‘หลวงพ่อของเรา’ ‘หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง-หลวงพ่อใหญ่ วัดกวิศร์ฯ’ โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

หนังสือ “หลวงพ่อของเรา” เมื่อปี พ.ศ.2535 ได้มีคณะศิษย์หลวงพ่อได้พิมพ์ถวายบูชาเพื่อเป็นเกียรติประวัติแด่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นวิทยาทานแก่สาธุชนทั่วไป มีบทสวดมนต์บูชาพระ คาถายอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก คาถาชินบัญชร คาถาธรรมขันธ์ คาถาเมตตาและคาถามงคลอื่นๆ

นอกจากนี้ยังได้รวบรวมประวัติของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ของวงการคณะสงฆ์ของจังหวัดลพบุรี สิงห์บุรี ซึ่งใช้ชื่อว่า “หลวงพ่อของเรา” ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกและมหัศจรรย์หลายอย่างที่ลงท้ายคล้ายคลึงกันอย่างมากมาย เช่น วัน เดือน ปี เกิด ตรงกัน เริ่มบวชสามเณรพร้อมกันและตำแหน่งสุดท้ายเป็น “เจ้าคณะจังหวัด” เหมือนกัน และเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติกิจวัตรปฏิบัติด้านทั้งศาสนากิจของพระพุทธศาสนาสู่ “ประชาชน” เกิด “ศรัทธาบารมี” เป็นที่เคารพนับถือของผู้คนในจังหวัด “ลพบุรี สิงห์บุรี” จังหวัดข้างเคียงทั่วประเทศและต่างชาติ ในการเคารพกราบไหว้ของผู้คน ทุกชั้น ทุกระดับถ้วนทั่วยั่งยืน เสถียรมาจนถึงปัจจุบัน แม้ท่านจะมรณภาพไปแล้วมากกว่า 20 ปี ก็ตาม นับได้ว่าท่านเป็น “อริยสงฆ์” ที่พุทธศาสนิกชนเลื่อมใสอย่างยิ่ง นั่นคือ

• “พระพุทธวรญาณ” (หลวงพ่อใหญ่) เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี อดีตเจ้าอาวาสวัดกวิศรารามวรวิหาร อ.เมือง จ.ลพบุรี

• “พระราชสิหคณาจารย์” (หลวงพ่อแพ) เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี อดีตเจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี

Advertisement

ชีวประวัติและผลงานของหนังสือเล่มนี้ ได้ระบุตอนที่ท่านอายุได้ 88 ปี ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นอายุที่สูงสุดของช่วยวัยที่ตัวเลขเขียนเหมือนกันคือ เลข 8 กับเลข 8 ส่วนวันเดือนปีของการมรณภาพคงจะมีเลขไม่ตรงกัน จึงเสนอหัวข้อที่ว่า “พระพุทธวรญาณ 88” กับ “หลวงพ่อแพ 88” ข้อเท็จจริง

หลวงพ่อ “พระพุทธวรญาณ” ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2535 สิริอายุได้ 88 ปี

“หลวงพ่อแพ” ท่านมรณภาพ เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2542 สิริมายุได้ 94 ปี

Advertisement

• หลวงพ่อของเรา : “พระพุทธวรญาณ 88” ความว่า…

นามเดิม นายทองย้อย บัวอ่อน บุตรนายทิตย์ นางขาว บัวอ่อน อยู่หมู่ 4 ตำบลโพธิ์ผีให้ (ปัจจุบัน หมู่ 11 ตำบลโพธิ์เก้าต้น) อ.เมือง จ.ลพบุรี

เกิดวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2448 ขึ้น 7 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง เวลา 04.30 น. เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวน 4 คน

การศึกษา อายุได้ 16 ปี บวชสามเณร ที่วัดมหาธาตุ เมื่ออายุได้ 20 ปี ก็ได้มาอุปสมบทที่วัดมหาธาตุ อายุได้ 26 ปี สอบได้เปรียญธรรม 8 ประโยค อายุได้ 29 ปี (พ.ศ.2476) สมเด็จพระวันรัต เขมจารีมหาเถร พระอุปชายะได้ส่ง “หลวงพ่อ” กลับมาตุภูมิ วัดกวิศรารามราชวรวิหาร อ.เมือง จ.ลพบุรี

สมณศักดิ์ พ.ศ.2481 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์พระราชาคณะสามัญ ตำแหน่ง พระกิติญาณมุนี พ.ศ.2492, 2498, 2502 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะ “ชั้นราช” “ชั้นเทพ” และ “ชั้นธรรม” ตามลำดับ พ.ศ.2532 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ พระราชาคณะขึ้นเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ “พระพุทธวรญาณ”

ตำแหน่งสำคัญในอดีต :

– เจ้าอาวาส วัดกวิศรารามวรวิหาร เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี

– หัวหน้าพระธรรมทูต สายที่ 2

– เจ้าของ ผู้จัดการโรงเรียนวินิตศึกษา

– เป็นวิทยากรบรรยายธรรมให้แก่นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ พลเรือน ทหาร ตำรวจ พ่อค้า ประชาชน จังหวัดสิงห์บุรี-ลพบุรี และจังหวัดใกล้เคียง

“หลวงพ่อ” เป็นเถระชั้นผู้ใหญ่ของวงการคณะสงฆ์ที่มหาชนเลื่อมใสและความยอดแห่งความเป็น “ครู” เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2526 สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ได้มอบปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาครุศาสตร์ ของสภามหาวิทยาลัย “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ วัดมหาธาตุ

“หลวงพ่อ” นอกจากดำเนินการธุระพระศาสนาอย่างจริงจังหนักแน่น ทั้งในด้านการศึกษา การรักษาความสงบเรียบร้อยดีงาม การศึกษาสงเคราะห์ อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเป็นเวลานานเป็นหลักฐาน และหลักชัยของประเทศชาติและพุทธศาสนิกชนคนไทย เช่น การริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนวินิตศึกษา ก่อสร้างตึกสงฆ์อาพาธ ในโรงพยาบาลลพบุรี ประธานก่อสร้างโรงพยาบาลท่าวุ้ง อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี และมูลนิธิส่งเสริมและการศึกษาและสาธารณสุข

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของ “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ได้ทรงรับโรงเรียนวินิตศึกษา อยู่ใน “พระราชูปถัมภ์” ของพระองค์ท่าน และได้ทรงเมตตามาเป็นประธานเปิดอาคารเรียน “พุทธวรญาณ 84” เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2534 ซึ่งสร้างด้วยเงินหลวงพ่อและศิษยานุศิษย์ร่วมกันบริจาคเพื่อการศึกษา เป็นจำนวน 15 ล้านบาท ยังความปลาบปลื้มปีติยินดีแก่ “หลวงพ่อ” นักเรียน ครู อาจารย์ โรงเรียนวินิตศึกษา คณะกรรมการฯ และประชาชนชาวลพบุรีเป็นอย่างยิ่ง

พระเดชพระคุณท่าน รองสมเด็จพระราชาคณะ ที่ “พระพุทธวรญาณ” เป็นพระมหาเถระผู้เป็นรัตตัญญู เพียบพร้อมด้วยเถระกรณธรรมสมบูรณ์ด้วยปฏิสัมภิทา ได้บริหารกิจการพระศาสนารุ่งเรืองเฟื่องฟูครบวงจร โดยเฉพาะได้เอาใจใส่ในการศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุ สามเณรและสนับสนุนการศึกษาของกุลบุตรธิดาอย่างเป็นที่ประจักษ์แล้วนั้น รวมทั้งอนุเคราะห์พัฒนาสังคม โดยเฉพาะการศึกษาทางโลก ทางธรรม และการสาธารณสุข อย่างจริงจังสม่ำเสมอตลอดมา

หลวงพ่อ “พระพุทธวรญาณ” ท่านครบรอบวันเกิด อายุ 88 ปี เมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี พ.ศ.2535 (และตอนปลายปี คือ วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2535 เป็นวันมรณภาพของหลวงพ่อพอดี) เราชาวลพบุรีได้อำนวยพร ความว่า : ขอคุณพระศรีรัตนตรัยและบุญบารมีทั้งหลายที่ “หลวงพ่อของเรา” ได้ทำเจริญมา ได้โปรดหนุนนำให้หลวงพ่อมีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ ดำรงอยู่เป็นทั้งร่มโพธิ์ทอง วงการพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดลพบุรี จังหวัดใกล้เคียง และเคารพเลื่อมใสตลอดไป คติพจน์ของหลวงพ่อใหญ่ :

“ทำดีกว่าไม่ทำ ถ้าเราไม่ทำ ใครจะทำ”, “วินัย หน้าที่ สามัคคี เสียสละ กตเวที”

หลวงพ่อของเรา : “หลวงพ่อแพ 88” : ประวัติ : พระราชสิงหคณาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี วัดพิกุลทอง อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี นามเดิม นายแพ ใจมั่นคง โยมบิดา-มารดา นายเทียน นางหน่าย ใจมั่นคง วันเกิด 1 มกราคม 2448 ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง เป็นบุตรคนที่ 4

การศึกษา : อายุ 16 ปี บวชเณร ที่วัดชนะสงคราม อายุ 21 ปี อุปสมบท ณ พระอุโบสถ วัดพิกุลทอง โดยมีพระมงคลทัพย์มุนี เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ อายุ 21 ปี สอบได้นักธรรมโท และเปรียญธรรมประโยค 4 (สังขารภายนอก โดยเฉพาะนัยน์ตาเกิดอาการปวดทุกครั้งที่ตรากตรำดูหนังสือมากเกินไป ต้องอาศัยแว่นกันแสง)

สมณศักดิ์ : พ.ศ.2484 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ตำแหน่ง พระครูผู้จัดการพระปริยัติธรรมและธรรมวินัย พ.ศ.2521 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์พระราชาคณะสามัญที่พระสุนทรธรรมภาณี พ.ศ.2530 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นราช ตำแหน่งพระราชสิงหคณาจารย์

ตำแหน่งสำคัญ : พ.ศ.2471-2473 รับหน้าที่สำคัญเป็นพระครูบาลี โดยได้แยกมาตั้งโรงเรียนบาลีและนักธรรมที่วัดพิกุลทอง พ.ศ.2484 พระครูผู้จัดการพระปริยัติธรรมและธรรมวินัย พ.ศ.2509 เจ้าคณะอำเภอท่าช้าง พ.ศ.2525 เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี

“หลวงพ่อแพ” เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในวงการคณะสงฆ์ ที่มหาชนเลื่อมใสศรัทธาเคารพนับถือทั่วประเทศ นอกจากเป็นผู้มีอุตสาหะวิริยะในการศึกษา หลวงพ่อได้สนับสนุนให้มีการศึกษาธรรมอย่างจริงจัง ได้ตั้งโรงเรียนสอนนักธรรมและธรรมศึกษาขึ้นใน วัดพิกุลทอง และที่สำคัญหลวงพ่อได้อุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้แก่ประชาชนผู้ตกทุกข์ได้ยาก และผู้เดือดร้อนตลอดมา แม้กระทั่งประโยชน์ที่จะให้แก่สังคม ซึ่งเป็นรูปธรรมและที่หลวงพ่อพอใจและสุขใจมาก คือ “การก่อสร้างโรงพยาบาลและอาคารแก่ผู้เจ็บป่วยยากไร้” ซึ่งหลวงพ่อตระหนักดีว่าเป็นสิ่งที่ทำตรงกับความต้องการของสาธารณชน เพราะคนเราต้อง “เกิด แก่ เจ็บ ตาย” อยู่บริเวณในโรงพยาบาลทั้งสิ้น ปี 2508 อายุครบ 60 ปี ก่อสร้างโรงพยาบาลท่าช้าง พร้อมก่อตั้งมูลนิธิไว้ในโรงพยาบาล 1 กองทุน ปี 2517 อายุครบ 72 ปี ก่อสร้างพระพุทธรูปปางประทานพร หน้าตัก 13 วา 2 ศอก 7 นิ้ว พร้อมทั้งวิหารคด บรรจงสร้างด้วยศิลป์สวยงามโดดเด่นสะดุดตา ผู้มากราบไหว้นมัสการจะต้องเอ่ยปากชมและกราบไหว้ และรู้สึกว่าใจสงบ เยือกเย็นขึ้น ปี 2528 อายุครบ 80 ปี สร้างอาคาร 4 ชั้น “หลวงพ่อแพ 80” ในบริเวณโรงพยาบาลสิงห์บุรี ด้วยเงิน 12 ล้าน และตั้งมูลนิธิให้โรงพยาบาลอีก 1 กองทุน พร้อมสร้างสาลาพักร้อนไว้ในโรงพยาบาล 3 หลัง ปี 2537 อายุได้ 84 ปี สร้างอาคาร “หลวงพ่อแพ 84” เป็นตึกเอกซเรย์ ราคา 6 ล้านบาท

ในฐานะเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี หลวงพ่อได้ควบคุมส่งเสริมการศึกษาทั้งในทางโลกทางธรรม ตลอดจนด้านการสาธารณสุข ดูแลการรักษาความเรียบร้อยดีงามในวงการคณะสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนฝ่ายคฤหัสถ์ หลวงพ่อดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดเป็นตัวอย่างอันดีของตำแหน่งเจ้าคณะสังฆาธิการทุกระดับ วงการคณะสงฆ์

ในศุภมงคลวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 88 ปี 1 มกราคม พ.ศ.2535 นี้ เราชาวสิงห์บุรี ขอคุณพระศรีรัตนตรัยและบุญบารมีทั้งหลายที่ “หลวงพ่อของเรา” ได้บำเพ็ญมาได้โปรดหนุนนำให้หลวงพ่อมีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ ดำรงอยู่เป็นร่มโพธิ์ของพุทธศาสนิกชน จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดใกล้เคียงและผู้เคารพเลื่อมใสตลอดไป

นั่นคือ ประวัติของ “หลวงพ่อของเรา” ทั้งสองท่านเมื่ออายุครบ 88 ปี ณ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2535 ซึ่งหลวงพ่อ “พระพุทธวรญาณ” ท่านได้มรณภาพ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2535 สิริรวมอายุได้ 88 ปี หลวงพ่อแพ “พระราชสิงหคณาจารย์” (สมณศักดิ์ขณะนั้น) ต่อมาอีก 4 ปี คือ พ.ศ.2539 หลวงพ่อได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นกรณีพิเศษ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมในนาม “พระธรรมมุนี” อีก 3 ปีต่อมาท่านได้มรณภาพ เมื่อวันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2542 สิริอายุได้ 94 ปี พรรษา 7

                               คติพจน์หลวงพ่อแพ :

“เป็นมนุษย์สุดดี ที่มีศีล                     ทั้งหากินถูกธรรมะ ละมิจฉา
ไม่เบียดเบียนผู้ใด ให้ระอา               มีฉันทาร่วมสมัครสามัคคี
ทั้งเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แก่เพื่อนบ้าน         ไม่ก่อการริษยา ว่าเสียดสี
ไม่เอาเปรียบผู้ใด ในโลกีย์               เหล่าเมธีสรรเสริญ เจริญพร”

ตลอดอายุขัยของ “หลวงพ่อของเรา” ทั้งสองท่านเป็น “พระอริยสงฆ์” ที่ได้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์แก่สังคมอย่างเอนกอนันต์และได้อุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้แก่ชาวบ้านผู้เดือดร้อนหรือตกทุกข์ได้ยากตลอดมา เปรียบเสมือนร่มโพธิ์ทองของประชาชนทั่วไป ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้และตลอดไปไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image