นวัตกรรมกล้วย… ชุมชนเป็นฐานการผลิตโอกาส : โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน

นวัตกรรมกล้วย... ชุมชนเป็นฐานการผลิตโอกาส : โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน

นวัตกรรมกล้วย… ชุมชนเป็นฐานการผลิตโอกาส : โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน

คน 2 ล้านคนที่ตกงานอันเนื่องจากโควิด-19 เริ่มกลับสู่ชุมชนบ้านเกิด กำลังมองหาลู่ทางในการประกอบอาชีพ ต้นทุนทรัพยากรหลายอย่าง โดยพื้นฐานของชุมชนอย่าง “กล้วย” เป็นสินค้าที่ถูกนำมาใช้ในการสอนให้รู้ สร้างนวัตกรรมชุมชน ฝึกฝนกระบวนการการคิด จนสามารถต่อยอดได้ด้วยตนเอง

หากพูดถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอน หลายคนคงคิดถึงจำนวนโค้งหลายพันโค้ง และการเดินทางที่แสนทรหดอดทน ด้วยความห่างไกลเช่นนี้ แม่ฮ่องสอนจึงห่างไกลจาก “โอกาส” หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นโอกาสทางการศึกษา โอกาสด้านการดูแลรักษาสุขภาพ และโอกาสในการประกอบอาชีพ

แต่ที่ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน แม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล แต่พวกเขาก็พลิกวิกฤตเป็นโอกาส พยายามค้นหา “ทุนในชุมชน” เพื่อสร้างทางเลือกและทางรอดให้กับตัวเอง กระทั่งพบว่าในชุมชนแห่งนี้มี “กล้วย” อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมาเป็นการปลูกแล้วขายไป ทำให้รายได้จากการขายกล้วยไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ส่งผลให้คนในชุมชนต้องออกไปทำงานข้างนอกเพื่อให้ได้รายได้ที่มากกว่า ศูนย์วิจัยนวัตกรรมการศึกษา จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่เล็งเห็นปัญหาดังกล่าวจึงได้จัดทำโครงการพัฒนาทักษะการประกอบการเพื่อชุมชนบนพื้นที่สูง โดยการสนับสนุนจากทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงเกิดแนวคิดที่จะฝึกทักษะอาชีพด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์กล้วยให้กับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ซึ่งมีศูนย์การเรียนหญ้าแพรกสาละวิน ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมเป็นหนึ่งในเครือข่ายการทำงาน

Advertisement

โดย “อำภา ธวัชวิฑูรย์” จากศูนย์การเรียนหญ้าแพรกสาละวินฯ ที่เข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในคณะทำงานของโครงการ เล่าว่า เหตุผลที่เธอสนใจเข้าร่วมโครงการนี้เพราะอยากมีความรู้ด้านอื่นๆ มาประกอบอาชีพเสริม และมองว่านี่คือจุดเริ่มต้นของคำว่าโอกาส ที่จะทำให้เธอมีทักษะความรู้ต่างๆ ในการประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น และได้เรียนรู้วิธีคิดใหม่ๆ เช่น การนำผลผลิตในชุมชนมาขยายแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จากเดิมที่ปลูกเพื่อขายเพียงอย่างเดียว ทำให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น

เนื่องจากพื้นที่ของโครงการตั้งอยู่บนพื้นที่ดอยสูง ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ชาวบ้านในพื้นส่วนใหญ่จึงนิยมเพาะปลูก “กล้วย” ตามแนวคิดเดิมที่เชื่อว่าเป็นพืชสร้างรายได้ ปลูกพืชอะไรก็ได้ที่จะมีผู้ซื้อ แต่ถึงอย่างไรชาวบ้านก็ยังไม่มีทักษะความรู้ในการแปรรูปกล้วยที่มีอยู่เป็นจำนวนมากมาเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ฉะนั้น ทางโครงการจึงนำ “กล้วย” มาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบในการพัฒนา ที่ใช้ทดลองให้กลุ่มเป้าหมายได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เป็นผลไม้ที่หาได้ง่ายในพื้นที่ จุดเริ่มต้นจึงเป็นการทำแป้งกล้วย เนื่องจากเป็นแป้งที่เหมาะสำหรับผู้รักสุขภาพ ผู้ลดน้ำหนัก เพราะแป้งกล้วยทำมาจากกล้วยดิบที่นำมาบดจนกลายเป็นแป้งกล้วย ซึ่งแป้งกล้วยที่ผลิตได้บางส่วนส่งให้ร้านค้าในตัวเมืองแม่สะเรียง บางส่วนส่งต่อให้กับฟาร์มเครือข่ายที่จังหวัดนครปฐมที่เป็นตัวแทนขายส่งให้กับ AMAZON.COM

ส่วนหลักสูตรการทำแป้งกล้วยนั้นมาจากแนวคิดที่จะนำกล้วยที่มีอยู่ในชุมชนมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่ากล้วยให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยโครงการได้ไปศึกษาดูงานที่จังหวัดนครปฐม นำสูตรวิธีการทำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับชุมชน โดยวิธีการทำแป้งกล้วยมี 2 ขั้นตอนคือ 1.นำกล้วยดิบลวกน้ำร้อนไม่เกิน 10 นาที เพื่อไม่ให้ยางกล้วยติด เมื่อสุกแล้วจึงปอกเปลือกและนำกล้วยไปตากแห้ง 2.นำกล้วยที่ตากแห้งมาบดให้ละเอียด ซึ่งการทำแป้งกล้วยนั้นมีวิธีการที่ง่ายไม่ยุ่งยาก แต่สามารถเพิ่มรายได้ให้กับผลิตภัณฑ์จากเดิมที่ปลูกมาขายไป ไม่มีการแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ทำให้ชาวบ้านที่เพาะปลูกกล้วยมีรายได้น้อยไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย แต่เมื่อหลังจากที่กลุ่มเป้าหมายเกิดการเรียนรู้ทักษะการแปรรูปผลิตภัณฑ์ จากกล้วยธรรมดาที่ขายแบบเดิมในปริมาณ 1 กิโลกรัม จะใช้กล้วยประมาณ 100 ลูก หรือเครือกว่าๆ ได้ราคาเพียง 20 บาท แต่เมื่อมีการแปรรูปเป็นแป้งกล้วยแล้ว ในการขายแป้งกล้วย 1 กิโลกรัม สามารถขายได้ถึง 300 บาท ซึ่งทำให้เห็นว่ารายได้เพิ่มมากขึ้นจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์ โดยในอนาคตโครงการจะจัดทำเป็นหลักสูตรให้คนที่สนใจเข้ามาเรียนรู้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 เริ่มมีคนกลับเข้ามาทำมาหากินในชุมชนมากขึ้น แต่พวกเขาไม่รู้จะประกอบอาชีพอะไร เธอจึงคิดว่าหลักสูตรแป้งกล้วยน่าจะเป็นตัวเลือกหนึ่งในการช่วยสร้างอาชีพให้คนในชุมชนบ้านแม่สามแลบได้

นอกจากนี้ทางโครงการยังมีแผนที่จะพัฒนาเป็น “แคปซูลกล้วย” เพราะกล้วยมีสรรพคุณช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหาร ไม่เพียงเท่านั้นทางโครงการยังฝึกทักษะอาชีพเรื่องการทำตลาดออนไลน์ให้อีกด้วย เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการนำไปพัฒนาต่อยอดอาชีพของตนเอง

“เราไม่ได้มีความรู้เรื่องการแปรรูปแป้งกล้วยเท่านั้น แต่เรายังได้เรียนรู้เรื่องแนวคิดด้านการตลาดทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์กล้วยในรูปแบบต่างๆ การทำตลาดออนไลน์เพื่อเพิ่มช่องทางการค้าขาย ทักษะการทำงานร่วมกับคนในชุมชน ทำให้มีเราความคิดที่เป็นขั้นตอนเป็นกระบวนการมากขึ้น ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้ทำให้เราสามารถนำมาใช้ต่อยอดกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในชุมชนได้อีกด้วย”

จากการเข้าร่วมโครงการนี้สิ่งสำคัญที่อำภาได้เพิ่มเติมนอกเหนือจากรายได้หลังการฝึกทักษะอาชีพคือ “โอกาส” ที่ทำให้เธอมองเห็น “ช่องทาง” ในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ในชุมชน นำสิ่งที่มีอยู่เป็นจำนวนมากมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์

กลุ่มคนเปราะบางในชุมชนมีมากมาย แรงงานนอกระบบ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ตกงานกลับบ้าน ผู้พิการ กลุ่มผู้หญิง และอื่นๆ กำลังมีสภาพที่มองหา “นวัตกรรมโอกาส” เพื่อรองรับการมีงานทำ รายได้ที่มั่นคงเหมาะสม คน 3 รุ่นที่เริ่มกลับมาสมบูรณ์ ครอบครัวแหว่งกลาง ปู่ย่าตายายกับลูกหลานถูกเติมเต็มด้วยพ่อแม่ที่กลับสู่ชุมชนท้องถิ่น ชุมชนได้คนที่มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์มาเป็นโอกาสของการสร้างงาน ต่อยอด ผลิตภัณฑ์ใหม่ ตลาดออนไลน์ล้วนท้าทายและกำลังเผชิญปัญหาโควิด-19 อย่างเต็มกำลัง

เรื่องกล้วยดูเป็นเรื่องธรรมดามาก แต่เมื่อผ่านการคิด การจัดการ สู่วิถีชุมชนอย่างเป็นระบบ ผสมผสานอย่างลงตัว กล้วยก็เป็นเรื่องไม่ธรรมดา และเป็นทางเลือกทางออกของชุมชนที่น่าสนใจยิ่ง

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน
หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image