คุณภาพคือความอยู่รอด : งานวิจัยต้องตอบโจทย์ : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

คุณภาพคือความอยู่รอด : งานวิจัยต้องตอบโจทย์ : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ทุกวันนี้มี “โพล” ที่แสดงผลด้วยตัวเลขและสถิติของสำนักต่างๆ มากมายหลายเรื่อง ดังปรากฏทางสื่อต่างๆ ซึ่งเกิดจากการตอบคำถาม (Questionnaire) ของกลุ่มตัวอย่างที่เกี่ยวกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม

หลายต่อหลายครั้งที่ผู้อ่าน “โพล” สับสนกับรายงานผลของสำนักต่างๆ ที่ออกมาแตกต่างกัน (อันเป็นผลเนื่องมาจากแบบสอบถาม กลุ่มตัวอย่าง วิธีการทางสถิติและคำนวณ วิธีการแปลผล และปัจจัยอื่นๆ อีก) ทำให้ต่างคนต่างเชื่อใน “โพล” ของสำนักที่น่าเชื่อถือเท่านั้น

ความน่าเชื่อถือของโพลของสำนักต่างๆ จะขึ้นอยู่กับ “คุณภาพ” ของผลงานที่ปรากฏต่อสาธารณชนครั้งแล้วครั้งเล่าว่าถูกต้องแม่นยำมากน้อยเพียงใด ซึ่งบ่อยครั้งขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของ “สำนัก” และ “ผู้ทำโพล” ด้วย

Advertisement

แต่การทำโพลและการทำวิจัยก็แตกต่างกันในสาระสำคัญหลายประเด็น

“งานวิจัย” เป็นเรื่องที่สำคัญมากในสังคมปัจจุบัน ซึ่งต้องมีการชี้วัดและขับเคลื่อนด้วย ข้อมูลตัวเลข สถิติ และ “ข้อเท็จจริง” เพื่อการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เช่น การกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ การวางแผน การผลิต การตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และอื่นๆ อีกมากมาย

งานวิจัยจึงไม่เพียงแต่ทำเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทางธุรกิจอุตสาหกรรมในภาคเอกชนเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อการบริหารจัดการภาครัฐอีกด้วย

Advertisement

ในยุคสมัยของ “ประเทศไทย 4.0” และ “อุตสาหกรรม 4.0” นี้ เราต่างทราบดีว่า หัวใจสำคัญของการพัฒนาองค์กร (การสร้างมูลค่าเพิ่ม) ก็คือ เรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรม

การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และภูมิรัฐศาสตร์ อย่างรวดเร็วและรุนแรง อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนทำให้สิ่งที่มีมาเป็นพันๆ ปี ต้องล้มหายตายจากไปและแทนที่ด้วยของใหม่ที่เกิดขึ้นเพียงไม่ถึง 10 ปี หรือเพิ่งเกิดเมื่อเร็วๆ นี้เอง

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่คาดคิดนี้ ทำให้เกิด “โอกาส” และ “ความท้าทาย” ใหม่ๆ ที่มีผลกระทบต่อการบริหารจัดการธุรกิจอุตสาหกรรมและการบริหารจัดการภาครัฐ

แต่ความไม่คุ้นเคยในเรื่องใหม่ๆ (ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม) ที่ว่านี้ ก็ทำให้เกิด “ความเสี่ยง” ต่างๆ ด้วย

เราจึงต้องอาศัย “การวิจัย” (หรือการ “ทดลอง” ในห้องทดลองก่อน) เพื่อลด “ความเสี่ยง” และ “ความสูญเสีย” ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อจะได้ปรับปรุงหรือแก้ไขให้เหมาะสมก่อนนำไปสู่การปฏิบัติหรือการผลิตจริง รวมทั้งเพื่อการปรับโครงสร้าง ปรับทิศทาง และปรับระบบบริหารจัดการในองค์กรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

นอกจากการวิจัยเพื่อแสดงถึงการพัฒนาและความก้าวหน้าทางวิชาการแล้ว งานวิจัยที่ดีและมีประโยชน์ ควรจะเป็นเรื่องที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ผลจริงและสร้างมูลค่าในเชิงพาณิชย์สำหรับการประกอบกิจการธุรกิจอุตสาหกรรม รวมตลอดถึงการพัฒนาองค์กร การบริหารจัดการด้วย

ที่สำคัญก็คือ งานวิจัยจะต้องตอบโจทย์ทางสังคมหรือช่วยแก้ปัญหาสังคมได้ด้วย

การวิจัยในวันนี้ จึงควรเป็น “การนำร่อง” และเป็น “ทางลัด” ให้องค์กรไปสู่เป้าหมายได้ จึงไม่ควรเป็นงานวิจัยที่ “ขึ้นหิ้ง” ครับผม !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image