การยกระดับคุณภาพการศึกษา : อย่าลืมพัฒนาเด็กด้าน EQ : โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมาน ฟูแสง

การยกระดับคุณภาพการศึกษา : อย่าลืมพัฒนาเด็กด้าน EQ

การยกระดับคุณภาพการศึกษา : อย่าลืมพัฒนาเด็กด้าน EQ

หลังจากผ่านวิกฤตโควิด-19 แล้วหน่วยงานราชการต่างๆ ก็เร่งดำเนินโครงการปีงบประมาณ 2563 เพื่อทันก่อนสิ้นปีงบประมาณนี้ กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงหนึ่งที่มีโครงการและงบประมาณมากที่หน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศต้องรีบดำเนินการเช่นกัน ผู้เขียนพบว่ามีโครงการหนึ่งที่น่าสนใจคือโครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาของจังหวัดโดยสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ เป็นโครงการเล็กๆ มีงบประมาณไม่มาก แต่โดยสาระแล้วผู้เขียนเห็นว่าสำคัญเพราะแต่ละปีหน่วยงานทางการศึกษาโดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐานที่หนีไม่พ้นการมองคุณภาพการศึกษาบนพื้นฐานผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยเฉพาะผลการทดสอบระดับชาติซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคือ O-NET (Ordinary National Educational Test)

ซึ่งจัดการทดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) แต่ละปีเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็จะต้องเตรียมตัวเข้าทดสอบในเดือนมีนาคม สิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อสารในบทความนี้คือไม่ได้ปฏิเสธการทดสอบ O-NET ซึ่งเน้นการวัด IQ (Intelligence Quotient) เป็นหลัก แต่ไม่อยากให้มองว่าการสอบนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดจนมองข้ามความสำคัญด้านความฉลาดทางอารมณ์ซึ่งเป็นคุณลักษณะด้าน EQ (Emotional Quotient) เป็นความสามารถด้านการใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข เป็นคุณลักษณะที่ต้องมีการฝึกฝนแบบอบรมกล่อมเกลาให้เด็กได้รับประสบการณ์ตั้งแต่เล็กๆ ในวัยเรียน

การทดสอบ O-NET นั้นทดสอบเด็กเพียง 3 ชั้น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทดสอบเพียง 4 วิชา คือ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ส่วนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทดสอบ 5 วิชา โดยเพิ่มวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมเข้าไป ผลการสอบถูกนำไปเป็นประโยชน์ต่อโรงเรียน ครูและผู้บริหารทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนหน่วยงานต้นสังกัดระดับเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียนที่มีค่าเฉลี่ยคะแนนสูงๆ ใช้เป็นข้อมูลประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงของโรงเรียน ครูผู้บริหารใช้ผลการทดสอบเป็นคะแนนส่วนหนึ่งในองค์ประกอบเพื่อรับการประเมินความดีความชอบหรือเลื่อนเงินเดือน และการโยกย้ายจากโรงเรียนเดิมไปอยู่โรงเรียนใหม่ ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) ส่วนนักเรียนก็ได้ประโยชน์บ้างโดยเฉพาะระดับมัธยมศึกษาที่สามารถนำผลการสอบ O-NET ไปใช้สมัครเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาซึ่งบางแห่งพิจารณาผลการสอบ O-NET ประกอบด้วย ผู้เขียนขอย้ำว่าไม่ได้มองสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผิดไปเสียทั้งหมด แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือความต้องการผลการทดสอบให้ได้ค่าเฉลี่ยสูงๆ นั้นทำให้เกิดการเรียนการสอนแบบ “ติว” ถึงขั้นติวเข้มครูบางโรงเรียนต้องขนขวายหาตัวอย่างข้อสอบมาสอนเด็กแบบติวอย่างจริงจัง เด็กเก่งๆ เป็นตัวชูโรง เป็นพระเอกที่ครูใส่ใจเป็นพิเศษ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงคือเด็กไม่ได้เกิดการเรียนรู้ตามกระบวนการที่เกิดจากความสนใจใฝ่รู้ และค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเองภายใต้การดูแลช่วยเหลือของครู แต่ต้องเรียนแบบมุ่งหาความรู้แบบตอบคำถาม ศึกษาคำเฉลยที่ถูกกำหนดไว้ในกรอบแคบๆ และที่สำคัญที่สุดคือนักเรียนส่วนหนึ่งก็ถูกเน้นให้ฝึกความจำ จำสิ่งที่เป็นคำตอบ จำกระบวนการคิดตามที่ครูสอน จึงไม่ใช่การสร้างความรู้ ไม่ใช่การฝึกทักษะกระบวนเรียนรู้ที่ควรจะเป็น

Advertisement

ถึงแม้ว่าปัจจุบันแบบทดสอบ O-NET มีการปรับแนวข้อสอบที่เน้นการคิดวิเคราะห์ เป็นข้อสอบแบบ “การรู้เรื่อง” หรือ Literacy แนวเดียวกับข้อสอบ PISA (Programme for International Student Assessment โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล) ส่วนผลกระทบทางอ้อมก็คือทัศนคติต่อการเรียนรู้ของเด็กถูกตอกย้ำในด้านการแข่งขันการเอาชนะคนอื่น และอาจถูกกระตุ้นจากครูที่ต้องการให้โรงเรียนของตนเองชนะโรงเรียนอื่น ต้องการให้โรงเรียนของตนมีชื่ออยู่ลำดับต้นๆ ในระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเปลือกนอกไม่ใช่แก่นสารของการเรียนรู้ที่แท้จริง ทั้งหมดในวรรคนี้ต้องการให้ผู้อ่านเห็นภาพโดยย่อๆ ของการสอบ O-NET ซึ่งในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่าเป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญด้าน IQ มากกว่า EQ ในแวดวงวิชาการเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าคนที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพสูงสุดนั้นเกิดจาก การมี EQ ดีกว่า IQ มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) ศาสตราจารย์ทางจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ผู้มีชื่อเสียงที่สุดในสหรัฐอเมริกาเคยทำวิจัยพบว่าผู้นำองค์กรทางธุรกิจในอเมริกาที่ประสบความสำเร็จสูงมีคุณลักษณะด้าน EQ สูงถึงร้อยละ 80 ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่เป็นคนมี IQ สูง

ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาแล้วผู้เขียนจึงเห็นว่าตราบใดที่การศึกษายังเน้นการเรียนการสอนยังมุ่งสู่การสร้างคนเก่งมากกว่าการสร้างคนดี คนที่มีทักษะชีวิตจริง เราก็จะประสบปัญหาในสังคมที่เป็นสิ่งเดิมๆ เด็กมุ่งสู่มหาวิทยาลัยอย่างขาดเหตุผล มองการเรียนทางด้านอาชีวศึกษาเป็นเรื่องต่ำต้อยโดยไม่เห็นคุณค่าในการสร้างทักษะด้านการงานที่เป็นอาชีพ สิ่งที่น่าเสียใจก็คือครูจำนวนมากก็ส่งเสริมทัศนคติดังกล่าวให้มีความหนักแน่น ขยายวงกว้างออกไปทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ สังคมในห้องเรียนในโรงเรียนเป็นสังคมที่เชิดชูคนเก่ง คนสอบเข้ามหาวิทยาลัยในสาขาวิชายอดนิยมหรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงก็เป็นฮีโร่ ได้รับการยกย่องเป็นแบบอย่างให้รุ่นน้องต่อๆ กันไป แบบอย่างหนึ่งที่ปรากฏทั่วไปคือ “การเรียนพิเศษ” และการติว บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติของคนในสังคม เป็นสิทธิเสรีภาพส่วนตัว ถึงแม้สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เสียหาย แต่อยากให้มองกลับไปที่คนเรียนไม่เก่ง คนที่แพ้ ซึ่งส่วนใหญ่มักมีพ่อแม่ผู้ปกครองที่ขาดแคลนหรือด้อยโอกาสกว่าคนกลุ่มแรก มักจะเป็นเด็กหลังห้อง บางทีความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เสมอภาคทางการศึกษาก็เกิดขึ้นในห้องเรียนโดยไม่ได้ตั้งใจ คำว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เป็นวลีที่ฟังดูไพเราะสำหรับให้ผู้ใหญ่ที่กำหนดนโยบายนำไปพูดให้ดูดีเท่านั้น เราควรช่วยกันตระหนักว่าสังคมไม่ได้อยู่ได้โดยคนเก่งเท่านั้น เราควรหันกลับมาใส่ใจพัฒนาการศึกษาที่ให้คุณค่าด้านคุณธรรมจริยธรรม ให้มีน้ำหนักไม่น้อยกว่าด้านสติปัญญา โดยการปฏิบัติจริงในพื้นที่หรือระดับสถานศึกษาภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยงานต้นสังกัดและองค์กรราชการระดับจังหวัด ภาคเอกชนและแหล่งทรัพยากรในพื้นที่อย่างจริงจังต่อเนื่อง

ข้อเสนอการยกระดับคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณลักษณะด้าน EQ

Advertisement

หลักคิดพื้นฐานคือการยกระดับการศึกษาโดยการพัฒนาคุณลักษณะด้าน EQ เป็นการมุ่งพัฒนาเด็กให้เป็นคนที่สมบูรณ์โดยองค์รวมทั้งด้านสติปัญญาและอารมณ์ตลอดจนพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เพื่อให้เด็กที่เรียนเก่งมีพัฒนาการด้านสังคมดีด้วย ในขณะเดียวกันเด็กที่เก่งกิจกรรมแต่เรียนไม่ค่อยเก่งก็จะได้รับการพัฒนาตนเองให้เกิดวินัย มีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น มีแรงจูงใจให้เรียนดีขึ้น

1 แนวทางสำหรับองค์กรสนับสนุนการพัฒนาคุณลักษณะด้าน EQ

1.1 คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานควรกำหนดนโยบายหรือทิศทางการพัฒนาการศึกษาของจังหวัดให้ชัดเจน ว่าการศึกษาของจังหวัดจะมีเป้าหมายสร้างเด็กให้เป็นคนที่มีคุณลักษณะอย่างไร เช่น มีวินัย มีความรับผิดชอบ มีจิตอาสา คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม เป็นต้น เป็นการให้น้ำหนักการพัฒนาเด็กด้าน EQ

1.2 หน่วยงานต้นสังกัดในพื้นที่ เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ควรแสวงหาแนวทางปฏิบัติที่เน้นการมีส่วนร่วมกับโรงเรียนและชุมชนเพื่อแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาเด็กด้าน EQ และกำหนดเป็นนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้โรงเรียนนำสู่การปฏิบัติสู่เป้าหมายเดียวกัน 1.3 โรงเรียนควรให้ครูร่วมกันคิดกิจกรรม หรือจัดทำโครงการที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนการพัฒนาคุณลักษณะของเด็กตามเป้าหมายของจังหวัด สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนและชุมชน นอกจากนั้นโรงเรียนควรให้ครูทุกคนออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้เด็กได้ปฏิบัติจริงทั้งการอยู่รวมกันในห้องเรียนและนอกห้องเรียน เช่นการทำงานระบบกลุ่ม รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เป็นต้น

2.แนวทางสำหรับการจัดกิจกรรมและการสอดแทรกในกระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะด้าน EQ

2.1 การจัดทำเป็นโครงการเสริม ให้เด็กได้คิดเองทำเองเป็นกระบวนการกลุ่มนับตั้งแต่การค้นพบปัญหา การแสวงหาวิธีการแก้ปัญหาและลงมือปฏิบัติการแก้ปัญหาโดยมีครูเป็นที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิด การดำเนินกิจกรรมอาจจัดอยู่ในช่วงเวลาลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ หรือทำในวันหยุดขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่ ตัวอย่างเช่นการแก้ปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อม การทิ้งขยะ ความสกปรกในโรงเรียน แทนที่โรงเรียนจะออกกฎเกณฑ์ ห้ามปราม หรือลงโทษ ควรให้นักเรียนได้ร่วมกันคิดร่วมกันทำ ให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยระบบกลุ่ม กรณีที่จะทำในลักษณะนี้ต้องหานักเรียนเป็นแกนนำกลุ่มหนึ่ง ต้องมีกระบวนการพัฒนาเด็กก่อนอาจเป็นการอบรม การให้นักเรียนไปดูรูปแบบการปฏิบัติจริงในชุมชนหรือโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ นำความรู้จากการสัมผัสด้วยตนเองมาสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คิดหาวิธีการที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาตามศักยภาพของกลุ่ม โดยให้เด็กเป็นผู้เสนอในรูปแบบของโครงการ มีกิจกรรมที่ให้เพื่อนนักเรียนได้มีส่วนร่วมลักษณะใดลักษณะหนึ่ง การทำกิจกรรมต้องมีความต่อเนื่อง ความสำเร็จของกลุ่มคือผลงานที่เกิดประโยชน์ต่อสภาพแวดล้อมของโรงเรียน และสร้างความภาคภูมิใจให้แก่เด็ก ในขณะเดียวกันนักเรียนได้พัฒนาตนเองอีกหลายด้านที่สำคัญคือความเป็นผู้นำ เกิดทักษะในการจัดการประชุม ทักษะการพูด ทักษะการนำเสนอผลงาน ที่สำคัญคือทักษะการเรียนรู้ที่เด็กได้ลงมือปฏิบัติเองอย่างแท้จริง

2.2 การเสริมสร้างคุณลักษณะด้าน EQ แบบสอดแทรกในกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ และการเป็นแบบอย่างที่ดีของครู โรงเรียนควรกำหนดแนวทางโดยใช้กระบวนการแบบมีส่วนร่วมโดยการประชุมปรึกษาครูอย่างทั่วถึงอย่าทำแบบบังคับ ทุกคนต้องร่วมกันหาจุดร่วมที่จะนำสู่การปฏิบัติ เช่นการกำหนดพฤติกรรมหลักที่นักเรียนต้องปฏิบัติด้านวินัยและความรับผิดชอบอาจเน้นเรื่องความตรงต่อเวลา การเข้าร่วมกิจกรรมสม่ำเสมอ การไม่ทิ้งขยะหรือดูแลรักษาความสะอาดเป็นปกติวิสัยในห้องเรียน หรือในบริเวณโรงเรียน ครูทุกคนที่สอนรายวิชาต้องปฏิบัติกับเด็กแบบเดียวกัน ไม่ใช่หน้าที่ของครูฝ่ายปกครองเท่านั้น มิเพียงแต่การคอยดูแลและตักเตือนเด็กเพื่อให้แสดงพฤติกรรมที่ดีเท่านั้น ในขณะที่ครูสอนหรือทำกิจกรรมใดๆ ต้องตระหนักเสมอว่าพฤติกรรมของครูที่แสดงออกให้เด็กเห็นนั้นเป็นการสอนที่มีน้ำหนักหรือมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก บิล ค็อกซ์ (Bill Cox) นักการศึกษาที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งเคยพูดว่า “สิ่งที่เขาเห็นคือสิ่งที่เขาเรียนรู้” (What they see is what they get) ครูจึงต้องปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างของคนที่มีคุณลักษณะด้าน EQ ที่ดีด้วย ครูต้องตรงต่อเวลา ครูต้องรักษาความสะอาด เป็นตัวอย่างให้เด็กเห็นตลอดเวลา

2.3 การจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่ส่งเสริมและเอื้อต่อการเสริมสร้างคุณลักษณะด้าน EQ โรงเรียนควรออกแบบการจัดสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนให้เหมาะสม เช่น การทำถนน ทางเดิน ทางสำหรับจักรยานหรือจักรยานยนต์ตามสภาพที่เป็นจริงของโรงเรียน ทำสัญลักษณ์หรือสัญญาณจราจรที่ถูกต้องให้เด็กได้เรียนรู้วินัยจราจร โรงเรียนต้องมีความสะอาด เป็นระเบียบ มีที่ทิ้งขยะเพียงพอเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ อาจมีถังคัดแยกขยะ หรือมีหลุมขยะสำหรับทำปุ๋ย มีโรงเรียนหลายแห่งสามารถทำธนาคารขยะไว้ส่งเสริมเด็กให้รู้จักคุณค่าของขยะ จัดการขยะให้มีมูลค่า นอกจากนี้ ที่สามารถทำได้ง่ายและสะดวกต่อการนำไปปฏิบัติคือการทำป้ายประกาศ หรือสื่อที่กระจายในพื้นที่โรงเรียนอย่างเหมาะสมในการให้ความรู้ เป็นคติเตือนใจ เป็นสื่อที่เด็กพบเห็นแล้วเกิดแรงบันดาลใจในการทำสิ่งที่ดี นอกจากสภาพแวดล้อมด้านกายภาพแล้วควรคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางสังคม ครู ผู้บริหารและบุคลากรในโรงเรียนควรสร้างวัฒนธรรมที่ดีในการอยู่ร่วมกัน ความรักความสามัคคีในโรงเรียนเป็นสิ่งที่เด็กสัมผัสได้จากพฤติกรรมของบุคลากรทุกฝ่าย บรรยากาศที่ดีในโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งที่จะหล่อหลอมและสร้างความรู้สึกที่ดีแก่เด็กจนส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ในทางบวกขึ้นได้

สรุป

การยกระดับคุณภาพการศึกษาต้องดำเนินการเป็นระบบ ทำในระยะยาว ไม่ใช่กิจกรรมพิเศษหรือโครงการเฉพาะกิจ ดังนั้น ผู้บริหารโรงเรียนในฐานะผู้นำองค์กรต้องมีความจริงจัง ปรับมุมมองการจัดการศึกษาให้กว้างไกล อย่ามองเพียงผลสัมฤทธิ์ที่อิงการวัดผลครั้งเดียว การจัดการศึกษาในระบบต้องมีกระบวนการวัดและประเมินผลถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่การวัดผลในปัจจุบันส่วนมากก็ยังเป็นแบบปรนัยวัดความรู้ ความจำ ความเข้าใจ ถึงแม้จะมีความพยายามวัดความคิดเชิงวิเคราะห์ความรู้ ความเข้าใจในสิ่งที่รู้ หรือรู้เรื่องในสิ่งที่เรียน ก็ยังทำได้ไม่เต็มที่ หลังเสร็จสิ้นการสอบ O-NET แต่ละปีสังคมออนไลน์ก็นำข้อสอบที่ไม่เหมาะสม ข้อสอบที่ผิดพลาดมาเผยแพร่กันจนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

ผู้เขียนยอมรับว่าการสอบ O-NET ยังมีประโยชน์ แต่ไม่ควรทุ่มเทความพยายามให้กับการสอบมากเกินไปถึงขั้นต้องติวเข้ม ต้องสอนพิเศษ จนลืมมองการสร้างเสริมคุณลักษณะด้าน EQ หรือคุณลักษณะที่พึงประสงค์ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำเนินชีวิต สังคมเราต้องการคนเก่งและคนดี คนดีไม่จำเป็นต้องเป็นคนเก่ง แต่คนเก่งต้องเป็นคนดีด้วย สังคมจึงจะอยู่รอดและก้าวหน้า

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมาน ฟูแสง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image