สองนคราประชาธิปไตยรูปแบบใหม่ โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ในวาระดิถีที่เจ้าพ่อทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยได้รับตำแหน่งเสนาบดี…(ฮา) บทความนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับท่าน เพียงแต่หยิบยืมชื่อทฤษฎีที่ติดตาตรึงใจมาใช้อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนี้

สิ่งที่ผมจะนำเสนอนั้นไม่ใช่เรื่องประชาธิปไตยไทยที่คนในชนบทตั้งรัฐบาลและคนในเมืองล้มรัฐบาล เหมือนที่ท่านอาจารย์เอนกได้นำเสนอในหนังสืออันเลื่องชื่อของท่าน ที่หมายถึงสภาพประชาธิปไตยก่อนการปฏิรูปการเมือง 2540

หรือสองนคราประชาธิปไตยในความหมายโลกการเมืองที่แบ่งเป็นเหลือง-แดงในช่วงสิบกว่าปีนี้

หรือโลกการเมืองที่แบ่งเป็นคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา

Advertisement

แต่วันนี้ผมจะชี้ให้เห็นว่าผลการเลือกตั้งซ่อมรอบล่าสุดของการเลือกตั้งสมุทรปราการเขต 5 บางบ่อ บางเสาธง บางพลี (เฉพาะตำบลหนองปรือและตำบลราชาเทวะ) ที่พรรคพลังประชารัฐชนะอีกครั้ง ลองดูตามคะแนนนี้

สองนคราประชาธิปไตยใหม่ที่ผมต้องการนำเสนอก็คือ ประชาธิปไตยไทยในปัจจุบันนั้นเกิดสภาวะที่รัฐบาลนั้นเข้ามามีอำนาจได้ด้วยการใช้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่พวกเขาเองได้ประโยชน์ และที่มาของรัฐธรรมนูญนี้ก็มีปัญหา ตั้งแต่การร่างที่ตั้งพวกตัวเองมาร่าง แล้วก็ไม่รับกันเอง แล้วก็ตั้งพวกเองอีกรอบมาร่างใหม่ ซึ่งก็ยังไม่พอใจ ต้องมาเพิ่มสิ่งที่ตัวเองต้องการในคำถามพ่วงก่อนลงประชามติ

Advertisement

และรัฐธรรมนูญนี้แม้จะอ้างว่าผ่านประชามติ แต่หลักฐานจำนวนมากของการลงประชามติก็ชี้ว่าการลงประชามติไม่ครบองค์ประกอบเสรีและเป็นธรรม เพราะรณรงค์คิดต่างไม่ได้ มีกฎหมายจำกัดเสรีภาพครอบอยู่ มีการดำเนินคดีผู้ที่รณรงค์ไม่รับ และถูกจับตาอย่างใกล้ชิด

สองนคราประชาธิปไตยใหม่คือ ประชาธิปไตยที่ฝ่ายหนึ่งใช้ความได้เปรียบของฝ่ายตนในการร่างรัฐธรรมนูญที่ตนได้เปรียบ โดยเฉพาะการวางระบบเลือกตั้งใหม่ที่จัดการพรรคการเมืองเก่าที่ได้รับความนิยมให้ได้คะแนนลดลง และสร้างระบบ ส.ว.ในบทเฉพาะกาลที่คณะรัฐประหารเลือกขึ้นเองในการให้การสนับสนุนเลือกหัวหน้าคณะรัฐประหารที่พรรคการเมืองใหม่ที่พรรคพวกตนตั้งขึ้น (ทั้งรัฐมนตรีที่เคยทำงานกับตน นักการเมืองที่สวามิภักดิ์ และพรรคพวกฝ่ายความมั่นคงของตัวเอง) รวมทั้งอำนาจรัฐราชการเดิมที่ทำงานในช่วงนั้น

ขณะที่ประชาธิปไตยอีกด้านหนึ่งคือ ประชาธิปไตยที่ประชาชนต้องเล่นตามเกม แม้จะชนะก็ถูกกลไกบีบไม่ให้ครองอำนาจได้

มาลองดูคะแนนการเลือกตั้งทั้งประเทศ เมื่อ 24 มีนาคม 2562 ในเงื่อนไขตอนรณรงค์เลือกตั้งที่ประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย (ขอเน้นสองพรรคนี้) ประกาศไม่เอา พลเอกประยุทธ์ และระบอบ คสช.รวมทั้ง ส.ว.

ทีนี้มาลองดูคะแนนเมื่อผ่านการใช้กลไกรัฐธรรมนูญ และสูตรในการนับคะแนนเขย่งรวมทั้งอำนาจทางการเมืองของระบอบในการเจรจา เมื่อมีการตั้งรัฐบาล

จะพบว่า ระบอบประยุทธ์ 2 คือ หลังการเลือกตั้งสถาปนาตัวเองได้ผ่านการสร้างเงื่อนไขในการตัดสินใจที่ทำให้การยอมเข้าร่วมรัฐบาลเกิดขึ้นได้ เพราะรู้ว่าการตั้งรัฐบาลนั้นไม่ได้ใช้เสียงข้างมาก แต่ต้องใช้ ส.ว.อีก 250 คน และการขึ้นสู่อำนาจของประยุทธ์ไม่ได้มาจากกด popular vote อย่างแท้จริง เพราะพรรคพลังประชารัฐนั้น แม้จะอ้างว่าได้ popular vote แต่ popular vote ของตน (หรือคะแนนเลือกมากที่สุด) เอาเข้าจริงก็ไม่ได้เป็นเก้าอี้มากที่สุด (เพื่อไทยได้) และจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ จึงต้องไปใช้เงื่อนไขให้ ส.ว.มาช่วยลงคะแนน (มาจากคำถามพ่วงในรัฐธรรมนูญ)

ทีนี้มาดูกรณี กทม. หากดูคะแนนแม้จะมีการตั้งรัฐบาล

 

สิ่งที่เราพบก็คือ ฝ่ายค้านรวมกันนั้นชนะรัฐบาล (รวมทั้งประชาธิปัตย์ด้วย) แต่เมื่อพิจารณาตามกติกาเลือกตั้ง พลังประชารัฐที่คะแนน น้อยกว่าอนาคตใหม่ได้ 12 ที่นั่ง เพื่อไทย 9 และอนาคตใหม่ 9 แม้ว่าอนาคตใหม่ได้ popular vote และในวันนี้ อนาคตใหม่บางคน และเพื่อไทย ก็ยังย้ายไปอยู่พลังประชารัฐเพิ่ม โดยไม่ได้ถามประชาชนที่เลือกพวกเขามา

ที่อธิบายคือ ช่วงจังหวะของการเลือกตั้งทั่วไปก่อนการตั้งรัฐบาล และหลังตั้งรัฐบาล ที่ระบอบประยุทธ์ไม่ได้มาจากเสียงข้างมากของประชาชน แต่เมื่อเข้าครองอำนาจแล้ว ระบอบประยุทธ์นั้นก็ได้ทรงอำนาจและได้รับความนิยมกับประชาชนมิใช่น้อย หากยอมรับผลการเลือกตั้งซ่อม

การเลือกตั้งซ่อมครั้งแรก เกิดก่อนการตั้งรัฐบาล จะพบว่าอนาคตใหม่ชนะถล่มทลายและเพื่อไทยลงไม่ได้

เชียงใหม่ เขต 8

 

แต่เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้วจะพบว่าผลการเลือกตั้งซ่อมทุกครั้ง ฝ่ายรัฐบาลชนะมาโดยตลอดทั้งที่กรณีนครปฐมเขต 5 นั้นอนาคตใหม่ชนะตอนเลือกตั้งทั่วไป ขอนแก่น 7 เพื่อไทยชนะตอนเลือกตั้งทั่วไป (ทั้งสองกรณีเปลี่ยนตัวผู้สมัคร) กำแพงเพชรคือพื้นที่เดิมของพลังประชารัฐ (แต่ พปชร.เปลี่ยนตัวให้ลูกลงแทน) และลำปาง เพื่อไทยที่เป็นแชมป์เก่าก็ไม่ส่ง

หากรวมกรณีศรีนวลที่เชียงใหม่เขต 8 ก่อนถึงสมุทรปราการ ฝ่ายรัฐบาลชนะการเลือกตั้งซ่อมทุกครั้ง

 

หากพิจารณาให้ดี จะพบว่าแม้การเลือกตั้งซ่อมครั้งล่าสุดนี้พลังประชารัฐจะชนะ และได้คะแนนเพิ่มจากคราวที่ผ่านมา เพื่่อไทยได้คะแนนลดลง ก้าวไกลได้ลดลงจากอนาคตใหม่ แต่นี่คือครั้งแรกที่ก้าวไกลสามารถลงเลือกตั้งซ่อมได้ หลังจากอนาคตใหม่ถูกยุบ เมื่อ 21 ก.พ.63

ประเด็นการเลือกตั้งซ่อมรอบล่าสุดนั้นจะเห็นว่าแม้พลังประชารัฐจะชนะ ชนะเพิ่มขึ้น แต่ถ้าคะแนนรวมนั้นฝ่ายค้านก็ชนะ ไม่ต่างจากรูปแบบเดิมของระดับประเทศ และ กทม. (แต่ชัยชนะของฝ่ายค้านนั้น แต่ละพรรคก็คะแนนลดลง)

ดังนั้นถ้ารวมทั้งประเทศ รัฐบาลนี้อยู่ได้ไม่ใช่เพราะมาจากการเลือกตั้งดังที่เขาพยายามอธิบาย แต่มาจากอำนาจของรัฐธรรมนูญที่พวกเขาร่างและได้เปรียบ และมาจากอำนาจการเมืองที่ทำให้พรรคและนักการเมืองบางกลุ่มสยบยอม หรือถ้าไม่กล้าใช้คำนั้นก็จำนนต่อเงื่อนไขทางการเมืองเช่นนี้ (แน่นอนว่าในบางพื้นที่พลังประชารัฐและพรรคร่วมบางพรรคอาจชนะถล่มทลายบ้าง แต่ภาพรวมไม่ใช่)

ในกรณีกรุงเทพฯ ที่เป็นเมืองหลวง พลังประชารัฐและระบอบประยุทธ์ก็ไม่ได้ชนะแบบ popular vote แต่ตอนนี้ยังมีเก้าอี้ ส.ส.มากสุดและเพิ่มขึ้นจากการดูด

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ฝ่ายค้านเองก็ไร้ยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่จะทำงานการเมืองร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ที่จะคว้าชัยชนะ เพราะถ้าร่วมมือกัน ก็จะชนะพันธมิตรร่วมของฝ่ายรัฐได้ ลองพิจารณาจากการเลือกตั้งซ่อมสมุทรปราการ ซึ่งอาจตีความได้ว่าก็แค่เป็นกรณีเดียว หรืออาจตีความว่าเป็นจุดตั้งต้นของวงจรความเสื่อมถอยของความนิยมและความชอบธรรมของรัฐบาล

อีกคำอธิบายก็คือ ความชอบธรรมของรัฐบาลในปัจจุบันตกต่ำลงจากการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาโควิด และการเคลื่อนไหวนอกสภา แต่หากฝ่ายค้านและประชาชนไม่สู้ทั้งการแก้รัฐธรรมนูญ และการรวมตัวกันต่อสู้ในการเลือกตั้ง ระบอบสองนคราประชาธิปไตยใหม่ที่เสียงข้างน้อยที่มีอำนาจมากเพราะมีตัวช่วยและมีกติกาที่เขียนเอง ก็จะชนะประชาธิปไตยเสียงข้างมากที่ขาดเอกภาพและไม่ท้าทายปัญหาที่รัฐธรรมนูญนี้สร้างไว้ และความถดถอยในความชอบธรรมทั้งของรัฐธรรมนูญและระบอบการเมืองที่ดำรงอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image