‘ความคาดหวัง’ของนักศึกษาใหม่ ที่มหาวิทยาลัยไม่ควรมองข้าม : โดย รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

‘ความคาดหวัง’ของนักศึกษาใหม่ ที่มหาวิทยาลัยไม่ควรมองข้าม : โดย รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

‘ความคาดหวัง’ของนักศึกษาใหม่ ที่มหาวิทยาลัยไม่ควรมองข้าม : โดย รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

จากเด็กนักเรียนมัธยมปลาย…เปลี่ยนจากกางเกงขาสั้น เป็นกางเกงขายาว เปลี่ยนจากชุดนักเรียน เป็นชุดนักศึกษา นั่นคือการเปลี่ยนแปลงเพียงรูปลักษณ์ภายนอก

การเปลี่ยนแนวความคิดตั้งแต่จบ ม.ต้น จนจบ ม.ปลาย ยิ่งก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยต่างก็มีจุดมุ่งหมายที่อาจจะคล้ายกันหรือต่างกันแล้วแต่ปัจเจกบุคคล ซึ่ง ณ จุดนี้แนวความคิดต่างมุ่งแสวงหาสิ่งที่ต้องการ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าใส่ใจอย่างยิ่ง

นี่คือก้าวแรกที่เข้าสู่มหาวิทยาลัยด้วย “ความคาดหวัง” ต่างๆ นานา และความคาดหวังดังกล่าว ย่อมต้องการการตอบสนอง

Advertisement

“ถ้ามหาวิทยาลัยใด ทำให้นักศึกษาสมหวัง ก็เท่ากับว่าชีวิตของนักศึกษานั้นๆ สำเร็จไปแล้วกว่าครึ่ง”

“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สอบถาม “ความคาดหวัง” จากนักเรียนที่มุ่งศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย จำนวน 732 คน ระหว่างวันที่ 17-22 มิถุนายน 2563 พบประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

“ความคาดหวังต่อมหาวิทยาลัย” นักศึกษาที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยต่างก็คาดหวังว่า ถ้าเรียนจบน่าจะได้งานทำ 89.48% การอยู่ร่วมกันอย่าง มีความสุข 76.64% มหาวิทยาลัยน่าจะเอาใจใส่นักศึกษาในการใช้ชีวิต ในมหาวิทยาลัย 71.17% มีหลักสูตรที่ได้รับการรับรอง 68.85% และการชี้แนะถึงแนวทางว่าเรียนอย่างไรจึงจะสำเร็จ 68.58%

Advertisement

ทั้งหมดนี้คือโจทย์ 5 ประเด็นหลักๆ ที่มหาวิทยาลัยต้องสนองตอบความคาดหวังให้กับนักศึกษาใหม่ ที่อาจจะดูง่ายแต่ก็ไม่ง่ายในแง่ของการตอบสนองที่เป็นรูปธรรม เพราะหลายๆ ประเด็นอยู่นอกเหนือการควบคุมของมหาวิทยาลัย เช่น เรื่องของการมีงานทำ ในขณะที่ภาวะการตกงานของคนไทยเป็นปัญหาที่กำลังแก้ไขในระดับชาติ แต่การชี้แนะการเรียนการสอนตั้งแต่หลักสูตรที่สอดคล้องกับตลาดแรงงานและวิธีการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้นักศึกษามีความรู้ ความสามารถ ตลอดจนมีกระบวนการคิดที่สามารถประยุกต์ไปสู่การแสวงหางานทำหรือ “สร้างงาน” ด้วยตนเองเพื่อให้รอดพ้นจากการตกงานก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

“ความคาดหวังจากอาจารย์” ที่นักศึกษาใหม่สะท้อนออกมาค่อนข้างเด่นชัด อันดับ 1 ได้แก่ ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของตัวอาจารย์ซึ่งนักศึกษาคาดหวังสูงถึง 92.90% รองลงมาคือ ความเอาใจใส่ 88.80% การเรียนการสอนที่เน้นภาคปฏิบัติ 74.73% มีวิธีการเรียนการสอนที่ทันสมัยน่าสนใจ 74.59% และมีการชี้แนะ/ขยายโลกทัศน์ 61.89 %

ความคาดหวังต่ออาจารย์ดูจะเป็นเรื่องหนักใจผู้ที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยพอสมควร (แต่อย่าลืมนะครับ ช่วงจากเด็กม.ปลายที่มีครูแนะแนวคอยชี้แนะ เข้าสู่นักศึกษามหาวิทยาลัยที่จะต้องบินเดี่ยวเป็นหลัก แต่ก็ยังต้องพึ่งพาอาจารย์ต่อ) เอาแค่เรื่องความรู้ความสามารถและประสบการณ์ก็แทบแย่อยู่แล้ว แม้จะจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยดัง ๆ ไม่ว่าจากเมืองไทยหรือต่างประเทศก็ไม่สามารถที่จะการันตีความสมหวังให้แก่นักศึกษาได้ 100% ไหนจะต้องมีลักษณะการเอาใจใส่ต่อนักศึกษาอย่างจริงจัง (คล้ายกับครูประจำชั้นที่เด็ก ม.ปลายได้รับอย่างอบอุ่น) หรือถ้าสอนภาคทฤษฎีได้อย่างคล่องแคล่วแม่นยำ ก็ยังมีโจทย์เรื่องของการปฏิบัติรออยู่อีก ยังไม่รวมถึงสอนอย่างไรจึงจะทันสมัย ถูกใจนักศึกษา รวมทั้งมีการชี้แนะให้นักศึกษาได้คิดเป็น ทำเป็น ล้วนเป็นความคาดหวังของนักศึกษาที่อาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งดูจะมีมาดนักวิชาการแฝงอยู่ในตัวเองค่อนข้างเต็มเปี่ยม ยากที่จะปฏิบัติได้เช่นครูมัธยม

เพียงแค่นี้อาจจะทำให้อาจารย์เขียนใบลาออกจากมหาวิทยาลัยไปเลย !

นี่ยังไม่รวมโจทย์ที่อาจารย์ต้องชี้แนะต่อนักศึกษาให้เป็นรูปธรรมว่าเรียนอย่างไร ? จึงจะสำเร็จ เรียนอย่างไรจึงจะมีงานทำ ล้วนเป็นโจทย์หินอย่างยิ่งกับอาจารย์ที่มุ่งการสอนเป็นหลักมากกว่าการชี้แนะโลกทัศน์ในชีวิตจริงที่นักศึกษาคาดหวัง

ดังนั้น ความเป็นอาจารย์ที่มากกว่าการเป็นอาจารย์ธรรมดาๆ ที่เดินเข้าห้องมาก็เปิดตำราสอน เอาแต่ยัดเยียดความรู้ให้กับนักศึกษาเพียงอย่างเดียว หรือสั่งแต่ให้นักศึกษาไปค้นคว้าวิจัยแล้วเอางานมาส่งอาจารย์คงหมดยุคหมดสมัยไปแล้ว…เพราะไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังที่แท้จริงของนักศึกษาสมัยนี้ได้

ที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนเป็นความคาดหวังของนักศึกษาใหม่ที่จะก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยไม่อาจมองข้ามได้โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่จำนวนนักเรียนจะสมัครเป็นนักศึกษาลดลงอย่างน่าใจหาย

มหาวิทยาลัยใด? สามารถตอบสนองความคาดหวังของนักเรียนได้มากเท่าใด? โอกาสที่จะได้คัดเลือกนักศึกษาก็คงมีได้มากกว่า… “มาเท่าไหร่ก็รับหมด” ครับ!

รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image