เปลี่ยนโลกสีเทาของเด็กและเยาวชน : โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน / ชุติมา ชุมพงศ์

เปลี่ยนโลกสีเทาของเด็กและเยาวชน : โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน / ชุติมา ชุมพงศ์

เปลี่ยนโลกสีเทาของเด็กและเยาวชน : โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน / ชุติมา ชุมพงศ์

ปัจจุบันเด็กและเยาวชนต้องพบเจอปัญหาในสังคมสีเทามากมาย ทั้งปัญหาการก่อเหตุยุวอาชญากรรมที่พบว่าในรอบปีหนึ่งๆ ประมาณ 30,000 คน ปัญหาองค์รวมทั้งการแก่งแย่งชิงดีกันในกลุ่มเพื่อนและครอบครัว ปัญหาเด็กติดยาเสพติด มั่วสุมจนเกิดการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ปัญหาการรังแกกันในโลกออนไลน์ (Cyberbullying) โดยใช้เครื่องมือสื่อสารเป็นเครื่องมือหลัก เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์เชื่อมต่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม แชต หรือเครือข่ายทางสังคมออนไลน์อื่นๆ ทั้งโจมตี ขู่ทำร้าย หรือใช้ถ้อยคำหยาบคาย การคุกคามทางเพศแบบออนไลน์ การแอบอ้างตัวตนของผู้อื่นที่ส่งผลกระทบทางลบอย่างมากต่อผู้ถูกกระทำทั้งทำให้อับอาย หวาดกลัว หดหู่ โดดเดี่ยว ท้อแท้ สิ้นหวัง ทำร้ายตัวเอง และอาจรุนแรงถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตาย รวมถึงปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย โลกที่น่าอยู่ ที่เหมาะสมแก่การพัฒนาของเด็กและเยาวชนได้มลายหายไป เราที่เป็นผู้ใหญ่จะมีวิธีการอย่างไรที่จะช่วยให้เด็กและเยาวชนอาศัยอยู่ท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้

ศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นศูนย์วิจัยที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนมาอย่างยาวนานด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทั้งการลงพื้นที่ ติดตาม การรวบรวมสภาวการณ์ทั้งการพัฒนาเครือข่าย (Node) กลุ่มเด็กและเยาวชนทั้งเกาะติดกับพื้นที่ สถานการณ์ปัญหาต่างๆ การส่งเสริมศักยภาพพัฒนาคนทำงานด้านเด็กและเยาวชน เช่น การเสริมพลังเยาวชน สร้างนวัตกรรุ่นใหม่ โดยนำกระบวนการ design thinking ไปใช้ออกแบบนวัตกรรมทางสังคม การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล โดยมุ่งให้แกนนำเด็กและเยาวชนรู้เท่าทันตนเอง รู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศและสามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในประเด็นเหล่านี้เพื่อช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อตนเองและต่อการผลิตสื่อสู่สาธารณะได้

รวมถึงวิธีการเขียนโครงการเพื่อขอทุนสนับสนุนกับองค์กรภายนอกเพื่อให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ในการทำกิจกรรมของเด็กและเยาวชนและเชื่อมเครือข่ายระหว่างคนทำงาน

Advertisement

นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการทำวิจัยระยะสั้นให้อาจารย์ นักวิจัยรุ่นใหม่ ในการพัฒนาศักยภาพตนเอง สร้างองค์ความรู้ นวัตกรรมใหม่ เพิ่มพื้นที่การนำเสนองานวิจัย รวมทั้งสร้างแนวปฏิบัติการเชิงรุกในการแก้ไขประเด็นปัญหาด้านเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบางทั้งที่เป็นเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมหรือเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ ประเด็นเฉพาะหรือกลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะโดยตั้งต้นจากการใช้งานวิจัยเป็นฐาน เพื่อให้ลดปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นให้น้อยลงหรือป้องกันไม่ให้เกิดมากไปกว่านี้ โครงการที่ทางศูนย์ สนับสนุนเพื่อช่วยแก้ปัญหาเด็กและเยาวชน ได้แก่

1. โครงการวิจัยแนวทางการจัดการศึกษาทางเลือกสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม โดย รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา ภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นโครงการที่นำเสนอแนวทางการจัดการศึกษาทางเลือกสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากแนวทางพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมที่อยู่ในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนในรูปแบบการจัดการศึกษานอกระบบในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมกับเป้าหมายของการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ตามศักยภาพความถนัดและความสนใจของเด็กและเยาวชนในกลุ่มนี้ หลักสูตรการเรียนรู้ยังแข็งตัวกับระบบกระแสหลัก จึงได้มีการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบท ตัวตน และความสามารถของเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมตามแนวทางของการจัดการศึกษาทางเลือก การจัดการศึกษาบนฐานกิจกรรมหรือกลุ่มประสบการณ์ (Project Based) เพื่อผลสัมฤทธิ์ของการศึกษาภาคบังคับ อาชีพ ทักษะความสามารถ ทักษะชีวิต วุฒิภาวะ และคุณธรรม จริยธรรม

2.โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ พลเมืองเด็กและเยาวชนรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก โดยอาจารย์ ดร.อรรฏชณม์ สัจจะพัฒนกุล สาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เป็นงานวิจัยที่ใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) มุ่งพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนที่เข้ามีส่วนร่วมในการวิจัย สร้างและพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้เชิงเครือข่ายเพื่อพัฒนาสมรรถนะพลเมืองเด็กและเยาวชนรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัลในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากในปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกนั้นเด็กและเยาวชนใช้เวลาหน้าจอกับโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ เป็นเวลา 6 ชั่วโมง หรือมากกว่า 1 ใน 4 ของแต่ละวัน ภูมิทัศน์การเรียนรู้ของผู้เรียนเปลี่ยนไปพร้อมกับภูมิทัศน์สื่อ แต่ภูมิทัศน์ในการจัดการเรียนการสอนของครู รวมถึงการเรียนรู้ของเด็กในระบบการศึกษายังไม่เปลี่ยน เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการศึกษาของเด็กในเมืองและชนบท ส่งผลต่อการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล จึงเกิดการพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ สร้างคู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความเป็นพลเมืองรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล

Advertisement

3.โครงการวิจัยพฤติกรรมเสี่ยงการฆ่าตัวตายในมุมมองของวัยรุ่นในจังหวัดนครพนม โดยอาจารย์ ดร.สุรชัย
เฉนียง วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนม มหาวิทยาลัยนครพนม เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อศึกษารับรู้เกี่ยวกับสาเหตุ การป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงการฆ่าตัวตายและความต้องการรูปแบบวิธีการป้องกันการฆ่าตัวตายในนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครพนม เนื่องจากปัจจุบันเด็กและเยาวชนต้องอยู่ท่ามกลางสังคมที่ถูกกดดันจากครอบครัว โรงเรียน สังคม และความคาดหวังของตนเอง ต้องเรียนให้ได้เกรด 4 สอบเข้าคณะสายสุขภาพ ระหว่างเรียนต้องไม่มีความรัก ส่งผลให้ไม่สามารถจัดการกับเครียดของตนเองได้เนื่องจากขาดทักษะในการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ จึงหาทางออกด้วยการไปพึ่งพาสารเสพติดและที่รุนแรงไปกว่านั้นคือภาวะซึมเศร้า การพยายามทำร้ายตนเองหรือถึงขั้นฆ่าตัวตาย

งานวิจัยชิ้นนี้ทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะครู บุคลากรทางการศึกษา รวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำองค์ความรู้ สารเทศ
ที่ได้ไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการป้องกันและการส่งเสริมสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนต่อไป

งานวิจัยทั้ง 3 เรื่องล้วนแล้วแต่สะท้อนวิกฤตโอกาสโลกสีเทาที่รอบล้อมตัวเด็ก ยาเสพติด เหล้า บุหรี่ ความรุนแรง การล้อเลียนทางสื่อ การกดทับอำนาจนิยม ภาวะไร้สร้างสรรค์ของการสร้างพลเมืองและอื่น ๆ ดังนั้นจะเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกของเด็กและเยาวชนนั้นซ้ำซ้อนเกินกว่าที่จะมีเพียงหน่วยงานเดียว หรือบางหน่วยงานที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ เราในฐานะที่เป็นหน่วยงานหรือองค์กรที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนต้องช่วยกันเพื่อหาทางแก้ไขหรือป้องกันการเกิดปัญหา บูรณาการการทำงานแบบเบญจภาคีเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนโดยใช้งานวิจัยเป็นฐาน ต่อยอดข้อเสนอวิจัยจากในพื้นที่สู่การขับเคลื่อนในระดับตำบล จังหวัด สู่ประเทศ สร้างพื้นที่การทำงานภายใต้วัฒนธรรมใหม่ นั่นคือการให้พื้นที่ในการสื่อสาร รับฟังอย่างตั้งใจ ชี้นำผ่านการยกตัวอย่างแต่ไม่ตัดสินใจแทน เคารพการตัดสินใจ และสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางความคิด จิตใจและร่างกาย

รวมไปถึงสิ่งสำคัญที่สุด คือ การฟังเสียงเด็กเป็นสำคัญ ผู้เขียนเชื่อว่าจะเป็นการลดปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นได้และโลกแห่งการพัฒนาของเด็กและเยาวชนที่มีสีสันจะกลับมาอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image