ภาพเก่าเล่าตำนาน : มีวันนี้ดีๆ…เพราะวันโน้น โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ประเทศชาติ ประชาชน สังคมไทย ผ่านร้อน ผ่านหนาว มีสุข มีทุกข์ ขึ้น-ลง วนเวียน เปลี่ยนผ่าน ไป-มาเช่นเดียวกับสังคมชาติอื่นๆ

ประวัติศาสตร์ “ช่วงหนึ่ง” ที่ลูกหลานไทยควรรับทราบความเป็นมาของ “ดินแดน” ที่อยู่ไกลสุดขอบฟ้า ยอดเขาสูงเสียดเมฆ ที่ไกลโพ้นยากจะเข้าถึงแห่งนี้ส่วนนี้ที่เคยเป็นพื้นที่ของการต่อสู้ด้วยอาวุธ

ชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรบนที่สูงของไทยนับหมื่นคน เด็ก คนแก่ ชาย หญิง ต้องสู้รบ ต้องทำมาหากิน อากาศหนาวเย็น พื้นดิน สภาพอากาศ ที่ลงตัวที่สุด คือ การปลูกฝิ่น

หมู่บ้านสันติคีรี เดิมชื่อ หมู่บ้านแม่สลอง เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนดอยแม่สลอง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ที่ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ปลูกชา จำหน่าย “ชาอู่หลง” ผัก ผลไม้ ดอกไม้ มีทิวทัศน์ตระการตา เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ทำรายได้งาม มีรอยยิ้มพิมพ์ใจ

Advertisement

คนไทยที่อาศัยอยู่ตรงนี้ เขาเป็นใคร มาจากไหน ?

ประวัติศาสตร์ตรงนี้…น่าสนใจครับ

ตุลาคม พ.ศ.2492 พรรคคอมมิวนิสต์จีน ภายใต้การนำของเหมา เจ๋อตุง รบชนะกองทัพก๊กมินตั๋ง ของเจียง ไคเช็ค

ชาวจีนแบ่งพวกรบกันเอง จีนฝ่ายก๊กมินตั๋ง ส่วนหนึ่งสู้ไม่ไหวล่าถอยไปปักหลักบนเกาะไต้หวัน จีนบนแผ่นดินใหญ่ของเหมาเจ๋อตุงมีชัย เข้าปกครองประเทศโดยระบอบคอมมิวนิสต์

หน่วยทหารของก๊กมินตั๋ง อีกส่วนหนึ่ง คือกรมทหารราบที่ 3 ที่ 5 และกองพล 93 ซึ่งปฏิเสธที่จะยอมแพ้ ยังคงทำการสู้รบต่อไปในพื้นที่ทางใต้ของจีน รวมทั้งมณฑลยูนนานทางตะวันตกเฉียงใต้

กำลังรบของเหมา เจ๋อตุง รุกไล่เข้าสู่เมืองคุนหมิง เมืองหลวงของมณฑล เพื่อตามมาบดขยี้

มกราคม พ.ศ.2493 กรมทหารที่ 3 และที่ 5 ภายใต้การบัญชาการของนายพลลี เหวินห้วน และ นายพล ต้วน ซีเหวิน สู้พลางถอยพลางถอยออกจากยูนนาน นำกำลังทหารพร้อมครอบครัว ลูกเด็กเล็กแดงหลบหนีเข้าไปตั้งค่ายปักหลักในพื้นที่ป่ารัฐฉาน (Shan State) ทางตอนเหนือของพม่า

วิบากกรรมแบบหนีเสือปะจระเข้ตัวใหญ่ ทหารก๊กมินตั๋ง พร้อมครอบครัวที่กระเซอะกระเซิงแตกทัพ โดนกองทัพพม่าโจมตี ผลักดันพวกเขาให้ออกจากดินแดนพม่า

ทหารก๊กมินตั๋งที่ไม่มีอะไรจะเสีย ไม่มีที่ไป ต่อสู้แบบยอมตายเพื่อรักษาที่มั่นในดินแดนพม่า …พม่าสู้รบในป่าเขาเพื่อผลักดันทหารก๊กมินตั๋งนาน 12 ปี

พ.ศ.2496 อเมริกาที่เป็นปรปักษ์กับจีนคอมมิวนิสต์ เข้ามาให้การสนับสนุนทหารจีนก๊กมินตั๋งกลุ่มนี้ รวมทั้งจีนไต้หวัน

หน่วยทหารก๊กมินตั๋ง พร้อมครอบครัวราว 5 พันคนที่อาศัยซุกหัวนอนในป่าเขาสูง ลำบากยากเข็ญ ขัดสนทุกเรื่อง ต้องปากกัดตีนถีบเพื่อความอยู่รอด ต้องสู้รบ ต้องการเงิน ต้องมีกินมีใช้ ต้องมีอาวุธกระสุน เข้าไปนัวเนียกับการค้ายาเสพติดบริเวณ “สามเหลี่ยมทองคำ”

ชีวิตของชาวจีนกลุ่มนี้แสนลำบาก อนาคตมืดบอด

พ.ศ.2504 นายพลต้วน นำทหารก๊กมินตั๋งราว 5,000 นาย พร้อมครอบครัว อุ้มลูก จูงหลาน ออกจากพม่าเข้ามายังแถบภูเขาแม่สลองในดินแดนประเทศไทย

กรม 3 เข้ามาอยู่ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และกรม 5 อยู่ที่บ้านแม่สลองนอก

ในช่วงเวลานั้น เรื่องของฝิ่น เฮโรอีน คือ สิ่งที่ทำเงิน ทำทอง การปลูกฝิ่น ผลิตเฮโรอีน คือ ทางรอดของชีวิตคนบนพื้นที่สูง

เรื่องการเข้าไปตรวจสอบ จับกุม การติดต่อสื่อสาร อำนาจของรัฐ การพัฒนา เป็นเรื่องที่ห่างไกลความจริง…ทำไม่ได้.. ดินแดนดังกล่าวทั่วพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ทุรกันดาร ไม่มีใครอยากไป

ขบวนการปลูกฝิ่น ยาเสพติด รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน

พ.ศ.2512 โครงการหลวง ที่เป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงเกิดขึ้นโดยมีเป้าหมาย คือหาพืชมาทดแทนฝิ่น ซึ่งเป็นโครงการแรกของโลก โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อนับ 1

กองทัพไทยมองเห็น “โอกาส” ที่จะใช้ทหารและครอบครัวนับพันคนนี้ เป็นกองกำลัง “กันชน” กับกองกำลังของจีนคอมมิวนิสต์

ต้องยอมรับความจริงครับ….ชีวิตของคนบนดอยแม่สลองและทุกพื้นที่ การปลูก ขายฝิ่นและผลิตเฮโรอีน คือ รายได้หลัก

พ.ศ.2515 ครม. มีมติให้โอนกองกำลังเหล่านี้มาอยู่ในความดูแลของกองบัญชาการทหารสูงสุด (ปัจจุบัน คือ กองบัญชาการกองทัพไทย) และมีมติรับรองให้ชาวจีนกลุ่มนี้อาศัยในแผ่นดินไทยอย่างเป็นทางการ

พระราชภารกิจอันยากเข็ญ ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แบบค่อยเป็นค่อยไป เรียนรู้ แก้ปัญหา เพิ่มไมตรีจิต มิตรภาพ

พ.ศ.2521 ชุมชนบนดอยแม่สลองได้ชื่อใหม่เป็น “บ้านสันติคีรี” มีการออกบัตรประชาชน ชีวิตผู้คนเริ่มมีแสงสว่าง

การทำงานในเวลานั้น 2 ภารกิจ คือ การสู้รบกับกองกำลังคอมมิวนิสต์ และการทำสงครามกับความยากจน

อ่านมาถึงตรงนี้… เฉลยแล้วนะครับว่า ชาวบ้านที่อยู่อาศัยบนดอยแม่สลอง หรือหมู่บ้านสันติคีรี ส่วนใหญ่ทุกวันนี้มีเชื้อชาติจีน เป็นผู้สืบเชื้อสายโดยตรงมาจากทหารก๊กมินตั๋ง

ทหารจีนก๊กมินตั๋งกลุ่มนี้ ได้ลงหลักปักฐานในแผ่นดินไทย รักษาสัญญาที่จะทำหน้าที่ “เฝ้ายาม” เป็นหูเป็นตา สอดส่อง สกัดการแทรกซึมของจีนคอมมิวนิสต์จากแผ่นดินใหญ่ ที่รุกคืบ มีแผนจะเข้ามาสร้างอิทธิพลทางภาคเหนือของไทย

ชาวจีนกลุ่มนี้ปกป้องดินแดน ทำมาหากิน เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ เด็กๆ ได้เรียนหนังสือบนดอย…เรียนภาษาไทย

เหตุการณ์ที่สร้างความตื่นตะลึงคือ 20 กันยายน 2513 นายประหยัด สมานมิตร ผวจ.เชียงราย อายุ 45 ปี ที่ดูแลกลุ่มกองพลก๊กมินตั๋ง โดยกองกำลังของฝ่ายคอมมิวนิสต์ลวงว่าจะเข้ามอบตัว โดนซุ่มโจมตีระหว่างการเดินทางพร้อมนายทหาร นายตำรวจ

เกิดการสู้รบอย่างดุเดือดในแถบภูเขาดอยหลวง ดอยยาว ดอยผาหม่น ปฏิบัติการนองเลือดเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2513 ระยะเวลาห้าปีคร่าชีวิตไปกว่า 1,000 นาย

ทหารก๊กมินตั๋งกลุ่มนี้ ยังมีสภาพของนักรบป่า ภูเขาที่กล้าหาญ พวกเขาขอจัดกำลังสนับสนุนทหารไทยในพื้นที่ ทำการสู้รบอย่างกล้าหาญ เพราะสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้อาศัยแผ่นดินไทยอยู่

พ.ศ.2525 เสียงปืนแผ่วลง การสู้รบยุติ ทหารไทยจึงปลดอาวุธทหารจีนก๊กมินตั๋งเหล่านี้ ให้กลับไปใช้ชีวิตเป็นพลเรือนอย่างปกติสุขที่ดอยแม่สลอง…แปลว่า คนพวกนี้เข้ามาช่วยทหารไทยรบกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ (เป็นเรื่องเปิดเผย และทหารไทยยกย่อง)

เพื่อเป็นรางวัลแก่การให้ความช่วยเหลือดังกล่าว รัฐบาลไทยมอบสถานะพลเมืองไทยให้แก่ทหารก๊กมินตั๋งและครอบครัว

ข่าวดี คือ การสู้รบยุติลง ข่าวร้าย คือ อดีตทหารก๊กมินตั๋งกลุ่มนี้ ต้องดำรงชีพด้วยการค้าฝิ่น ร่วมกับขุนศึกยาเสพติด ขุนส่า แห่งกองทัพรัฐฉาน

ดอยแม่สลอง สามเหลี่ยมทองคำ กลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ปลูกฝิ่น ผลิตเฮโรอีน เป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก

ภารกิจที่จะเปลี่ยน “วิถีชีวิต” ของคนไทยบนพื้นที่สูงเหล่านี้ให้เลิกปลูกฝิ่น คือ ความท้าทายอันยิ่งใหญ่

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎรบนดอยแม่สลอง

ทรงติดตาม ทรงรับทราบปัญหามานาน ต่อเนื่อง

พระองค์ท่าน พระราชทานคำแนะแก่ส่วนราชการ ทหาร ฝ่ายปกครอง ให้ใช้ยุทธศาสตร์ การปลูกพืชในพื้นที่อากาศหนาวเย็น แทนการปลูกฝิ่น

เกิดงานวิจัยขึ้นทันที เพื่อหาพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับภูมิสังคม ส่วนราชการที่ทำงาน พลเรือน ตำรวจ ทหาร เกิดการ “ผนึกกำลัง” แบบ “มีโฟกัส”

ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จแปรพระราชฐานไปภาคเหนือ จะเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมความก้าวหน้า คุณภาพชีวิตของประชากรบนดอย หลายพื้นที่ พระราชทานคำแนะนำเพิ่มเติม มีการนำพืชพันธุ์ไม้หลากหลายมาปลูกเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ชาวดอย

วิถีชีวิตของชาวดอยกลุ่มนี้ ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไป ทีละเล็กทีละน้อย โครงการเปลี่ยนพืชแทนปลูกฝิ่น ประสบความสำเร็จ กระตุ้นให้เกิดการปลูกชา กาแฟ ข้าวโพดและไม้

เริ่มมีระบบการตลาด แปรรูปพืช ผัก ผลไม้ มีนักท่องเที่ยว

ชาวดอยเริ่มมีรายได้ มีการจัดตั้งสวนผลไม้และโรงงานชาขึ้น ตามมาด้วยโรงงานการผลิตไวน์ผลไม้และสมุนไพรจีน ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทย ชาวจีน

ประชากรพื้นที่ภาคเหนือ ในป่าเขาในพื้นที่อื่นๆ ที่ลำบากยากเข็ญ ได้เห็นแบบอย่างการพัฒนา เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ในเวลานั้น.. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแนวคิดอย่างเป็นรูปธรรม ยกระดับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ มีการศึกษา มีรายได้ ไม่ต้องทำอาชีพที่ผิดกฎหมาย …เรื่องของการสู้รบ เป็นปรปักษ์กับเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ค่อยมลายหายไป

พ.ศ.2527 รัฐบาลไทยพิจารณามอบ “สัญชาติไทย” ให้ชาวจีนกลุ่มนี้ เด็กชาย-หญิงที่เกิดบนแผ่นดินไทย ได้เรียนหนังสือสูงขึ้น และในที่สุด …เยาวชนเหล่านี้ก็เติบโต ก้าวหน้าได้เข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยในภาคเหนือ

พ.ศ.2531 โครงการหลวงเพื่อชาวเขาเลิกปลูกฝิ่น ดำเนินไปอย่างได้ผล ชาวต่างชาติเข้ามาศึกษาดูงาน โครงการนี้ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ

โครงการควบคุมยาเสพติดของสหประชาชาติได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองสดุดีพระเกียรติคุณในการแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยการปลูกพืชทดแทนฝิ่น

เป็นการยืนยันได้ถึงพระเมตตาและพระอัจฉริยภาพในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

ผลผลิตจากโครงการหลวงในปัจจุบัน คือ ผัก ผลไม้ ดอกไม้เมืองหนาว ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหาร

ปัจจุบันโครงการหลวงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ยังมีผลิตผลทั้งรูปแบบแปรรูปและไม่แปรรูปออกมาจำหน่าย ทั้งผัก ดอกไม้เมืองหนาว ปลอดภัยสารพิษ สมุนไพร ถั่วและธัญพืช ผลไม้ เห็ด ผลิตผลปศุสัตว์ ผลิตผลป่าไม้ ดอกไม้แห้ง ฯลฯ

ร้านจำหน่ายสินค้าคือ “ดอยคำ” และร้าน Golden place

ผู้เขียนเห็นว่า เหตุการณ์บางช่วง บางตอนในบ้านเมือง เป็นเรื่องที่ชนรุ่นต่อมา ต้องได้รับการบอกกล่าว เพื่อตระหนักรู้ เกิดปัญญา

ความพยายามที่จะทะยานพุ่งไปข้างหน้าแต่อย่างเดียว ก็มิได้เสียหายอะไร แต่จะกลายเป็นสังคมที่ไร้รากเหง้า …บ้านเมืองนี้ ยังมีคนดีๆ อีกเยอะที่เราไม่เคยรู้จัก ไม่เคยได้ออกสื่อ

การทำลายล้างกัน เกลียดชัง มุ่งร้ายต่อกัน เพราะไม่รู้อะไรเป็นอะไร…ไม่เคยหันไปมอง และรับข้อมูลที่ถูกปั้นแต่ง

วิชาประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องเชย ล้าสมัย จงอย่าละเลย ประชาชนส่วนหนึ่งที่สุขสบายในทุกวันนี้ มีกิน มีใช้ ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า เมื่อวันวาน….ใครทำอะไรดีๆ ไว้ให้เรา

ใคร คือ อิฐก้อนแรก ที่จมอยู่ในดิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image