ภาพเก่าเล่าตำนาน โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก : ‘คลองประปา’…มายังไง ?

ประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาบันทึกด้วยความภูมิใจอย่างยิ่งว่า…

สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดเกล้าฯให้ขุดทำนบกั้นน้ำในทะเลชุบศร สร้างเป็นเขื่อนเก็บน้ำฝนไว้ใช้ตลอดปี มีการวางท่อดินเผาจากทะเลชุบศรไปสู่สระที่พักน้ำมีชื่อว่า สระแก้ว 2 แห่ง แล้ววางท่อขนาดใหญ่เข้าสู่เมืองลพบุรีแจกจ่ายไปตามสถานที่ สำคัญๆ เช่น พระราชวัง บ้านหลวงรับราชทูต วัด และโรงทาน สำหรับประชาชน วิวัฒนาการในการจัดระบบการวางท่อจากแหล่งน้ำมาสู่เมือง…ในพระราชวังมี “น้ำพุ” …

ทั้งนี้ ทีมงานบาทหลวงฝรั่งเศสที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ส่งตรงมาเป็นผู้ออกแบบให้ ท่อส่งน้ำเมื่อ 300 กว่าปีที่แล้ว ยังมีซากให้เห็นที่ลพบุรีครับ…

ย้อนไปต้นกรุงรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ ยังทำศึกสงครามระหว่างกลุ่มชนเผ่า (ยังไม่มีประเทศ ยังไม่มีชาติ) เมื่อจะสร้างบ้านสร้างเมือง ก็ถือโอกาสกวาดต้อนชนเผ่าต่างๆ เข้ามาหลอมรวมเป็นอาณาจักร

Advertisement

พ.ศ.2325 กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวง มองไปที่ไหนมีแต่ท้องนา สวนผลไม้และต้นโสน จะมีน้ำนองเมื่อฝนตก เฉอะแฉะ ชุมชนกระจัดกระจายไปไม่รวมตัวกันเป็น กลุ่มก้อน ศูนย์กลางการเมืองการปกครอง คือ พระบรมมหาราชวังและชุมชนใกล้ๆ

จะมีผู้คนหนาตาก็แถวเยาวราช เป็นศูนย์กลางการค้าขาย เป็นถิ่นพำนักของชาวจีนอพยพที่ทยอยลงเรือมาจากเมืองจีน

สยามจำเป็นต้องแสวงหาผู้คนมาเพิ่มเพื่อเป็น “พลังอำนาจ”

ขอยกตัวอย่าง “ชาวมอญ” ที่เป็นคู่ต่อสู้ของชนเผ่าพม่า มอญถือเป็น 1 มิตรชิดใกล้ของสยาม …มอญอพยพเข้ามา ครั้งที่ 10 เมื่อ พ.ศ.2367 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 พระยารามัญ เป็นหัวหน้าคุมชาวมอญประมาณ 3,000 คนเศษ อพยพหนีพม่าที่กดขี่ปราบปรามอย่างหนักขอเข้ามาสู่สยาม

กลุ่มชาวมอญเข้ามาที่ทุ่งหลุมช้างแขวงเมืองกาญจนบุรี ในหลวง ร.3 โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรเสนาเป็นแม่ทัพคุมทัพออกไปรับครัวมอญเข้ามาในพระนคร

โปรดเกล้าฯ ให้มอญไปตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหลังวัดชนะสงคราม (วัดตองปุ) วัดบวรมงคล (วัดลิงขบ) และวัดตรีทศเทพ

ที่เล่ามายืดยาวก็เพื่อจะบอกว่า “คน คือ ทรัพยากร” สำหรับการสร้างบ้านเมือง สร้างชาติ …กรุงเทพฯ เริ่มขยายตัว ขยายประชากรไม่หยุด

ในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป 2 ครั้ง คือ พ.ศ.2440 และ พ.ศ.2450 …เมื่อเสด็จกลับมา ทรงสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สยามแบบทันตาเห็น สาธารณูปโภคพื้นฐาน ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา โรงเรียน กิจการธนาคาร ธนบัตร โรงพยาบาล ฯลฯ ล้วนอุบัติขึ้น…

ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์… เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่พิฆาตชีวิตมนุษย์ในโลกไปนับล้านคน ชาวสยามก็โดนหนัก ตายไปเยอะ ในช่วงรัชสมัยในหลวง ร.5 หมอฝรั่งทั้งปวงฟันธงว่า ชาวสยามยัง “กินน้ำ” ที่สกปรก เต็มไปด้วยเชื้อโรค

ถึงแม้จะมีการขุดคลองกันมหาศาลในบางกอกและในหัวเมืองเพื่อการคมนาคม เพื่อการเกษตร หากแต่ “น้ำสะอาด” ที่จะนำมาใช้อย่างเป็นระบบแบบในอารยประเทศ ยังไม่มีให้บริการประชาชนที่กำลังขยายตัว

สยามจำเป็นต้องมี “ระบบประปา” เยี่ยงอารยประเทศในตะวันตก โดยเฉพาะชาวพระนคร

ในเวลานั้นชาวพระนครมีระบบน้ำประปาขนาดเล็กตรงบริเวณ “แม้นศรี” ซึ่งแรกตั้งในสมัยในหลวง ร.5 เมื่อ พ.ศ.2452 โดยกรมศุขาภิบาลรับผิดชอบ ใช้นายช่าง วิศวกรชาวฝรั่งเศสดูแลระบบ ก่อสร้างสำเร็จใช้งานได้ในช่วงรัชกาลที่ 6 เปิดเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2457

น้ำประปาตรงนั้นใช้ได้ในปริมาณจำกัด เฉพาะชาวพระนครชั้นในและพระบรมมหาราชวัง

ข้อมูลตัวเลขประชากรแบบชุมชนเมือง ในสมัยนั้นช่างน่ารักน่าชัง …ฝั่งพระนคร มีประชากรประมาณ 280,000 คน อยู่ทางฝั่งธนบุรีประมาณ 50,000 คน การดำรงชีวิต คือ อาศัยน้ำฝนที่รองจากหลังคา มาใช้ดื่มกิน แต่ส่วนใหญ่จะใช้น้ำจากแม่น้ำ และลำคลองต่างๆ ซึ่งมีเหลือเฟือ

ย่านคนจีนที่สำเพ็ง สูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาใช้ตามบ้านเรือนแบบดิบๆ ชาวบ้านที่มีฐานะปานกลาง ก็ใช้วิธีตักน้ำขึ้นมาแกว่งสารส้ม นอกจากนี้ ก็มีการใช้น้ำบาดาลบ้าง แต่ไม่มากนัก

“สารส้ม” ที่นำมาใช้ในสมัยแรกเพื่อผลิตน้ำประปา เป็นสารส้มก้อนสั่งมาจากประเทศเบลเยียม ขนส่งข้ามมหาสมุทรมาทางเรือ

สารส้มก้อนที่นำเข้าจากต่างประเทศ เป็นก้อนใสๆ ละลายน้ำได้ดี

เมื่อถึงฤดูแล้งในพระนคร จะมีอหิวาตกโรคระบาด ผู้คนล้มตายเป็นอันมากเสมอ คนส่วนใหญ่เข้าใจกันว่า มี “ห่า” ลงมากินคน ในตอนกลางคืน จึงไม่มีใครกล้าออกจากบ้านในตัวเมืองจะเงียบ วังเวง น่ากลัว

เมื่อ “ห่าลง” ในหลวง ร.5 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “โรงทาน” ขึ้นที่ข้างพระบรมมหาราชวัง แจกอาหาร และน้ำสะอาดให้ประชาชนได้ดื่มกิน และโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “กรมศุขาภิบาล” ขึ้นเพื่อจัดทำน้ำประปาให้ประชาชนใช้ เมื่อปีพุทธศักราช 2440 ซึ่งผลิตได้แบบจำกัด

ในช่วงฤดูแล้ง น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับต่ำ ทำให้น้ำทะเลเข้าทะลักเข้ามาถึง น้ำมีรสกร่อยไม่เหมาะสำหรับการบริโภค และมีแนวโน้มที่จะทวีความสกปรกเพิ่มขึ้นในอนาคต

กรุงเทพฯ ต้องมีระบบประปาขนาดใหญ่…

เมื่อมีการประชุมหารือกันแล้ว…ในหลวง ร.5 ได้มีพระราชดำริให้ กรมศุขาภิบาล จัดการที่จะลำเลียงน้ำมาใช้ในพระนครตามแบบอย่างที่สมควรแก่ภูมิประเทศ

นี่คือจุดเริ่มต้น การสร้างระบบหาแหล่งน้ำบริโภค สำหรับประชาชน ในเขตพระนครขนาดใหญ่ที่ใช้มาถึงปัจจุบัน

13 กรกฎาคม พ.ศ.2452 ได้มีประกาศพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้กรมศุขาภิบาลดำเนินการนำน้ำมาใช้ในพระนคร ดังนี้

1.ให้ตั้งทำที่ขังน้ำที่คลองเชียงราก ในเขตจังหวัดปทุมธานี อันเป็นที่พ้นเขตน้ำเค็มขึ้นถึงทุกฤดู

2.ให้ขุดคลองแยกจากที่ขังน้ำนั้น เป็นทางลงถึงริมคลองสามเสนฝั่งเหนือใกล้แนวทางรถไฟ

3.ตั้งโรงสูบขึ้น ณ ตำบลสามเสน สูบน้ำขึ้นขังยังที่เกรอะ กรองตามกรรมวิธีให้น้ำสะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากสิ่งซึ่งจะเป็นเชื้อโรค แล้วจำหน่ายน้ำไปในที่ต่างๆ ตามควรแก่ท้องที่ของเขตพระนคร

ข้อข้างต้น คือ ข้อความ ภาษาดั้งเดิมที่คัดลอกมานะครับ…

เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ คือ ผู้บัญชาการกรมศุขาภิบาล ในระยะแรก ได้กั้นแม่น้ำน้อย หรือคลองเชียงรากในปัจจุบันกักน้ำไว้ เรียกว่า “คลองขัง” แล้วขุดคลองจากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ “วัดสำแล” ที่น้ำทะเลขึ้นไปไม่ถึง เข้ามาที่คลองขัง

จากนั้นจึงขุดคลองอ้อมไปออกคลองบ้านพร้าวให้เรือสัญจรได้ ขุดคลองบางหลวงหัวป่า และคลองบางสิงห์ ไปเชื่อมกับคลองระพีพัฒน์และคลองเปรมประชากร รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาที่คลองขังซึ่งยาว 8 กม. กว้าง 60-100 ม. ลึกตั้งแต่ 2-6 ม. เตรียมใช้ผลิตน้ำประปา

ร้อยกว่าปีที่แล้ว…ที่ดินย่านนั้น คือ ท้องนา ไร้ผู้คน ผู้เขียนพยายามหาข้อมูลว่าใช้แรงคนขุด หรือเครื่องจักร ก็ไม่พบข้อมูล แต่น่าจะผสมผสานกันเพราะเวลานั้น มีเครื่องจักรไอน้ำ มีรถจักรไอน้ำใช้แล้ว

ทางราชการขอซื้อที่ดินสำหรับสร้างคลองประปา โรงสูบน้ำ และโรงกรองน้ำสามเสนทั้งโครงการ จำนวน 1,097 ไร่ 3 งาน 43 ตารางวา คิดราคาเฉลี่ยตารางวาละ 30 สตางค์ และเนื่องจากเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม จึงมีผู้มอบที่ดินให้เพื่อช่วยราชการถึง 33 ราย รวม 24 ไร่ 3 งาน 28 ตร.ว.

ท่านผู้อ่านคงเห็นด้วยนะครับ ที่ดินราคา ตารางวาละ 30 สตางค์ ฟังแล้วจิตใจฮึกเหิม ห้าวหาญ…

คลองที่เปรียบประดุจ “เส้นเลือดใหญ่” เพื่อนำน้ำสะอาดเข้ามาผลิตเป็นน้ำประปาจึงเป็นมโหฬารงานขุด เป็นแนวตรงเป๊ะ ส่งน้ำ พุ่งตรงไปเข้าโรงกรองน้ำที่สามเสน

พื้นที่สองข้างคลอง ถูกสร้างเป็นคันดิน กันไม่ให้น้ำจากเรือกสวนไร่นา ไหลลงมาในคลองประปา และได้ออก พ.ร.บ. ห้ามลงไปจับสัตว์น้ำ ตกปลา อาบน้ำ ซักล้างเสื้อผ้า หรือทิ้งสิ่งโสโครกลงไปในคลองโดยเด็ดขาด

คลองประปา คือ คลองแยกจากที่ขังน้ำ ที่ ต.บางพูน อ.เมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี ขนานกับคลองเปรมประชากร มายังโรงกรองน้ำสามเสน ยาวประมาณ 25 กม.

ในทางหลักการ…น้ำไหลเป็นระยะทางยาวมากในระบบเปิด น้ำมีโอกาสได้สัมผัสกับอากาศและแสงแดด ทำให้น้ำสะอาด การก่อสร้างได้แล้วเสร็จในเดือนตุลาคม พ.ศ.2456

ที่สำคัญนักหนา คือ ห้ามใช้คลองนี้เพื่อการคมนาคม ห้ามเรือ ห้ามแพที่อยู่อาศัย ช้าง ม้า วัว ควาย ห้ามลงไปแช่ในคลองเด็ดขาด….

กรุงเทพฯ ยังเติบโตแบบไม่หยุด ประชากรหลั่งไหลเข้ากรุงเพื่อเรียนหนังสือ ทำงาน ถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงเทพฯ น้ำประปาเริ่มไม่พอเพียง

พ.ศ.2423 การประปานครหลวงพิจารณาว่า การชักน้ำจากที่ขังน้ำ เข้าคลองประปา ยังมีน้ำดิบในปริมาณน้อย จึงขยายแนวคลองประปาขึ้นไปถึงเหนือวัดสำแล ในเขตอำเภอเมืองฯ จังหวัดปทุมธานี เพื่อสูบน้ำดิบโดยตรงจากแม่น้ำเจ้าพระยา คลองประปาจึงยาวขึ้นเป็น 31 กิโลเมตร

23 ตุลาคม 2453 …ในหลวง ร.5 สวรรคต

ในหลวง ร.6 ทรงให้ดำเนินกิจการจัดหาน้ำประปาต่อไปจนเสร็จ

ในการเปิดกิจการประปากรุงเทพฯ 14 พฤศจิกายน 2457 ตอนหนึ่งของพระราชดำรัสของในหลวง ร.6 ความว่า…

“ขอประปาจงเป็นผลสำเร็จสมความพระราชประสงค์ของสมเด็จพระชนกนารถของเรา และความประสงค์ของเราแลความประสงค์ของท่านทั้งหลายบรรดาที่ได้ช่วยทำการอันนี้สำเร็จ ขอน้ำใสอันจะหลั่งจากประปานี้ จงเป็นเครื่องประหารสรรพโรคร้ายที่จะเบียดเบียนให้ร้ายแก่ประชาชนผู้เป็นพสกนิกรของเรา ขอน้ำอันนี้ที่ได้รับพรแล้วโดยพระสงฆ์ได้สวดมนต์ และโดยเราได้ตั้งใจให้พร จงบันดาลให้เป็นน้ำมนต์ทำให้ประชาชนมีความสุขสวัสดิ์ผ่องแผ้ว เจริญทั่วทุกตัวคนตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป…”

การประปากรุงเทพฯ มีกรมศุขาภิบาล กระทรวงนครบาล เป็นผู้รับผิดชอบก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ จากที่เคยจำหน่ายเฉพาะในเขตพระนคร ได้ขยายการจำหน่ายไปยังฝั่งธนบุรี โดยวางท่อตามแนวสะพานพุทธฯ ไปยังถนนประชาธิปกและถนนสมเด็จเจ้าพระยา

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 สะพานพระพุทธยอดฟ้าถูกระเบิดทำลาย ท่อประปาชำรุดเสียหาย การจ่ายน้ำย่านฝั่งธนต้องหยุด

เทศบาลนครธนบุรีจึงได้เริ่มกิจการประปาของตนเอง โดยขุดเจาะบ่อบาดาลให้บริการน้ำ

ขอแทรกเป็นข้อมูลครับ…ในปี พ.ศ.2460 ขณะที่กรุงเทพฯเริ่มมีน้ำประปาในลักษณะจำกัด ในหลวง ร.6 ขณะดำรงพระยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้ถวายคำแนะนำในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ โดยให้สร้างเป็นรูป “พระแม่ธรณีบีบมวยผม” เพื่อพระราชทานน้ำดื่มให้แก่ประชาชนที่ผ่านไปมาบริเวณท้องสนามหลวง

ถ้ามองย้อนเวลากลับไป ต้องถือว่าเป็นแห่งเดียวที่จะหาน้ำดื่มได้

27 ธันวาคม 2460 ทำพิธีเปิดพระแม่ธรณีบีบมวยผม ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา และยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน

ในระยะต่อมา กรุงเทพฯ ยังเติบโตแบบไม่อั้น จึงต้องก่อสร้างโรงกรองน้ำบางเขน ก่อสร้างโรงสูบน้ำและถังเก็บน้ำ 4 มุมเมืองคือ โรงสูบน้ำท่าพระ สวนลุมพินี คลองเตย และพหลโยธิน

ก่อนที่จะส่งท้ายบทความนี้…

ผู้เขียนไปค้นคว้าเพิ่มเติม เรื่องของแม่น้ำ ลำคลองในสยาม

หนังสือของ ส. พลายน้อย บันทึกว่า วันหนึ่ง…ในหลวง ร.5 ทรงปรารภถึงชื่อที่จะใช้เรียกคลองที่ขุดขึ้นนี้ ควรจะเรียกอย่างไร โดยทรงปรึกษากับสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส

มีคำในภาษาบาลีหรือสันสกฤตที่จะเอามาใช้เรียกน้ำที่ส่งไปตามท่อที่จะทำขึ้นใหม่ได้บ้าง ซึ่งพระมหาสมณเจ้าทรงพบว่าอินเดียสมัยโบราณเรียกที่ที่มีน้ำไหลออกมาเป็นน้ำพุ หรือลำธารให้ประชาชนและสัตว์ได้อาบกินว่า “ปราบ”

แต่คนไทยพูดไม่สะดวกปาก จึงทรงปรับเสียงใหม่เป็น “ประปา” ในหลวง ร.5 ทรงเห็นว่าเป็นคำสั้นๆ พอที่จะนำมาใช้แทนภาษาอังกฤษ water supply ได้…

จึงทรงกำหนดให้เรียก “น้ำประปา” มาแต่ครั้งนั้น ด้วยเหตุนี้คลองที่ขุดขึ้นนี้จึงได้ชื่อว่า “คลองประปา”…

เป็นพระวิสัยทัศน์สร้างสรรค์ ก่อเกิดสิ่งดีๆ มาถึงชนรุ่นหลัง

ที่มา www.mwa.co.th ประวัติการประปา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image