สะพานแห่งกาลเวลา โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ : ใช้‘ติ๊กต็อก’ปลอดภัยหรือไม่?

คําสั่งของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ที่ส่งผลลัพธ์ เป็นการแบนการใช้งานของแอพพลิเคชั่นสัญชาติจีนอย่างติ๊กต็อกกับวีแชท ส่งผลให้เกิดคำถามตามมาในหมู่ผู้ใช้ทั่วโลกว่า แล้วการใช้งานติ๊กต็อกปลอดภัยหรือเปล่า มีความเสี่ยงอะไรบ้างไหม?

คำตอบสั้นๆ ก็คือ ปลอดภัยดี ไม่มีความเสี่ยงครับ

แล้วก็ต้องขยายความเพิ่มกันนิดหน่อยว่า อย่างน้อยที่สุดก็ปลอดภัยอยู่ในระดับเดียวกันกับการใช้งาน อินสตาแกรม หรือเฟซบุ๊ก หรือสื่อสังคมออนไลน์ทั่้วๆ ไปนั่นแหละ

เพราะติ๊กต็อกก็เหมือนกับโซเชียลมีเดีย แอพพลิเคชั่นทั่วไป ที่มีรายได้อยู่ก็เพราะการเก็บข้อมูลของผู้ใช้แต่ละรายนั่นเอง

Advertisement

ชูแมน กูสมาจุมเดอร์ หัวหน้าแผนกปัญญาประดิษฐ์ของ เอฟไฟว์ บริษัทผู้ให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีและความปลอดภัยด้านไอทีระดับโลก ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า โดยปกติวิสัยของแอพพลิเคชั่น สื่อสังคมพวกนี้ จะมีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของยูสเซอร์เอาไว้เหมือนกันหมด

ถ้าจำแนกด้วยความโปร่งใส ก็แยกได้เป็น 3 ระดับด้วยกัน

ระดับแรก เป็นส่วนของข้อมูลที่ผู้ใช้อย่างเราๆ ท่านๆ รู้ดีว่าแบ่งปันไปให้ผู้เป็นเจ้าของแอพพลิเคชั่นเก็บรวบรวม เพื่อแลกกับการได้เข้าใช้งานแอพพ์นั้นๆ

Advertisement

ข้อมูลส่วนที่เป็น อีเมล์ หรือรายละเอียดที่ต้องกรอกเพื่อสร้างบัญชีผู้ใช้ของแอพพ์เหล่านั้น คือข้อมูลในส่วนนี้ เรารู้ว่ากรอกลงไป เจ้าของแอพพ์ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น นำไปประกอบกับการโฆษณา เป็นต้น

อีกส่วนหนึ่งก็คือ เนื้อหาทั้งหลายที่เราใส่ไว้ในแอพพลิเคชั่น ในกรณีของติ๊กต็อก แน่นอนว่าเป็นคลิปวิดีโอสั้นๆ เหล่านั้นนั่นแหละ

นั่นคือ เมื่อเราถ่ายวิดีโอแล้วอัพโหลดขึ้นติ๊กต็อก ทุกคนรู้ล่วงหน้าว่า ติ๊กต็อกจะนำเอาข้อมูลวิดีโอดังกล่าวไปเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ แล้วก็ “วิเคราะห์” วิดีโอนั้นในหลายๆ ทางด้วยกัน

ระดับที่สอง เป็นการเก็บข้อมูลอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งคนทั่วๆ ไปมักไม่ค่อยรู้ว่ามีการจัดเก็บไป

ตัวอย่างเช่น รายละเอียดของ ไอพีแอดเดรส ซึ่งเป็นข้อมูลที่บ่งชี้ว่า คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนที่เราใช้อยู่ที่ไหน เช่นเดียวกับข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวอุปกรณ์ของเรา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับสมาร์ทโฟนและระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์นั้นๆ

ถ้าใครละเอียดถี่ถ้วน อ่าน ไพรเวซี โพลิซี ของติ๊กต็อกก่อนหน้าที่จะสมัครเข้าใช้งานจริงๆ ก็จะพบว่า มีส่วนหนึ่งที่ระบุเอาไว้ว่า ติ๊กต็อก จะ “สแกนและวิเคราะห์” ข้อมูลทั้งหลายที่เราอัพโหลดขึ้นสู่แพลตฟอร์มนี้

ข้อมูลในกลุ่มสุดท้ายที่หากถูกแอพพ์โซเชียลมีเดียจัดเก็บ จะถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ดี ถือเป็นอาชญากรรมผิดกฎหมายในหลายประเทศ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจะทำหน้าที่ตรวจสอบว่าเกิดขึ้นหรือไม่

อย่างไรก็ตาม กูสมาจุมเดอร์ บอกว่า แอพพลิเคชั่นที่ทำงานอยู่ในขอบเขตขนาดใหญ่ มีผู้ใช้งานหรือยูสเซอร์รับร้อยล้านคนอย่างติ๊กต็อก มักไม่ค่อยทำอะไรทำนองนี้

เหตุผลเพราะยากที่จะซุกซ่อนการกระทำของตัวเองให้รอดพ้นจากหูตาของผู้เชี่ยวชาญทั้งทางภาครัฐและ เอกชนนั่้นเอง

ที่สำคัญคือ ทำแล้วก็หนีไม่พ้น ถูกจับได้จากผู้เชี่ยวชาญการแกะรอยย้อนกลับ ที่เรียกกันว่า ฟอเรนซิคส์ รีเสิร์ชเชอร์ นั่นเอง

นักวิชาการอย่าง เจมส์ แอนดรูว์ ลูอิส ผู้อำนวยการโครงการนโยบายด้านเทคโนโลยี ของศูนย์เพื่อศึกษายุทธศาสตร์และวิเทศสัมพันธ์ บอกเอาไว้อย่างนี้ครับ

“ตอนนี้ ไม่มีความเสี่ยงใดๆ ต่อการใช้งานติ๊กต็อก ถือว่าไม่เป็นอันตรายเลยทีเดียว”

ลูอิสบอกว่า ข้อมูลที่ถูกจัดเก็บไว้ของติ๊กต็อก “ไม่มีคุณค่าใดๆ ในเชิงข่าวกรอง” ข้อมูลระดับสองที่จัดเก็บ ก็ “ไม่มีอะไรพิเศษ” และไม่มีหลักฐานใดๆ ว่าติ๊กต็อกเคยใช้หรือเคยเผยแพร่โปรแกรมหรือโค้ดใดๆ ที่ “มุ่งร้าย” ต่อผู้ใช้งานโดยตรง

แต่ถ้าใครหวาดระแวงจีน ในระดับเดียวกับที่ โดนัลด์ ทรัมป์ หวาดระแวง นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่ถึงตอนนั้นก็อย่าลืมเตือนตัวเองไว้หน่อยเหมือนกันว่า ติ๊กต็อกกับรัฐบาลจีน เป็นคนละเรื่องกัน ในจีนไม่มีแอพพลิเคชั่นชื่อติ๊กต็อกอยู่ด้วยซ้ำไป

เซิร์ฟเวอร์ที่เก็บข้อมูลของติ๊กต็อกเอง ก็ไม่ได้อยู่ในจีน แต่อยู่ในสิงคโปร์ กับที่รัฐเวอร์จิเนีย ในสหรัฐอเมริกา ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image