คุณภาพคือความอยู่รอด : เชิงรุก กับ เชิงรับ : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

คุณภาพคือความอยู่รอด : เชิงรุก กับ เชิงรับ : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

คุณภาพคือความอยู่รอด : เชิงรุก กับ เชิงรับ : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำแบบ “Agile Leader” หรือ ผู้นำแบบไหนๆ ต่างก็หนีไม่พ้นเรื่องของการต้องพิสูจน์ฝีมือในการบริหารจัดการที่ได้ “ผลสัมฤทธิ์” ซึ่งเป็นรูปธรรมที่มีทั้งประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และคุณภาพ

ที่สำคัญก็คือ ความสามารถในการทำงานร่วมกับ “ทีมงาน” ในโครงการต่างๆ อย่างได้ผลด้วย

หนึ่งในคุณสมบัติที่สำคัญของผู้นำหรือผู้บริหารในวันนี้ จึงเป็นเรื่องของความสามารถใน “การทำงาน เชิงรุก” (Proactive) รวมทั้งการบริหารจัดการเชิงรุกด้วย

Advertisement

ยิ่งโลกมีความผันผวนมากเท่าใด เรายิ่งจะต้องทำงาน “เชิงรุก” กันมากขึ้น ผู้บริหารจึงต้องการผู้ร่วมงาน (ทีมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา) ที่มีความสามารถในการทำงานเชิงรุกมากขึ้นด้วย

“การทำงานเชิงรุก” ที่ว่านี้ คือการทำงานที่บรรลุเป้าหมายโดยไม่มีปัญหาเกิดขึ้น เพราะให้ความสำคัญกับการทำงานที่สามารถป้องกันการเกิดปัญหาหรือเรื่องที่สร้างความเสียหายได้ล่วงหน้า เน้น “ป้องกันไว้ก่อน” เป็นการทำงานรุกไปข้างหน้า โดยไม่คอยให้มีการสั่งงานทุกขั้นตอน ซึ่งต่างจาก “การทำงานเชิงรับ” ซึ่งตั้งอยู่ในที่มั่นตลอดเวลา ทำงานตามสั่ง ทำงานไปเรื่อย เมื่อเกิดปัญหาแล้วค่อยคิดวิธีแก้ไขปรับปรุง

การทำงานเชิงรุก (Proactive) เป็นการทำงานที่มุ่งเน้นที่ผลงาน โดยมี “เป้าหมาย” ที่ชัดเจน อาศัยข้อมูลข่าวสารหรือประสบการณ์ในอดีต และที่กำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน การทำงานเชิงรุกจะเน้น “เป้าหมาย” ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เน้น “วิธีการ” ที่สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว คุ้มค่าและมีคุณภาพ

Advertisement

การทำงานเชิงรุก จึงเป็นการทำงานที่มีการวางแผนงานล่วงหน้าด้วยการคิดอย่างละเอียดรอบคอบครบวงจร โดยสามารถที่จะเลือกตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ จากภายนอก ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยความรับผิดชอบต่อตนเอง

แต่ “การทำงานเชิงรับ” (Reactive) คือ ทำงานตามสั่ง (โดยปล่อยให้ความรับผิดชอบเป็นของผู้บังคับบัญชา) ทำงานโดยยึด “กระบวนการ” หรือ วิธีการเป็นสำคัญ จึงตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่บีบบังคับให้ตอบสนอง ทำให้ต้องคอยแก้ปัญหาเป็นระยะๆ เมื่อเกิดข้อผิดพลาดก็จะโทษคำสั่งหรือเงื่อนไขต่างๆ รอบข้างตลอด

ผู้ที่มีนิสัยในการทำงานเชิงรุก จึงเป็นคนที่มีการวางแผนล่วงหน้า มีความสามารถด้วยความคิดเชิงวิจารณญาณ สามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้ด้วยข้อมูลที่มีอยู่ สามารถตอบสนองความต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นการทำงานในลักษณะ “กันไว้ดีกว่าแก้”

องค์กรที่เน้น “การทำงานเชิงรุก” จะเล็งเห็นทั้งวิกฤตและโอกาส ทำให้ป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ และสามารถเตรียมเรื่องต่างๆ ไว้รองรับล่วงหน้า เป็นการช่วยลดต้นทุนและลดความสูญเสียอย่างทันท่วงที และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เป็นการพัฒนาบุคลากรให้มีวิธีคิดและวิธีทำงานอย่างเป็นระบบ

การทำงานเชิงรุก จึงเกี่ยวข้องกับ “ทัศนคติ” หรือ “วิธีคิดวิธีทำรวมทั้งวิธีมองโลก” ของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับ “การมองโลกในแง่บวก” ด้วยความเชื่อที่ว่า “วันพรุ่งนี้ย่อมดีกว่าวันนี้” และ “ทุกอย่างเป็นไปได้” ครับผม !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image