สถานีคิดเลขที่ 12 : ม็อบมุ้งมิ้ง โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

สถานีคิดเลขที่ 12 : ม็อบมุ้งมิ้ง

สถานีคิดเลขที่ 12 : ม็อบมุ้งมิ้ง โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

โฆษกกองทัพบกบอกว่า โพสต์ข้อความ “ม็อบมุ้งมิ้ง” ของ “ผู้พันเจี๊ยบ” พ.อ.หญิง นุสรา วรภัทราทร เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวในฐานะประชาชนในสังคมไทย และแสดงความห่วงใยในฐานะผู้ใหญ่ กองทัพบกไม่ได้ห้ามกำลังโพสต์แสดงความคิดเห็นในเชิงที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ

ฝ่ายนิยมประชาธิปไตยเห็นคำชี้แจงของโฆษก ทบ.นี้แล้วน่าจะดีใจ ส่วนหนึ่งว่ากองทัพใจกว้างให้สมาชิกในกองทัพแสดงความเห็นทางสาธารณชนได้อย่างเสรี

เพียงแต่ความดีใจนี้สะดุดด้วยข้อสงสัยในเงื่อนไขว่า การแสดงความเห็นต้องมีประโยชน์ต่อสังคมและประเทศ

Advertisement

เงื่อนไขที่ว่านี้ไม่รู้ว่าใครจะต้องเป็นผู้ตีความ ใครจะเป็นคนชี้ว่าความเห็นของคนคนหนึ่งมีประโยชน์ต่อสังคมจริงหรือไม่ ในเมื่อคนฟังต่างก็มีความคิดเห็นของตนเอง

บางคน เช่น พ.อ.วินธัย สุวารี อาจเห็นว่า ข้อความ “ม็อบมุ้งมิ้ง” มีประโยชน์ เพราะแสดงความห่วงใยต่อเยาวชน แต่บางคนเห็นว่า ไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไร และบางคนก็อาจเห็นว่า นอกจากไม่มีประโยชน์แล้ว อาจเป็นโทษด้วยซ้ำ เพราะบริบทที่ตามมาดูเหมือนการเยาะเย้ยถากถาง

ตัวอย่างตรงนี้นี่เองที่เป็นตัวปัญหาของสังคม เป็นมายาวนานแล้ว และคงจะเป็นต่อไปอีกนานถ้าผู้ใหญ่ไม่ปรับทัศนคติ

การเอาตัวเองหรือองค์กรตนเองไปตัดสินคนอื่น คนกลุ่มอื่น ว่าอะไรดี อะไรแย่ อะไรร้ายอะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ โดยใช้ตนเองเป็นมาตรฐาน เป็นศูนย์กลาง หรืออ้างว่าหวังดี มีแต่จะทำให้ก่อและสานความขัดแย้งต่อไปเรื่อยๆ

เพราะคนรุ่นลูกอาจไม่ได้ยอมรับว่าคนรุ่นพ่อแม่คิดถูก เพราะอาบน้ำร้อนมาก่อน หรือมีประสบการณ์และความรู้มากกว่าเสมอไป

ยกตัวอย่างด้านการเมือง สิ่งที่คนรุ่นลุงป้าทำไว้ โดยเฉพาะเหตุการณ์รัฐประหารและการใช้กำลังความรุนแรงต่อประชาชนหลายครั้ง ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่เห็นว่าจะเป็นบรรทัดฐานได้

หรือด้านสิ่งแวดล้อม สิ่งที่คนรุ่นก่อนก่อมลพิษ รุกล้ำทำลายป่า หรือแม้กระทั่งชุมชนท้องถิ่น ไม่หาทางป้องกันที่มีประสิทธิภาพ ไม่เยียวยาอย่างสมน้ำสมเนื้อ ก็ไม่น่าเป็นตัวอย่างที่น่าจะเดินตามเท่าไรนัก

หากคนรุ่นพ่อแม่ (ขึ้นไป) หวังดีต่อคนรุ่นใหม่อย่างจริงใจ น่าจะแสดงออกอย่างเป็นมิตรมากกว่าเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่าหรือเป็นศัตรู เพื่อจะได้จูนสัญญาณกันติด

ถ้าผู้ใหญ่ห่วงใยเด็ก ก็ไม่ควรเอากรรไกรไปตัดไปกล้อนผมให้เด็กเสียใจและอับอาย

ถ้าผู้ใหญ่หวังดีกับเด็กที่ออกมาชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมือง ก็ควรตั้งใจฟังว่าเด็กต้องการอะไรและพูดคุยกันก่อน เพื่อให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยยังทำงานอยู่ ไม่ใช่ให้เยาวชนหรือผู้ไม่พอใจผลการทำงานของรัฐบาลเข้าใจว่า การต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะมีต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะมีโรคระบาดโควิด-19 ให้กล่าวอ้าง และมีอำนาจที่จะกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ได้

ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจนั้นจัดการทางกฎหมายกับเยาวชน ทั้งๆ ที่มีคนเย้ยว่าเป็นแค่ม็อบมุ้งมิ้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image