24 กันยายน : วันมหิดล โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงสนพระทัยทางด้านการสาธารณสุข ได้เสด็จเข้าศึกษาวิชาสาธารณสุขที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.2460 ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ทรงสนพระทัยและเป็นห่วงการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศตลอดเวลา ทรงตระหนักว่าการสาธารณสุขจะได้ผลดี ก็ต้องมีแพทย์ที่มีคุณภาพสูงและการจะมีแพทย์ที่มีคุณภาพสูงนั้นจะต้องมีการศึกษาแพทย์ที่เหมาะสมได้ “พระราชทานทุน” ให้แก่ “นักเรียนแพทย์” ไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกา จำนวน 2 ทุน ซึ่งทางโรงเรียนแพทย์ได้คัดเลือกให้ตามพระราชประสงค์ ได้แก่ “นายนิตย์ เปาเวทย์” และ “นายลิ ศรีพยัตต์” และมีนักเรียนพยาบาล 2 คน ที่ได้รับทุนจากสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า คือ นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ (สมเด็จพระศรีนคริน
ทราบรมราชชนนี) และนางสาวอุบล ปาลกะวงศ์ (นางลิปิธรรม ศรีพยัตต์)

สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงดูแลเอาใจใส่นักเรียนของพระองค์ ทรงแนะนำวิธีการดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีของต่างประเทศ เสด็จเยี่ยมเยือนเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ทรงอบรมผู้ใกล้ชิดให้มีความรู้รอบตัว ทรงอบรมให้รู้จักกระเหม็ดกระแหม่ทรงรับสั่งเตือนสติว่า “…เงินที่ฉันได้ใช้ออกมาเรียน หรือให้พวกเธอออกมาเรียนนี้ไม่ใช่เงินของฉัน แต่เป็นเงินของราษฎรเขาจ้างให้ออกมาเรียฉะนั้น เธอต้องตั้งใจเรียนใหม่ให้สำเร็จ เพื่อจะได้กลับไปทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ และขอให้ประหยัดใช้เงิน เพื่อฉันจะได้มีเงินเหลือได้ช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป…” เรื่องการประหยัดกระเหม็ดกระแหม่มิได้รับสั่งเพียงอย่างเดียว พระองค์ทรงปฏิบัติด้วย เช่น ถุงพระบาทขาก็ทรงชุนเอง ซักผ้าเช็ดพระพักตร์ ถุงพระบาทสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รวมทั้งทรงล้างและทำความสะอาดรถยนต์ด้วยพระองค์เอง ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ที่ฮาร์วาร์ดทรงใช้พระนามว่า “มิสเตอร์มหิดลสงขลา” นับเป็นที่ชื่นชมของชาวอเมริกา ดังจะเห็นได้จากบทความของ ดร.เอลลิสกล่าวไว้ว่า “ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็ทรงเป็นเพียงนักเรียนแพทย์ผู้หนึ่ง ไม่ใช่เจ้านาย ในพระนามบัตรก็มีว่า ‘มิสเตอร์มหิดลสงขลา’ ในเวลาที่ประทับอยู่ในประเทศที่ไม่มีเจ้านาย พระองค์ท่านก็ไม่ใช่เจ้านาย เราถือว่าการที่วางพระองค์เช่นนี้ เป็นการให้เกียรติยศอันแท้จริแก่ประเทศของเรา ทรงสมกับพระลักษณะการเป็นเจ้านายที่แท้จริง”

พระกรุณาธรรมและเมตตางานของสมเด็จพระบรมราชชนกนั้น มิได้ทรงพระราชทานเฉพาะกับคนไทยเท่านั้น ทรงเผื่อแผ่ไปถึงชาวต่างชาติที่มาร่วมเรียนด้วย ครั้งหนึ่งทรงทราบว่าพระสหายชาวเม็กซิโก ซึ่งตั้งใจจะกลับไปทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนร่วมชาติของเขา เกิดขาดเงินค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของตน ก็ทรงพระกรุณาพระราชทานเงินให้เดือนละ 100 เหรียญ จนกว่าจะสำเร็จการศึกษา

พ.ศ.2461 : “ทรงศึกษาวิชาเกี่ยวกับโรคเท้าช้าง” เกี่ยวกับโรคเท้าช้าง ทรงทราบจากต่างประเทศว่ามียุงเป็นพาหะพยาธิไมโครฟิลาเลีย มักจะปรากฏในตอนกลางคืน เมื่อ พ.ศ.2461 พระองค์จึงทรงจัดการตรวจเลือดของนักโทษเรือนจำในตอนกลางคืน โดยมีนายแพทย์เอลลิส พยาธิแพทย์ โดยเสด็จเข้าไปในเรือนจำเพื่อเจาะเลือดนักโทษได้จำนวน 128 คน กว่าจะเสร็จการนี้ก็ถึงเวลาเที่ยงคืนพอดี มีนักโทษติดยาในกองมหันตโทษคนหนึ่งได้บันทึกเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ว่า เมื่อทรงเจาะเลือดจากใบหูนักโทษคนละหยดแล้ว ทรงหันมายิ้มกับนักโทษและรับสั่งว่า “ขอบใจที่ให้เลือดแก่ฉัน” ได้เสด็จพร้อมกับนักเรียนแพทย์ 4 คน เข้าเรือนจำอีกครั้งหนึ่งเพื่อสำรวจการมีพยาธิปากขอ ได้เสด็จไปที่ “เว็จ” เพื่อนำอุจจาระไปตรวจ สภาพของส้วมในเรือนจำขณะนั้นเป็นภาวะที่เหลือจะทนทาน นักเรียนแพทย์ไม่ได้ตามเสด็จเข้าไปด้วย จึงรับสั่งว่า…ไม่เข้าไปให้เห็นจะนำเรื่องไปพิสูจน์ได้อย่างไรได้ นักเรียนแพทย์จึงใช้ผ้าปิดจมูกตามเสด็จเข้าไป การที่ทรงสนพระทัยเรื่องพยาธิปากขอนี้ เพราะผู้ป่วยมีลักษณะผอมเหมือนวัณโรค ซึ่งเป็นโรคที่พระองค์ทรงสนพระทัย

Advertisement

พ.ศ.2462 : “ทรงเข้าศึกษาวิชาสาธารณสุข” เดือนกันยายน พ.ศ.2462 ทรงเข้าศึกษาวิชาสาธารณสุข ณ School for Health Officer, Harvard University and Massachusetts Institute of Technology พ.ศ.2463 : “ทรงอภิเษกสมรส” 28 เมษายน พ.ศ.2463 ขณะทรงศึกษาวิชาสาธารณสุขชั้นปีที่ 3 ก่อนที่จะทรงศึกษาจบหลักสูตรการสาธารณสุข ได้เสด็จนิวัติกรุงเทพมหานครเนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง 6 กันยายน พ.ศ.2463 ได้ประทานเงินจำนวน 200,000 บาท ให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในการฉลองวันพระราชสมภพ พระชนมายุครบ 28 พรรษา และเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนก สมเด็จพระอัยยิกา เพื่อเป็น “เงินบำรุงแผนกแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” แต่ตอนหลังเรียกทุนนี้ว่า “ทุนวิทยาศาสตร์แห่งแพทย์” ทั้งนี้ เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้เก็บดอกผลจากเงินทุนเป็นทุนส่งนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ออกไปศึกษา ณ ต่างประเทศเป็นเวลาคนละ 4 ปี เพื่อศึกษาวิชาแพทย์ หรือเคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานสำคัญในการเรียนแพทย์ 10 กันยายน พ.ศ.2463 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดล อดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ อภิเษกสมรสกับพระนางสังวาลย์ ตะละภัฏ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) และเสด็จพระราชทานน้ำสังข์ ณ วังสระปทุม ช่วงระยะเวลาที่ประทับอยู่ในพระเนตรนี้ พระองค์มิได้ทรงอยู่เฉยได้เสด็จห้องทดลองที่ศิริราช เพื่อศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคบิด อะมีบา และคัดเชื้อโรคไข้มาลาเรีย ที่ทรงศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นอกจากนี้ ยังทรงเมตตาสอนนักศึกษาเตรียมแพทย์ในแผนกอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ทรงเรียบเรียงเรื่อง “Tuberculosis” ประทานแก่ กรมสาธารณสุขเพื่อจัดพิมพ์ขึ้น และได้ทรงชำร่วยหนังสือในคราวงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2403 ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2463 ได้เสด็จกลับสหรัฐอเมริกาเพื่อศึกษาต่อในวิชาสาธารณสุขให้สำเร็จ ในการเสด็จครั้งนี้ได้เลือกเจ้าหน้าที่แพทย์ในห้องทดลองวิทยาศาสตร์ ของศิริราชให้ตามเสด็จไปด้วยเพื่อศึกษาเพิ่มเติม ณ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ คือ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส ซึ่งท่านผู้นี้ได้ศึกษาวิชาสำเร็จกลับมาเป็นหัวหน้าแผนกพยาธิวิทยา ต่อมาเป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และในที่สุดดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสมัยหนึ่ง

พ.ศ.2464 : “ทรงได้รับประกาศนียบัตรสาธารณสุข” ทรงศึกษาวิชาสาธารณสุขสำเร็จได้รับประกาศนียบัตรสาธารณสุข (C.PH) ในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2464 และได้เสด็จไปยุโรปลงเรือที่เมือง Boston ถึงอังกฤษเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2464 อันเป็นระยะเวลาที่รัฐบาลโดยกระทรวงธรรมการ ได้เปิดการเจรจาขอความช่วยเหลือจาก “Rockefeller Foundation” ให้เข้ามาช่วยปรับปรุงการศึกษาแพทย์ในกรุงสยามซึ่งได้มีผู้แทนของมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ทางเอเชียบูรพา ชื่อ Dr.Victor G. Heiser เข้ามาดูกิจกรรมสาธารณสุขในประเทศไทย ได้ทูลเชิญกรมพระยาชัยนาทนเรนทรไปทอดพระเนตรการสอนวิชาแพทย์ที่มนิลา (ฟิลิปปินส์) และได้พบปะเจรจากับเจ้าหน้าที่กระทรวงธรรมการและตกลงกันว่า ถ้ารัฐบาลไทยจะเชิญให้มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์เข้ามาช่วยเหลือปรับปรุงอย่างเป็นถาวร มูลนิธิฯก็ยินดี มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ได้มอบหมายให้ Dr. Pearce ประธานแพทย์ศึกษาวิชาแพทย์ได้เข้ามาศึกษาข้อมูลในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม-1 พฤศจิกายน พ.ศ.2464

พ.ศ.2465 : “ทรงเป็นหัวหน้าคณะดำเนินการกับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์” 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2465 การประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรก ระหว่างไทย ซึ่งมี “สมเด็จพระบรมราชชนก” เป็นผู้แทน และทางมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์มีประธานมูลนิธิ คือ Dr.Vincent และ Dr.Rose ผู้แทนมูลนิธิ วัตถุประสงค์ของการประชุม เพื่อวางโครงการปรับปรุงการศึกษาแพทย์ ผลการประชุมเป็นไปด้วยดี เพราะ “สมเด็จพระบรมราชชนก” แสดงความสนพระทัยในกิจการนี้เป็นอย่างยิ่งและสามารถแถลงความอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับสถานการณ์ของการแพทย์ของประเทศไทยในขณะนั้น 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2465 ทรงประชุมร่วมกับ Dr.Vincent อีกครั้งที่ Berne, Switzerland เรื่องการออกเงินช่วยในการสร้าง และบำรุงโรงเรียนแพทย์ ทรงตระหนักถึงความลำบากที่จะต้องประสบในประเทศไทย สืบเนื่องจากการประชุมตกลงกับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ สมเด็จพระบรมราชชนก ได้ทรงมีลายพระหัตถเลขาลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2465 ถึงหม่อมเจ้าพูลศรีเกษม เกษมศรี ความว่า “ผู้ที่จะรับทุนของ R.F แล้ว ต้องเลือกให้น้อยตัวที่สุดที่จะเลือกได้ และต้องให้ดีจริงๆ ทุกคน เพราะเมื่อเขาออกเงินค่าฝึกหัดไปแล้ว เขาก็คงจะหวังให้เราตั้งคนนั้นเป็น ‘ศาสตราจารย์’ จริงๆ มิฉะนั้นเขาคงจะน้อยใจมาก เพราะฉะนั้นจะต้องเลือกคนที่ดีจริงๆ และจะดีกว่าหรือเท่ากับคนอื่นที่จะเรียนสำเร็จไปต่อภายหลัง” เมษายน พ.ศ. 2465 เสนาบดีกระทรวงการแพทย์ได้ตั้ง สมเด็จพระบรมราชชนก เป็นหัวหน้าคณะดำเนินการ 2 ตุลาคม พ.ศ.2465 การเจรจาระหว่างสมเด็จพระบรมราชชนกกับ Dr.Pearce ได้มีขึ้นครั้งแรกที่กรุงปารีส และได้ประชุมต่อมาที่กรุงลอนดอน และนิวยอร์ก เป็นผลสำเร็จ ทางรัฐบาลไทยและมูลนิธิรับหลักการแน่นอน

Advertisement

พ.ศ.2466 : “ทรงศึกษาวิชาแพทย์ต่อ ทรงเป็นอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย” 23 เมษายน 2466 ทรงเสด็จไปศึกษา “วิชาแพทย์” ต่อเริ่มมหาวิทยาลัย Edinburgh, Scotland แต่ประชวรเพราะอากาศหนาวจัด จึงเสด็จนิวัติพระนครอีกครั้ง ดังจะเห็นได้จากพระราชหัตถเลขาทรงมีถึงหม่อมเจ้าพูลศรีเกษม เกษมศรี ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2466 ใจความตอนหนึ่งว่า “ฉันเคราะห์ร้ายเสียจริงๆ ที่เจ็บเท่าไรก็ไม่หาย เมื่อเดือนเมษายน ฉันไปตั้งต้นเรียนที่ Edinburgh แต่พอกลางเทอมก็ต้องเลิกเพราะโรคยังไม่หาย ที่จริงใจฉันร้อนรีบตั้งต้นเร็วเกินไปไม่สบายอีก บัดนี้หมอตัดสินว่าเป็นโรค ‘Kidney’ เสียเลย จะพาลไม่ให้อยู่เมืองอังกฤษ เพราะอากาศที่นี่ชื้นและหนาวไป มีแปลน 2 อย่าง 1) อยู่รักษาตัวจนหายเจ็บกลับกรุงเทพ เมื่อมีโอกาสจึงค่อยคิดอ่าน มาเรียนเอาปริญญา M.D. อีกที่หนึ่ง 2) เพราะหมอห้ามไม่ให้อยู่เมืองอังกฤษแต่ไม่ห้ามไม่ให้เรียน เพราะฉะนั้นบางทีฉันจะไปเรียนที่ California ที่นั้นอากาศอุ่นสบาย” ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย เมื่อ 11 ตุลาคม 2466 เสด็จกลับถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2466 ท่านทรงสอนวิชา “ชีววิทยา” ให้แก่นิสิตเตรียมแพทย์ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ สมเด็จพระบรมราชชนกทรงห่วงใยนักเรียนของพระองค์เป็นอย่างยิ่งไม่เฉพาะการเรียนเท่านั้น แม้เรื่องส่วนตัวการกินอยู่ทรงพร่ำสอนแก่นักศึกษาแพทย์ทั้งหลายคือ “อาชีพแพทย์นั้นมีเกียรติ แพทย์ที่ดีจะไม่ร่ำรวย แต่ไม่อดตาย ถ้าใครอยากร่ำรวยก็ควรประกอบอาชีพอื่น”

พ.ศ.2467 : “ทรงเป็นข้าหลวงสำรวจการศึกษาทั่วไป” นับเป็นปีที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับสาธารณสุขมากที่สุด เพราะเป็นปีที่เสด็จกลับมาประทับในกรุงเทพฯ ชั่วคราว ทรงศึกษาสุขาภิบาลในกรุงเทพฯ ในพ.ศ.2467 เรื่องถนน บ้านเรือน การระบายน้ำ การกำจัดขยะมูลฝอย การประปา ตลอดจนการกินอยู่ของประชาชนเพื่อประโยชน์การศึกษาเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ในการเสด็จไปในที่ต่างๆ พระองค์ทรงดำเนินตามระเบียบเรียบง่าย ไม่ประสงค์ให้มีจัดงานพิธีใหญ่โต 25 มิถุนายน ถึง 15 กันยายน พ.ศ.2467 กรมสาธารณสุขได้จัดอบรมแพทย์สาธารณสุขเป็นครั้งแรกที่สถานเสาวภา มีแพทย์อบรม 9 คน และอบรมสาธารณสุขมณฑล ระหว่าง 6-15 ธันวาคม ปีเดียวกัน สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงบรรยายวิชาปฏิบัติการสุขาภิบาล” 2 ธันวาคม พ.ศ. 2467 ทรงแสดงปาฐกถาเรื่อง “คิดเป็นจำนวน” แสดงถึงความสำคัญของการสาธารณสุข กล่าวคือ ถ้าได้การสาธารณสุขดีแล้ว ความเจ็บป่วยของพลเมืองต้องลดน้อยลง เพราะมีโรคหลายอย่างที่ควรจะป้องกันได้ ผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคเหล่านี้ ต้องเสียกำลังแรงงาน ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล ซึ่งทำมาคิดเป็นจำนวนเงินได้ ทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจไปมิใช่น้อย

พ.ศ.2468 : “เสด็จกลับไปศึกษาวิชาแพทย์ต่อ” แพทย์ 2 ท่านที่ได้รับพระราชทานทุนส่วนพระองค์ไปศึกษา ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ.2460 สำเร็จการศึกษาเดินทางกลับมาประเทศไทยพร้อมปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต คือ นายแพทย์นิตย์ เปาเวทย์ และนายแพทย์ลิ ศรีพยัตต์ เนื่องจากประเทศไทยในขณะนั้นขาดแพทย์และสาธารณสุขมาก ดังนั้น เมื่อนักเรียนส่วนพระองค์ 2 คนแรกจบการศึกษา ก็ทรงให้นักเรียนทุนส่วนพระองค์ 2 ท่านนี้ “เลือกวิถีชีวิตของตนเอง” นายแพทย์ลิ ศรีพยัตต์ เลือกเป็นอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ที่ศิริราช นายแพทย์นิตย์ เปาเวทย์ เลือกเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลกลาง กรมสาธารณสุข การที่ทรงตรากตรำทำงานอย่างหนักทั้งเรื่องการก่อสร้างตึก การจัดการโรงเรียน โรงพยาบาล และการจัดการกับองค์กรมหาวิทยาลัย (พ.ศ.2466-พ.ศ.2468) ทำให้พระพลานามัยทรุดโทรม ในเดือนเมษายน พ.ศ.2468 ได้ทรงให้แพทย์ในกรุงเทพฯ ตรวจพระอาการของพระองค์ แพทย์แนะนำว่าควรจะเสด็จยุโรปหรืออเมริกาเพื่อพักผ่อนและบำรุงพลานามัย

พ.ศ.2469 : “ทรงศึกษาวิชาแพทย์ต่อ” 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2469 สมเด็จพระบรมราชชนก เสด็จกลับไทยพระองค์เดียวเพื่อทรงร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เดือนกรกฎาคม 2469 เสด็จกลับไปสมทบกับครอบครัวพระองค์ที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เดือนสิงหาคม 2469 ทรงเสด็จไปสหรัฐอเมริกาพระองค์เดียวเพื่อทรงศึกษาวิชาแพทย์ต่อให้จบในชั้นคลินิก (ชั้นปีที่ 3) ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทรงสนพระทัยวิชากุมารเวชศาสตร์เป็นพิเศษ เดือนกันยายน 2469 ครอบครัวของพระองค์ได้เสด็จตามไปที่สหรัฐอเมริกา ภายหลังทรงเลือกเช่าแฟลต เลขที่ 63 ถนนลองวูด บรูคลายน์ ชานเมืองบอสตัน เป็นที่ประทับ พ.ศ.2470 “ทรงอุดหนุนให้มีพยาบาลมาช่วยสอนสูติศาสตร์” พ.ศ.2471 “ทรงสำเร็จวิชาแพทยศาสตร์” ระหว่างที่ทรงศึกษาแพทย์ปีสุดท้าย ทรงใช้เวลาและพละกำลังมากเกินไป จนเป็นเหตุให้พระอาการโรคของพระวักกะอักเสบ (ระบบไต) ได้กำเริบขึ้น คณะแพทย์ ถวายคำแนะนำมิให้ทรงตรากตรำเข้าสอบไล่ แต่ต่อมาพระอาการดีขึ้นจึงทรงเข้าสอบจนสำเร็จวิชาแพทย์ ทรงได้รับปริญญา Doctor of Medicine (M.D) เกียรตินิยมชั้น Cum Laude และทรงได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมาคม เกียรตินิยมทางการศึกษาแพทย์ Phi Bata Kappa เดือนมิถุนายน 2471 ในเดือนธันวาคม 2471 ทรงมีลายพระหัตถ์ทูลเสด็จในกรมฯ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ขอกลับมาเป็นแพทย์ประจำที่โรงพยาบาลศิริราช 1 ปี หลังจากทรงจบการศึกษาแล้ว ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ได้ตกลงและเตรียมจะถวายตำแหน่ง “หัวหน้าแพทย์ประจำบ้าน” แต่ก็มิได้สำเร็จดังพระราชประสงค์ เนื่องด้วยพระอิสริยยศ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งรัชทายาทด้วย เนื่องพระพลานามัยไม่สมบูรณ์จึงทรงระงับการศึกษาต่อโรคเด็ก สมเด็จพระบรมราชชนก ได้เสด็จประพาสยุโรปเพื่อพักฟื้น เยี่ยมนักเรียนทุน ทอดพระเนตรงานในสถาบันการแพทย์ เสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2471

พ.ศ.2472 : “ทรงทิวงคต” 24 เมษายน 2472 ได้เสด็จประทับอยู่รวมกับครอบครัวของ Dr.E.C Cort ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแมคคอร์มิคได้ทรงออกตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอกพร้อมกัน Dr.Cort ทรงโปรดรักษาเด็กและโรคประสาท ตอนกลางคืนก่อนบรรทมก็จะเสด็จออกตรวจคนไข้ทุกๆ เตียง ถ้าหมอ Cort ไม่อยู่ก็จะเสด็จออกตรวจแทน นอกจากทรงมีพระเมตตาผู้ป่วยแล้ว พระราชอัธยาศัย และการวางพระองค์ต่อบรรดาแพทย์ พยาบาลก็เป็นไปอย่างละมุนละม่อมไม่ถือพระองค์ ชาวเมืองเชียงใหม่ขนานนามพระองค์ว่า “หมอเจ้าฟ้า”

สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงมีพระราชหฤทัยห่วงศิริราชอย่างล้นเหลือยามใดที่มีผู้ใกล้ชิดเข้าเฝ้าจะรับสั่งถึงงานโรงพยาบาลศิริราชเสมอ พระอาการดีขึ้นและแล้วก็ทรุดลง แพทย์ประจำพระองค์ คือ ศาสตราจารย์ที พี โนเบิล และดับบลิว เอช เปอร์กินส์ ได้ถวายการรักษาอย่างสุดความสามารถ แต่พระอาการก็ทรุดลงเรื่อยๆ ได้เสด็จทิวงคตจากพระโรคพระวักกะอักเสบ (ไต) เมื่อวันที่ 24 กันยายน พุทธศักราช 2472 เวลา 16.45 น. ที่วังปทุมวัน พระชนมายุ 38 พรรษา และ “วันที่ 24 กันยายน” ของทุกปีเหล่าบรรดาวงการแพทย์และสาธารณสุขถือเป็นวันสำคัญยิ่ง คือ “วันมหิดล ท่านคือ พระบิดาแห่งการแพทย์ และการสาธารณสุขไทย” ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image