โลกสีเทาที่ต้องการแสงสว่าง : โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน, ปัณฑารีย์ ทันตสุวรรณ

โลกสีเทาที่ต้องการแสงสว่าง : โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน
รูปที่ 1: เด็กในพื้นที่ทิ้งขยะ

โลกสีเทาที่ต้องการแสงสว่าง : โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน, ปัณฑารีย์ ทันตสุวรรณ

เมื่อพูดถึงโลกสีเทา บางคนอาจนึกถึงความไม่ชัดเจน จะดำก็ไม่ดำ จะขาวก็ไม่ขาว หรืออาจนึกถึงสภาพอากาศที่ขมุกขมัว ไร้ความกระจ่างใสของท้องฟ้า นอกจากความชัดเจนและสภาพอากาศแล้ว ยังมีชีวิตของเด็กและเยาวชนในประเทศไทยอีกจำนวนมากที่เป็นสีเทาไม่ต่างจากภาวะดังกล่าวข้างต้น

หากแยกประเด็นโลกสีเทาตามข้อค้นพบสถานการณ์ปัญหารายงานการวิจัยของหน่วยปฏิบัติการด้านเด็กและเยาวชน พร้อมกับเครือข่าย 21 แห่งที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า โลกสีเทาของเด็กมี 10 ประเด็น ได้แก่ 1) เด็กหลุดจากระบบการศึกษา จากสถาบันสถิติแห่งองค์การยูเนสโก (UIS) ระบุว่ายังมีเด็กเยาวชนมากกว่า 263 ล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะเด็กวัยประถมศึกษามากกว่า 60 ล้านคนที่อยู่นอกระบบการศึกษา และเด็กไทยกว่า 6-7 หมื่นคนที่ใกล้หลุดจากผลกระทบของ COVID-19 ส่งผลให้เสียโอกาสในการพัฒนาทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต วุฒิภาวะ คุณธรรมจริยธรรมในวัยเด็ก

2) เด็กและเยาวชนกลั่นแกล้งกัน ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตเมื่อปี พ.ศ.2561 ระบุว่ามีนักเรียนรังแกกันในโรงเรียนถึง 600,000 คน ซึ่งติดอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น และพบว่า ในปัจจุบันระดับความรุนแรงของพฤติกรรมการกลั่นแกล้งได้ทวีคูณมากขึ้น เนื่องมาจากสื่อและเทคโนโลยี ที่มีบทบาทต่อพฤติกรรมการกลั่นแกล้งกัน เช่น พฤติกรรมแกล้งผ่านโลกไซเบอร์และคุกคามผู้อื่นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และปัญหานี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กและเยาวชนหลีกเลี่ยงการไปโรงเรียน และบางรายถูกแกล้งจนคิดจะฆ่าตัวตายหรือใช้ความรุนแรงในการปกป้องตัวเอง

Advertisement

3) เยาวชนใช้โซเชียลมีเดียอย่างรู้ไม่เท่าทัน เช่น การเข้าถึงเนื้อหาลามก ยาเสพติด การพนัน การใช้ไปเพื่อการรังแกผู้อื่น ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสร้างความเกลียดชัง และมีการแชร์การบ้านให้เพื่อนลอก (Thai Netizen, 2015) ซึ่งมีข้อมูลจากสถาบันสื่อเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยสนับสนุนข้อมูลดังกล่าว เมื่อพบว่ามีเยาวชนเป็นโรคซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ก (Facebook Depression Syndrome) โรคละเมอแชต (Sleep-Texting) โรควุ้นในตาเสื่อม (Eye Floaters) โรคโนโมโฟเบีย (Nomo Phobia) และโรคสมาร์ทโฟนเฟซ (Smartphone face) ที่ส่งผลต่อทั้งร่างกายและสุขภาพจิต อาทิ รู้สึกโดดเดี่ยวหรือไม่มีคุณค่า เปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น ติดแชตแม้จะหลับอยู่ ติดการส่งข้อความหรือเล่นโซเชียลมีเดีย ดวงตาเริ่มไม่ปกติ สมาธิสั้นลง อารมณ์หงุดหงิดง่าย พักผ่อนน้อย วิตกกังวล

4) วัยรุ่นมีภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย สถิติจากองค์การอนามัยโลก พ.ศ.2563 พบว่า มีประชากรทั่วโลกที่ป่วยด้วยภาวะซึมเศร้ามากกว่า 264 ล้านคน และในประเทศไทยยังพบว่า ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย 1.7 เท่า แต่ผู้ชายมีสถิติอาการป่วยแล้วฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้รวมเยาวชนอายุ 15-24 ปีด้วย (กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, 2563) สาเหตุของอาการมาจากหลายปัจจัย เช่น ซึมเศร้า เครียดกังวลจากการเรียน ฆ่าตัวตายจากการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเพศหญิง เสียชีวิตการใช้ความรุนแรง อาชญากรรม อุบัติเหตุการจราจรในวัยรุ่นเพศชาย (WHO, 2019)

5) ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้ ข้อมูลจากคะแนนโอเน็ตเฉลี่ย 5 วิชาของโรงเรียนประถมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ สูงกว่าโรงเรียนขนาดเล็กประมาณ 32% ในปี 2560 ในชั้น ป.6 และผลการวิเคราะห์ของข้อมูลการสอบ PISA ในปี 2018 ที่ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ของความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษาของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ถือว่าอยู่ในระดับสูง ระดับคะแนนสอบ PISA ของนักเรียนไทยในด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่านมีแนวโน้มลดลง

Advertisement
รูปที่ 2: คะแนน PISA ของไทยในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2000-2018
ที่มา: OECD (2019)

6) พื้นที่ไม่ปลอดภัยในครอบครัวและโรงเรียน จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ.2560 พบว่ามีเด็กเกือบ 9,000 คน ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากถูกทำร้ายร่างกายและถูกล่วงละเมิดทางเพศ และจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี พ.ศ.2558-2559 พบเด็กอายุระหว่าง 1-14 ปี จำนวน 470,000 คน เคยถูกครอบครัวลงโทษทางร่างกายอย่างรุนแรง และในบางโรงเรียนมีครูตี ทำร้ายร่างกาย กระทำการอนาจารทางเพศกับเด็กและเยาวชน จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า สถานที่ที่น่าจะเป็นที่ปลอดภัยกลับกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยสำหรับเด็กอย่างน่าใจหาย

7) การผลิตซ้ำความรุนแรง ยาเสพติด เพศ จากสถิติปี 2562 ของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พบว่า มีเด็กกระทำความผิดในรูปแบบลักทรัพย์ ก่อความรุนแรงทางร่างกาย ยาเสพติด เพศ และอื่นๆ มากถึง 20,000 คดี ซึ่งเป็นผลมาจากประสบการณ์การได้รับความรุนแรง การขาดพื้นที่แสดงอัตลักษณ์เชิงบวกเพื่อให้ผู้อื่นยอมรับ การไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ตามความต้องการในแต่ละช่วงวัย มีข้อจำกัดและทรัพยากรของครอบครัว ชุมชน และสภาพแวดล้อมรอบตัว แนวทางปฏิบัติของศูนย์การเรียนหรือโรงเรียนไม่เอื้อให้เด็กเกิดการตระหนักรู้และหาทางออกของปัญหาชีวิตได้อย่างสร้างสรรค์

8) การก้าวพลาดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มีเด็กและเยาวชนกระทำความผิดทางอาญา ประมาณ 30,000 คนต่อปี (กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน, 2561) จากสถิติดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า เด็กได้เปลี่ยนสถานะตนเองจากการอยู่ในโลกสีเทารอบตัว ให้ตนเองกลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่มืดมนยิ่งขึ้น เมื่อได้ลงมือกระทำความผิดพลาดจนต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

9) เด็กและเยาวชนต้องการพื้นที่ทางความคิดและพื้นที่ประชาธิปไตย หลังจาก พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ได้ผ่อนคลายความเข้มงวดลง มีเด็กและเยาวชนจากสถาบันการศึกษาหลายแห่งทั่วประเทศไทย ได้รวมตัวชุมนุมเพื่อตั้งคำถาม เพื่อแสดงออกถึงความต้องการและข้อเรียกร้องจากรัฐบาล การชุมนุมแสดงให้เห็นถึงการรับรู้ต่อสภาวการณ์ปัจจุบัน ที่มีความเหลื่อมล้ำทั้งในด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และระบบอำนาจนิยมที่มีมาตั้งแต่ในอดีตจวบจนกระทั่งปัจจุบัน ว่าการไม่ปรับตัวเหล่านั้นส่งผลต่อพวกเขาทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างไร

10) ลดระบบอำนาจนิยมครอบงำเด็กและเยาวชน เนื่องจากกระบวนการหล่อหลอมเด็กและเยาวชนไทยตั้งแต่ในสถาบันครอบครัวจนถึงสังคม มีการใช้ระบบอำนาจนิยมเพื่อควบคุม สั่งการ จำกัดสิทธิเสรีภาพ การแสดงออกของเยาวชน กดทับให้เยาวชนไม่สามารถแสดงออกถึงความเป็นตัวตนแบบที่ตนเองอยากจะเป็น ไม่กล้าตั้งคำถาม มีกรอบความคิดแบบ fixed mindset ถูกควบคุมโดยระบบลำดับชั้น ซึ่งหากเกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านนี้ได้ นอกจากเด็กจะมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่มากขึ้นแล้ว พวกเขายังจะมีโอกาสได้เพิ่มมุมมองการเห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม และค่อยๆ เพิ่มพื้นที่ในการอยู่ร่วมกันในสังคมแบบประชาธิปไตยได้อย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

จากภาวการณ์โลกสีเทาของเด็กและเยาวชนนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ต่างจากสภาพอากาศที่ท้องฟ้าสดใสตามธรรมชาติ เพียงแค่การเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านโลกสีเทาของเด็กควรเริ่มมาจากการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน หน่วยงานหน่วยย่อยจนถึงภาครัฐ เฉกเช่นในประเทศที่เจริญแล้ว ดังเช่น ประเทศ Finland ที่กระบวนการสร้างพลเมือง มีการดูแลและเอาใจใส่เด็กเริ่มตั้งแต่การทำงานของครูที่เป็นการทำงานแบบแนวราบ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหนทุกคนมีสิทธิที่จะสื่อสาร หัวหน้าครูมีหน้าที่สอนและเขียนแผนการเรียนไม่ต่างจากครูคนอื่น ซึ่งจะช่วยให้ได้พบ เรียนรู้และเห็นความต้องการของเด็ก นอกจากนั้นยังมีการทำงานร่วมกันระหว่างห้องเรียน เครือข่ายนักเรียน เครือข่ายนอกโรงเรียนที่ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้นอกห้อง เด็กจะมีกิจกรรม งานอดิเรก การทำจิตอาสา เพื่อช่วยต่อยอดและเสริมศักยภาพเด็กทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน

แม้จะกล่าวได้ว่า โครงสร้างสังคมและระบบการศึกษาก็เป็นสิ่งที่มีชีวิตและมีวัฒนธรรมซับซ้อน ไม่ต่างจากระบบนิเวศของพืชและสัตว์ (Ecosystem)ที่จะเติบโตได้ดีในดินและภูมิอากาศท้องถิ่น ประเทศไทยไม่สามารถทำเหมือนประเทศฟินแลนด์ได้ทุกอย่าง แต่การมองเห็นปัญหาและคิดถึงการพัฒนาตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง อาจจะช่วยให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่เป็นวัฏจักรวงกลมที่แก้ไขแล้วไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงเหมือนอย่างในอดีตที่ผ่านมา เพราะตอนนี้เด็กและเยาวชนอีกมากกว่า 300,000 คน รอวันฟ้าเปิดและแสงสว่างอยู่

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน
ปัณฑารีย์ ทันตสุวรรณ
หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image