ้งสิ่งบำรุงใจ เพราะใจที่เบิกบาน แจ่มใส ย่อมมีกำลังและความหวังที่จะยืนหยัดต่อสู้กับความทุกข์ยากได้ต่อไป

ในยามวิกฤต ชีวิตมีความทุกข์ อย่าลืมกลับมาที่ใจของตน รักษาใจอย่าให้ห่อเหี่ยวสิ้นหวัง หมั่นเติมพลังบวกให้ใจอยู่เป็นนิตย์ ไม่ว่าด้วยการคิดดี ทำสิ่งดีงาม ชื่นชมสิ่งดีๆ ที่มีอยู่รอบตัว รวมทั้งน้อมใจให้สงบ เป็นสมาธิ แม้เพียงชั่วขณะ ก็จะทำให้จิตมีพลังที่จะฟันฝ่าอุปสรรคจนก้าวข้ามไปได้ในที่สุด

พระไพศาล วิสาโล
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image