วิกฤตโควิด-19 สู่วิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

จากปลายเดือนธันวาคม 2562 เกิดสงครามโรคที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน แล้วลุกลามเข้าสู่ประเทศไทย ก่อนลุกลามทั่วโลก นั่นคือ โรคระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อ “ไวรัสโคโรนา” ซึ่งภายหลัง WHO ได้กำหนดชื่อใหม่ใช้เรียกกันในระดับสากลว่า “โรคไวรัส
โควิด-19”

นับเป็นเวลา 8-9 เดือน ที่โรคไวรัสดังกล่าวติดต่อง่ายและเสียชีวิตสูงโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ หรือผู้เป็นโรคติดเตียง เช่น โรคหัวใจอัมพาต เสียชีวิตด้วยปอดบวมและการหายใจล้มเหลว สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก มากกว่า 200 ประเทศ ยังน่าเป็นห่วง ข้อมูล ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2563 มีรายงานจากองค์การอนามัยโลก ติดเชื้อรวมเกือบ 23 ล้านราย รักษาหายแล้ว 15.5 ล้าน รวมเสียชีวิต 797,009 ราย โดยประเทศที่ติดเชื้อสูงสุดยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา บราซิล และอินเดีย

“สำหรับสถานการณ์โควิดในเมืองไทย ณ วันที่ 21 ส.ค.63 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 3,390 ราย หายป่วยแล้ว 3,219 ราย ยังคงรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 113 ราย ยอดผู้เสียชีวิตคงที่ ที่ 58 ราย รายงานจากกระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ความมั่นใจกับประชาชนทางสื่อต่างๆ ให้สบายใจได้ว่า แม้ยังไม่มีการระบาดรอบ 2 การเฝ้าระวังการแพร่เชื้อโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข พลัง อสม. ทั่วประเทศ และความร่วมมือทางส่วนราชการและโดยเฉพาะคนไทย ทุกคนทุกอาชีพให้ความร่วมมือร่วมด้วยช่วยกันป้องกันดูแลตนเองด้วยกินร้อนช้อนกลาง ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัยอย่างสุดฤทธิ์และต่อเนื่อง แต่สถานการณ์จากโรคระบาดดังกล่าวทั่วโลกทุกประเทศรวมประเทศไทยพบสิ่งที่ตามมา คือ วิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยเราได้มีมาตรการต่างๆ ที่แก้ปัญหา ความยากจน คนตกงานเกือบ 8 ล้านคน คนไร้ที่อยู่ รวมถึงการปิดตัวของธุรกิจห้างร้านต่างๆ รวมทั้งรัฐบาลได้แก้ปัญหาด้วยการเยียวยาความยากจนโดยการให้ปัจจัยเงิน สิ่งของ สร้างงาน สร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันต่อมาเกิดวิกฤตการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในการเปลี่ยนหัวหน้าพรรคจาก “นายอุตตม สาวนายน” มาเป็น “พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ” และรัฐมนตรี “สี่กุมาร” ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีคลัง รัฐมนตรีกระทรวงกระทรวงอุดมฯ และรองเลขานายกฯ ได้ลาออก มีการแต่งตั้งรัฐมนตรีป้ายแดงเข้ามาใหม่ 7 ท่าน ตามที่เป็นข่าว

รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (แต่ท่านไม่ได้สมัคร ส.ส. แต่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคพลังประชารัฐ) เมื่อ 22 มีนาคม พ.ศ.2562 ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 (ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มีการกล่าวถึงเวลาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ หรือรัฐธรรมนูญฉบับเพื่อพวกเรา) ซึ่งกว่าจะฟอร์มคณะรัฐมนตรีได้สำเร็จก็ใช้เวลาพอสมควร พบปัญหามากมายดังที่เป็นข่าวตลอดมา มีปัญหา “รัฐธรรมนูญ ปี 2560” เป็นจุดปฐมเหตุถึง “ความไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง” ที่สั่งสมเกิดมาต่อเนื่องจนเกิดการรวมตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ที่ลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เรียกร้องสันติภาพ เสรีภาพ ภราดรภาพ โดยความหมายเชิงสัญลักษณ์ของพฤติการณ์ชู 3 นิ้ว ด้วยมือขวา พร้อมการติดริบบิ้นขาวที่กำลังแพร่หลายในกลุ่มนิสิต นักศึกษา ประชาชน แนวร่วม จาก “เยาวชนปลดแอกสู่ประชาชนปลดแอก” ลามไปถึง “โรงเรียนมัธยมทั่วประเทศ” โชว์พลังต่อต้านการคุกคามประชาชน และไม่เอาเผด็จการ ต่อเนื่องกันยกฐานะการชุมนุมใหญ่ครั้งที่ 2 เมื่อ 16 สิงหาคม 2563 ที่เดิมมีมวลชนเข้าร่วมกันแน่นถนนราชดำเนิน ล้นลามไปจนถึงสี่แยกคอกวัว ประมาณการกว่า 3 หมื่น ภายใต้การเคลื่อนไหวที่ยื่นเงื่อนไข 3 ข้อ เรียกร้อง 2 จุดยืน และ 1 ความฝัน : พุ่งเป้าให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน : ไม่เอาปฏิวัติ ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ และมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ยังมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ภายใต้รัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังขีดเส้นให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำเนินการภายในกันยายน 2563 นี้ และจะมีนัดการชุมนุมใหญ่ครั้งที่ 3 เป็นการยกระดับ ณ ลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

Advertisement

ตามจังหวะดังกล่าว พรรคร่วมฝ่ายค้านนำทีมโดย “พรรคเพื่อไทย” จึงออกตัวก่อน โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นำทีมยื่นมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยปักหมุดแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และต้องตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐบาล (ส.ส.ร.) ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล โดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานรัฐบาลแถลงมติของพรรคร่วมรัฐบาล จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เช่นกัน ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยไม่แก้ไขเนื้อหาหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ไทย ยึดแนวทางแก้ไขคือตั้ง “ส.ส.ร.” เช่นกัน แต่ยังยึกยักดึงจังหวะเด้งเชือกว่าอยู่ระหว่าง “หารือ” และรอผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธานสรุปมาก่อน

แต่ “พรรคภูมิใจไทย” ปาดหน้าแซงตีกินเลย โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุขในฐานะหัวหน้าพรรค นำลูกพรรคจัดแถลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้มี “ส.ส.ร” มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทำหน้าที่ยกร่าง เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแล้วให้ “ยุบสภา” จัดการเลือกตั้งใหม่ ยิ่งล่าสุดพรรคประชาธิปัตย์เตรียมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเปิดช่องให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา เข้ามาเป็น “ส.ส.ร.” มีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ถือเป็นทางออกที่ดีเพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามาอยู่ในระบบดีกว่าไปชุมนุมบนถนน สมควรที่ทุกพรรคทุกฝ่ายควรต้องสนับสนุน ส่วนพรรคก้าวไกลหลังปรับท่าทีลดโทนลง โดยจะไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 เพื่อหาแนวร่วม ส.ส. ลงชื่อสนับสนุนญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยพลิกมุมปิดสวิตช์ “ส.ว. ลากตั้ง 250 คน” ไม่ให้มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นการตัดวงจรสืบทอดอำนาจ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็น “หัวใจสำคัญที่สุด” หยุดเส้นทางการสืบทอดอำนาจทีม 3 ป. แต่อย่างไรก็ตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ง่ายอย่างที่คิด นอกจากเป็นการตัดวงจรสืบทอดอำนาจยังตัดอำนาจของ ส.ว. จากเงื่อนไขย้อนแย้งแค่ปลดล็อกไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องอาศัยเสียงวุฒิสภา 1 ใน 3 คือ 84 คน ถ้าไม่มีสัญญาณไฟเขียวจาก “ทีม 3 ป.” คงลำบาก นั่นคือ “ปมติดล็อก” หาก 3 ป. บล็อกเกมรื้อรัฐธรรมนูญในสภากุมสภาพเสียงของ “พรรคพลังประชารัฐ” และ “250 เสียง ส.ว.ลากตั้ง” ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านที่กระแสมวลชน “ม็อบคนรุ่นใหม่” ไล่บี้กดดันนอกสภา โดยมีค่ายภูมิใจไทยกับยี่ห้อประชาธิปัตย์ พร้อมพลิกเกมร่วมบีบโละ “250 ส.ว.ลากตั้ง” ปิดสวิตช์ “บิ๊กตู่” ต่างคนต่างหวังลุ้นเสียบเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” ก็อาจจะเป็นไปได้ นั่นหมายความว่าเข้าเกมบีบ พลเอกประยุทธ์ และกลุ่มทหาร 3 ป. เข้ามุมอับหนีไม่พ้นเข้าเหลี่ยมเผชิญหน้ากันโดยปริยาย หรืออาจจะเกิดเหตุการณ์อื่นใดๆ ก็ได้อย่างไม่คาดฝันไม่มีใครรู้ได้

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาดู การเมืองการปกครองของอริยประเทศส่วนใหญ่ต้องใช้ประเพณีการปกครองโดยมีพื้นฐานมาจากหลัก “ปรัชญาการปกครองแบบประชาธิปไตยและอำนาจอธิปไตยของปวงชน สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” จึงต้องเดินตามกฎกติกาที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกัน กติกาดังกล่าวนั้นเรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” และการอยู่ในกรอบของกฎหมายที่เรียกว่า “หลักนิติธรรม” (The rule of Low)

Advertisement

ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นจะต้องมี “ความชอบธรรมทางการเมือง” ที่เรียกว่า Political Legitimacy ซึ่งมีสองส่วน คือ 1) ในส่วนที่เข้าตำแหน่งอำนาจ : การเลือกตั้งต้องบริสุทธิ์และเที่ยงธรรม เมื่อใดก็ตามที่การเลือกตั้งมีการใช้เงินซื้อเสียง มีการโกงการเลือกตั้งด้วยการใช้บัตรเลือกตั้งปลอมหรือเพิ่มจำนวน การนับคะแนนผิดโดยจงใจ หรือวิธีการอื่นใด ความชอบธรรมในส่วนนี้จะไม่เกิดขึ้นแม้ไม่มีหลักฐานจับได้แน่ชัด แม้จะมีการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งว่าถูกต้องด้านกฎหมาย (Legality) แต่ในทางการเมืองย่อมไม่มีความชอบธรรม (legitimacy) ทั้งในส่วนของผู้ที่ใช้เงินซื้อเสียงและในส่วนของประชาชนซึ่งไม่เชื่อผลการเลือกตั้งนั้น แต่ทำอะไรไม่ได้ที่เป็นเหตุหนึ่งทำให้ศรัทธาต่อระบบประชาธิปไตยเสื่อมคลายลงได้ 2) ความชอบธรรมในส่วนที่สอง คือ ผลการปฏิบัติงานของผู้ใช้อำนาจรัฐ (Performance) ถ้าผู้ใช้อำนาจรัฐนั้นได้อำนาจมาอย่างถูกต้องตามกฎหมายและมีความชอบธรรมทางการเมือง บริหารประเทศด้วยความสามารถ แก้วิกฤตเศรษฐกิจให้ดีขึ้น แก้วิกฤตและรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคมได้อย่างดี ยกฐานะของระดับศีลธรรมจริยธรรมสูงขึ้น เพิ่มพูนความรู้และระดับการศึกษาของประชาชนได้อย่างดีมีประสิทธิภาพ ระบบการปกครอบแบบประชาธิปไตยดำเนินไปอย่างถูกต้องครบทั้งถูกต้องตามกฎหมาย มีความชอบธรรมทางการเมือง มีหลักนิติธรรม ผู้ใช้อำนาจรัฐไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรือฝ่ายตุลาการที่มาจากการเลือกตั้งก็จะมีความชอบธรรมทางการเมืองทั้งสองมิติ คือ การเข้าสู่ตำแหน่งอำนาจและผลงานจากการใช้อำนาจรัฐ การที่จะได้ “ความชอบธรรมในแง่ของผลงาน” มีหลักการสำคัญ คือ จะต้องเดินตามแนว “ปรัชญาการเมืองการบริหาร” อันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นหลักการและวิธีปฏิบัติที่ต้องนำไปใช้ทั้งในส่วนของการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น และส่วนของการบริหารอันได้แก่ “ระบบราชการ” (Bureaucratic System)

ปรัชญาหรือหลักการนั้นคือ “หลักธรรมาภิบาล” (Good Governance) ซึ่งประกอบด้วย 5 ข้อใหญ่ๆ คือ 1.ความชอบธรรม (legitimacy) 2.ความโปร่งใส (transparency) 3.การมีส่วนร่วมของประชาชน (participation) 4.มีความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้โดยประชาชน (accountability) 5.ประสิทธิภาพ (efficiency) ประสิทธิผล (effectiveness) การปกครองแบบประชาธิปไตยซึ่งมีกระบวนการได้มาอำนาจทางการเมือง การใช้อำนาจรัฐ และการควบคุมการใช้อำนาจจำเป็นต้องสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล อันได้แก่ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติ ที่สามารถแก้ปัญหาของสังคมและสามารถนำไปสู่การพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นกว่าเดิม

ในการบริหารประเทศนั้นมีประเด็นพิจารณาอยู่ 5 ประเด็นที่ทำไปสู่ “การเสียความชอบธรรมทางการเมือง” อันนำไปสู่การสั่นคลอนศรัทธาของประชาชนที่มีต่อ “ผู้ใช้อำนาจรัฐ” รวมทั้งระบบประชาธิปไตยมี 5 ประการ คือ 1) ความชอบธรรม (legitimacy) 2) การฉ้อราษฎร์บังหลวง (Corruption) 3) การลุแก่อำนาจ (Abuse of Power) 4) การเอื้อประโยชน์ต่อญาติและพรรคพวก (Nepotism and Cronyism) 5) พฤติกรรมของผู้ใช้อำนาจ (Immorality)

ความชอบธรรม (legitimacy) การได้อำนาจรัฐมาจากการซื้อเสียงทำให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม ย่อมจะขาดความชอบธรรมในส่วนที่เข้าสู่ตำแหน่งอำนาจรัฐตามที่ได้กล่าวมาแล้ว การฉ้อราษฎร์บังหลวง (Corruption) การบริหารประเทศเต็มไปด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวงใช้งบประมาณแผ่นดินในการจัดซื้อจัดจ้างรวมทั้งการก่อสร้างหาผลประโยชน์เพื่อตนเอง มีการใช้อำนาจรัฐเพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจของตนเอง ญาติ และพรรคพวก ด้านการแก้กฎหมายหลีกเลี่ยงภาษี ฯลฯ รวมทั้งการบิดเบือนนโยบายที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ความจำเป็นและความเหมาะสม

การลุแก่อำนาจ (Abuse of Power) มีการละเมิดกฎหมายโดยไม่เกรงกลัวต่อผลเสียหายที่จะตามมา ทั้งในทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม รวมทั้งจริยธรรมของสังคม การละเมิดกฎหมายในลักษณะลุแก่อำนาจและละเมิดต่อหลักนิติธรรม (The rule of low) ด้วยการตีความกฎหมายตะแบงขยายอำนาจจนเกินขอบเขต แก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการหาผลประโยชน์ทางธุรกิจโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่มีต่อชาติ

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดโครงสร้าง และกระบวนการของระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ด้วยการทำให้อำนาจของฝ่ายบริหารกลายเป็นกลไกที่มีผู้สั่งการเพียงคนเดียว การควบคุมการใช้อำนาจทั้งหลายรวมทั้งองค์กรที่คานอำนาจตกอยู่ในการครอบงำด้วยการแทรกแซง และการใช้อำนาจเงิน เพื่อให้คนที่อยู่ในอาณัติของตนดำรงตำแหน่งในองค์กรที่มีอำนาจคอยคุมการใช้อำนาจรัฐ ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าว ย่อมจะนำไปสู่การเสียความชอบธรรมทางการเมืองและเสื่อมศรัทธาในระบบ การเอื้อประโยชน์ต่อญาติและพรรคพวก (Nepotism and Cronyism) การบริหารประเทศมิได้เป็นไปตามหลักคุณธรรม มีการเล่นพรรคเล่นพวก นำคนที่มีปัญหาเรื่องจริยธรรมคุณธรรมความสามารถมาดำรงตำแหน่ง ทำให้ระบบราชการเกิดความเสียหาย เป็นการใช้ระบบอุปถัมภ์ไปในทางที่ผิด นำไปสู่ความเสียหายต่อสังคมและจริยธรรม เศรษฐกิจ ในแง่การแข่งขันโดยเสรีและระบบการเมืองการ
ปกครอง

ประการสุดท้ายการใช้อำนาจรัฐ (Immorality) มีพฤติกรรมที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของสังคม เช่น มีเรื่องอื้อฉาวของผู้นำจนกระทั่งมีการลงโทษ พักงาน ถอดถอน เป็นต้น

ท้ายสุดนี้กล่าวได้ว่า ในอดีตที่ผ่านๆ มาพบว่าผู้ใช้อำนาจรัฐคนใดก็ตามที่ไม่สามารถธำรงไว้ซึ่ง “ประชาธิปไตย & ธรรมาภิบาล” และ “ความชอบธรรมทางการเมือง” (Political legitimacy) อาจจะดำรงอยู่ได้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ผลสุดท้ายก็ไม่สามารถหนีพ้นจากหลัก “สัจธรรมแห่งโลก คือ กฎแห่งกรรมได้” ผลตามมา คือ การตกจากตำแหน่งอำนาจ การสูญเสียทรัพย์ศฤงคาร เกียรติยศ ชื่อเสียงของตนเอง และวงศ์ตระกูล ของบุคคลนั้น หรือกลุ่มบุคคลนั้น ซึ่งมีตัวอย่างมากมายในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image