จิตวิวัฒน์ : สุนทรียสนทนากันดีไหม? : โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน

จิตวิวัฒน์ : สุนทรียสนทนากันดีไหม? : โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน

จิตวิวัฒน์ : สุนทรียสนทนากันดีไหม? : โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน

ท่ามกลางบรรยากาศการชุมนุมที่คุกรุ่นขึ้นเรื่อยๆ เราได้เห็น ได้ยินและได้ฟังวาทกรรม ทั้งในกลุ่มชุมนุม และในสื่อสังคมที่หลากหลาย คำและภาษาที่ใช้จงใจให้เห็นความแตกต่าง แบ่งแยก จัดประเภท จัดลำดับ เช่น คนรุ่นใหม่-คนรุ่นเก่า เผด็จการ-ชังชาติ… มุ้งมิ้ง สลิ่ม ไดโนเสาร์ ฟันน้ำนม… ท่าทีและลีลาส่อไปในทางดูหมิ่น ดูแคลน เสียดสี ให้ร้าย อีกฝ่ายหนึ่ง และบางครั้งก็ด่ากันด้วยถ้อยคำที่ไม่สุภาพ หากสถานการณ์ยังดำเนินต่อไปในลักษณะนี้ โอกาสจะเกิดความขัดแย้งจนถึงขั้นมีการปะทะกันจนเลือดตกยางออก หรือแม้กระทั่งสูญเสียชีวิต หรือไม่ก็ติดคุกติดตะรางกัน ก็จะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าพึงประสงค์สำหรับประเทศเรา โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ยังเผชิญกับปัญหารอบด้าน

ในฐานะพลเมืองอาวุโส ที่อยากเห็นสังคมไทยมีศานติสุข ขออนุญาตให้สติกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ช่วยกรุณาหยุดไตร่ตรอง ใช้สติและปัญญา ใคร่ครวญทบทวนดูว่าสิ่งที่ทำไปและสิ่งที่กำลังจะทำ มันจะนำไปสู่อะไรอย่างแท้จริง? ใครได้ ใครเสีย? ได้อะไร เสียอะไร? สังคมไทย ประเทศไทย ได้หรือเสีย? สิ่งที่ทำไป และที่กำลังจะทำ เราสามารถรับผิดชอบแทนคนไทยทั้งประเทศได้จริงหรือ? สิ่งที่เราทำไป และกำลังจะทำ คนไทยทั้งประเทศขอร้องให้เราทำหรือไม่? เราคิดเอง พูดเอง ทำเอง ในฐานะพลเมืองไทย หรือในฐานะตัวแทนของกลุ่มเรา หน่วยงานเรา หรือในฐานะตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ?…

อยากขอร้องให้ทุกฝ่ายหยุดการใช้คำ และหรือวาทกรรมที่บ่งบอกเจตนาสร้างความแบ่งแยก แตกแยก…อย่าตีตรา พะยี่ห้อ ให้กันและกันอย่างรีบด่วน เพียงเพราะคำพูดคำเดียวหรือไม่กี่คำ หรือวาทกรรมเดียว หรือการกระทำเดียว แล้วสรุปโยงเป็นเรื่องใหญ่เกินความเป็นจริงตามการรับรู้และการตีความของเราเองฝ่ายเดียว เพราะการทำเช่นนั้น เป็นการผลักไสให้เขาต้องไปอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง แล้วเกิดปฏิกิริยาตอบโต้ระหว่างกัน กลายเป็นเชื้อเพลิงให้วงจรอุบาทว์ หรือวงจรอำมหิต ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วสุดท้ายก็กลายเป็นระเบิดสังหาร ห้ำหั่นกัน บาดเจ็บด้วยกันทุกฝ่าย ในระยะสั้น แม้ดูเหมือนผู้แข็งแรงกว่าจะได้ชัยชนะในการรบ แต่สงครามทำนองนี้ยังไม่จบสิ้น ผู้ชนะมีอำนาจ มีผลประโยชน์ ผู้ชนะรวบอำนาจและผลประโยชน์ไว้ พยายามปกป้องและรักษาอำนาจและผลประโยชน์ไว้ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของตนเอง จนขาดสติ จนบดบังปัญญาในการนำพาประเทศชาติให้เกิดศานติสุข มีความมั่นคงและยั่งยืน อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีในสังคมโลก เมื่อสังคมมีปัญหามากขึ้น ก็จะมีกลุ่มคนลุกขึ้นมาเรียกร้อง สงครามรอบใหม่ก็จะปะทุขึ้น วงจรอุบาทว์ก็กลับมา…ประเทศชาติสูญเสีย ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อม บางส่วนกระโดดเข้าร่วมสงคราม สนับสนุนฝ่ายที่ตนเองคิดว่าเป็นฝ่ายถูก วงจรอุบาทว์ก็หมุนเร็วและแรงขึ้นเรื่อยๆ…

Advertisement

หันมาหาวิธีชะลอ หยุด และทำลายวงจรอุบาทว์ดังกล่าว กันดีไหม?

หันหน้ามาพูดคุยกันแบบฉันมิตรจะดีกว่าไหม? และเพื่อให้ตรงประเด็นตามชื่อบทความ…หันหน้ามา “สุนทรียสนทนากันดีไหม?”

สุนทรียสนทนา เป็นการพูดคุยที่เปี่ยมไปด้วยการยอมรับและเคารพระหว่างกัน ในฐานะที่เป็นเพื่อนร่วมแผ่นดินเกิด และเพื่อนร่วมโลก ไม่แบ่งแยกความเชื่อ ความคิด อายุ เพศ ผิวพรรณ ฐานะทางเศรษฐกิจสังคม หรือศาสนาที่นับถือ แต่ยอมรับและเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของกันและกัน แต่เพราะทุกคนมีความแตกต่างและหลากหลาย เราจึงต้องยอมรับและเคารพในความแตกต่างและหลากหลายอย่างแท้จริง ไม่จำแนกแจกแจง เพื่อจัดกลุ่ม จัดประเภท จัดลำดับ เช่น เด็ก ผู้ใหญ่ คนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่า พวกชังชาติ พวกเผด็จการ สลิ่ม… แต่ต้องพยายามเข้าใจ และเคารพในความแตกต่างที่หลากหลายเหล่านั้น ไม่แบ่งแยก ผลักออก แต่เข้าใจ ยอมรับ และผนวกควบรวมเป็นหนึ่งเดียวกันบนความหลากหลาย (Unity through Diversity) ซึ่งมีความท้าทาย และแตกต่างไปจากการพยายามจะเอาแพ้เอาชนะกัน เพราะการเอาแพ้เอาชนะกัน ในท้ายที่สุดจะนำไปสู่การแพ้ทั้งคู่ บนความสูญเสียของส่วนรวม ของประเทศชาติ

Advertisement

การพยายามผสานความต่างจะช่วยทำให้เกิดทางเลือกใหม่ๆ จะช่วยให้มีทางออกที่เป็นไปได้และพึงประสงค์ร่วมกัน ชนะไปด้วยกัน ส่งผลให้เกิดความมั่นคง และความยั่งยืนของประเทศไทย ให้ได้รับการยอมรับและเคารพในสังคมโลก และที่สำคัญ ส่งผลให้ประชาชนมีความมั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดี และงดงาม

สุนทรียสนทนาจะดำเนินไปได้ด้วยดี หากผู้ที่อยู่ในวงสนทนามีความเชื่อเบื้องต้นว่า ผู้ร่วมสนทนาแต่ละคน มีศักยภาพในการพัฒนาตนเอง เรียนรู้ได้ แต่เนื่องจากการเรียนรู้และการพัฒนาของแต่ละคนจะเร็วช้าแตกต่างกันออกไป ดังนั้นแต่ละคนจึงต้องมีสติ มีสมาธิ ไม่ทึกทัก ไม่ดักคอ ไม่ด่วนสรุปและตัดสิน เปิดโอกาส ให้โอกาส กับตนเองและผู้อื่น ในการเรียนรู้และเข้าใจซึ่งกันและกัน

ในการทำสุนทรียสนทนา เงื่อนไขที่สำคัญคือ การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) เราต้องตั้งใจฟังซึ่งกันและกัน ฟังเพื่อให้เข้าใจ ให้ได้ความหมายที่ครบถ้วนรอบด้าน ฟังให้ได้อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความเชื่อ ความต้องการ ความคาดหวังของผู้พูด ฟังโดยไม่ตัดสินผู้พูด และสิ่งที่เขาพูด ให้โอกาสเขาพูด ไม่ขัดจังหวะ ไม่เร่งรัด ไม่บังคับให้พูด เมื่อมีคนพูด คนอื่นต้องฟังอย่างตั้งใจ ฟังให้ได้ความหมาย ไม่จ้องจับผิด คำ ภาษา และท่าทางของผู้พูด ไม่โต้แย้ง ไม่โต้เถียง เพราะเราจะยอมรับและเคารพในความแตกต่างของกันและกัน เพราะเราเชื่อว่าทุกคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ไม่มีใครอยากเป็นผู้ผิด ผู้แพ้ เราจึงไม่ยัดเยียดความผิด ความพ่ายแพ้ให้แก่กัน การพูดคุยกันอย่างสุนทรีย์ มีการฟังอย่างลึกซึ้งระหว่างกัน ภายใต้ความเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพที่จะเรียนรู้ได้ พัฒนาได้ด้วยตัวเขาเอง เมื่อคนอื่นฟังเขา เขาก็จะฟังคนอื่น ต่างฝ่ายต่างฟังซึ่งกันและกัน ความเข้าใจระหว่างกัน ความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน จะค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาได้ การฟังอย่างลึกซึ้งในกระบวนการสุนทรียสนทนา ที่สำคัญคือการมีสติ ไม่มีการตัดสินล่วงหน้า (Prejudge) เช่น เขาเป็นเด็ก เขาเป็นผู้เฒ่าเต่าล้านปี เขามีผู้อยู่เบื้องหลังคอยชักจูง เขาตั้งใจจะรักษาอำนาจไว้…การตัดสินไว้ล่วงหน้า จะนำไปสู่อคติ และการรับรู้ที่บิดเบือนไป ในระหว่างการพูดคุยแบบสุนทรียสนทนา แต่ละคนจึงต้องมีสติตลอด ไม่ด่วนสรุปตัดสินทั้งก่อนการพูดคุย ระหว่างการพูดคุย และหลังการพูดคุย ในระหว่างการพูดคุย ทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะห้อยแขวนการตัดสินใจไว้ (Judgement Suspension) เพื่อที่จะฟังได้อย่างลึกซึ้ง

สุนทรียสนทนา ไม่เหมือนและไม่ใช่การประชุมปรึกษาหารือที่เราคุ้นชินกันโดยทั่วไป ไม่เหมือนและไม่ใช่การประชุมทางวิชาการ ไม่เหมือนและไม่ใช่การทำประชามติ สุนทรียสนทนาเป็นพื้นที่ของการพูดคุยที่มีบรรยากาศของความมั่นคงปลอดภัย ไม่เคร่งเครียด ผ่อนคลาย ไว้เนื้อเชื่อใจกัน ไม่ตัดสินกัน แต่ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความเป็นตัวตนของกันและกันแบบไม่มีข้อจำกัด ยอมรับและเคารพความเป็นมนุษย์ของกันและกันอย่างไม่มีเงื่อนไข กระบวนการสุนทรียสนทนา หากดำเนินการไปด้วยดี มีสุนทรียในหัวใจ มีการสะท้อนการเรียนรู้เป็นระยะๆ จะโน้มนำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ปัญญาร่วม (Collective Wisdom) ผุดบังเกิดขึ้นมาท่ามกลางความแตกต่างที่หลากหลาย หากเรามองเห็นว่าความแตกต่างช่วยสร้างสิ่งใหม่ ความหลากหลายช่วยสร้างความงดงาม

หวังว่าพวกเรา คนไทยทุกคน จะเปิดตัว เปิดใจ หันหน้าเข้าหากัน แล้วมา…สุนทรียสนทนากันดีไหม? ผมในฐานะพลเมืองไทย และพลเมืองโลกอาวุโส ผมพร้อม และยินดีที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สังคมไทยที่พึงประสงค์ร่วมกัน

จุมพล พูลภัทรชีวิน
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image