เดินหน้าชน : หยั่งเชิงชิงผู้ว่าฯกทม. โดย เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นกระแสอีกครั้ง หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม บอกว่า จะจัดเลือกตั้งขึ้นมาสัก 1 แห่งก่อนภายในปี 2563 โดยยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกสนามไหน

คณะกรรมการการเลือกตั้ง กับกระทรวงมหาดไทยก็แสดงความพร้อม ทั้งตัวกฎหมายเลือกตั้ง งบประมาณ และกำลังคน รออยู่นานแล้ว เหลือเพียง พล.อ.ประยุทธ์ จะตัดริบบิ้นเปิดเวทีประกวดเสียที

แต่มีกระแสออกมาว่าน่าจะจัดเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก่อน เมื่อถึงคราวเลือกตั้งจริงๆ บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านก็ต้องแยกออกจากกันชั่วคราว เพราะสนใจที่จะส่งตัวแทนลงชิงชัยกันทั้งสิ้น ต่างต้องการวัดกระแสความนิยมเหมือนกัน

ขณะที่เสียงยุของ อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย บ่นว่าจะจัดเลือกตั้งตามที่พูดหรือไม่ หลังต้องเจอ “โรคเลื่อน” มาตลอด ก่อนจะเสนอว่า ควรเลือกสังเวียนผู้ว่าฯกทม.กันก่อน จะได้วัดกันไปเลยว่า คะแนนนิยมที่มากที่สุดจะเป็นของฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน

Advertisement

ถือว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เป็นกระจกสะท้อนความนิยมของประชาชนในสนามใหญ่ ในฐานะเป็นเขตปกครองพิเศษของประเทศไทย เป็นเมืองหลวงที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดของประเทศ เป็นนครระดับโลก เป็นศูนย์กลางของการเมืองการปกครอง เป็นศูนย์รวมภาคเศรษฐกิจที่มีทั้งการเงิน การธนาคาร สถานที่ตั้งราชการสำคัญ มีโครงสร้างพื้นฐานใหญ่โต ถนนหนทาง และเส้นทางรถไฟฟ้าบนดินและใต้ดินเชื่อมต่อจังหวัดข้างเคียงเต็มไปหมด อะไรที่เกิดแรงกระเพื่อมต่างๆ ในกรุงเทพฯก็จะสะเทือนไปถึงต่างจังหวัด

การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในช่วงหลัง อาจจะมีแค่พรรคเพื่อไทยที่ตั้งแต่เป็นพรรคพลังประชาชน แข่งกับประชาธิปัตย์มาตลอด ผลที่ผ่านมาก็ทราบกันอยู่ว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นแชมป์ครองใจคน กทม. 4 ครั้งล่าสุด ตั้งแต่ปี 2547, 2551 ที่ อภิรักษ์ โกษะโยธิน นั่งผู้ว่าฯกทม.สองครั้งติด ก่อนที่ต่อมาในปี 2552 กับ 2556 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จะได้บริหารต่อ

ถ้าว่ากันตามรอบวาระการดำรงตำแหน่งครบ 4 ปี เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ควรจะต้องจัดเลือกตั้งในปี 2560 แต่เป็นปีที่เพิ่งได้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มาใช้ เท่ากับคนกรุงไม่ได้เลือกตั้ง
ผู้ว่าฯกทม.มาแล้วถึง 7 ปี แต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้หรือปีหน้า จะมีอย่างน้อย 4 พรรคการเมืองลงแข่งขันกัน นอกจาก ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย แล้ว ยังมีพลังประชารัฐ และก้าวไกล อาจจะมีพรรคสอดแทรกส่งชิงชัย ที่น่าจะเป็นไปได้หรือไม่เกิดขึ้นก็ได้คือ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นแกนนำสำคัญ อาศัยฐานเสียงของมวลชน กปปส.เดิม เคยปลุกเสียงประชาชนในกรุงเทพฯและทั่วประเทศขึ้นมาขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์มาแล้ว และบทบาทของสุเทพในฐานะประธาน กปปส.ในเวลาต่อมา ยังเป็นเรี่ยวแรงสำคัญประกาศสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติในปี 2559 โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มีเอฟซีมากมาย ก็มีส่วนร่วมเทหนุนให้เกือบ 1.6 ล้านเสียง พร้อมกับ 11 จังหวัดจาก 14 จังหวัดภาคใต้ที่โหวตคะแนนให้อย่างไม่ลังเล

Advertisement

เชื่อกันว่า หากมีการประกาศจัดเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ขึ้นมา กองเชียร์ประชาธิปัตย์ยังคิดถึง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค มีบทบาทสำคัญทำให้พรรคชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. 3 ครั้งหลังสุด แม้จะแพ้เลือกตั้งสนามใหญ่มาตลอด เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว กองเชียร์ชูโรงอยากให้ลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. ในข่าวก็อ้างว่า ทางพรรคประชาธิปัตย์รู้ดีว่าคะแนนความนิยมของพรรคในสนาม กทม. หากจะเรียกศรัทธาคนเมืองหลวงกลับมา ก็มี “อภิสิทธิ์” คนนี้แหละ ก่อนที่เจ้าตัวจะปฏิเสธว่า “ไม่ลงสมัคร”

อีกบุคคลที่ต้องกล่าวถึง คือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม ขยันทำการบ้านก่อนโควิดระบาดตั้งแต่ปีที่แล้ว จัดกิจกรรมชวนถกเถียงแลกเปลี่ยนไอเดียการดูแลกรุงเทพฯตามชุมชนต่างๆ ประกาศชัดว่า จะลงสมัครชิงผู้ว่าฯกทม.ในนามอิสระ มองว่าในเชิงบริหารการลงอิสระเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด และต้องการหาแนวร่วมจำนวนมากพัฒนาพื้นที่ กทม.

สนามเลือกตั้ง กทม.ใน พ.ศ.นี้จึงน่าติดตามอย่างยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image