จิตวิวัฒน์ : มังกรไม่มีอยู่จริง! : โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย

จิตวิวัฒน์ : มังกรไม่มีอยู่จริง! : โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย

จิตวิวัฒน์ : มังกรไม่มีอยู่จริง! : โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย

ผมไปรู้จักหนังสือเล่มนี้โดยบังเอิญในพอดแคสต์ช่องหนึ่ง ด้วยความที่เป็นผู้ชายโสดอายุห้าสิบ ในทางทฤษฎีแล้วจึงไม่มีเหตุอันใดที่จะต้องไปข้องแวะกับหนังสือเด็กชื่อข้างต้น แต่เมื่อได้ลองอ่านเนื้อหาข้างใน จึงรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เป็นเพียงหนังสือเด็ก ซึ่งก็คล้ายกับ เจ้าชายน้อย ที่ไม่ได้เป็นเพียงหนังสือสำหรับเด็ก

หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กผู้ชายตัวเล็กๆ ชื่อ บิลลี่ บิกซ์บี จู่ๆ เขาก็ตื่นขึ้นและพบว่ามีมังกรตัวน้อยน่ารักอยู่ในห้องนอน บิลลี่จึงลูบหัวมันอย่างเอ็นดู และรีบแจ้นลงไปบอกกับแม่ถึงการค้นพบของเขา แต่แม่ซึ่งกำลังง่วนกับการทำอะไรบางอย่างอยู่ บอกกับบิลลี่ว่า “พูดอะไรเหลวไหล มังกรมันไม่มีอยู่จริงสักหน่อย!” แม่พูดจริงจังจนบิลลี่ต้องกลับขึ้นไปในห้อง และไม่ว่าเจ้ามังกรจะทำอย่างไร เขาก็ไม่ยอมลูบหัวมันอีก เพราะจะเสียเวลาลูบหัวในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงได้อย่างไร?

แต่เมื่อบิลลี่ลงมาทานอาหารเช้า เจ้ามังกรกลับตามมานั่งบนโต๊ะอาหารด้วย แต่เมื่อแม่พูดไปแล้วว่ามันไม่มีมังกรอยู่จริง แม่จึงไม่สามารถไล่มังกรลงจากโต๊ะได้ มังกรจึงแย่งทานแพนเค้กของเขาหมด ในที่สุดแม่ก็ต้องเข้าครัวไปทำมาใหม่ จนกระทั่งแป้งที่เตรียมไว้หมดไม่มีเหลือ แต่บิลลี่ก็ได้ทานแพนเค้กไปหนึ่งชิ้น ซึ่งเขาก็บอกว่าแค่นั้นก็อิ่มแล้ว

Advertisement

เมื่อบิลลี่แต่งตัวกลับลงมาจากบนบ้าน เจ้ามังกรก็ผล็อยหลับไปบนตรงห้องโถงของบ้าน แต่ขณะนี้มันตัวใหญ่ขึ้นเกือบเท่ากับแม่ และใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนเต็มห้องนั่งเล่น แม่ต้องปีนหน้าต่างเพื่ออ้อมเข้าไปทำความสะอาดตามห้องต่างๆ พอบิลลี่เดินลงมาข้างล่างก็อุทานว่า “ไม่นึกว่ามังกรจะโตเร็วขนาดนี้” แม่จึงรีบเอ็ดเขาว่า “มังกรมันไม่มีอยู่จริงนะบิลลี่”

ในที่สุดมังกรก็มีขนาดใหญ่เท่าบ้าน หัวของมันยื่นยาวออกไปที่สนามหน้าบ้าน ส่วนหางก็ยื่นออกไปยังสวนหลังบ้าน และเมื่อรถขายขนมปังวิ่งผ่านมาส่งกลิ่นยั่วยวนใจ เจ้ามังกรอดใจไม่ไหวจึงวิ่งตามรถขายขนมปังไป โดยมีบ้านของบิลลี่อยู่บนหลังราวกับเป็นกระดองของมัน เมื่อพ่อของเขากลับมาที่บ้าน ก็ต้องประหลาดใจ เพราะบ้านทั้งหลังของเขาได้หายไป ในที่สุดพ่อขับรถตามจนกระทั่งเจอบ้านของเขา แต่ก็ต้องตกตะลึงกับเจ้ามังกรตัวใหญ่ซึ่งตอนนี้กำลังกินขนมปังจากรถขนมปังอย่างอิ่มเอม บิลลี่กับแม่โบกมือให้พ่อเขาจากชั้นสอง พ่อเขาต้องปีนขึ้นไปตามตัวเจ้ามังกร จนกระทั่งได้พบเจอทั้งคู่ พ่อถามบิลลี่ว่ามันเกิดอะไรขึ้น

บิลลี่ตอบว่า “เป็นเพราะมังกรฮะพ่อ” แม่ขยับตัวพูดว่า “มังกรมันไม่…”

Advertisement

“มังกรมันมีอยู่จริงฮะแม่ มังกรตัวใหญ่เบ้อเริ่มเลย” บิลลี่แย้ง และเอามือไปลูบหัวมังกร มังกรยิ้มและกระดิกหางไปมา แล้วเรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นมังกรค่อยๆ หดตัวลงจนกลายเป็นมังกรตัวเล็กเท่าแมวอย่างที่บิลลี่เห็นตอนแรก

แม่เอามังกรขึ้นมาอุ้ม “ถ้ามันตัวเล็กๆ แบบนี้ ก็น่าเอ็นดูอยู่นะ แล้วทำไมอยู่ๆ มันถึงตัวใหญ่ขึ้นๆ ได้นะ”

“ผมก็ไม่แน่ใจฮะแม่ แต่ผมคิดว่ามังกรมันคงอยากให้เรามองเห็นมัน” บิลลี่ตอบ

เป็นไงครับ หวังว่าจะชอบนิทานเรื่องนี้เหมือนผม นิทานเด็กเรื่องนี้ได้ซ่อนสิ่งที่น่าสนใจเอาไว้หลายอย่าง เมื่อตอนที่เราเป็นเด็ก กี่ครั้งแล้วที่เราได้ยินผู้ใหญ่พูดว่า “เหลวไหล มันไม่มีหรอกเรื่องแบบนั้น” หรือ “เป็นไปไม่ได้หรอก ทำไมลูกไม่เอาเวลาไปคิดเรื่องที่มันเป็นประโยชน์จะดีกว่าไหม” ผู้ใหญ่มักจะไม่เข้าใจว่าจินตนาการของเด็กเป็นสิ่งที่สวยงามและสร้างสรรค์ และบ่อยครั้งมันไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย “ประโยชน์” ในโลกที่ผู้ใหญ่เข้าใจ แต่เด็กคือคนที่จะอยู่ต่อไปในอนาคต ในโลกที่ผู้ใหญ่ไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ ดังนั้นใครจะสามารถตัดสินประโยชน์ของเรื่องเหล่านี้ได้?

สิ่งที่น่าเศร้าก็คือ เด็กจำนวนมากเลิกสนใจ “มังกร” ของเขาหรือเธอ และบอกกับตัวเองซ้ำๆ ว่ามันไม่มีอยู่จริง เพราะพวกเขาเชื่อตามผู้ใหญ่ แต่กลับไม่ซื่อตรงกับเสียงภายในของตนเอง เด็กที่เติบโตมาอย่างนั้น จะไม่สามารถก่อรูปตัวตนที่รุ่มรวยและซับซ้อน เป็นมนุษย์ที่มีเนื้อหนังทางจิตวิญญาณอย่างเข้มข้น และมีกระดูกสันหลังแห่งจริยธรรมและคุณธรรมให้ยึดถือ ในจิตวิทยาตัวตนสายจุงเกียน มองว่าการใช้ตัวตนผู้พิทักษ์ขึ้นมาทำงานปกป้องตัวเอง ส่งผลทำให้ตัวตนบางตัวของเราถูกเก็บกดลงไป การไม่ยอมให้มันแสดงออกและบอกว่าไม่มีอยู่จริง ก็หมายถึงการเพิกเฉยหรือบอกว่า “มังกรไม่มี” ในที่สุด แทนที่มันจะเล็กลงหรือหายไป มันกลับขยายตัวขึ้น แต่เพราะไม่มีใครใส่ใจ การแสดงออกของมันจึงเป็นไปอย่างขาดๆ เกินๆ และยิ่งทำให้เราดูแย่ลงไปอีก และเมื่อเรารู้สึกว่าตัวตนนี้ทำให้เราแย่ เราก็ยิ่งเก็บมันลงไปอีก มันจึงยิ่งขยายขนาดขึ้น เพิ่มพลังในทางลบขึ้นอีก เป็นวงจรซ้ำๆ แบบนี้ จนกว่าเราจะใส่ใจมัน ตัวตนด้านนี้ถึงจะได้รับการดูแลและขัดเกลาจนกลายเป็นพลังบวกมาส่งเสริมเรา

เพราะ “มังกร” ในตัวมันเองไม่ได้เป็นสิ่งที่แย่หรือสิ่งที่ดี แต่ทัศนคติของเราต่อ “มังกร” ต่างหากที่ทำให้เกิดปัญหา ถ้าเราลองแทนคำว่ามังกรเป็นอะไรก็ได้ เช่น “ความโกรธ” ไม่ใช่สิ่งที่แย่ แต่การบอกว่าคนดีๆ ไม่ควรโกรธ เป็นการเบียดขับให้ความโกรธกลายเป็นตัวร้าย ผมรู้จักบ้านของเพื่อนคนหนึ่งที่มีลูกชายเต็มบ้านซึ่งทะเลาะกันบ่อยมาก จนแม่ของเขาตั้งกฎว่า ลูกห้ามทะเลาะกัน เพราะไม่งั้นแม่จะเสียใจ จากนั้นลูกๆ ก็ไม่ทะเลาะกันอีก แต่พอโตขึ้น ลูกชายของครอบครัวนี้มีปัญหาทางการหักหลังกันทางธุรกิจ และในที่สุดเลิกมองหน้ากัน เพราะ “มังกร” ตัวใหญ่เกินกว่าจะควบคุม เพราะ “แม่” มองไม่เห็นว่ามังกรมันก็คือมังกร ความพยายามที่จะปฏิเสธมัน กลับทำให้เรื่องใหญ่บานปลายเกินจะแก้ไข

มังกรอาจจะไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล สังคมทั้งสังคมอาจจะร่วมกับปฏิเสธ “มังกร” สักตัวหนึ่งก็ได้ ว่ามันไม่มีอยู่จริง เช่น “โสเภณีที่พัทยา” ไม่มีอยู่จริง เพียงเพราะเราอายที่จะได้ชื่อว่าเป็นสังคมที่มีการค้าประเวณี จึงทำให้การค้าประเวณีกลายเป็นมังกรที่ตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และการปฏิเสธมังกรที่ชื่อว่า “ความต้องการทางเพศ” ของมนุษย์ปุถุชน โดยไม่รับรองกฎหมายว่าด้วยเซ็กซ์ทอย ก็ทำให้เรามีสังคมที่บิดเบี้ยว เพราะไม่สามารถพูดถึงเรื่องเหล่านี้ให้เป็นปกติ และยิ่งไปกว่านั้น ก็จะสร้างสังคมที่เกิดการละเมิดทางเพศกันได้อย่างอุกอาจ อย่างที่เป็นข่าวญาติของเด็กสาวอายุ 12 ขวบ 7-8 คน เรียงคิวข่มขืนเด็กเป็นเวลาสองปีติดต่อกันวันเว้นวัน ในขณะที่บางสังคมพ่อแม่อนุญาตให้เด็กวัยรุ่นพาแฟนมาที่บ้าน และสอนการมีเซ็กซ์อย่างปลอดภัย เพื่อดูแล “มังกร” ให้อยู่ในสายตา เพราะ “มังกร” มีอยู่จริงและต้องดูแล อบรม ต่อรองให้มันรู้ว่าเรารู้จักมันและมองเห็นมันอยู่ ถ้าปล่อยจนถึงวันที่มันกลายเป็นมังกรบ้า พ่นไฟทำลายทุกอย่างราบเป็นหน้ากลอง ก็สายเกินไป

ครั้งต่อไปที่คุณจะบอกกับเด็กคนหนึ่งว่า “นั่นเป็นเรื่องเหลวไหล” ให้นึกถึงนิทานเรื่อง “มังกรไม่มีอยู่จริง” เอาไว้ด้วยสักเล็กน้อยนะครับ

ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image